ภิกษุไว้เคราได้หรือ?

 
khampan.a
วันที่  19 ธ.ค. 2565
หมายเลข  45357
อ่าน  643

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พระภิกษุเป็นเพศที่สูงยิ่ง เป็นผู้งามพร้อมทั้งกาย วาจา และใจ มุ่งที่จะศึกษาพระธรรมวินัย อบรมเจริญปัญญาขัดเกลากิเลส มีความเคารพอย่างยิ่งต่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จะมาทำสิ่งที่ไม่เหมาะไม่ควร ไม่ได้เลย

พระภิกษุ ต้องปลงผมและหนวด ซึ่งการปลงผมและหนวด เป็นเครื่องหมายของบรรพชิตอย่างหนึ่ง จุดประสงค์เพื่อการตัดความกังวลในเรื่องการดูแลรักษาและป้องกันการแต่งผมแต่งหนวด แต่งเครา อันไม่ใช่สิ่งที่พระภิกษุจะกระทำได้เลย

พระภิกษุ ไม่พึงไว้ผมยาวและไม่พึงปล่อยให้หนวดเครายาว ตามพระวินัยบัญญัติ ดังนี้

พระวินัยปิฎก จุลวรรค เล่ม ๗ ภาค ๒ - หน้าที่ ๖

สมัยต่อมา พระฉัพพัคคีย์ไว้ผมยาว ชาวบ้านเพ่งโทษ ติเตียนโพนทะนาว่า เหมือนพวกคฤหัสถ์ผู้บริโภคกาม ภิกษุทั้งหลาย กราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า

พระผู้มีพระภาคเจ้า รับสั่งว่า ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงไว้ผมยาว รูปใดไว้ ต้องอาบัติทุกกฏ ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ไว้ผมได้สองเดือนหรือยาวสององคุลี


พระวินัยปิฎก จุลวรรค เล่ม ๗ ภาค ๒ หน้า ๕๗

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงตัด (ตกแต่ง) หนวด ไม่พึงปล่อยหนวดไว้ให้ยาว ไม่พึงไว้เครา ไม่พึงแต่งหนวดเป็นสี่เหลี่ยม ไม่พึงขมวดกลุ่มขนหน้าอก ไม่พึงไว้กลุ่มขนท้อง ไม่พึงไว้หนวดเป็นเขี้ยวโง้ง ไม่พึงโกนขนในที่แคบ รูปใดโกน ต้องอาบัติทุกกฎ

ดังนั้น ภิกษุในพระธรรมวินัย สิ่งใดที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงบัญญัติไว้ ก็ประพฤติตาม คือ ละเว้นในสิ่งที่ไม่เหมาะไม่ควร แล้วประพฤติเฉพาะในสิ่งที่เหมาะที่ควรเท่านั้น เมื่อได้ศึกษาในพระธรรมวินัย ก็ทำให้เข้าใจชัดเจนว่า ภิกษุจะไว้หนวดไว้เคราไม่ได้เลย ไม่ว่าจะเป็นในกรณีใดๆ ก็ตาม เพราะนั่น ดูไม่งามอย่างยิ่งสำหรับเพศที่สูงยิ่ง ถ้าภิกษุใด ไว้หนวด ไว้เครา ก็เป็นอาบัติทุกกฏ ครับ

* หมายเหตุ
-อาบัติ หมายถึง การล่วงละเมิดพระวินัยที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงบัญญัติไว้

-ทุกกฏ หมายถึง การกระทำที่ผิด การกระทำที่ไม่ดี เนื่องจากไม่ได้ประพฤติตามพระดำรัสที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ เป็นการกระทำที่แย้งต่อกุศลธรรม เป็นการกระทำที่พลาด เพราะไม่สามารถนำไปสู่ข้อปฏิบัติที่จะให้ถึงการรู้แจ้งความจริงได้


ที่สำคัญที่สุด คือ จุดประสงค์ที่แท้จริงของการบวช คือ อะไร? ถ้าไม่ใช่เพื่อขัดเกลากิเลสแล้ว การบวชนั้นไม่มีประโยชน์เลย มีแต่โทษเท่านั้น เพราะจุดประสงค์ของการบวช คือ เพื่อศึกษาพระธรรมวินัย ขัดเกลากิเลสของตนเอง ประพฤติคล้อยตามพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ครับ

...ยินดีในกุศลของทุกๆ ท่านครับ...


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
capacitor4
วันที่ 19 ธ.ค. 2565

กราบขอบพระคุณและกราบยินดีในกุศลอ.คำปั่นค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
chatchai.k
วันที่ 19 ธ.ค. 2565

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
เฉลิมพร
วันที่ 21 ธ.ค. 2565

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
เมตตา
วันที่ 22 ธ.ค. 2565

ขอบพระคุณ และยินดีในความดีของ อ.คำปั่น ด้วยค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