ฟังความจริงเพื่อเข้าใจความจริงของสิ่งที่มีจริง_สนทนาธรรม ไทย-ฮินดี วันเสาร์ที่ ๓๑ ธันวาคม ๒๕๖๕

 
เมตตา
วันที่  31 ธ.ค. 2565
หมายเลข  45449
อ่าน  545

- (คุณสุคิน: เราสนทนาต่อจากครั้งที่แล้ว เรากำลังพูดถึงกิจของจิต) ถูกต้องค่ะ (เรากำลังทบทวนเรื่องกิจของจิต เริ่มจากปฏิสนธิ ภวังค์ จุติ และพูดถึงอาวัชชนกิจ คุณอาช่ารู้ว่า อาวัชชนจิตเป็นกิริยาจิต และขอทราบความหมายของอาวัชชนะ) ธรรมดาปฏิสนธิจิตเกิดไม่ได้รู้อารมณ์ของโลกนี้เลย กรรมทำให้จิตเกิดขึ้น จิตนั้นเป็นผลของกรรม เกิดพร้อมเจตสิกและรูป (ครับ) เพราะฉะนั้น จิตที่เกิดขึ้นทำปฏิสนธิกิจ เพราะว่าจิตทุกขณะต้องมีกิจหน้าที่ เกิดขึ้นเพื่อทำกิจ ไม่ใช่เกิดขึ้นมาเฉยๆ เกิดขึ้นทำกิจนั้นแล้วดับ จิตเกิดขึ้นไม่ทำกิจได้ไหม? (ไม่ได้) จิตเกิดขึ้นทำกิจนี้ จะไปทำกิจอื่นได้ไหม? (ไม่ได้) เพราะฉะนั้น จิตขณะแรกของชาตินี้ชื่อว่า ปฏิสนธิจิต หมายความว่า ปฏิ = เฉพาะ สนธิ = สืบต่อ สืบต่อจากจุติจิตของชาติก่อน แสดงว่าทันทีที่จุติจิตของชาติก่อนดับจะไม่มีปฏิสนธิจิตไม่ได้ เว้นจิตของพระอรหันต์ที่ไม่มีปัจจัยที่จะทำให้เกิดขึ้น เพราะฉะนั้น ไม่มีคุณอาช่าเกิด ไม่มีคุณอาช่าตาย แต่มีจิตที่เกิดขึ้นตามปัจจัย.

- เพราะฉะนั้น จิตขณะแรกเกิดขึ้น ยังไม่ได้ทำกิจอย่างอื่นนอกจากทำกิจเกิดขึ้นสืบต่อจากจุติจิตของชาติก่อน จิตทุกขณะเกิดขึ้นทำกิจแล้วดับทันที ชาติหนึ่งมีปฏิสนธิจิตกี่ขณะ? (หนึ่งขณะ) แต่กรรมทำให้ผลของกรรมซึ่งเป็นวิบากเกิดขึ้นหนึ่งขณะไม่พอเลยกับกรรมที่ได้ทำแล้ว กรรมทำให้จิตเกิดขึ้นดับไปสืบต่อจนกว่าจะหมดสิ้นกรรมที่จะทำให้เกิดเป็นคนนี้ เกิดแล้วไม่ตายได้ไหม? (ไม่ได้) ตายแล้วไม่เกิดได้ไหม? (ยกเว้นถ้าไม่มีกิเลสแล้วก็ไม่เกิด) ค่ะ ก็เป็นผู้ที่เข้าใจความละเอียดนะ ไม่รีบตอบ เพราะฉะนั้น กรรมให้ผลระหว่างที่ยังไม่จุติยังไม่ตาย.

