[คำที่ ๕๙๙] ธาตุกุสลตา

 
Sudhipong.U
วันที่  25 ก.พ. 2566
หมายเลข  45603
อ่าน  515

ภาษาบาลี ๑ คำ คติธรรมประจำสัปดาห์ ธาตุกุสลตา

โดย อ.คำปั่น อักษรวิลัย

ธาตุกุสลตา อ่านตามภาษาบาลีว่า ดา - ตุ - กุ - สะ - ละ - ตา มาจากคำว่า ธาตุ (สภาพที่ทรงไว้ซึ่งลักษณะของตน เป็นธรรมที่มีจริง ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน) กับคำว่า กุสลตา (ความเป็นผู้ฉลาด ความเป็นผู้รู้) รวมกันเป็น ธาตุกุสลตา แปลรวมกันได้ว่า ความเป็นผู้ฉลาดในธาตุ เป็นสภาพธรรมที่มีจริง โดยที่กล่าวถึงปัญญา ความเข้าใจถูกเห็นถูกในธาตุ เมื่อปัญญาเกิดขึ้นก็เกิดพร้อมกับสภาพธรรมที่เกิดร่วมกันในขณะนั้น แสดงถึงความเป็นจริงของธรรมที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน

ข้อความในพระอภิธรรมปิฎก ธรรมสังคณี แสดงความเป็นจริงของความเป็นผู้ฉลาดในธาตุไว้ ดังนี้

ธาตุกุสลตา (ความเป็นผู้ฉลาดในธาตุ) เป็นไฉน? ธาตุ ๑๘ คือ จักขุธาตุ (ตา) รูปธาตุ (สี) จักขุวิญญาณธาตุ (จิตเห็น) โสตธาตุ (หู) สัททธาตุ (เสียง) โสตวิญญาณธาตุ (จิตได้ยิน) ฆานธาตุ (จมูก) คันธธาตุ (กลิ่น) ฆานวิญญาณธาตุ (จิตได้กลิ่น) ชิวหาธาตุ (ลิ้น) รสธาตุ (รส) ชิวหาวิญญาณธาตุ (จิตลิ้มรส) กายธาตุ (กาย) โผฏฐัพพธาตุ (ธาตุดิน ธาตุไฟ ธาตุลม) กายวิญญาณธาตุ (จิตรู้สิ่งที่กระทบสัมผัสทางกาย) มโนธาตุ (รู้อารมณ์ได้ ๕ อารมณ์ทางทวารทั้ง ๕ คือ รู้รูปทางตา รู้เสียงทางหู รู้กลิ่นทางจมูก รู้รสทางลิ้น และรู้โผฏฐัพพะทางกาย มโนธาตุมี ๓ ดวง คือ ปัญจทวาราวัชชนจิต ๑ และสัมปฏิจฉันนจิต ๒ ดวง) ธัมมธาตุ (สุขุมรูปซึ่งเป็นรูปที่ละเอียด ๑๖ รูป, เจตสิกทั้งหมด และพระนิพพาน) มโนวิญญาณธาตุ (จิตที่เหลือทั้งหมด นอกจากจิตเห็น จิตได้ยิน จิตได้กลิ่น จิตลิ้มรส จิตรู้สิ่งที่กระทบสัมผัสกาย และมโนธาตุ ๓), ปัญญา กิริยาที่รู้ชัด ... ความไม่หลง ความวิจัยธรรม สัมมาทิฏฐิ อันเป็นเหตุฉลาดในธาตุ แห่งธาตุทั้งหลายนั้นๆ อันใด นี้เรียกว่า ธาตุกุสลตา

ข้อความในอัฏฐสาลินี อรรถกถา พระอภิธรรมปิฎก ธรรมสังคณี ได้แสดงความหมายของธาตุกุสลตาไว้ดังนี้

ปัญญาที่รู้ การรอบรู้ การเรียน การใส่ใจ การฟัง การทรงจำซึ่งธาตุ ๑๘ ชื่อว่า ธาตุกุสลตา (ความเป็นผู้ฉลาดในธาตุ) ”


พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ตลอด ๔๕ พรรษา ทุกคำเป็นคำอนุเคราะห์เกื้อกูลให้เกิดความเข้าใจถูกเห็นถูกในสิ่งที่มีจริง ซึ่งเป็นธาตุหรือเป็นธรรมแต่ละหนึ่งๆ ตรงตามความเป็นจริง สิ่งที่มีจริง ไม่ได้นอกเหนือจากชีวิตประจำวันเลย แต่เป็นสิ่งที่มีจริงๆ เกิดจริงๆ ในชีวิตประจำวัน โดยที่ไม่มีใครสามารถทำอะไรให้เกิดขึ้นได้เลย เพราะทุกขณะเป็นสิ่งที่มีจริงที่เกิดเพราะเหตุปัจจัย เพราะฉะนั้น เวลาที่กล่าวถึงธาตุ ก็คือสิ่งที่มีจริงที่ทรงไว้ซึ่งลักษณะของตนๆ ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เป็นสภาพที่ว่างเปล่าจากความเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน และเป็นธรรมด้วย เพราะธาตุกับธรรมมีความหมายอย่างเดียวกัน สิ่งที่มีจริงตามความเป็นจริง ก็คือ แต่ละหนึ่งไม่ได้ปะปนกันเลย มีจริง แต่หลากหลายต่างกัน เช่น ความโกรธ เป็นอย่างหนึ่ง ความติดข้องยินดีพอใจ เป็นอย่างหนึ่ง ศรัทธาสภาพที่ผ่องใส เป็นอย่างหนึ่ง ความละอายต่อบาป เป็นอย่างหนึ่ง ความเข้าใจถูกเห็นถูก เป็นอย่างหนึ่ง รูปแต่ละรูป เป็นแต่ละหนึ่ง เป็นต้น เมื่อกล่าวประมวลแล้ว ธาตุ ก็ไม่พ้นจากธรรม ๒ ประเภท คือ นามธรรม กับ รูปธรรม

