ความติดข้องและความเข้าใจ
1. หลังจากได้ฟังหรืออ่านพระธรรมแล้วมีความอยากศึกษาต่ออีกเรื่อยๆ ถือเป็นความติดข้องอย่างหนึ่งหรือไม่คะ
2. "หากเกิดอุเบกขา หมายถึงเกิดความเข้าใจในธรรมะ เพราะปราศจากความสุขกาย สุขใจ ทุกข์กาย ทุกข์ใจ" คำกล่าวนี้ถูกต้องไหมคะ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
1. หลังจากได้ฟังหรืออ่านพระธรรมแล้วมีความอยากศึกษาต่ออีกเรื่อยๆ ถือเป็นความติดข้องอย่างหนึ่งหรือไม่คะ
สำคัญที่ความเข้าใจ ไม่ใช่ชื่อ เพราะธรรม คือ สิ่งที่มีจริง เป็นจริงอย่างไร ก็เป็นจริงอย่างนั้น ใครก็เปลี่ยนแปลงไม่ได้ ถ้ามุ่งประโยชน์ ฟังบ่อยๆ เนืองๆ ศึกษาต่อไป ฟังต่อไป เพื่อความเข้าใจอย่างถูกต้องตรงตามความเป็นจริง ย่อมไม่ใช่โลภะ ความติดข้อง แต่เป็นสภาพธรรมที่ดีงามเกิดขึ้นทำกิจหน้าที่ แม้จะกล่าวว่าอยากจะเข้าใจ ประสงค์ที่จะเข้าใจ หรือ กล่าวว่าอย่างไรก็ตาม สภาพธรรมก็ไม่เปลี่ยน แต่ถ้าเป็นความอยาก ความต้องการเพื่ออยากจะรู้เยอะๆ รู้คำ รู้ชื่อ แต่ไม่ได้เพื่อความเข้าใจอย่างถูกต้องตรงตามความเป็นจริง นั่น ไม่พ้นจากโลภะ ความติดข้องต้องการ
2. "หากเกิดอุเบกขา หมายถึงเกิดความเข้าใจในธรรมะ เพราะปราศจากความสุขกาย สุขใจ ทุกข์กาย ทุกข์ใจ" คำกล่าวนี้ถูกต้องไหมคะ
เรื่องอุเบกขาเป็นเรื่องที่ละเอียดมาก มุ่งหมายถึงสภาพธรรมหลายอย่าง เป็นเวทนา ที่เป็นอุเบกขาเวทนา คือ ความรู้สึกที่ไม่สุข ไม่ทุกข์ คือ เฉยๆ ก็มี มุ่งหมายถึง ความเป็นกลาง ไม่เอนเอียงไปในทางฝ่ายอกุศล ซึ่งเป็น ตัตรมัชฌัตตาเจตสิก ก็มี เป็นต้น ดังนั้น ขณะที่เข้าใจ ปัญญาเกิดขึ้น อาจจะประกอบพร้อมกับความรู้สึกเฉยๆ (อุเบกขาเวทนา) ก็ได้ หรือ โสมนัสเวทนา ก็ได้ และทุกขณะที่เป็นกุศล ก็จะไม่ปราศจากตัตรมัชฌัตตาเจตสิก ซึ่งจะต้องเกิดกับจิตที่ดีงามทุกประเภท
ดังนั้น จึงไม่ได้สำคัญที่คำเรียก แต่สภาพธรรมที่เกิดขึ้นในขณะนั้นเป็นอะไร
พระธรรมละเอียดลึกซึ้งอย่างยิ่ง ก็ต้องค่อยๆ ฟัง ค่อยๆ ศึกษา ค่อยๆ สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกไปทีละเล็กทีละน้อย ความสงสัยจะน้อยลงเมื่อเข้าใจเพิ่มมากขึ้น ครับ
...ยินดีในกุศลของทุกๆ ท่านครับ...