ไม่ใช่เพียงแค่ขณะได้ยินคำสอนว่าไม่มีเรา แต่มีได้ยินกับเสียง_สนทนาธรรม ไทย-ฮินดี วันอังคารที่ ๗ มีนาคม ๒๕๖๖

 
เมตตา
วันที่  8 มี.ค. 2566
หมายเลข  45648
อ่าน  407

- ศึกษาทุกคำเพื่อเห็นพระมหากรุณา ว่า พระองค์ให้เราเข้าใจสิ่งที่มี ซึ่งไม่มีโอกาสที่จะรู้ได้เลยในสังสารวัฏฏ์ ถ้าไม่ฟังคำที่พระองค์ตรัสเมื่อได้ตรัสรู้แล้ว คำที่พระองค์ตรัสหมายถึงสิ่งที่กำลังมีเดี๋ยวนี้ แต่ลึกซึ้ง เพราะไม่เคยมีใครคิดไม่เคยมีใครรู้ ไม่เคยมีความเข้าใจอะไรเลยทั้งสิ้น จนกว่าจะได้ฟังว่า ธรรมหรือสิ่งที่พระองค์ตรัสรู้ คือ เดี๋ยวนี้ทุกขณะที่มีจริงๆ .

- ถ้าศึกษาคำของพระองค์ไม่รู้ว่า กล่าวถึงสิ่งที่กำลังมีเดี๋ยวนี้ให้เข้าใจให้ถูกต้องตั้งแต่ต้น จะไม่มีประโยชน์อะไรเลย ต้องเข้าใจให้ถูกต้องว่า อะไรถูกอะไรผิด อะไรมีจริงอะไรไม่มีจริง มิเช่นนั้นแล้วก็ไม่มีประโยชน์อะไรเลยที่จะฟังแต่ละคำ ถ้าไม่เข้าใจว่า กำลังเริ่มที่จะเข้าใจทุกคำที่พระองค์ตรัสถึงสิ่งที่มีให้เข้าใจความจริงที่มีเดี๋ยวนี้.

- ถ้าไม่ศึกษาด้วยความเคารพ คิดว่า ฟังแล้วจะต้องไปทำให้สิ่งหนึ่งสิ่งใดเกิดขึ้น นั่นคือ ไม่รู้จักพระสัมมาสัมพุทธเจ้า คนที่ฟังคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแต่ไม่รู้ว่า พูดถึงสิ่งที่กำลังมีเดี๋ยวนี้ ก็เพียงแต่จำ เพราะฉะนั้น เขาพูดตามคำที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัส แต่ไม่มีโอกาสจะเข้าใจสิ่งที่พระองค์กำลังตรัสในขณะนี้ที่ให้เข้าใจสิ่งที่มีจริง.

- ถ้าฟังคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว คิดว่า จะต้องทำให้สิ่งหนึ่งสิ่งใดเกิดขึ้น ผิดหรือถูก (ไม่ถูก) เพราะอะไร? (เพราะว่าทุกสิ่งทุกอย่างเกิดเพราะเหตุปัจจัย ไม่มีใครทำอะไรได้) เพราะฉะนั้น สิ่งที่เขาคิดว่า จะทำ ยังไม่เกิดใช่ไหม เพราะคิดว่าจะทำ (ใช่) ถ้าคิดว่า จะทำ ไม่เข้าใจสิ่งที่กำลังมีขณะนี้ เพราะสิ่งนั้นเกิดแล้วไม่มีใครทำแต่เกิดแล้ว สิ่งที่เกิดแล้วมีแล้วเดี๋ยวนี้ยังมีอยู่หรือเปล่า? (ไม่อยู่) ไปไหน? (ดับไปแล้ว กลับมาไม่ได้) อย่าลืม เพียงเกิดแล้วดับเท่านั้น ไม่กลับมาอีกเลยในสังสารวัฏฏ์ เข้าใจเท่านี้พอไหม? (ไม่พอ) เพราะอะไร? (เพราะความลึกซึ้งของธรรม เท่าที่เราเข้าใจมันลึกซึ้งกว่านั้นและเราต้องเจริญความเข้าใจมากกว่านี้เยอะ) เพราะอะไรอีก (เพราะความไม่รู้เยอะ) เพราะอะไรอีก? (ท่านอาจารย์ช่วยทวนคำถามอีกครั้ง) ฟังเท่านี้แค่นี้พอไหม? (หลงลืมตลอด ฟังเข้าใจแล้วก็หลงลืมนี่เป็นเหตุผลหนึ่ง) ไม่พอเพราะอะไร มีเหตุผลมากมายที่จะต้องรู้ (นึกไม่ออก) เพียงได้ยินว่า ธรรมลึกซึ้ง แต่ยังไม่ได้เข้าใจถึงความลึกซึ้งของธรรม.

กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ด้วยความเคารพอย่างยิ่งค่ะ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
เมตตา
วันที่ 8 มี.ค. 2566

- เพียงได้ยินว่า ธรรมลึกซึ้ง แต่ยังไม่ได้เข้าใจถึงความลึกซึ้งของธรรม เพราะยังไกลจากความจริงที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่า ธรรม คือ เป็นสิ่งที่มีจริง ไม่ได้บอกว่าอะไร นอกจากธรรมต้องเป็นสิ่งที่มีจริง แต่เดี๋ยวนี้เป็นเราที่ฟังธรรม คิดเรื่องธรรม จำทุกคำว่าเป็นธรรม แต่ยังไม่รู้จักธรรมที่กำลังมีเดี๋ยวนี้.

- เพราะฉะนั้น ความลึกซึ้งของธรรมอยู่ที่ ทุกคำ ที่ต้องเข้าใจ เพราะกำลังมีจริงๆ .

- เดี๋ยวนี้มีคุณอาคิ่ล มีคุณสุคิน มีโต๊ะ มีเก้าอี้ มีอะไรบ้างไหม? (ไม่มี) แน่ใจหรือ? (คำตอบลึกซึ้งมาก) เพราะฉะนั้น ฟังเท่าไหร่ก็ไม่พอ เพราะยังไม่รู้จักธรรมเดี๋ยวนี้จริงๆ เพราะฉะนั้น เป็นเราทั้งหมดที่เคยยึดถือว่า เป็นเรา เป็นสื่งหนึ่งสิ่งใดตามที่เคยยึดถือว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด แต่เริ่มได้ฟังเรื่องของสิ่งที่เรายึดถือ และได้ยินว่า ไม่มีเรา ไม่ใช่เรา แต่เป็นธรรม ถ้าธรรมยังรวมกันก็เป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด ที่จะไม่ใช่สิ่งนั้นที่เราเคยยึดถือว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด ก็เมื่อเข้าใจความจริงของแต่ละหนึ่งธรรมที่สามารถจะรู้ได้.

- เพราะฉะนั้น ต้องตรงอย่างยิ่งต่อความเป็นจริง ตรงต่อทุกคำที่พูด คนที่พูดว่าไม่มีเรา มีแต่ธรรม เป็นคนตรงแค่ไหน คนอื่นตอบไม่ได้ใช่ไหมนอกจากตัวเอง นี่คือความจริง นี่คือความตรง แต่ถ้าไม่ฟังไม่รู้ว่าตรง เป็นคนตรงแค่ไหน.

- คุณอาช่ารู้จักธรรมหรือยัง? (ยังไม่รู้จัก) ได้ยินชื่อ ได้ยินเรื่องราวใช่ไหม? (ใช่) และชื่อ และเรื่องราวของสิ่งนั้นอยู่ไหน มีจริงหรือเปล่า? (มีจริง) เป็นชื่อของสิ่งที่มีจริงเดี๋ยวนี้แต่ละชื่อ ไม่ใช่เพียงชื่อ แต่เป็นชื่อให้รู้ว่าความจริงของคำนั้นคืออะไร ลองพูดสักชื่อซิ (เห็น) เห็น รู้จักเห็นหรือยัง? (ยังไม่รู้จัก) นี่ ถูกต้องนะ มีเห็น ไม่เคยรู้จักเห็น แต่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ หมายความว่า รู้จักเห็นถึงที่สุดว่า เห็นเกิดขึ้นเห็น ไม่ใช่ใครทั้งสิ้น ไม่ใช่อาช่ากำลังเห็น แต่เห็นเป็นเห็น.

