ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๕๘๘

 
khampan.a
วันที่  27 พ.ย. 2565
หมายเลข  45219
อ่าน  1,359

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น


ขออนุญาตแบ่งปันข้อความธรรม (ปันธรรม) ที่ได้จากการฟังพระธรรมจากท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ในแต่ละครั้ง รวบรวมเป็นธรรมเตือนใจเพื่อศึกษาและพิจารณาร่วมกัน เพื่อความเข้าใจธรรม (ปัญญ์ธรรม) ตามความเป็นจริง ซึ่งเป็นข้อความที่สั้นบ้าง ยาวบ้าง แต่ก็มีอรรถที่สมบูรณ์ พอที่จะเข้าใจได้ควรค่าแก่การพิจารณาอย่างยิ่ง ดังนี้

ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๕๘๘



~
ได้ยินสิ่งที่มีค่าที่ประเสริฐที่สุด คือ พระธรรม ดีกว่าได้ยินเรื่องอื่น เพราะได้ยินเรื่องอื่นก็ได้ยินมามากแล้ว แต่ขณะนี้ ได้ฟังเรื่องที่จะทำให้เกิดความเข้าใจซึ่งเป็นประโยชน์กับชีวิต ไม่ใช่เฉพาะชาตินี้ชาติเดียว ความเข้าใจจริงๆ จะสะสมสืบต่อไปถึงชาติต่อไปด้วย

~ พระธรรมเป็นสิ่งที่ควรอย่างยิ่งแก่การได้ยินได้ฟังด้วยความเคารพในความลึกซึ้งของผู้ที่ทรงตรัสรู้ความจริง และทรงแสดงความจริงของสิ่งที่กำลังปรากฏในขณะนี้ด้วยพระมหากรุณาที่จะให้คนอื่นได้เข้าใจถูก ได้เห็นถูก

~ ประโยชน์ของการเข้าถึงความจริงของสภาพธรรม คือ มั่นคงที่จะเข้าใจว่า ขณะนี้เป็นธรรมที่เป็นอนัตตา ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชา เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป

~ กิเลสสะสมมาประมาณไม่ได้เลย แล้วก็สะสมต่อไปอีกทุกๆ วันมากขึ้นๆ เพราะฉะนั้น ก็เห็นความละเอียดและก็ความยากและความไม่ประมาท ว่า ความเข้าใจเท่านั้นที่จะค่อยๆ รู้แล้วละ ไม่มีตัวตนที่จะไปทำอะไรได้เลยทั้งสิ้น

~ ต้องตายแน่ ไปแน่ แล้วไปไหน? ตามกรรมที่ได้กระทำแล้ว เพราะฉะนั้น ถ้าทำกรรมดีไว้ ไม่ต้องห่วงใยอะไรเลย ธรรมฝ่ายดี ก็ไม่หวั่นไหว เพราะอย่างไรก็ต้องให้ผลที่ดี

~ ไม่ว่าใครจะมีความประพฤติอย่างไรต่อท่าน หรือแม้แต่เพียงการที่จะนึกถึงคำพูดหรือการกระทำของคนอื่น ซึ่งเคยได้ยินได้ฟังแม้นานมาแล้ว เป็นการที่จะทดสอบได้ว่า แม้ในขณะนั้นจิตที่คิดเป็นกุศลหรือเป็นอกุศล ถ้าเป็นอกุศลยังโกรธ ขณะนั้นเป็นผู้ที่ไม่ได้เจริญขันติ (ความอดทน)

~ สัตว์โลกหนาแน่นด้วยกิเลสและความไม่รู้ อย่างไรก็ไม่สามารถที่จะไปรู้แจ้งธรรมตามลำพังด้วยตัวเอง แต่ต้องอาศัยการฟังพระธรรม แล้วมีความเข้าใจไปตามลำดับขั้น ขั้นฟังไม่ใช่ขั้นประจักษ์แจ้ง เพราะฉะนั้น จึงเป็นผู้ไม่ประมาทในการฟัง

~ เมื่อเห็นประโยชน์ของกุศล ก็ไม่ละเลย แต่ว่าพากเพียรที่จะเจริญกุศลยิ่งขึ้น ก็จะทำให้เป็นอุปนิสสยปัจจัยในทางกุศลเพิ่มขึ้น อาศัยแต่ละขณะจิตซึ่งกุศลจิตเกิด จะทำให้ทางฝ่ายอกุศลจิตเบาบางลง

