ปฏิสนธิจิตประมวลมาซึ่งกรรม อายูหนา ที่สามารถให้ผลในชาตินั้นๆ ต่างกันใช่ไหม?_สนทนาธรรม ไทย-ฮินดี วันเสาร์ที่ ๑๑ มีนาคม ๒๕๖๖
- (อาช่า: ปฏิสนธิเป็นผลของกรรม และปฏิสนธิเกิดในภูมิไหนก็ขึ้นอยู่กับกรรมไหนที่เป็นปัจจัยให้ผลนั้น) เพราะฉะนั้น เขาเห็นการเกิดต่างๆ ใช่ไหม? (ใช่) เพราะฉะนั้น ต้องรู้เหตุที่ทำให้เกิดปฏิสนธิต่างๆ อกุศลกรรมทำให้เกิดเป็นมนุษย์ได้ไหม? (ไม่ได้) อกุศลกรรมทำให้เกิดในสวรรค์ได้ไหม? (ไม่ได้) ในโลกนี้มีการเกิดที่เป็นผลของอกุศลกรรมไหม? (มีเยอะ) อะไรบ้าง? (เช่นสัตว์ต่างๆ ช้าง แมว สุนัข แมลง งู ..) แล้วที่บ้านคุณอาช่ามีสิ่งที่เกิดเพราะอกุศลกรรมไหม? (มี เช่น สุนัขที่บ้าน) เพราะฉะนั้น แม้สุนัขก็ต่างกันใช่ไหม? (ต่างกัน) ทำไมสุนัขที่บ้านคุณอาช่าต่างกับสุนัขที่อยู่กลางถนน (เป็นเพราะสุนัขที่อยู่บ้านได้ผลของกุศลกรรมมากกว่าสุนัขที่อยู่กลางถนน) เพราะฉะนั้น เขาเข้าใจความหมายของคำ ว่า ปฏิสนธิจิต ประมวลมาซึ่งกรรม อายูหนา ที่สามารถจะให้ผลในชาตินั้นๆ ต่างกัน ใช่ไหม? คนก็หน้าตาต่างกัน ผิวพรรณต่างกัน สมบัติต่างกัน เพื่อนฝูงต่างกัน ญาติพี่น้องต่างกันใช่ไหม? (ใช่) ชาติก่อนคุณอาช่าเกิดเป็นใคร ทำอะไร กี่ชาติๆ ไม่รู้เลยใช่ไหม? (ไม่รู้) แต่ชาตินี้ เห็นผลของกรรมต่างกันแล้วใช่ไหม? (ใช่) แต่ชาตินี้เห็นผลของกรรมต่างกันแล้วใช่ไหม? (ใช่) .
- กรรมดี ก็ให้ผลต่างกันตามลำดับ เพราะฉะนั้น เกิดเป็นคนเป็นผลของกรรมอะไร? (กุศลกรรม) มั่นคงว่า เกิดเป็นคนต้องเป็นผลของกุศลใช่ไหม? (ใช่) แต่ทำไมบางคนเกิดมาตาบอด บางคนพิการ บางคนเป็นไบ้ (เป็นเพราะ ผลของกรรมอื่นมาแทรก) เพราะฉะนั้น กุศลที่ทำให้กรรมอื่นมาแทรกให้ผลได้ ต้องเป็นกุศลกรรมที่อ่อนมากใช่ไหม? (ใช่)
- เพราะฉะนั้น กุศลจิตตามที่เขาเคยได้เรียนมาแล้วกี่ประเภท ประกอบด้วยเวทนาเฉยๆ เวทนาที่โสมนัสประกอบด้วยไม่มีปัญญาเกิดร่วมด้วยก็มี มีปัญญาเกิดร่วมด้วยและการเป็นประเภทอ่อนเป็นประเภทกล้า หลากหลายมาก เราไม่จำเป็นต้องไปคิดถึงเลยเพราะเราไม่สามารถจะรู้ได้ แต่รู้ได้ว่ากุศลกรรมมีประเภทต่างๆ มีทั้งประเภทที่อ่อน มีทั้งประเภทที่เฉยๆ และมีทั้งประเภทที่เกิดกับปัญญา และไม่มีปัญญาเกิดร่วมด้วย เพราะฉะนั้น เวลาที่กรรมที่ทำไปแล้วเป็นอกุศลกรรมให้ผล ทำให้อะไรเกิดขึ้น? (ตามที่เคยฟังมา นอกจากปฏิสนธิที่ทำให้เกิดเป็น ...) ขอโทษนะ ไม่ได้ฟังคำถาม คิดเอง เพราะฉะนั้น ฟังคำถาม อกุศลกรรมทำให้อะไรเกิดขึ้น อะไรเป็นผลของกรรม? (ผลของอกุศลก็คือ เป็นอกุศลวิบาก) เป็นจิต