- เพราะฉะนั้น ที่พูดว่า เห็นไม่ใช่คุณอาช่า จริงแค่ไหน? (คือบางครั้งถาม เราก็ตอบไปโดยไม่เข้าใจ บางครั้งก็เข้าใจ) แต่รู้จักเห็นหรือยัง? (ยังไม่รู้จัก) ตรงแค่ไหนที่พูดอย่างนี้ (ตรงเท่าที่สรุปว่า เราไม่รู้อะไรเลย) .

กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ด้วยความเคารพอย่างยิ่งค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
เมตตา
วันที่ 8 มี.ค. 2566

- เพราะฉะนั้น พูดถึงเห็น ตรงที่ว่า รู้ว่า เห็นมีจริงๆ ตรงต่อคำที่ได้ฟังว่า เห็น ไม่ใช่เรา เพราะฉะนั้น ตรงต่อความเป็นจริงขั้นฟัง เป็นสัจจบารมี เป็นปริยัติ เริ่มตรงต่อความเข้าใจว่า เห็นเกิดขึ้นเห็นเท่านั้น ทีละเล็กทีละน้อย จนกว่าจะสามารถรู้จักเห็นจริงๆ ว่า เป็นเห็นเท่านั้น อีกนานไหมกว่าจะรู้จักเห็น ไม่ใช่เพียงจำคำ และจำเรื่องของเห็นเท่านั้น? (อีกนาน) เมื่อไหร่ รู้ไหม? (ไม่ทราบ) นั่นล่ะ คือบารมี สัจจบารมี ไม่เปลี่ยน แต่รู้ว่ายังไม่รู้จัก เพราะฉะนั้น ต้องมีวิริยะ ความเพียร และก็มีขันติ ความอดทน และก็มีความมั่นคง อธิษฐานที่จะจากเห็นเดี๋ยวนี้ที่ยังไม่รู้จักเห็น จนกว่าเห็นจะปรากฏตามความเป็นจริง ทีละหนึ่งเห็น ไม่ใช่ว่า หนึ่งขณะ แต่ลักษณะที่เห็นเป็นอย่างหนึ่ง.

- ถ้าไม่มีความเข้าใจในความลึกซึ้ง ไม่มีความละเอียด ไม่มีความมั่นคง จะถึงการรู้แจ้ง เห็น ที่ปรากฏเพียงลักษณะของเห็นเท่านั้นได้ไหม?

- ทุกคนรู้คำ รู้ชื่อบารมี เรียกได้ แต่ เข้าใจไหมว่าอะไรเป็นบารมี เพราะฉะนั้น เดี๋ยวนี้เป็นบารมีหรือเปล่า? (มี) เพราะฉะนั้น บารมีไม่ใช่ชื่อสำหรับจำ แต่บารมีเป็นความเข้าใจถูกในสิ่งที่มีจนกว่าจะประจักษ์แจ้งสภาพธรรม เพราะฉะนั้น ถ้าไม่รู้จักธรรม ไม่รู้ว่าจะต้องมีความเข้าใจขึ้นจนกว่าจะถึงการประจักษ์แจ้ง ก็จะไม่สามารถรู้ความจริง.