- เพราะฉะนั้น ต้องรู้ว่าผลของกรรมตั้งแต่เกิดก่อนตาย คืออะไร? ปฏิสนธิจิตเกิดทำกิจเกิดขึ้นสืบต่อจากจุติของชาติก่อนแแล้วดับทันที จิตทุกขณะมีอายุ ๓ ขณะ ขณะเกิดขึ้นไม่ใช่ขณะที่ดับไป เพราะฉะนั้น จิตเกิดขึ้นยังไม่ดับ ต้องทำกิจของจิตนั้นแล้วจึงดับ กรรมหนึ่งไม่ได้ทำให้เพียงปฏิสนธิจิตเกิดแล้วดับ แต่จะต้องให้ผลต่อไปอีก กรรมทำให้ปฏิสนธิจิตเกิดแล้วดับ และกรรมทำให้มีจิตเกิดสืบต่อจากปฏิสนธิจิตซึ่งเป็นผลของกรรมเดียวกัน ยังตายไม่ได้ เพราะฉะนั้น ทันทีที่ปฏิสนธิจิตดับ กรรมทำให้จิตเกิดสืบต่อ ไม่ได้ทำกิจปฏิสนธิ แต่ ทำภวังคกิจ คือดำรงภพชาติจนกว่าจะสิ้นสุดกรรมนั้น.

- จิตที่เกิดต่อจากปฏิสนธิจิตเป็นผลของกรรมเดียวกับปฏิสนธิจิต เพราะฉะนั้น ความต่างของปฏิสนธิจิตกับจิตที่สืบต่อซึ่งเป็นผลของกรรมเดียวกันต่างกันตรงไหน? (ต่างตรงกิจ ปฏิสนธิจิตทำกิจปฏิสนธิ ส่วนภวังคจิตทำกิจดำรงชีวิตต่อไป) ดีมาก เข้าใจดี ต้องคิด ต้องละเอียด ต้องตรง.

- ปฏิสนธิจิตกับภวังคจิตมีเจตสิกเกิดร่วมด้วยหรือเปล่า? (ต้องมี) ปฏิสนธิจิตกับภวังคจิตมีเจตสิกประเภทเดียวกันเกิดร่วมด้วยหรือเปล่า? (ประเภทเดียวกัน) นี่เป็นสิ่งที่ต้องเข้าใจว่า ไม่ใช่เรา ละเอียดขึ้นจึงจะรู้ว่า แต่ละขณะเป็นจิตเท่านั้นและเจตสิกที่เกิดร่วมด้วย เจตสิกที่เกิดกับจิตเป็นชาติอะไร? (เป็นชาติเดียวกันกับจิตที่เกิด) ชาติอะไรค่ะ (คุณสุคินถาม: ปฏิสนธิกับภวังค์อยู่ใช่ไหม?) ค่ะ ปฏิสนธิจิตกับภวังคจิตมีเจตสิกเกิดจำนวนเท่ากัน เป็นผลของกรรมเดียวกัน เพราะฉะนั้น เจตสิกที่เกิดกับจิตเป็นชาติอะไร? (วิบาก) เพราะฉะนั้น สำหรับปฏิสนธิจิต ภวังคจิต ยังไม่รู้อารมณ์ของโลกนี้เลย เพราะมีอารมณ์ใกล้จุติของชาติก่อน.

- จิตเกิดขึ้นไม่รู้อะไรได้ไหม? (ไม่ได้) เพราะฉะนั้น สิ่งที่จิตรู้ ภาษาบาลี ใช้คำว่า อารัมมณะ จิตเป็นสภาพที่เกิดขึ้นรู้ ต้องมีสิ่งที่ถูกรู้ ไม่ว่าจะเป็นอะไรทั้งหมดเป็นอารัมมณะคือสิ่งที่จิตรู้.

