ห้องวิปัสสนา

 
wittawat
วันที่  18 ก.พ. 2566
หมายเลข  45586
อ่าน  482

กราบเรียนอาจารย์วิทยากร

อ้างอิงจากคัมภีร์ขุททกนิกาย ชาดก เอกนิบาต อรรถกถาวรุณชาดกที่๑

"ฝ่ายภิกษุเหล่านั้น พากันจาริกไปในแคว้นโกศล ถึงหมู่บ้านชายแดนตำบลหนึ่ง ก็เข้าอาศัยหมู่บ้านนั้นจำพรรษา อยู่ที่ชายป่าแห่งหนึ่ง เป็นผู้ไม่ประมาทเพียรพยายามอยู่ตลอด ระยะกาลภายในไตรมาส ถือเอาห้องวิปัสสนา ยังปฐพีให้บรรลือ ลั่น บรรลุพระอรหัตต์แล้ว พอออกพรรษา ปวารณาแล้วปรึกษา กันว่า จักกราบทูลคุณที่ตนได้บรรลุแล้ว แด่พระศาสดา"

กระผมไม่แน่ใจว่าเค้าใช้คำว่าห้องวิปัสนา เป็นการแปลมาจากคัมภีร์อรรถกถาโดยตรงหรือไม่อย่างไร เท่าที่ทราบโดยบริบทแล้ว ภิกษุทั้งหลายก็เดินทางไปจำพรรษาอยู่ที่ชายป่าเพื่ออบรมเจริญสมณธรรม ขอให้อาจารย์ช่วยให้ความกระจ่างด้วยกับคำว่า "ห้องวิปัสสนา" จะสื่อถึงอะไรครับ ขออนุโมทนาครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
khampan.a
วันที่ 18 ก.พ. 2566

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พระธรรมเป็นเรื่องที่ละเอียดอย่างยิ่ง ประเด็นคำถามของคุณวิทวัต การแปลก็สำคัญ เท่านั้นยังไม่พอ ยังต้องมีความเข้าใจด้วย เทียบจากภาษาบาลี คือ "วิปสฺสนาคพฺภํ คาหาเปตฺวา" แปลยากมาก บางสำนวน คือ ยังวิปัสสนาให้ถือเอาซึ่งครรภ์ สมัยเป็นสามเณร อาจารย์ผู้สอนบาลีก็ให้แปลว่า ยังวิปัสสนาให้ถือเอาซึ่งห้อง ซึ่งก็แปลได้ทั้งสองสำนวน แต่ความเข้าใจมีหรือไม่? โดยความหมาย คือ ยังวิปัสสนาซึ่งเป็นการอบรมเจริญปัญญาให้เจริญบริบูรณ์ นั่นเอง จึงไม่ได้เกี่ยวกับ ห้อง กล่าวคือ ไม่ได้มุ่งหมายถึงว่าจะต้องไปทำอะไรที่ผิดปกติในห้องแต่อย่างใด คำว่า ห้อง หรือ ท้อง ในที่นี้ น่าจะแสดงถึง "ความบริบูรณ์เต็มที่" เหมือนของที่เต็มห้อง หรือ เหมือนตั้งท้อง แล้วก็ต้องคลอดเท่านั้น เทียบเคียงจากอรรถกถาพรหมนิมันตนิกสูตร ดังนี้

[เล่มที่ 19] พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้าที่ ๔๖๓

...เมื่อทรงเทศนนาจบ พรหมประมาณหมื่นองค์ ยังวิปัสสนาให้ถือเอาซึ่งครรภ์ (ตั้งท้องแล้วก็คลอด เหมือนข้าวกล้าตั้งท้องแล้วก็ออกรวง) ตามแนวแห่งเทศนา แล้วก็ดื่มน้ำอมฤต คือ มรรคผล.


...ยินดีในกุศลของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
wittawat
วันที่ 18 ก.พ. 2566

กราบอนุโมทนาครับ ถ้าไม่ได้อาจารย์ผู้เข้าใจภาษาบาลีแก้ความให้ มีโอกาสเข้าใจคลาดเคลื่อนสูงจริงๆ ครับ ซึ่งความหมายแท้จริงก็คือ การอบรมเจริญวิปัสสนาจนบริบูรณ์นั่นเอง

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
Witt
วันที่ 19 ก.พ. 2566

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
wannee.s
วันที่ 20 ก.พ. 2566

วิปัสสนาญาณที่ 1 นามรูปปริจเฉทญาณ คือการประจักษ์แจ้งลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมที่แยกขาดจากกัน เกิดยากมากในสังสารวัฏฏ์ ค่ะ เพราะฉะนั้นต้องอบรมปัญญาขั้นการฟังจนกว่าจะจรดกระดูกและมั่นคงจริงๆ ว่าไม่มีเรา และต้องอาศัยบำเพ็ญคุณความดี คือบารมีทั้ง 10 ประการ จนกว่าจะหมดกิเลสค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
chatchai.k
วันที่ 11 มี.ค. 2566

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