~ อกุศลธรรม นอกจากจะครอบงำให้หลงไปจากความจริงของสภาพนามธรรมและรูปธรรมแล้ว ยังเป็นสภาพธรรมที่ทำให้ตั้งจิตไว้ในทางที่ไม่ชอบ แม้แต่การคิดหรือการกระทำ ก็จะเป็นไปในทางที่ไม่ถูก ในขณะนั้นไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล แต่เป็นสภาพของอกุศลธรรมซึ่งเกิดขึ้นตั้งจิตไว้ในทางที่ไม่ชอบ และในขณะที่สติเกิด ซึ่งเป็นสภาพที่ตรงกันข้ามกับอกุศล ในขณะนั้นก็ไม่ใช่ตัวตน สัตว์ บุคคล แต่เป็นกุศลธรรมทั้งหลายที่เกิดขึ้นตั้งจิตไว้ชอบ

~ ใครก็ตามที่มีอกุศล และไม่เห็นโทษของอกุศลนั้นแม้เพียงเล็กน้อย ก็จะเห็นได้ว่า ความดีที่คิดจะทำเพื่อที่จะละอกุศลในขณะนั้นยังทำไม่ได้ เพราะฉะนั้น การที่จะรู้แจ้งอริยสัจจธรรมก็ต้องยากยิ่งกว่านั้น ถ้าเข้าใจอย่างนี้ จะรีบทำความดีไหม จะรีบละอกุศลในขณะนั้นที่กำลังเกิดไหม?

~ กุศล ความดีทั้งหลาย ไม่นำทุกข์โทษภัยมาให้ แต่อกุศลที่ทุกคนมีนี่แหละนำทุกข์โทษภัยมาให้ ตามกำลังของอกุศลนั้นๆ

~ ตราบใดที่ยังมีอกุศลอยู่ มีปัจจัยที่จะทำให้อกุศลจิตเกิด ก็ต้องเกิด แต่ก็มีปัจจัยที่จะให้กุศลจิตเกิดและมีปัญญาที่รู้หนทางซึ่งจะทำให้ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมด้วย เพราะฉะนั้น ชีวิตตามความเป็นจริง ก็ต้องมีทั้งอกุศลและกุศล โดยผู้นั้นเองเป็นผู้รู้ตามความเป็นจริง มีอกุศลประเภทใดเกิด ก็รู้ มีกุศลประเภทใดเกิด ก็รู้ เมื่อมีปัญญารู้ลักษณะของสภาพธรรมเพิ่มขึ้น ก็รู้ตามความเป็นจริง ไม่หลอกตัวเอง

~ พระธรรมจะนำไปสู่ความเข้าใจที่ถูกต้อง เพราะปัญญารู้ว่าขณะนั้นแต่ก่อนนี้ เคยเป็นคนที่ไม่สนใจที่จะทำดีเลย แต่พอได้ฟังพระธรรมแล้ว ก็เข้าใจว่า ถ้าไม่ทำดี ขณะนั้นก็เป็นอกุศล

~ การฟังพระธรรมแล้วเข้าใจขึ้น ไม่ได้ทำความเดือดร้อนให้ใครเลย แม้แต่ตนเอง ถ้าเคยโกรธแล้วรู้ว่าโกรธไม่ดี ปัญญาเห็นโทษของความโกรธ ความโกรธก็ค่อยๆ ลดน้อยลง แต่ถ้ายังไม่เห็นโทษ ก็ยังโกรธอยู่นั่นแหละ

~ เรื่องของความตายก็เป็นเรื่องธรรมดา เรื่องของความเจ็บไข้ก็เป็นเรื่องธรรมดา เพราะฉะนั้น ผู้ที่เห็นความเป็นธรรมดาอย่างนี้ ก็จะคลายความกลัวตาย เป็นบุคคลที่ไม่กลัวที่จะตายจริงๆ เพราะว่าเป็นบุคคลที่อบรมเจริญกุศลธรรมพอที่จะไม่หวั่นไหวในเรื่องของความตาย แล้วก็รู้ความจริงของสภาพนามธรรมและรูปธรรมว่า
ตายแล้วก็ต้องเกิดอีก แล้วแต่ว่าจะเกิดในภพใดภูมิใด ก็เป็นไปตามกรรมที่ได้กระทำแล้ว เมื่อเป็นผู้ที่อบรมเจริญกุศลอยู่ ก็ย่อมจะเป็นผู้ที่ไม่หวั่นไหว

~
ทุกคนไม่ว่าจะเป็นบรรพชิตหรือคฤหัสถ์ ถ้าเป็นผู้ที่เริ่มรู้จักตัวเอง
ก็จะเห็นตัวเองว่า ไม่ดี ซึ่งไม่ดีในที่นี้ หมายความว่า ไม่ดี เพราะเต็มไปด้วยกิเลส ถ้าใครยังไม่ได้เห็นกิเลสของตัวเองเลย ผู้นั้นก็จะไม่ขัดเกลากิเลส จะไม่มีแม้แต่จะฟังพระธรรม ไม่ว่าส่วนหนึ่งส่วนใดของพระไตรปิฎก แต่ผู้ที่ศึกษา ไม่ว่าจะเป็นพระวินัยบ้าง พระสูตรบ้าง หรือพระอภิธรรมบ้าง ก็เพื่อที่จะให้เกิดปัญญา รู้จักตนเองตามความเป็นจริง