- จิตเกิดขึ้นไม่รู้อารมณ์ได้ไหม? (ไม่ได้) ปฏิสนธิจิตเกิดขึ้นรู้อารมณ์หรือไม่รู้? (ต้องรู้อารมณ์) ภวังคจิตเกิดขึ้นไม่รู้อารมณ์ได้ไหม? (ไม่ได้) อารมณ์ของปฏิสนธิจิตกับอารมณ์ของภวังคจิตเหมือนกันไหม? (ต่างกันไม่ได้) เพราะฉะนั้น ต้องมั่นคง เพราะฉะนั้น เดี๋ยวนี้มีปฏิสนธิจิตไหม? (เวลานี้ไม่มีปฏิสนธิ) เวลานี้มีภวังคจิตไหม? (พูดถึง มีเห็น ขณะนั้นมีจิตอื่นไม่ได้ ในเมื่อเราเข้าใจว่าจิตเกิดดับสลับเร็วมาก เพราะฉะนั้น ต้องมีภวังคจิตด้วย) ขณะใดที่ไม่รู้อารมณ์ของโลกนี้ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ขณะนั้นไม่มีภวังค์ได้ไหม? (ต้องมีภวังค์) เพราะฉะนั้น ปฏิสนธิจิตเป็นแมว เป็นคน เป็นนกหรือเปล่า? (ปฏิสนธิเป็นจิต) แมวเกิด นกเกิด ปฏิสนธิเกิด แล้วไม่เป็นภวังค์ได้ไหม? (ไม่ได้) .

- เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะเกิดเป็นเทวดา เป็นพรหม เป็นนก เป็นคน เป็นมนุษย์ ทันทีที่ปฏิสนธิจิตดับ จิตต่อไปเป็นอะไร? (ภวังคจิตเกิด) จิตอื่นเกิดต่อไม่ได้เลยนอกจากภวังคจิต เริ่มรู้จักจิต ค่อยๆ รู้ว่าไม่มีเราเลย มีแต่จิต เจตสิก รูป.

- เริ่มรู้ต่างกันของที่เราเรียกว่า คน สัตว์ เทพ พรหม เป็นสภาพธรรมที่เกิดขึ้นต่างกันด้วยผลของกรรมที่ต่างกัน ถ้าไม่เริ่มเข้าใจถูกต้องว่าไม่มีเราตั้งแต่เกิดก็ไม่สามารถที่จะรู้ความจริงใดๆ ได้เลย.

- เดี๋ยวนี้มีภวังคจิต แต่ไม่รู้ว่า ขณะไหนเป็นภวังค์ เพราะฉะนั้น จะรู้ได้บ้างไหมว่าขณะไหนเป็นภวังค์? (ที่รู้แน่ๆ ขณะนอนหลับสนิท) ถูกต้องนะ เพราะฉะนั้น นอนหลับสนิทเกิดแล้วก็เหมือนหลับสนิทไปจนกว่าจะมีการรู้อารมณ์ที่ไม่ใช่อารมณ์ของปฏิสนธิ และภวังค์ ปฏิสนธิจิตเกิดแล้วดับไป ภวังคจิตเกิดต่อ หลายๆ ขณะดับไป ไม่รู้เลยสักนิดเดียวว่าเกิดแล้วอยู่ในโลกไหน? เพราะฉะนั้น เริ่มรู้สึกตัวเมื่อมีจิตหนึ่งเกิดขึ้น คิดถึง หรือจะใช้คำว่าเริ่มรู้สึกตัวก็ได้ เป็นมโนทวาราวัชชนจิต มโน หมายความว่า ใจ ทวาระ คือ ทวาร อวัชชนะจะใช้คำแปลว่า รำพึงถึง ก็ยาวมาก เพียงแต่ว่าเริ่มรู้สึกตัวทางใจ ขณะนั้นต่างกับภวังค์ ต่างกับปฏิสนธิ เพราะฉะนั้น เป็นจิตที่เกิดขึ้นทำกิจไม่ใช่ภวังคกิจ ไม่ใช่ปฏิสนธิกิจ ขณะเริ่มรู้สึกตัวครั้งแรกของทุกชาติไม่ว่าจะเกิดเป็นพรหม เป็นสัตว์เดรัจฉาน เป็นมนุษย์ หรือเป็นใครก็ตามแต่ จากภวังค์ที่ดำรงภพชาติ ก็จะเริ่มรู้สึกตัวเป็นกิจแรกคืออาวัชชนกิจทางใจ.