ตั้งแต่เกิดมา ก่อนฟังพระธรรม ไม่รู้ความจริงหลงผิดว่าเป็นเรา หรือหลงผิดว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่เที่ยงยั่งยืน แต่แท้ที่จริงแล้ว สิ่งที่มีจริงนั้นมีลักษณะเฉพาะแต่ละหนึ่ง ปะปนกันไม่ได้ เกิดแล้วก็ดับไป แม้แต่ที่กล่าวว่า ร่างกายของเรา มีความสำคัญในร่างกายตั้งแต่ศีรษะตลอดเท้าว่าเป็นตาเรา หูเรา จมูกเรา แขนเรา ขาเรา เป็นต้น ก็เพราะไม่รู้ตามความเป็นจริงว่า ที่เป็นร่างกายนั้น มีลักษณะอย่างไร ก็ไม่พ้นไปจากธาตุหรือธรรมเลย เพราะฉะนั้นแต่ละลักษณะที่มีจริงสามารถเข้าใจถูกต้องตามความเป็นจริงได้ว่า เมื่อสิ่งนั้นมีจริง มีลักษณะอย่างนั้น แล้วจะเป็นเราได้อย่างไร ซึ่งจะต้องเป็นผู้ตรงตั้งแต่ต้นว่า สิ่งหนึ่งสิ่งใดที่เป็นจริง เป็นจริงอย่างไร ก็เป็นจริงอย่างนั้น ยกตัวอย่างแข็งที่ตัว ก็เป็นแข็ง เป็นธาตุอย่างหนึ่ง แล้วจะบอกว่าเป็นเราได้อย่างไร ในเมื่อแข็งเป็นแข็ง แข็งจะเป็นอย่างอื่นไปไม่ได้เลย ตัวอย่างต่อไป เช่น ได้ยิน ก็มีจริงๆ เป็นธาตุอย่างหนึ่ง ได้ยิน เป็นอย่างอื่นไม่ได้ นอกจากได้ยิน เป็นเห็นไม่ได้ เป็นความรู้สึกไม่ได้ ต้องเป็นเฉพาะได้ยินเท่านั้น เมื่อได้ยินเกิดขึ้นก็ต้องรู้เสียงเท่านั้น รู้อย่างอื่นไม่ได้ เพราะฉะนั้น ก็จะต้องเป็นผู้ตรงในทุกคำที่ได้ยินได้ฟัง แข็งไม่ใช่เรา ได้ยินไม่ใช่เรา กุศล ไม่ใช่เรา อกุศล ไม่ใช่เรา รูป ไม่ใช่เรา เป็นต้น ทั้งหมดนั้น ล้วนแสดงให้เห็นถึงความจริงของสิ่งที่มีจริงว่า เป็นธาตุแต่ละชนิด ซึ่งมีลักษณะเฉพาะแต่ละอย่าง ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น นี้คือ การเริ่มฟังความจริงของสภาพธรรมที่มีจริงในชีวิตประจำวัน ให้เข้าใจถูกเห็นถูกในสิ่งที่มีจริง เพื่อที่จะได้รู้ว่ามีจริงๆ เพียงชั่วคราว และสิ่งที่มีจริงนั้น ก็เป็นแต่เพียงธาตุแต่ละอย่างๆ เท่านั้น

ถ้ามีความเข้าใจแต่ละธาตุๆ ตามความเป็นจริงว่า แท้ที่จริงก็เป็นสิ่งที่มีจริงซึ่งมีลักษณะปรากฏเพียงชั่วคราวและเกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุปัจจัย ก็สามารถจะรู้ความจริงที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้และทรงแสดงให้ผู้อื่นได้เข้าใจถูกเห็นถูกว่า ขณะนี้เป็นธาตุทั้งหมด ไม่มีเรา ถ้ายิ่งฟัง ยิ่งจะเข้าใจถึงความเป็นธาตุที่มีจริงตามความเป็นจริงจนกว่าจะละคลายการยึดถือว่าเป็นเรา เพราะว่าได้มีความเข้าใจในความเป็นธาตุ เป็นผู้ที่ฉลาดในธาตุ โดยมีรากฐานที่สำคัญคือการได้ฟังพระธรรมศึกษาพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงแสดงไว้ดีแล้ว

ทุกขณะของชีวิต ไม่พ้นจากธาตุเลย ไม่มีเราสักขณะเดียว ประโยชน์ของการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม ไม่ว่าจะได้ฟังได้ศึกษาในส่วนใด เรื่องอะไร ก็ไม่พ้นไปจากเพื่อให้เข้าใจสิ่งที่มีจริงที่กำลังมีกำลังปรากฏตามความเป็นจริงว่า เป็นธาตุ เป็นธรรม ไม่ใช่เรา ซึ่งจะเป็นไปเพื่อการละคลายการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคลหรือเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดได้ในที่สุด ดังนั้น สิ่งสำคัญที่ขาดไม่ได้เลย คือ การฟังพระธรรมศึกษาพระธรรมเป็นปกติในชีวิตประจำวัน ค่อยๆ สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกไปทีละเล็กทีละน้อย

ขอเชิญติดตามอ่านคำอื่นๆ ได้ที่..

บาลี ๑ คำ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
nui_sudto55
วันที่ 2 เม.ย. 2567

สาธุครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
chatchai.k
วันที่ 2 เม.ย. 2567

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