หรือเป็นเจตสิก หรือเป็นรูป? (เป็นจิต และเจตสิก) อกุศลกรรมที่ทำแล้วเป็นปัจจัยให้อะไรเกิด? (อกุศลวิบาก) เท่านั้นหรือ? อะไรเป็นอกุศลวิบาก? ขอโทษนะ ค่อยๆ คิดค่ะ อะไรทำให้อกุศลวิบากเกิดขึ้น? (เมื่อกี๊แกยกตัวอย่าง เห็น เห็นสิ่งที่ไม่พอใจ) ไม่ได้บอกให้ยกตัวอย่าง ถามว่า อะไร? อกุศลกรรมที่ทำแล้วเป็นปัจจัยให้อะไรเกิดขึ้น? (จิตที่เป็นวิบาก) เท่านั้นหรือ? (คือ ก่อนหน้านี้เขายังสับสนว่า เวลาเกิดอกุศลวิบาก เหมือนกับยังไม่รู้แค่รู้ว่าหรือคิดถึงได้ว่าเป็นวิบากจิต และเจตสิก ...) เพราะฉะนั้น คุณสุคินฟังนะ คุณสุคินอธิบายให้เขาฟังหรือคุณสุคินถามเขาให้เขาคิด? (ถามให้คิด ตอนที่ว่า ...) เพราะฉะนั้น คำถามต้องมีว่า อกุศลกรรมทำให้อะไรเกิด ถามให้เขาคิด ไม่พูดอะไรทั้งสิ้น.
กราบเท้าท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ด้วยความเคารพอย่างยิ่งค่ะ
- คำถามมีว่า อกุศลกรรม ทำให้อะไรเกิด? (อกุศลวิบาก) อะไรเป็นอกุศลวิบาก? (เป็นจิต และเจตสิก) นั่นคือคำตอบ ไม่มีใครทั้งสิ้น กรรมที่ได้ทำแล้วเป็นปัจจัยให้จิต และเจตสิก ทั้งสองอย่างเป็นผลของกรรมซึ่งทำให้เกิดขึ้นร่วมกัน นอกจากจิต และเจตสิก อะไรเป็นผลของกรรมอีก? (อาช่าเขาอาจยังไม่ได้พิจารณาดีๆ เขาตอบว่า เป็นทวาร ๕ ทวาร) เพราะฉะนั้น คุณสุคิน เราจะไม่พูดอะไรยาวเพราะเขาจะคิดเรื่องยาวต่อไป ถ้าเขาคิดไม่ออกเราก็ถามเขาว่า สิ่งที่มีจริงมีอะไรบ้าง ค่อยๆ แนะนำ ให้เขาคิดไตร่ตรองว่า มันมีอะไร ถ้าเขายังหาคำตอบไม่ได้ เราก็ทบทวนไปถึงว่า สิ่งที่มีจริงมีอะไรบ้าง? (มีจิต เจตสิก รูป) จิต เจตสิก รูป มีนิพพานแต่ยังไม่ต้องพูดถึงก็ได้ แต่มีแน่ๆ ๔ อย่างใช่ไหม เพราะฉะนั้น อะไรเป็นผลของกรรม? ถามเขาอีกทีให้เขาค่อยๆ คิด (ไม่ทราบครับท่านอาจารย์ อาช่าก่อนหน้านั้นเขาว่า เสียงเป็นผลของกรรม ผมเลยแก้ให้ว่าใช่หรือ? เขาเลยบอกงง เลยคิดคำตอบไม่ได้) คุณสุคินเห็นไหม เราจะต้องอดทนให้คนเข้าใจไม่ใช่เพียงจำ และเราจะไม่บอกอะไรเลย นอกจากให้เขาค่อยๆ คิด เช่น เวลานี้เขารู้ว่า ธรรมที่มีจริง มีจิต มีเจตสิก มีรูป มีนิพพาน ก็ถามเขาว่า อะไรเป็นผลของกรรม เขาตอบว่า จิต เจตสิก ใช่ไหม? ถามเขาว่า รูปเป็นผลของกรรมหรือเปล่า? เราจะได้ถามต่อไป ต่อไป ให้เขาค่อยๆ คิด ค่อยๆ เข้าใจขึ้น ไม่ใช่จำ แล้วก็บอกไปเยอะๆ (อาคิล: ไม่ทราบ อาช่า: ตอบว่า เป็นผลของกรรม) เพราะฉะนั้น จิต เจตสิก เป็นผลของกรรม รูปไม่ใช่จิตไม่ใช่เจตสิก แต่รูปก็เป็นผลของกรรมที่ทำให้ทุกคนมีรูปร่างต่างกัน.