- ถ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ทรงแสดง มีใครรู้บ้าง แต่สภาพธรรมเกิดขึ้นเป็นไปตามลำดับ ปฏิสนธิจิตเกิดแล้ว ดับแล้ว ภวังคจิตเกิดคั่นดับเกิดดับเกิดดับ ถ้ามีอย่างนี้เท่านั้น โลกจะปรากฏไหม?

กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ด้วยความเคารพอย่างยิ่งค่ะ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
เมตตา
วันที่ 31 ธ.ค. 2565

- (คุณอาช่า ถาม: เป็นไปได้ไหม กรรมทำให้ผลเป็นปฏิสนธิ และภวงค์ แล้วก็ไม่มีอารมณ์ของชาตินี้ แล้วก็มีจุติต่อจากนั้นเป็นไปได้ไหม ก่อนนั้นอาช่าไม่ค่อยเข้าใจ แต่ตอนนี้เข้าใจแล้ว ตอบว่า เป็นไปไม่ได้) เพราะอะไรเป็นไปไม่ได้ (ถ้าเกิดมาไม่รู้อะไรอีกเลย ก็เป็นไปไม่ได้) มีเหตุผลอื่นอีกไหม? (ตอบได้แค่นี้) ถูกต้องนะ เพราะว่าต้องเป็นเรื่องที่ไตร่ตรอง ถ้าไม่รู้อะไรเลยแล้วตายไป จะเกิดเป็นอะไร และกรรมอะไรจะให้ผล เพราะฉะนั้น ตายหมายความว่า พ้นจากการที่กรรมที่ทำให้เกิดหมดสิ้นแล้วที่จะให้เป็นคนนี้ ปฏิสนธิ แล้วเป็นภวังค์ยังไม่ทันรู้อะไรยังไม่ทันทำอะไรเลย แล้วก็ตาย แล้วต้องเกิด แล้วจะเป็นผลของกรรมอะไร? ดังนั้น ก่อนตายต้องมีจิตที่เกิดขึ้นเป็นกุศลหรืออกุศล ซึ่งเมื่อตายแล้วปฏิสนธิต้องมีจิตนั้นนั่นเองเป็นอารมณ์โดยเป็นผลของกรรมนั้นที่จะทำให้เกิด.

- เพราะฉะนั้น ตายเดี๋ยวนี้ได้ไหม? (ได้) แล้วจิตที่เกิดเป็นผลของกรรมอะไร? (ผลของกรรมที่เกิดก่อนจุติของชาตินี้) ไม่ใช่ ไม่ใช่ที่เขาตอบ (ผิดอย่างไร?) กรรมเป็นสภาพที่ปกปิด ผลของกรรมเป็นสภาพที่ปกปิด เพราะขณะที่ทำกรรม ก็ไม่รู้ว่ากรรมนี้จะให้ผลเมื่อไหร่ และขณะที่ผลของกรรม เช่น ปฏิสนธิเกิดขึ้นก็ไม่รู้ว่าเป็นผลของกรรมอะไร เพราะฉะนั้น การเกิดเป็นผลของกรรมหนึ่งที่ทำมาแล้วนานก็ได้ หรือเป็นผลของกรรมที่ทำชาตินี้ก็ได้ ขณะที่กำลังจะตายก็ได้ เพราะฉะนั้น แสดงให้เห็นว่า ทุกคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นความจริง กรรมเป็นสภาพที่ปกปิด ไม่รู้ว่าจะให้ผลแมื่อไหร่ ขณะไหน และอย่างไร และผลของกรรมที่เกิดขึ้นเดี๋ยวนี้ ที่เห็น ที่ได้ยิน ก็ไม่รู้ว่าเป็นผลของกรรมไหนในชาติไหน เพราะฉะนั้น เกิดแล้วเป็นภวังค์ แล้วให้ตายเลยได้ไหม? (ไม่ได้) เพราะฉะนั้น เกิดแล้วเป็นภวังค์ๆ ๆ ต้องมีการที่รู้สึกตัวเริ่มรู้ เพราะฉะนั้น ศึกษาธรรมทีละคำเพื่อเข้าใจความเป็นจริงของธรรม.

