พระพุทธบัญญัติห้ามฉันเนื้อสุนัข และสัตว์ดุร้ายต่างๆ

 
สารธรรม
วันที่  25 พ.ย. 2565
หมายเลข  45211
อ่าน  313

สมัยต่อมา ถึงคราวอัตคัดอาหาร ประชาชนพากันบริโภคเนื้อสุนัข และถวายแก่พวกภิกษุผู้เที่ยวบิณฑบาต ภิกษุทั้งหลายฉันเนื้อสุนัข ประชาชนจึงเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า ไฉนพระสมณะเชื้อสายพระศากยบุตรจึงได้ฉันเนื้อสุนัขเล่า เพราะสุนัขเป็นสัตว์น่าเกลียด น่าชัง ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระ-ภาค พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติห้ามแก่ภิกษุทั้งหลายว่า ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงฉันเนื้อสุนัข รูปใดฉัน ต้องอาบัติทุกกฏ

พระพุทธบัญญัติ ทรงห้ามฉันเนื้องู เนื้อราชสีห์ เนื้อเสือโคร่ง เนื้อเสือเหลือง เนื้อหมี เนื้อเสือดาว

สำหรับเรื่องของสัตว์ดุร้ายต่างๆ ขออ่านเรื่องของพระพุทธบัญญัติห้ามฉันเนื้อเสือดาวเป็นตัวอย่าง ข้อความมีว่า

สมัยต่อมา พวกพรานฆ่าเสือดาว แล้วบริโภคเนื้อเสือดาว แล้วถวายแก่พวกภิกษุผู้เที่ยวบิณฑบาต พวกภิกษุฉันเนื้อเสือดาวแล้วอยู่ในป่า เหล่าเสือดาวฆ่าพวกภิกษุเสีย เพราะได้กลิ่นเนื้อเสือดาว ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติห้ามภิกษุทั้งหลายว่า ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงฉันเนื้อเสือดาว รูปใดฉัน ต้องอาบัติทุกกฏ

นี่ก็มีเหตุผลสำหรับการที่ทรงห้ามการฉันเนื้อสัตว์ประเภทใด เพราะเหตุใด สิ่งใดที่ไม่เป็นที่ศรัทธาเลื่อมใสของประชุมชน ของโลก ก็ทรงบัญญัติห้าม ถึงไม่มีเนื้อเสือดาว ไม่มีเนื้อช้าง ไม่มีเนื้อสุนัข ไม่มีเนื้อเสือโคร่ง ไม่มีเนื้อราชสีห์ ก็ยังพอจะมีอาหารอื่น เพื่อไม่ให้บุคคลอื่นเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนา


ที่มา และ อ่านเพิ่มเติม ...

แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 207


เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