- นี่เป็นสิ่งที่เราจะต้องเข้าใจความลึกซึ้งอย่างยิ่งของธรรม กว่าจะละความเป็นเรา เพราะไม่รู้มานานแสนนาน เพราะว่า ธรรมลึกซึ้งอย่างยิ่ง ละเอียดกว่านี้มาก.
กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ด้วยความเคารพอย่างยิ่งค่ะ
- เพราะฉะนั้น เราเรียนให้เข้าใจธรรม คือ สิ่งที่มีจริง ซึ่งไม่เคยรู้ว่า ละเอียดลึกซึ้ง ไม่ใช่เรียนชื่อ เรื่องราว และก็จำ แต่ไม่เข้าใจอะไรเลย เพราะฉะนั้น เดี๋ยวนี้เท่าที่เราสนทนากันมาแล้ว เราเข้าใจ และยังต้องเข้าใจ และยังต้องเข้าใจต่อไปอีก ไม่หยุดเพียงคิดว่า เข้าใจแล้ว.
- เดี๋ยวนี้เองมีอะไรที่ทำให้เรารู้ว่า เราได้เข้าใจบ้างแล้ว (คุณสุคิน: ผมพยามตั้งคำถามอีกมุมหนึ่ง กลายเป็นว่า อาช่าตอบว่า หลังจากที่ฟังแล้วรู้ว่า ไม่รู้อะไร) มีซิค่ะ ต้องมีอะไรที่เขารู้ว่า เดี๋ยวนี้มีอะไรแน่ๆ ถึงแม้ว่า ยังไม่ลึกซึ้งนะ แต่ความเป็นจริงก็คือ เดี๋ยวนี้ต้องมีสิ่งที่มีจริงแน่นอน (เห็น ต่อไปมีเสียง) ทีละหนึ่งซิ ทำไมเราไม่พูดทีละหนึ่ง เพราะว่า ธรรมลึกซึ้ง ตอบอะไรเยอะแยะ แล้วที่หนึ่งที่พูดเข้าใจมากน้อยแค่ไหน เพราะฉะนั้น ทีละหนึ่ง (เห็น) เห็นมีจริงๆ เป็นผลของกรรมหรือเปล่า? (เป็น) เห็นไม่ใช่คุณอาช่า แล้วเห็นเป็นอะไรที่เป็นผลของกรรม? (เป็นจิต) ไม่มีเจตสิกหรือ? (มีเจตสิก) เจตสิกรู้สิ่งที่เห็นแต่ไม่เห็น แต่รู้สิ่งที่เห็น เพราะฉะนั้น เจตสิกและจิตขณะนี้ที่รู้สิ่งที่เห็น แต่ จิตทำหน้าที่เห็น มีแต่จิตและเจตสิกที่เป็นผลของกรรมเท่านั้นหรือในขณะที่เห็น? (สี เป็นผลของกรรม) สี เป็นผลของกรรมหรือ? (ตามที่คิด และวิเคราะห์ว่าตอนที่เห็น จิต เจตสิก เป็นผลของกรรมใดกรรมหนึ่ง ฉะนั้น รูปที่เห็นน่าจะเป็นผลของกรรมเดียวกัน) ทำไมน่าจะ เอารูปที่เป็นผลของกรรมจริงๆ ซิ ทำไมต้องไปเอาน่าจะ ที่เป็นจริงๆ นั่นคืออะไร เห็นไหมเราพูดยาวมากต้องไปคิดยาว ทีละหนึ่งสั้นๆ จะได้คิดละเอียด (ก่อนหน้านี้ตอบว่า สีเป็นผลของกรรม) เพราะฉะนั้น เราไม่พูดยาว