- ปฏิสนธิจิตเกิดแล้วเป็นภวังค์ตลอดเวลาไม่ได้ นั่นคือการรับผลของกรรมส่วนหนึ่ง แต่ยังต้องรับผลของกรรมส่วนอื่นด้วย ทางอื่นด้วย เพราะฉะนั้น เกิดแล้วเป็นภวังค์แล้ว วิถีจิต หมายความว่า จิตที่ต้องรู้อารมณ์อื่นที่ไม่ใช่อารมณ์ของภวังค์ ด้วยเหตุนี้เราจึงต้องรู้จิตที่เกิดขึ้นเป็นไปตั้งแต่เกิดจนตายว่า เป็นธรรมที่มีจริงเกิดขึ้นตามเหตุปัจจัยไม่ใช่เราเลย เพราะทันทีที่เกิดก็ดับ.

- เพื่อรู้ความจริงของธรรม เพื่อที่จะได้เข้าใจถูกต้องว่า ไม่มีเรา ในขั้นต้นคือฟังจนกระทั่งมั่นคงเข้าใจถูกต้อง ถ้าเรียนแล้วเข้าใจว่าเป็นเราที่เรียน ไม่ใช่สัจจะ ไม่ใช่สัจจบารมี สัจจะ คือ การรู้ความจริงของสิ่งที่มีจริงๆ ความจริงของสิ่งที่มีจริงทั้งหมดทุกขณะ คือ เป็นธรรมแต่ละหนึ่งซึ่งเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป ไม่มีเรา ไม่ใช่เรา ขณะนี้กำลังเป็นอย่างนี้ แต่ยังไม่รู้จริงอย่างนี้เพียงแต่ฟังความจริงเป็นอย่างนี้.

- เพราะฉะนั้น เดี๋ยวนี้มีสิ่งที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ทรงแสดง ถ้าไม่ฟังให้เข้าใจ จะรู้จักพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไหม?

กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ด้วยความเคารพอย่างยิ่งค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
เมตตา
วันที่ 31 ธ.ค. 2565

- ถ้าไม่มีความเข้าใจในสิ่งที่กำลังมี ก็ไม่มีทางที่จะเข้าใจอะไรได้เลยทั้งสิ้น คำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพิสูจน์ได้ รู้ได้ในขณะที่กำลังปรากฏเดี๋ยวนี้.

- เพราะฉะนั้น เกิดแล้วเป็นภวังค์ แล้วก็เป็นอาวัชชนกิจ ถ้าเป็นทางใจก็เป็นมโนทวาราวัชชนกิจ ขณะที่ไม่เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้กลิ่น ไม่ลิ้มรส ไม่รู้สิ่งที่ปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ขณะนั้นมีจิตไหม? (ต้องมีจิต) ทำกิจอะไรจิตนั้น? (ภวังคกิจ) ไม่ใช่มีเหตุผลอื่นเลย นอกจากจิตเกิดเท่านั้นที่เกิดขึ้นทำกิจ ถ้าไม่ทำกิจนี้ กิจนี้ ก็ต้องทำกิจหนึ่ง เพราะจะขาดจิตไม่ได้เลย เพราะเมื่อจิตใดดับไปเป็นปัจจัยให้จิตต่อไปเกิดขึ้นจนกว่าจะเป็นพระอรหันต์.

- เดี๋ยวนี้มีภวังคจิตไหม? (อาช่า: ทุกอย่างเกิดดับเร็วมาก ไม่สามารถจะรู้จิตขณะหนึ่งได้ ก็ต้องมีภวังค์คั่น ตามนัยนี้ก็ต้องตอบว่า มีภวังค์) นี่แสดงให้เห็นว่า ถ้าไม่ได้ฟังคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่สามารถที่จะมีความเห็นถูกตามความเป็นจริงว่าจิตเกิดขึ้นทำกิจแล้วก็ดับไป แต่ละหนึ่งกิจ เปลี่ยนไม่ได้.