~ โลภะ ก็เป็นธรรม โทสะ ก็เป็นธรรม ทุกอย่างก็เป็นธรรม ค่อยๆ เข้าใจขึ้น เพราะฉะนั้น การฟังก็เหมือนกับการเตือนไม่ให้ลืม ไม่ว่าจะเกิดโทสะ ถ้าระลึกได้ ขณะนั้น เป็นลักษณะของสภาพธรรมอย่างหนึ่ง ฟังจนกระทั่งความเข้าใจว่าทุกอย่างเป็นธรรมจรดกระดูกคือไม่ลืม จึงสามารถที่จะเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมถูกต้องยิ่งขึ้นได้

~ ลักษณะของเมตตาเป็นลักษณะที่หวังดี ไม่เจือปนกับความผูกพันในลักษณะของโลภะ เป็นความหวังดีที่บริสุทธิ์ เพราะไม่เป็นปัจจัยที่จะให้เกิดโทสะ หรือความ ไม่แช่มชื่นใจในบุคคลนั้น เพราะฉะนั้น ยิ่งมีเมตตาแทนโลภะมากเท่าไร บุคคลอื่นย่อมได้รับผลดีมากขึ้นเท่านั้น ไม่ใช่ว่าจะไม่ได้รับผลดี เป็นผลดีทั้งสองฝ่าย คือ ทั้งสำหรับผู้ที่มีเมตตา และสำหรับผู้ที่ได้รับความเมตตาด้วย ถ้ามีแต่โลภะ วันหนึ่งจะต้องมีปัจจัยให้เกิดโกรธขึ้นได้ แต่ถ้าเป็นเมตตา ยิ่งเมตตาเจริญขึ้น ความโกรธจะน้อยลง ความหวังดีจริงๆ จะเพิ่มขึ้น

~ เรื่องของการสูญเสีย ทั้งๆ ที่ไม่มีใครอยากจะสูญเสียเลย แต่ก็ต้องเกิดเพราะเหตุว่าเป็นโลกธรรม จะไม่มีใครเลยซึ่งมีแต่ได้ โดยที่ไม่เสีย เพียงแต่ว่าจะมีการได้มากหรือว่าจะมีการสูญเสียมาก แต่ว่าขณะใดก็ตามที่มีการสูญเสียอย่างหนึ่งอย่างใดเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นลาภ หรือยศ หรือสรรเสริญ หรือสุข ก็ควรที่จะได้พิจารณาว่า ควรที่จะเป็นกุศลหรือว่าควรที่จะเป็นอกุศล?

~ แต่ละคนเป็นแต่ละหนึ่ง แต่ก็สามารถทำประโยชน์ให้กับพระพุทธศาสนาได้ เริ่มด้วยการศึกษาธรรมด้วยความเคารพ และมีความเข้าใจที่ถูกต้อง ดำรงรักษาคำสอนที่ถูกต้อง ทำทุกอย่างด้วยความไม่หวั่นเกรง เพราะเหตุว่า ด้วยความหวังดี สิ่งใดที่ถูกต้อง ก็แสดงให้คนอื่นได้ฟังได้เข้าใจในสิ่งที่ถูกต้อง

~
พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง เพื่อใคร? เพื่อผู้ฟังทุกคนที่จะได้เข้าใจถูก และเมื่อมีความเข้าใจถูกแล้ว ปัญญาก็สามารถที่จะเลือกสรรถือเอาแต่เฉพาะสิ่งที่ถูก แล้วก็ทิ้งสิ่งที่ไม่ควร

~ ถ้าไม่ตรงตั้งแต่ต้น จะไม่มีวันตรง



ขอเชิญคลิกอ่านย้อนหลังครั้งที่ผ่านมาได้ที่นี่ครับ

ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๕๘๗



...กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์
ที่เคารพยิ่ง
และขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
swanjariya
วันที่ 27 พ.ย. 2565

กราบเท้าท่านอาจารย์ด้วยความเคารพยิ่ง

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
Jans
วันที่ 27 พ.ย. 2565

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
panasda
วันที่ 27 พ.ย. 2565

กราบอนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
jaturong
วันที่ 28 พ.ย. 2565

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
chatchai.k
วันที่ 28 พ.ย. 2565

กราบอนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
kukeart
วันที่ 30 พ.ย. 2565

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
เข้าใจ
วันที่ 30 พ.ย. 2565

กราบอนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
Papsi
วันที่ 4 ธ.ค. 2565

ฟังธรรม โดยความเมตตาจากท่านอาจารย์สุจินต์ ไม่จำกัดสถานที่ ไม่จำกัดเวลา ขอน้อมกราบอนุโมทนาสาธุ สาธุ สาธุ ขอรับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