เราบอกแน่ใจหรือ? (ตอนนี้ตอบว่าไม่แน่ใจ) เพราะฉะนั้น ไม่ต้องพูดสิ่งที่ไม่แน่ใจ แต่อะไรอีกที่เป็นผลของกรรมขณะนั้น เห็นไหม ให้เขาเริ่มคิดไม่ใช่ไปคอดเรื่องอื่น โน่น นี่ นั่น สั้นๆ ค่ะคุณสุคิน แปลสั้นๆ (ตา) เห็นไหม กว่าจะสั้นๆ ให้เขามาถึงที่ให้เขาจะคิดเองได้ เราไม่ต้องไปยาวเลย เพราะฉะนั้น ขณะนี้ที่ กำลังเห็น อะไรเป็นผลของกรรม? (ตา จิตเห็นและเจตสิกที่เกิดกับจิตเห็น) ตา รู้อะไรหรือเปล่า? (ไม่รู้) เพราะฉะนั้น กรรมทำให้เกิด จิต เจตสิก และรูปใช่ไหม? (ใช่) กำลังได้ยิน อะไรเป็นผลของกรรมบ้าง? (หู จิตได้ยินและเจตสิกที่เกิดกับจิตได้ยิน) หู ไม่ได้ยินนะ เป็นรูป (เข้าใจค่ะ) เขาเรียนแล้วใช่ไหม ว่า กรรมทำให้เกิดรูปอะไรบ้าง (วัตถุต่างๆ) คำถามว่าอย่างไร? (กรรมทำให้เกิดรูปอะไร?) เราเรียนมาแล้วใช่ไหม ว่า กรรมทำให้เกิดรูปอะไรบ้าง? (ตอบว่า ๖ รูป) ๖ รูปหรือ? (ไม่เคยเรียนมา) ไม่เคยเลยหรือ ดิฉันคิดว่าเขารู้ว่ามีรูปกี่รูปที่เกิดจากกรรมเป็นปัจจัย (ไม่ทราบ) ตอนนี้เขารู้รูปอะไรบ้างที่เกิดจากกรรมเป็นปัจจัย ที่กรรมทำให้เกิดขึ้น (มีปสาทรูป ๕ + หทยวัตถุ) แล้วหญิงกับชายต่างกัน มีรูปที่ทำให้เป็นหญิง มีรูปที่ทำให้เป็นชายไหม? (นั่นก็เป็นรูปหนึ่ง) เพราะฉะนั้น หญิง ๑ รูป ชาย ๑ รูปใช่ไหม? (ใช่) .
กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ด้วยความเคารพอย่างยิ่งค่ะ
- ต้นไม้ก็แข็ง รูปที่ตัวก็แข็ง ต่างกันอย่างไร? (มีความต่างกัน) ต่างกันตรงไหน? (รู้ว่าต่างกัน แต่ไม่รู้ว่าต่างกันเพราะอะไร) มีรูปที่เกิดจากกรรมทำให้ต่างกันเป็นหญิง เป็นชาย เป็นตา เป็นหู แล้วก็ รูปใดก็ตามที่เกิดจากกรรม จะต้องมีรูปอีก ๑ รูป คือ รูปที่ทำให้รูปนั้นมีชีวิตเป็น ชีวิตินทริยรูป.
- นกมีชีวิตรูปไหม? (มี) เพราะฉะนั้น รูปที่เกิดจากกรรมต้องมีชีวิตินทริยรูปอีก ๑ รูป ที่ทำให้รูปนั้นมีชีวิต.
- ขณะสุดท้ายของชาตินี้ คือ ตาย กรรมไม่ทำให้อะไรเกิดอีกเลย เพราะฉะนั้น จิต เจตสิก และรูปที่เกิดจากกรรมเกิดไม่ได้.