- เพราะฉะนั้น ความรวดเร็วของจิต เริ่มเข้าใจถูกต้องว่า ขณะใดที่ไม่เห็นต้องมีภวังค์ก่อนแล้วจึงมีได้ยิน แล้วได้ยินดับไปก็ต้องมีภวังค์ก่อนที่จะเห็น หรือได้ยินคั่นตลอดแต่ละทวาร ถ้าไม่ฟังคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะเข้าใจอย่างนี้ได้ไหม? เพราะฉะนั้น เข้าใจอย่างนี้มั่นคง หรือยัง? (มั่นคงขึ้น) มั่นคงขึ้นตามความเข้าใจ ถ้าเข้าใจน้อยกับเข้าใจมากความมั่นคงก็ต่างกันใช่ไหม? (ใช่) เพราะฉะนั้น การฟังเข้าใจแต่ยังไม่ประจักษ์จริงๆ เป็นความเข้าใจระดับขั้นของปริยัติ รอบรู้ในพระพุทธพจน์ ไม่เข้าใจผิด.

- เพราะฉะนั้น เราเริ่มฟังเพื่อจะมั่นคงขั้นปริยัติก่อน ก่อนเห็นมีจิตไหม? (มี) จิตอะไรก่อนเห็น? (อาวัชชนจิต) ดีมาก อาวัชชนจิตทางไหน ก่อนเห็น? (จักขุทวาราวัชชจิต) ดีมากที่รู้ แต่ว่าตอบเร็วไปหน่อย ก่อนเห็นต้องมีจิตที่ทำอาวัชชนกิจ จึงชื่อว่าทางตาเป็นจักขุทวาราวัชชนจิต ก่อนเห็นเป็นภวังค์ได้ไหม? (ไม่ได้) ถูกต้อง ก่อนเห็นเป็นอะไร? (เป็นอาวัชชนจิต) กี่ขณะ? (๑ ขณะ) ก่อนเห็นเป็นมโนทวาราวัชชจิตได้ไหม? (ไม่ได้) เพราะฉะนั้น จิตที่ทำอาวัชชนจิตมีกี่ดวง กี่ประเภท? (มี ๖ ประเภท) แต่โดยจิต โดยประเภทของจิตมีกี่จิต? (มี ๒ คือ มโนทวาราวัชชนจิต กับปัญจทวาราวัชชนจิต) มโนทวาราวัชชนจิตทำหน้าที่อาวัชชนะทางปัญจทวารได้ไหม? (ไม่ได้) ก็เข้าใจแล้วนะ.

กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ด้วยความเคารพอย่างยิ่งค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
เมตตา
วันที่ 31 ธ.ค. 2565

- ลองลำดับกิจที่เข้าใจแล้วว่ามีกี่กิจแล้ว? (เท่าที่สนทนาวันนี้มี ปฏิสนธิ ภวังค์ จุติ และอาวัชชนะทั้งมโนทวาราวัชชนะ ปัญจทวาราวัชชนะ และวันนี้พูดถึงอีกกิจหนึ่ง คือ ชวนกิจ) ทั้งหมดกี่กิจ? (๖ กิจ) กิจทั้งหมดมีกี่กิจ? (๑๔ กิจ) จิตทั้งหมดมีมากกว่า ๑๔ ใช่ไหม? (กิจมี ๑๔ จิตมี ๘๙ หรือ ๑๒๑ ประเภท) จิตต้องทำกิจใช่ไหม? (ใช่) แต่จิตมีถึง ๘๙ แต่กิจมีเพียง ๑๔ กิจ หมายความว่าอย่างไร? (มีจิตกี่ขณะก็ตาม ทำกิจไม่เกิน ๑๔) เพราะฉะนั้น จิตที่ทำปฏิสนธิกิจมีเท่าไหร่? (ไม่ทราบ) เพราะฉะนั้น นี่เป็นความละเอียดที่จะต้องเข้าใจขึ้น ด้วยเหตุนี้จะต้องศึกษาตามลำดับว่า จิตมีตั้ง ๘๙ แต่กิจมี ๑๔ กิจ ก็แสดงว่าไม่ว่าจะเป็นจิตใดก็ตาม ต้องทำ ๑ กิจ ซึ่งอาจจะเป็นปฏิสนธิกิจหรือภวังคกิจอะไรก็ได้ แต่ว่าจิตไหนสามารถทำปฏิสนธิกิจได้ จิตไหนสามารถทำภวังคกิจได้ จิตไหนสามารถทำกิจต่างๆ ได้ตามประเภทของจิต นี่เป็นเหตุที่เราจะต้องศึกษาให้ละเอียด คิดเองไม่ได้ แต่เข้าใจได้.

