เรื่องจิตที่เกิดในทวารหนึ่งๆ เกิดพร้อมกัน ไม่มีลำดับ
จากที่ทราบ จิตเกิดขึ้นทีละดวง ทีละขณะ และเมื่อจิตขณะหนึ่งดับไปแล้ว ก็เป็นปัจจัยให้จิตขณะต่อไปเกิดสืบต่อทันที และ เป็นลำดับด้วยดี
อย่างไรก็ตาม พระอภิธรรมปิฎก ธรรมสังคณี เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้าที่ 243-244 มีข้อความว่า
"...รูปารมณ์กระทบจักขุประสาทแล้ว มาสู่คลองมโนทวารในขณะนั้นทันที.... เหมือนอย่างว่า นกบินมาทางอากาศ ซ่อนตัวอยู่ที่ยอดต้นไม้นั่นแหละ ย่อมกระทบกิ่งไม้ด้วย เงาของนกนั้น ย่อมกระทบแผ่นดินด้วย การกระทบที่กิ่งไม้ และการแผ่ไปแห่งเงาที่แผ่นดิน ย่อมมีในขณะเดียวกัน คือไม่ก่อนไม่หลังกัน ฉันใด การกระทบจักขุประสาทเป็นต้นของรูปที่เป็นปัจจุบันเป็นต้น และการมาสู่คลองมโนทวาร เพราะสามารถให้ภวังค์ไหว ย่อมมีในขณะเดียวกันนั่นแหละไม่ก่อนไม่หลังกันฉันนั้น."
และใน พระอภิธรรมปิฎก ธรรมสังคณี เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้าที่ 305-306 อรรถกถาจิตตุปปาทกัณฑ์ มีข้อความว่า
"...อนึ่ง เมื่อจิตนี้มีอารมณ์เกิดขึ้นอยู่อย่างนี้ ก็ไม่มีลำดับ แม้นี้ว่า จิตดวงหนึ่งปรารภรูปารมณ์ก่อน ในภพหนึ่งเป็นไปแล้ว จึงปรารภสัททารมณ์ในภายหลัง ดังนี้. แม้ลำดับนี้ว่า ในบรรดาอารมณ์ที่มีรูปเป็นต้น มีสีเขียวเป็นอารมณ์ก่อนแล้ว มีสีเหลืองเป็นอารมณ์ในภายหลัง ดังนี้ ก็ไม่กำหนดไว้ เพื่อแสดงจิตนั้นนั่นแหละมีอารมณ์ทุกอย่างนี้ และความไม่มีลำดับ..."
ซึ่งทำให้เข้าใจว่า จิตที่เกิดในทวารหนึ่งๆ เกิดพร้อมกันหลายดวงได้ หรือแม้แต่ เกิดในหลายทวารก็ไม่มีลำดับ
ใคร่ขอให้ช่วยอธิบายเพื่อความเข้าใจถูกครับ
ขอขอบพระคุณ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง แสดงถึงความเป็นจริงของสภาพธรรมที่มีจริงๆ ซึ่งจะต้องได้ฟังได้ศึกษาถึงจะมีความเข้าใจ ข้ออุปมาต่างๆ ก็เพื่อให้มีความเข้าใจในความเป็นจริงของสภาพธรรม แม้แต่ในเรื่องของนก กับ เงานกก็แสดงถึงความเป็นจริงของสภาพธรรม คือ จิตที่เกิดดับสืบต่อกันอย่างรวดเร็วยกตัวอย่าง จิตที่เกิดขึ้นทางตาแต่ละขณะๆ ทางมโนทวารก็รับรู้ต่อ รวดเร็วมาก ทางทวารอื่นๆ คือ ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น และทางกาย ก็โดยนัยเดียวกันทางมโนทวาร ก็รับรู้ต่อ
คำบรรยายของอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ มีดังนี้ .-
อาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ : วิถีจิตทางมโนทวารจะต้องรู้รูปเดียวกันกับที่วิถีจิตทางปัญจทวารรู้ ถ้าชวนจิตทางปัญจทวารเป็นโลภมูลจิต ชวนจิตทางมโนทวารวาระแรกก็เป็นโลภมูลจิตประเภทเดียวกัน จักขุทวารวิถีจิตกับมโนทวารวิถีจิตเกิดต่อกันเร็วเหลือเกิน อุปมาเหมือนนกที่บินไปเกาะกิ่งไม้ ทันทีที่นกเกาะกิ่งไม้เงาของนกก็ปรากฏที่พื้นดิน ฉันใด เมื่ออารมณ์ปรากฏทางจักขุทวารแล้วก็ปรากฏต่อทางมโนทวารทันที หลังจากที่ภวังคจิตเกิดคั่นแล้วหลายขณะอย่างรวดเร็วที่สุด จึงทำให้ไม่รู้ว่ารูปารมณ์ที่ปรากฏทางตา เป็นแต่เพียงปรมัตถธรรมอย่างหนึ่ง ซึ่งเมื่อกระทบจักขุปสาทแล้วก็ปรากฏ
อาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ : เวลาที่โสตทวารวิถีจิตเกิดขึ้นรู้เสียงที่กระทบกับโสตปสาทที่ยังไม่ดับ จิตที่รู้เสียงที่ยังไม่ดับ ทุกดวง เป็นโสตทวารวิถีจิต คือ เกิดขึ้นโดยอาศัยหู หรือโสตเป็นทวารทำให้รู้เสียงนั้น เมื่อเสียงนั้นดับไปแล้วก็จริง ภวังคจิตเกิดดับสืบต่อคั่นแล้วก็จริง การได้ยินเสียงทางโสตทวารวิถีที่ดับไป เป็นปัจจัยให้มโนทวารวิถีจิตเกิดขึ้น รับรู้เสียงที่เพิ่งดับนั่นเองเป็นอารมณ์ต่อ นี่เป็นการเป็นไปอย่างรวดเร็วของจิต ซึ่งไม่มีใครสามารถจะยับยั้งได้เลย ถ้าจะหยดน้ำลงไปที่กระดาษที่บางที่สุดที่ซ้อนกัน ๒ แผ่น ทันทีที่น้ำหยดลงไปที่กระดาษแผ่นที่ ๑ ก็จะถึงกระดาษแผ่นที่ ๒ นั่นเป็นลักษณะของรูปธรรม ซึ่งหยาบกว่าลักษณะของนามธรรม หรือถ้าจะอุปมาว่า เหมือนเวลาที่นกบินไปเกาะกิ่งไม้ ทันทีที่นกเกาะกิ่งไม้ เงาของนกก็ปรากฏที่พื้นดินพร้อมๆ กัน นั่นก็คือการเกิดดับสืบต่อกันเร็วมาก ของทางปัญจทวารวิถีกับทางมโนทวารวิถี แม้ว่ามีภวังคจิตเกิดดับสลับคั่นอยู่
จิตเมื่อเกิดขึ้น จะไม่เกิดพร้อมกันหลายๆ ขณะ แต่เกิดทีละขณะ เมื่อเป็นวิถีจิตทางทวาร ๕ ทวารหนึ่งทวารใด ดับไป มีภวังค์คั่น แล้ววิถีจิตทางมโนทวารก็เกิดสืบต่อ และ แม้ไม่เห็น ไม่ได้ยิน เป็นต้น ก็มีวิถีจิตทางมโนทวารเกิดได้ ไม่เคยขาดจิตแม้แต่ขณะเดียว มีจิตเกิดดับสือต่อกันอย่างรวดเร็ว ไม่ขาดสายเลย ประเด็นที่น่าพิจารณา คือ ทาง ๕ ทวาร ทวารใด จะเกิดก่อน เกิดหลัง ล้วนเป็นไปตามเหตุปัจจัย ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น แม้ในทวารเดียวกัน อารมณ์ของตนๆ จะเป็นลักษณะใด ก็ไม่สามารถที่จะเป็นไปตามอำนาจบังคับบัญบัญชาได้เลย เช่น จะได้ยินเสียงในลักษณะใด ก็ได้ยิน ตามเหตุตามปัจจัย แต่เสียง ก็เป็นเสียง เป็นอารมณ์ของจิตทางโสตทวารทั้งหมด ซึ่งจิตแต่ละขณะทางโสตทวาร ก็เกิดสืบต่อกันเป็นลำดับด้วยดี ไม่มีสับลำดับกัน และ จะไม่เกิดพร้อมกันหลายๆ ขณะ และจะไม่เกิดพร้อมๆ กันหลายทวารอีกด้วย ทั้งหมดนั้นเป็นธรรมที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยไม่ใช่เรา มีแต่ธรรมเท่านั้นที่เกิดขึ้นทำกิจหน้าที่ของธรรม ครับ
...ยินดีในความดีของทุกๆ ท่านครับ...
- เรื่องการติดป้ายชื่อ
- สมมติบัญญัติ ก็มาจากสิ่งที่มีจริง ทำให้คนเข้าใจตรงกัน จะจัดว่าเป็นธรรมะด้วยหรือไม่
- ข้อความที่ว่า การเจริญสติด้วยการกำหนดรู้รูปบางอย่าง หรือนามบางอย่าง ไม่อาจทำให้บรรลุนิพพานได้ อยู่ในคัมภีร์อรรถกถาเล่มใดครับ
- อกุศลจิตที่ไม่ล่วงเป็นกรรมบถสามารถให้ผลในปฏิสนธิกาล ปวัตติกาลในชาติต่อๆ ไปได้หรือไม่