[คำที่ ๕๘๘] อทสฺสน

 
Sudhipong.U
วันที่  26 พ.ย. 2565
หมายเลข  45218
อ่าน  533

ภาษาบาลี ๑ คำ คติธรรมประจำสัปดาห์ “อทสฺสน”

โดย อ.คำปั่น อักษรวิลัย

อทสฺสน อ่านตามภาษาบาลีว่า อะ – ทัด – สะ – นะ มาจากคำว่า น (ไม่, เป็นคำปฏิเสธ) [แปลง น เป็น อ] กับคำว่า ทสฺสน (ความเห็น) รวมกันเป็น อทสฺสน เขียนเป็นไทยได้ว่า อทัสสนะ แปลว่า ความไม่เห็น ในที่นี้จะขอนำเสนอในความหมายของ อวิชชา หรือ โมหะ ซึ่งเป็นความหลง ความไม่รู้ ในสิ่งที่มีจริงตรงตามความเป็นจริง เป็นความไม่เห็นด้วยปัญญา ไม่เห็นด้วยญาณ ตามข้อความในสัทธัมมปัชโชติกา อรรถกถา ขุททกนิกาย มหานิทเทส ดังนี้

“ที่ชื่อว่า ความไม่รู้ ความไม่เห็น เพราะเป็นปฏิปักษ์ (ตรงกันข้าม) ต่อความรู้ความเห็น”


พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้และทรงแสดง แสดงถึงสิ่งที่มีจริงๆ ทั้งหมดตามความเป็นจริงว่า เป็นธรรม คือ สิ่งที่มีจริงๆ ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่สัตว์โลกจะได้มีความเข้าใจถูกเห็นถูก แม้แต่ในเรื่องของอวิชชา ซึ่งเป็นความไม่รู้นั้น พระองค์ทรงแสดงโดยใช้พยัญชนะมากมายที่แสดงถึงความจริงของธรรมประเภทนี้ หนึ่งในนั้น คือ อทัสสนะ ความไม่เห็นด้วยปัญญา เป็นสภาพธรรมที่ไม่รู้สิ่งที่มีจริงตามความเป็นจริง เป็นสภาพธรรมที่เศร้าหมอง เมื่อกล่าวถึงความเศร้าหมองแล้ว ย่อมเป็นความไม่บริสุทธิ์ เป็นความมัวหมอง ได้แก่ กิเลสทั้งหลายทั้งปวง ซึ่งทำให้จิตเศร้าหมอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือ อวิชชา เป็นความเศร้าหมองยิ่งกว่าความเศร้าหมองทั้งหลาย บุคคลผู้ที่ยังมีกิเลสอยู่ จะกล่าวว่า ตนเองไม่มีความเศร้าหมอง เป็นผู้ปราศจากความเศร้าหมองไม่ได้ เพราะเหตุว่า บุคคลผู้ที่ไม่มีความเศร้าหมอง เป็นผู้ที่ปราศจากความเศร้าหมองโดยประการทั้งปวง คือ พระอรหันต์ เท่านั้น

ความไม่รู้เป็นสภาพธรรมที่มีจริง เป็นสภาพที่ไม่รู้ในสภาพธรรมที่มีจริงในขณะนี้ว่าเป็นธรรม ไม่ใช่เรา พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงแสดงพระธรรมโดยนัยประการต่างๆ โดยละเอียดโดยประการทั้งปวง ก็ไม่พ้นไปจากสภาพธรรมที่มีจริงในขณะนี้ ทุกคำเกื้อกูลให้เข้าใจสิ่งที่มีจริงในขณะนี้ หากไม่ได้ฟังพระธรรม ไม่ศึกษาพระธรรมให้เข้าใจว่า อะไรคือธรรม? ธรรมอยู่ในขณะไหน? ก็จะไม่เข้าใจความจริงว่ามีแต่ธรรมเท่านั้น ทุกขณะคือธรรมที่มีจริงทั้งหมด ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เมื่อไม่เข้าใจความจริง ย่อมเป็นผู้ไม่ฉลาดในธรรมที่มีในขณะนี้ กล่าวคือไม่รู้ว่าในขณะนี้เป็นธรรม จึงหลงยึดถือสิ่งที่เห็น สิ่งที่ได้ยิน เป็นต้น ว่าเป็นเรา เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน หรือเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด เมื่อถูกความไม่รู้ครอบงำ ย่อมทำให้ไม่เห็นความจริง ไม่เข้าใจความจริง แม้สภาพธรรมกำลังปรากฏในขณะนี้ก็ไม่รู้ และก็จะสะสมความไม่รู้อย่างนี้อีกต่อไป ตราบใดที่ยังไม่มีโอกาสได้ฟังพระธรรมศึกษาพระธรรมให้เข้าใจจริงๆ