- ต่อไปก็จะทราบว่า ผลของกรรมทำกิจไหนได้บ้าง อาวัชชนกิจมีจิตที่ทำกิจนี้กี่ประเภท? (อาวัชชนจิตเป็นกิริยาจิต เพราะฉะนั้น ถ้าไปอ่านเรื่องจิต ๘๙ ประเภทจึงจะรู้ว่าจิตไหนทำหน้าที่ได้บ้าง) เพราะฉะนั้น อาวัชชนจิตมีจิตอะไรที่ทำอาวัชชนกิจได้ (ยังไม่ทราบ) ให้ทราบว่า กิจนี้เป็นจิตที่เกิดขึ้นหลังจากที่มีการกระทบอารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย หรือแม้จะไม่ใช่สิ่งที่กระทบตา หู จมูก ลิ้น กาย การสะสมมาก็ทำให้จิตรู้สึกที่จะนึกถึงสิ่งหนึ่งสิ่งใด เพราะฉะนั้น จิตที่ทำกิจนี้ไม่ใช่กุศลไม่ใช่อกุศล เพราะจิตนี้สามารถที่จะรู้สิ่งที่กระทบทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ทั้งที่ดีหรือไม่ดีก็ได้ แต่มีหน้าที่เดียวคือ เมื่ออารมณ์กระทบแล้วจิตนี้ทำกิจรู้ จิตที่เกิดขึ้นรู้อารมณ์ที่ดีเป็นกุศลวิบาก จิตที่เกิดขึ้นรู้อารมณ์ที่ไม่ดีเป็นอกุศลวิบาก แต่ปัญจทวาราวัชชนจิตหรืออาวัชชนกิจทำกิจรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใดที่กระทบ ไม่ว่าจะเป็นสิ่งที่ดีน่าพอใจหรือไม่น่าพอใจเป็นผลของกุศลกรรมหรืออกุศลกรรม.

- จิตทำภวังคกิจ เกิดดับเป็นภวังค์ไม่รู้อารมณ์ใดๆ ทั้งสิ้น แต่ เมื่อมีสิ่งที่สามารถกระทบตา ภวังคจิตก็ทำหน้าที่ภวังค์ต่อไปไม่ได้เพราะมีสิ่งมากระทบ เพราะฉะนั้น จิตที่เกิดต่อเมื่อมีสิ่งที่กระทบ คือ จิตที่รู้ว่ามีสิ่งกระทบ.

- จิตที่เป็นภวังค์เหมือนแมงมุม ซึ่งมีใยแมงมุมแต่ยังไม่มีอะไรกระทบ อารมณ์กระทบตา แมงมุมก็เริ่มรู้ว่ามีอารมณ์กระทบตา แต่ยังไม่เห็นว่าเป็นอะไรทางไหน รู้แต่ว่ามีอารมณ์กระทบ เสียงกระทบหู แมงมุมก็เริ่มรู้ว่ามีการกระทบทางหู แต่ไม่ต้องพูดทางตา ทางหู ทางอะไรเลยทั้งสิ้น แต่กรรมทำให้มีรูปพิเศษที่สามารถกระทบสิ่งที่กระทบตาได้เรียกว่าจักขุปสาท กรรมทำให้มีรูปพิเศษที่สามารถที่จะรู้เสียงที่กระทบหูได้เป็นโสตปสาท ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย เป็นปสาทรูป ๕ ที่กระทบได้เฉพาะสิ่งที่สามารถกระทบได้.

