วิธีไหว้หรือกราบพระภิกษุ
กราบเรียนถามครับ
ในพระไตรปิฎกแสดงไว้ว่า มีธรรมเนียมและท่าทางการไหว้หรือกราบพระภิกษุไว้อย่างไร จึงเป็นการแสดงความเคารพท่านอย่างเหมาะสมครับ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
[เล่มที่ 39] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ เล่ม ๑ ภาค ๑ หน้าที่ ๒๐๖
กุลบุตรผู้ต้องการประโยชน์ เห็นภิกษุทั้งหลายผู้มีศีลมาถึงประตูเรือน ผิว่าไทยธรรม (สิ่งของที่จะถวาย) มีอยู่ ก็พึงนับถือ (ต้อนรับ,ถวาย) ด้วยไทยธรรมตามกำลัง ผิว่าไทยธรรมไม่มี ก็พึงไหว้อย่างเบญจางคประดิษฐ์ เมื่อการไหว้อย่างเบญจางคประดิษฐ์ ยังไม่พร้อม ก็พึงประคองอัญชลีนมัสการ เมื่อการนอบน้อม ยังไม่พร้อม ก็มีจิตผ่องใส แลดูด้วยจักษุที่น่ารัก
[เล่มที่ 40] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๑
- หน้าที่ ๔๓
ในขณะนั้น มัฏฐกุณฑลีมาณพ กำลังนอนผินหน้าไปข้างในเรือนพระศาสดาทรงทราบว่าไม่เห็นพระองค์, จึงได้เปล่งพระรัศมีในวาบหนึ่ง. มาณพคิดว่า "นี่แสงสว่างอะไร?" จึงนอนพลิกกลับมา เห็นพระศาสดาแล้ว คิดว่า "เราอาศัยบิดาเป็นอันธพาล จึงไม่ได้เข้าไปเฝ้าพระพุทธเจ้าเห็นปานนี้แล้ว ทำความขวนขวายด้วยกาย หรือถวายทาน หรือฟังธรรม, เดี๋ยวนี้แม้แต่มือสองข้างของเราก็ยกไม่ไหว กิจที่ควรทำอย่างอื่นไม่มี " ดังนี้แล้ว ได้ทำใจเท่านั้นให้เลื่อมใส
พระศาสดาทรงพระดำริว่า "พอล่ะ ด้วยการที่มาณพนี้ทำใจให้เลื่อมใสประมาณเท่านั้น" ก็เสด็จหลีกไปแล้ว. เมื่อพระตถาคตพอกำลังเสด็จลับตาไป, มาณพนั้นมีใจเลื่อมใส ทำกาละ (ตาย) แล้ว เป็นประดุจดังว่า หลับแล้วกลับตื่นขึ้น ไปเกิดในวิมานทอง สูงประมาณ ๓๐ โยชน์ ในเทวโลก.
การกราบไหว้ที่กล่าวในประเด็นคำถาม ต้องเป็นเรื่องของกุศลจิต ที่เกิดขึ้นเป็นไป ไม่ใช่อาการภายนอก แม้ไม่ได้กราบแบบเบญจางคประดิษฐ์ เพียงประคองอัญชลี ด้วยจิตเคารพนอบน้อม นั่นก็เป็นกุศลจิต หรือ แม้ไม่ได้ประคองอัญชลี แต่เกิดความเลื่อมใส มีความเคารพนอบน้อมในขณะนั้น ก็เป็นบุญ เป็นกุศลแล้วในขณะนั้น เพราะกุศลธรรมเกิดขึ้นทำกิจหน้าที่ ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน อย่างเช่น มัฏฐกุณฑลีมาณพ ที่ป่วยหนัก ยกมือขึ้นไหว้ไม่ไหว แต่ก็สามารถเคารพบูชาในพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ ด้วยกุศลจิต นั่นเอง ที่เป็นเครื่องเคารพบูชา และข้อความในพระไตรปิฎกที่ได้ยกมาข้างต้น ก็ชัดเจนเป็นอย่างยิ่ง สำคัญที่กุศลจิตเกิดขึ้น ครับ
...ยินดีในกุศลของทุกๆ ท่านครับ...