มีวิธีทำความเข้าใจอย่างไรว่าเจตสิกธรรมใดประกอบกับโมหมูลจิต โลภมูลจิต โทสมูลจิต
มีวิธีทำความเข้าใจอย่างไรว่าเจตสิกธรรมใดประกอบกับโมหมูลจิต โลภมูลจิต โทสมูลจิต
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ไม่ใช่ไปมีตัวตนที่จะไปทำความเข้าใจอะไร ความเข้าใจ ทำไม่ได้ บังคับให้เกิดขึ้นไม่ได้ แต่สามารถเข้าใจได้เมื่อฟังบ่อยๆ พิจารณาไตร่ตรองในเหตุในผลตรงตามความเป็นจริง เข้าใจทันทีทุกอย่างทั้งหมด เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ แต่ทุกครั้งที่มีโอกาสได้ฟังได้ศึกษา ก็จะเป็นเหตุทำให้ความเข้าใจถูกเห็นถูก ค่อยๆ เกิดขึ้นได้
อกุศลจิตทั้งหมด ทั้งโลภมูลจิต โทสมูลจิต และ โมหมูลจิต เป็นธรรมที่มีจริงๆ เกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุตามปัจจัยไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น
เบื้องต้น จากการฟัง ก็พิจารณาได้ว่า ไม่ว่าจะเป็นอกุศลจิตประเภทใดก็ตาม จะไม่ขาดอกุศลสาธารณเจตสิก ๔ ดวงนี้ คือ อหิริกะ (ความไม่ละอายต่อบาป) อโนตตัปปะ (ความไม่เกรงกลัวต่อบาป) อุทธัจจะ (ความฟุ้งซ่าน ไม่สงบ) และ โมหะ (ความหลง ความไม่รู้)
พิจารณาต่อไปได้ว่า ถ้าเป็นโลภมูลจิต คือ อกุศลจิตที่มีโลภะเป็นมูล ที่ขาดไม่ได้เลย ก็คือ โลภะ ต้องเกิดขึ้นอย่างแน่นอน โทสมูลจิต จิตที่มีโทสะเป็นมูล ก็ต้องมีโทสะ เกิดร่วมด้วย โมหมูลจิต จิตที่มีโมหะเป็นมูล ก็ต้องมีเจตสิกที่เป็นเหตุเพียงเหตุเดียวเกิดร่วมด้วยคือ โมหะ ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับว่า จะเป็นโมหมูลจิต ที่ความสงสัยเกิดร่วมด้วย (ก็ต้องมี วิจิกิจฉา ความลังเลสงสัย เกิดร่วมด้วย) หรือ เป็นโมหมูลจิตที่ไม่มีความสงสัยเกิดร่วมด้วย แต่มีความฟุ้งซ่านเกิดร่วมด้วย
ทั้งหมด คือ ชีวิตประจำวัน เจตสิก ไม่ได้อยู่ในตำรา แต่มีจริงๆ ในขณะนี้ แต่เจตสิกที่เกิดร่วมกับอกุศลจิตแต่ละประเภทๆ ยังมีอีก ก็ต้องค่อยๆ ฟังค่อยๆ ศึกษาจริงๆ ค่อยๆ เพิ่มพูนความมั่นคงในความเป็นจริงของธรรม ที่ไม่ใช่เรา ต่อไป ครับ
ขอเชิญคลิกอ่านคำบรรยายของอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ได้ที่หัวข้อด้านล่างนี้ครับ
โมจตุกกะ
ถีทุกะ และ วิจิกิจฉาเจตสิก
...ยินดีในกุศลของทุกๆ ท่านครับ...