- อาวัชชนะเกิดขึ้นเพียงรู้ว่ามีสิ่งที่กระทบทางไหน ถ้าเป็นทางตา อาวัชชนะยังเห็นไม่ได้ แต่รู้ว่ามีสิ่งที่กระทบทางตา เพราะฉะนั้น จิตนี้เปรียบเหมือน ทวาระ ที่รู้ว่าอารมณ์กระทบทางไหน ทวารไหน เพราะฉะนั้น อาวัชชนจิตทำกิจเหมือนประตูที่เปิดให้อารมณ์นั้นเข้าสู่จิต เป็นปัจจัยให้จิตอีกขณะหนึ่งเกิดขึ้นเห็น จึงเห็น.

กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ด้วยความเคารพอย่างยิ่งค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
เมตตา
วันที่ 31 ธ.ค. 2565

- เพราะฉะนั้น ไม่ต้องจำเรื่องแมงมุม ไม่ต้องจำเรื่องใยแมงมุม ไม่ต้องจำเรื่องทวาร แต่ให้รู้ความเป็นไป ว่า เร็วอย่างนี้ และต่างกันอย่างนี้ แต่ถ้าไม่มีทางที่กรรมจะให้ผล กรรมก็ให้ผลไม่ได้ เพราะฉะนั้น เกิดแล้ว ผลของกรรมก็คือ เห็นสิ่งที่น่าพอใจหรือไม่น่าพอใจ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย โดยนัยเดียวกัน จิตที่เห็นทำกิจเห็น ไม่ใช่ทำกิจอาวัชชนะ จิตที่เกิดขึ้นได้ยินทำกิจได้ยิน ทำกิจเห็นไม่ได้ เพราะฉะนั้น วันนี้ก็เพิ่มความเข้าใจกิจของจิตขึ้น ซึ่งเป็นชีวิตประจำวันทุกขณะซึ่งไม่เคยรู้เลยว่า เป็นจิตที่เกิดดับสืบต่อเร็วแล้วก็ดับ ไม่กลับมาอีกเลย.

- ฟังความจริงเพื่อเข้าใจความจริงของสิ่งที่มีจริง ค่อยๆ รู้ความจริงจนกระทั่งสามารถประจักษ์แจ้งสภาพธรรมที่ ไม่ใช่เรา เลย แต่เป็นธาตุรู้และสภาพที่ไม่รู้ คือ นามธรรมและรูปธรรม เริ่มรู้จักพระพุทธศาสนา เริ่มรู้จักพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อมีความเข้าใจขึ้น.

- เป็นคำสอนที่กล่าวถึงสิ่งที่มีจริงๆ โดยผู้ที่ได้ทรงตรัสรู้ความจริง และทรงพระมหากรุณาให้คนอื่นได้รู้ด้วย.

- เมื่อเข้าใจความจริงว่า ขณะนี้สิ่งที่มีเกิดเพราะสิ่งที่ได้เคยมีแล้วเป็นปัจจัย และสิ่งที่กำลังมีเดี๋ยวนี้ก็จะทำให้สิ่งข้างหน้าเกิดขึ้นตามปัจจัยจากขณะนี้ เพราะฉะนั้น ก็ยินดีอย่างยิ่งในกุศลของทุกคนที่ได้เริ่มเห็นประโยชน์ และฟังเพื่อเข้าใจสิ่งที่มีจริง ความจริงลึกซึ้งกว่านี้มาก นี่เป็นเพียงเริ่มต้นเท่านั้นเอง เพราะฉะนั้น ก็หวังว่าทุกคนจะเข้าใจถึงประโยชน์สูงสุดในชีวิตทุกชาติ และก็จะมั่นคงในการที่จะรู้ความจริง.

กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ด้วยความเคารพอย่างยิ่งค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
chatchai.k
วันที่ 31 ธ.ค. 2565

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
siraya
วันที่ 1 ม.ค. 2566

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาพี่เมตตาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
khampan.a
วันที่ 3 ม.ค. 2566

ขอบพระคุณและยินดีในกุศลวิริยะของพี่เมตตาด้วยครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