- เพราะฉะนั้น การสนทนาทุกครั้งเป็นการสนทนาเพื่อเข้าใจความจริงของสิ่งที่กำลังปรากฏ ขณะนี้เป็นบารมีอะไรบ้าง? (ผมไม่ได้ให้เขาคิดหาชื่อ แต่เท่าที่เขาให้คำตอบก็คือ รู้ว่าต้องมีอธิษฐานะที่ว่า ...) ไม่ใช่ชื่อนะ แต่หมายความว่า มั่นคง ที่จะรู้ว่าขณะนี้เป็นธรรมที่สามารถเข้าใจได้จนกว่าจะรู้จักธรรม และเข้าใจธรรม เพราะฉะนั้น นอกจากนี้อะไรเป็นบารมีอีก เห็นไหม อยู่เดี๋ยวนี้ ตรงนี้ ที่จะต้องเข้าใจ? (อาคิ่ลตอบว่า ความเข้าใจ อาช่าตอบว่า ความอดทน) ๒ แล้วใช่ไหม เดี๋ยวนี้เองกำลังมีบารมีอะไรบ้าง ถ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ทรงแสดงก็ไม่มีใครรู้ใช่ไหม? (ใช่) มีสัจจบารมีไหม ตรงต่อความเป็นจริง? (มี) เพราะฉะนั้น ไม่ใช่ตัวหนังสือไม่ใช่คำนะ แต่เป็นสภาพธรรมจริงๆ ซึ่งเคยเป็นเราทั้งหมด แต่ว่าความจริงเป็นแต่ละหนึ่งของธรรม เพราะฉะนั้น สัจจบารมี ความเป็นผู้ตรงตามความเป็นจริงเพราะ ปัญญารู้ความจริง จึงต้องตรงตามปัญญาที่รู้ความจริง ขณะนี้กำลังเพียรไหม? (มีความเพียร) ธรรมดาตามปกติทุกวัน มีวิริยะไหม? (มี) กำลังรับประทานอาหารมีวิริะไหม? (มี) ถ้าไม่มี รับประทานอาหารได้ไหม? (ไม่ได้) ใส่รองเท้ามีวิริยะไหม ไม่ได้พูดถึงบารมีนะ กำลังพูดถึงตัวธรรม เพราะฉะนั้น ให้รู้จักตัวธรรมก่อน เพราะเขาได้ยินแต่ชื่อวิริยะ ได้ยินแต่ชื่อขันติ ได้ยินแต่ชื่อต่างๆ แต่เรากำลังให้เขาเข้าใจก่อนว่า คืออะไร (มี) เดินมีวิริยะไหม? (มี) ต้องรู้จักวิริยะก่อน แล้วจะรู้ว่าขณะไหนวิริยะเป็นบารมี ขณะไหนวิริยะไม่ใช่บารมี.

- กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ด้วยความเคารพอย่างยิ่งค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
เมตตา
วันที่ 8 มี.ค. 2566

- กำลังแปลหนังสือธรรมมีวิริยะไหม? (มี) เป็นวิริยบารมีหรือเปล่า (เป็น) คุณสุคินกำลังพูด คุณอาคิ่ล คุณอาช่ากำลังฟังมีวิริยะไหม? (มี) เป็นวิริยบารมีหรือเปล่า? (เป็น) ทำไมเป็นวิริยบารมี เพราะเหตุว่า ทุกอย่างทำเพื่อรู้ความจริงของสิ่งที่กำลังมี ซึ่งต้องอาศัย วิริยะ ความเพียรนานมากกว่าจะเข้าใจความลึกซึ้งของสิ่งที่มีเดี๋ยวนี้.

- ก่อนพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ ทรงมีบารมีไหม? (มี) ก่อนที่คนฟังคำของพระพุทธเจ้า จะรู้ความจริงตามที่พระองค์ทรงแสดงต้องมีบารมีไหม? (มี) กำลังเบื่อเป็นบารมีไหม? (เป็น) กำลังเบื่อ ขณะเบื่อเป็นบารมีหรือเปล่า ต้องตรงคำถาม ฟังดีๆ (ไม่เป็นบารมี) กำลังเบื่อมีวิริยะไหม? (มีวิริยะ แต่ไม่เป็นบารมี) ถ้าไม่ฟังจะรู้ไหม ใช่ไหม นี่คือการที่ต้องฟัง ต้องไตร่ตรอง และการที่เราเข้าใจสิ่งนี้แหละ เป็นชีวิตประจำวันจริงๆ คือการเข้าใจธรรม.

- จะค่อยๆ เริ่มรู้จักธรรม ก็เมื่อรู้จักสิ่งที่กำลังมีทุกขณะในชีวิตประจำวัน ถ้าค่อยๆ เข้าใจคำที่พระพุทธเจ้าตรัสถึงสิ่งที่มีจริง ก็จะค่อยๆ รู้ว่า ขณะนั้นในชีวิตประจำวันตามปกติเป็นธรรมอะไรบ้าง.