เพราะมีความไม่รู้ เป็นเหตุ จึงทำให้มีการทำอกุศลกรรมประการต่างๆ มากมาย มีการฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ เป็นต้น ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำเป็นอย่างยิ่ง เพราะเป็นการสะสมเหตุที่ไม่ดีให้กับตนเอง และเมื่อผลที่ไม่ดีเกิดขึ้นก็เกิดขึ้นกับตนเองเท่านั้น กล่าวได้เลยว่า เพราะไม่รู้ จึงทำในสิ่งที่ไม่ควรทำ เมื่อทำในสิ่งที่ไม่ควรทำ ก็เป็นการตัดโอกาสแห่งการเกิดขึ้นของกุศลธรรม ในชีวิตประจำวัน

สภาพธรรมที่ตรงกันข้ามกับอวิชชา ก็คือ ปัญญา ซึ่งเป็นความเข้าใจอย่างถูกต้องตรงตามความเป็นจริง ปัญญา เป็นเหตุให้ความดีประการต่างๆ เจริญยิ่งขึ้น ทำให้ได้ในสิ่งที่ควรได้ คือกุศลธรรมเจริญจนกระทั่งสามารถดับกิเลสได้ตามลำดับขั้น ปัญญา หรือ วิชชา จึงเป็นธรรมที่นำไปสู่คุณความดีทั้งปวงอย่างแท้จริง ทำให้เว้นจากสิ่งที่ไม่ดี คืออกุศลธรรมโดยประการทั้งปวง ปัญญาจะไม่นำพาไปสู่ทางที่ผิดเลยแม้แต่น้อย

เป็นสิ่งที่น่าพิจารณาว่าสาเหตุที่แต่ละบุคคลยังวนเวียนอยู่ในสังสารวัฏฏ์ เกิดแล้วตาย ตายแล้วเกิด อย่างไม่มีวันสิ้นสุด ก็เพราะยังมีความไม่รู้อยู่นั่นเอง เกิดมาแล้วทุกภพทุกชาติ ผ่านมาแล้วไม่ว่าจะเป็นที่ใดก็ตาม ไม่มีใครไปยับยั้งความเป็นไปของธรรมได้เลย จะไม่ให้มีการเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น การลิ้มรส การรู้สิ่งที่กระทบสัมผัสกาย การคิดนึก เป็นไปไม่ได้เลย ไม่ว่าจะเป็นที่ใดก็ตาม ก็จะต้องเป็นอย่างนี้ แต่ที่สำคัญ ก็คือ ไม่รู้ความจริงของสภาพธรรมเลยและเป็นอย่างนี้มานานเท่าไหร่แล้วในสังสารวัฏฏ์ จนกว่าจะมีการฟังพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงแล้วค่อยๆ เข้าใจขึ้น

เพราะฉะนั้นแล้ว หนทางเดียวที่จะค่อยๆ ละคลายความไม่รู้ความไม่เห็นตามความเป็นจริง รวมไปถึงอกุศลธรรมทั้งหลายให้เบาบางลงได้ คือ การฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ด้วยความเคารพ ละเอียดรอบคอบ ไม่ประมาทในแต่ละคำที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ขณะที่เข้าใจถูกเห็นถูก ก็เริ่มละคลายความไม่รู้ ไปทีละเล็กทีละน้อย นี้คือหนทางที่ควรดำเนินเป็นอย่างยิ่ง หนทางอื่นนอกจากนี้ไม่มี ไปทำอย่างอื่นด้วยความไม่รู้ ด้วยความอยาก ด้วยความหวังความต้องการ ไม่ใช่หนทางที่จะทำให้ปัญญาเจริญขึ้น แต่เป็นหนทางที่เพิ่มความไม่รู้ เพิ่มความอยาก และเพิ่มความเห็นผิดให้มากยิ่งขึ้นซึ่งเป็นโทษเท่านั้น เป็นโทษทั้งในชาตินี้และสะสมเป็นโทษในชาติต่อๆ ไปอีกด้วย จึงเป็นสิ่งที่แต่ละคนควรจะได้พิจารณาเป็นอย่างยิ่ง


อ่านคำอื่นๆ คลิกที่นี่ ... บาลี ๑ คำ


เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