- กว่าจะรู้ความจริงของทุกอย่างที่เราคิดว่าเป็นกะทะ เป็นหม้อ เป็นเตาไฟ เป็นคน เป็นหมอ เป็นโรงพยาบาล ถ้าไม่รู้ว่าเดี๋ยวนี้มีอะไร แต่รู้ว่าธรรมที่กล่าวถึงในหนังสือ เรื่องต่างๆ แล้วก็ไม่รู้ว่า เดี๋ยวนี้ คือ เป็นธรรมนั้นๆ จะมีประโยชน์ไหม? (ไม่มีประโยชน์) ต้องรู้ประโยชน์จริงๆ ของการเข้าใจพระธรรม.

- เพราะฉะนั้น เดี๋ยวนี้ขอเชิญสนทนาธรรมเรื่องอะไรก็ได้ (คุณราจิฝ: นี่แหละ เรามาเพื่อเข้าใจชีวิตจริงๆ แล้วก็เข้าใจคำสอนของพระพุทธองค์) ถูกต้อง ยาก ลึกซึ้งที่คนจะรู้ ประโยชน์ที่แท้จริงของการฟังพระธรรม ยกตัวอย่างสำหรับผู้ที่ละเอียด เห็นความลึกซึ้งของพระปัญญาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่ทำให้คนฟังได้เข้าใจแม้สิ่งที่กำลังมีซึ่งไม่เคยเข้าใจมาก่อน (ท่านอาจารย์จะให้เขายกตัวอย่าง) ไม่ใช่ บอกเขา เพื่อจะถามเขาทีหลัง เขาจะได้คิด ถ้าไม่เห็นความลึกซึ้ง ไม่เห็นประโยชน์ที่จะเข้าใจความลึกซึ้ง จะไม่รู้จักพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเลย.

- ตัวอย่างเมื่อกี๊นี้ ขอเชิญสนทนาธรรม อะไรก็ได้ ทุกคนได้ยินคำว่า อะไรก็ได้ ไม่สงสัยเลยใช่ไหม? อะ ไร ก็ ได้ จริงไหม? (จริง) ถ้าอย่างนั้น ความจริงของ อะ ไร ก็ ได้ คืออะไร? (ความหมายว่า อะไรก็ได้ คือ อะไรที่เกิดปรากฏแล้ว) เห็นไหม ต้องฟังดีๆ จึงจะเข้าใจคำถาม เพราะฉะนั้น แม้คำถามก็ไม่เข้าใจ แล้วคำตอบจะตรงกับคำถามไหม? (ท่านอาจารย์ทวนใหม่) เมื่อกี๊เราพูดกัน ขอเชิญสนทนาธรรม เรื่องอะไรก็ได้ เราพูดอย่างนี้ใช่ไหม? (ความเข้าใจของอาช่า คือว่า ในเมื่อทุกอย่างเป็นธรรม ...) ยังค่ะ เห็นไหมไม่ได้ฟังคำถาม จะตอบอย่างนี้ไม่ได้ เพราะถามว่า เมื่อกี๊นี้เราพูดว่า ขอเชิญสนทนาธรรม เรื่องอะไรก็ได้ ทุกคนฟังแล้วเข้าใจใช่ไหม? ถามเขาไปทีละสั้นๆ อย่าลืมนะคะ ธรรมดา ตรง ถามว่า ขอเชิญสนทนาธรรมเรื่องอะไรก็ได้ ทุกคนเข้าใจประโยคนี้ที่พูดใช่ไหม? ตอบซิคะ จะตอบว่าอะไร เห็นไหม ฟังคำถามอีกครั้งหนึ่ง ขอเชิญสนทนาธรรมเรื่องอะไรก็ได้ เข้าใจใช่ไหมฟังอย่างนี้ (เข้าใจ) จริงใช่ไหม? (จริง) เพราะฉะนั้น ความจริงของอะไรก็ได้คืออะไร? (คำตอบเดิมว่า ในเมื่อมีแต่ธรรม ...) ไม่ใช่ อะ ไร ก็ ได้ จริง ความจริงของ อะ ไร ก็ ได้ คืออะไร ถามถึงตัวธรรม ไม่ได้ถามถึงเรื่องราวของธรรม (คือ เห็น) อะ เป็น เห็น หรือ? (ผมแปล อะ ไร ก็คือ ...) ทีละคำค่ะ ฟังดีๆ อะไรก็ได้ จริงใช่ไหม เข้าใจใช่ไหม? เพราะฉะนั้น ความจริงของ อะ ไร ก็ ได้ คืออะไร? ความจริง ไม่ใช่เรื่อง แต่ความจริง ลักษณะที่แท้จริงต้องมี เพราะเมื่อกี๊นี้บอกว่าจริง ก็ต้องมีสิ่งที่มีจริง เพราะฉะนั้น สิ่งที่มีจริงในขณะที่ อะ ไร ก็ ได้ คืออะไร? ลองบอกเขา พูดอีกครั้งหนึ่ง ให้เขาเข้าใจคำถาม (อะไรก็ได้ หมายถึงสิ่งที่มีจริงตอนนั้น) อะ จริง ไร จริง ก็ จริง ได้ จริง และความจริงของ อะ ความจริงของ ไร ความจริงของ ก็ ความจริงของ ได้ คืออะไร? (ความหมายก็คือ เวลาเราพูดว่า อะ หมายถึงว่า ...) ไม่ใช่อย่างนั้นเลย ไม่ใช่ความหมาย เพราะทุกคนรู้ความหมาย พอพูดแล้วทุกคนก็เข้าใจ แต่ (แกพยายามอธิบายว่า ..) ก็ไม่ถูก จะอธิบายเรื่องราวถูกหรือ? ในเมื่อเราไม่ได้ถามเรื่องราว ทุกคนฟังแล้วเข้าใจเลย จะต้องมาอธิบายอะไรอีก แต่ความจริงใช่ไหม อะ จริงไหม อะ และความจริงของ อะ คืออะไร? ไร มีจริงใช่ไหมขณะนั้น ความจริงของ ไร คืออะไร? (แกตอบว่า คือ สิ่งที่มีจริง ก็คือ ความจริงหนึ่ง) และเขาเรียนความจริงใช่ไหม? ไม่ใช่พูดแต่ว่า ความจริง ความจริง ความจริง พระพุทธเจ้าตรัสเรื่องความจริง ทุกอย่างจริง นั่นจริง พระพุทธเจ้าตรัสอย่างนั้นเท่านั้นหรือ? แต่ทรงแสดงความจริงของสิ่งที่มีจริงคืออะไร นี่เป็นสิ่งที่ทุกคนไม่เคยรู้มาก่อน แต่จากการตรัสรู้ไม่มีอะไรที่ไม่ได้ตรัสรู้ความจริงนั้นถึงที่สุดโดยประการทั้งปวง ซึ่งสามารถค่อยๆ เข้าใจขึ้นได้ในความเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า (คุณสุคิน: ต้องให้ท่านอาจารย์ช่วยด้วย เพราะผมจะสื่อแต่เดิมๆ) หมายความว่า เขายังไม่รู้จักธรรมเห็นไหมคะ ฟังเรื่องธรรม แต่ความลึกซึ้งอย่างยิ่งของธรรม แม้แต่คิดว่าเข้าใจแล้วรู้เรื่องแล้วทั้งหมดฟังมานาน แต่ อะ จริงใช่ไหม? และความจริงของ อะ คืออะไร อันนี้คุณสุคินเข้าใจแล้วใช่ไหม? เข้าใจคำถามแล้วใช่ไหมที่จะแปล? (เข้าใจคำถามที่จะแปล) แปลให้เขาเลย บอกว่ารู้ไหมที่พูดมาที่เรียนมาทั้งหมด แม้แต่ตรงนี้ ความลึกซึ้งยังไม่รู้ ให้เขาเข้าใจในความลึกซึ้งอย่างยิ่งของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ฟังเท่าไหร่ คิดเท่าไหร่ คิดว่าเข้าใจเท่าไหร่ แต่ ยังไม่รู้จักธรรม (คุณสุคิน: ตรงนี้แกเข้าใจว่า ตอนที่เราใช้คำว่า อะ นี่หมายถึงมุ่งคิดถึง ...) นั่นซิคะ แต่เขายังไม่รู้จักธรรม เขาถึงไม่รู้ขณะ อะ คืออะไร? (ตรงนั้นเข้าใจว่า ...) เพราะฉะนั้น ดิฉันมีจุดประสงค์ให้ความลึกซึ้งอย่างยิ่งของธรรม และแต่ละหนึ่งซึ่งมีตำราบอก ศึกษามาก เข้าใจเรื่องราว แต่ไม่รู้จักธรรม ให้เขาเห็นความลึกซึ้งก่อน มิเช่นนั้น จะไม่มีทางรู้จักธรรมเลย (ตรงนี้จะเป็นการที่เราหลงอย่างที่เราหลงประจำอยู่แล้ว แต่ผมก็ยังมองไม่เห็นในความลึกซึ้งโดยการที่เราจะมาชี้ไปถึง ...) เห็นไหม เพราะไม่เห็นความลึกซึ้ง เรียนมาตั้งเยอะ แต่ไม่เห็นความลึกซึ้งของแม้อย่างนี้ แสดงความลึกซึ้งระดับไหนของธรรม ให้เขาสามารถที่จะรู้ได้ จึงต้องมีปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธะ พูดเรื่องธรรม แต่ตัวธรรมเดี๋ยวนี้ทั้งหมดเลยยังไม่รู้จัก (ผมพยายามอธิบายตามที่ท่านอาจารย์พูดมา และสรุปตรงนี้ ไม่ทราบว่า จะถูกหรือผิดอย่างไร ว่า ถ้าเราเข้าใจอย่างนี้ เราก็จะรู้ว่า เมื่อไหร่เราฟังรู้ว่า ความเข้าใจของเราแค่ไหน แล้วเราเข้าใจสิ่งที่เราพูดถึงความจริงนั้นลึกซึ้งแค่ไหน เราต้องรู้ทุกครั้งที่เรามาสนทนาธรรมว่า ที่เราพูดเหมือนเข้าใจ แต่ความจริงไกลแค่ไหน) ถูกต้อง ลึกซึ้งอย่างยิ่งเพราะเพียงเท่านี้เขาเริ่มเห็นความลึกซึ้ง เขาเรียนชื่อ เรียนอะไรมามากมาย แต่ไหนล่ะ ความรู้ที่ฟังมา.

กราบเท้าท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ด้วยความเคารพอย่างยิ่งค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
เมตตา
วันที่ 8 มี.ค. 2566

- เพราะฉะนั้น ฟังนะ อะ เสียงใช่ไหม? (ใช่) แล้วก็ ได้ยิน เสียงนั้น ใช่ไหม? (ใช่) เห็นไหมเพียงเท่านี้ เรียนมาเรื่องเสียง เรื่องได้ยิน เรื่องอะไรต่างๆ แต่พอถึงเวลาจริงๆ อยู่ไหน? ความรู้ เพราะฉะนั้น ความรู้แต่ก่อนเพียงจำ ไม่คุ้นเคยกับลักษณะของธรรมเลย ทุกวันที่มีเสียงปรากฏ แต่เรียนเรื่องเสียงกับได้ยิน แต่ว่าตัวจริงๆ เดี๋ยวนี้เอง ก็เป็นอย่างนั้น แต่ไม่ใช่คำว่า อะ แต่เป็นคำอื่นๆ ก็เป็นเสียง แต่จำว่า เสียง และก็ได้ยิน แต่ลักษณะที่ได้ยินยังไม่คุ้นเคยเลย ไม่ปรากฏเลย เพียงแต่ได้ยินชื่อใช่ไหม? ไม่รู้ความจริงอย่างนี้มานานเท่าไหร่แล้ว (เป็นอย่างนี้มาตลอด) นานเท่าไหร่? (นานมาก ตั้งแต่เมื่อไหร่ไม่รู้) นั่นซิ นานเท่าไหร่ ประมาณเท่าไหร่ที่ใช้คำกันได้ ไม่ใช่เพียงแค่ชาตินี้.

- ไม่ใช่เพียงแค่ได้ยินคำสอนว่า ไม่มีเรา แต่มีได้ยินกับเสียง ได้ยินมานานแล้ว แต่พอถึงการที่จะรู้ความจริง ยังไม่รู้ เพราะเหตุว่า จำเรื่อง ทั้งๆ ที่เดี๋ยวนี้ ธรรมทั้งหมดกำลังเผชิญหน้า แต่ไม่เคยรู้เลย แล้วจะละ ความไม่รู้ และการเข้าใจว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดอย่างที่เคยเป็น เดี๋ยวนี้ ที่เป็นอยู่ได้อย่างไร ถ้าไม่รู้ความลึกซึ้งอย่างยิ่ง.

- ถ้าไม่รู้เรื่องของสิ่งที่มี จะเริ่มรู้จักสิ่งที่มีจริงๆ ได้ไหม? ถ้าไม่เข้าใจว่า ธรรมลึกซึ้ง จะรู้ความลึกซึ้งของธรรมได้ไหม จะรู้จักพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ไหม?

- เริ่มเห็นความลึกซึ้งอย่างยิ่ง จึงละ การคิดที่ว่าเราได้รู้จักธรรมแล้ว หรือเราเข้าใจธรรมแล้ว เพราะเพียงฟังเรื่องราวของธรรม เริ่มต้นที่จะเข้าใจและรู้จักธรรมเดี๋ยวนี้ ถ้าเข้าใจอย่างนี้แล้ว ก็เริ่มสนทนาธรรม เรื่องอะไรก็ได้ ที่เป็นเรื่องที่จะค่อยๆ เข้าใจสิ่งที่มี.

- ไม่ใช่รีบร้อนที่จะไปรู้อะไรนะ แต่เป็นความเข้าใจจริงๆ ซึ่งเป็นประโยชน์ที่สุด เพราะเหตุว่า ถ้าเรามีความเข้าใจจริงๆ เห็นความลึกซึ้ง และเราสามารถเข้าใจได้ เราก็หวังดีต่อคนอื่นเพราะคิดว่า เขาก็จะต้องเข้าใจได้เหมือนอย่างที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงพระธรรมเพื่อให้คนทั้งหลายเข้าใจ.

- (สุคิน: เพื่อความเข้าใจ ผมขอถามท่านอาจารย์ที่เมื่อกี๊ผมสรุปให้พวกเขาจะถูกผิดแค่ไหน คือ ผมสรุปว่า จากการที่เราสนทนาธรรมในวันนี้ เราเข้าใจความลึกซึ้งของธรรมว่า จุดประสงค์ของการฟังธรรมสนทนาธรรมที่เราฟังมาโดยตลอด ซึ่งท่านอาจารย์ย้ำแล้วซ้ำอีกว่า จุดประสงค์ของการฟังธรรมเพื่อเข้าใจสิ่งที่กำลังปรากฏ วันนี้เรามาเข้าใจตรงนี้มากขึ้นลึกซึ้งขึ้น เพราะฉะนั้น คำถามท่านอาจารย์ตอนต้นว่า เชิญสนทนาธรรมเรื่องอะไรก็ได้ ตอนนี้เรามาเข้าใจตรงนั้นมากขึ้น เพราะตอนนี้ถึงเราจะใกล้ความจริงว่า สนทนากันเรื่องไหนก็ได้ต่อเมื่อความเข้าใจเราเพิ่มขึ้น) ค่ะ นี่เป็นการที่ว่าถ้าเขาจะเข้าใจธรรมจริงๆ ต้องเข้าใจความลึกซึ้ง มิเช่นนั้น ไม่ชื่อว่า ศึกษาธรรมเลย เพราะไม่ได้ประโยชน์อะไร.

กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ด้วยความเคารพอย่างยิ่งค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
chatchai.k
วันที่ 11 มี.ค. 2566

กราบอนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