- ขณะตาย จิตเกิดจากกรรม เจตสิกเกิดจากกรรม รูปที่เกิดจากกรรมดับหมดไม่มีเกิดอีกเลย.
- เพราะฉะนั้น เขารู้จักโลกทั้ง ๖ ก่อนนี้ และเดี๋ยวนี้ว่า ไม่มีอะไรนอกจากธรรม (ค่ะ) ไม่ว่าจะเป็นอะไรทั้งหมด ที่เขาคิดว่า เป็นคน เป็นสัตว์ เป็นโทรทัศน์ เป็นอะไร เป็นโลก เป็นธรรมทั้งหมด.
- เพราะฉะนั้น เสียงเกิดจากกรรมหรือเปล่า? หรือกรรมทำให้เกิดเสียงหรือเปล่า? (ไม่) เพราะฉะนั้น ธรรมเป็นสิ่งที่ลึกซึ้ง เบื้องต้นเรารู้นิดๆ หน่อยๆ ตามสมควร แต่ต่อไปจะเข้าใจมากขึ้นและลึกซึ้งขึ้น.
- เพราะฉะนั้น จิตขณะแรก คือ ปฏิสนธิจิต มีอะไรบ้าง มีธรรมอะไรบ้างขณะนั้น? (มีจิต เจตสิก รูป) เข้าใจแล้วนะ พูดเมื่อไหร่ก็ไม่ลืม ธรรมเปลี่ยนไม่ได้ แต่เข้าใจละเอียดขึ้นได้.
- จิตที่ไม่ใช่ผลของกรรมมีไหม? (มี กุศล อกุศล) และเขาก็บอกเรียบร้อยเรียบร้อยเลยว่าอะไรบ้าง (ครับ) หมายความว่า เข้าใจดีเรื่องจิต ต่างกันเป็น ๔ ชาติ กุศล อกุศล เป็นเหตุ และวิบากเป็นผล และกิริยาจิตไม่ใช่กุศล อกุศลและวิบาก.
- เขารู้ว่า มีจิต เมื่อไหร่? (ตอนที่ปรากฏตอนนี้) อะไร? (ที่เห็นอยู่เป็นจิต) อะไรอีก? (ได้ยิน เป็นจิต) เพราะฉะนั้น ตลอดชีวิตมีจิตมาก แต่ที่สามารถจะปรากฏ ก็ต้องมีทางที่จะรู้ว่า มีอะไร ๖ ทางเท่านั้น มากกว่านี้ได้ไหม? (ไม่ได้) .
- เบื่อธรรมไหม? (อาช่า: ไม่เบื่อ อาคิล: ไม่เบื่อ มานิช: บางครั้งเบื่อ) เบื่อเป็นอะไร? (มานิช: ไม่สามารถตอบได้ แต่อาช่าตอบแทนว่า เป็นเจตสิก) ก็ต้องเป็นธรรมเห็นไหมไม่รู้เลย เป็นธรรมที่ดีหรือไม่ดี? (มานิช: เป็นธรรมไม่ดี) เพราะฉะนั้น ถ้าพระพุทธเจ้าไม่ทรงแสดงจะรู้ไหมว่า ไม่ใช่เรา แต่เป็นธรรมที่ไม่ดี (ถ้าไม่ฟังก็ไม่สามารถตอบได้) ถ้าไม่เบื่อเป็นธรรมหรือเปล่า? (เป็นธรรมอย่างหนึ่ง) ไม่เบื่อเป็นธรรมอย่างหนึ่ง เป็นธรรมที่ดีหรือไม่ดี? (ดี) ทำไมดี? (เพราะว่า ถ้ามีความเข้าใจน้อยแค่ไหน ก็เป็นกุศล) เพราะฉะนั้น ธรรมละเอียดมาก เกิดดับเร็วที่สุด บางคนไม่เบื่อ เพราะอยากที่จะเป็นตัวเราที่จะรู้มากขึ้นๆ แต่ไม่เบื่อเพราะรู้ว่า เป็นความจริงที่มีโอกาสจะได้รู้อย่างนี้แสนยาก ถ้าเห็นประโยชน์อย่างนี้ จะเห็นคุณค่าของพระธรรม เพราะไม่รู้ว่า ก่อนจะจากโลกนี้ไปจะมีความเข้าใจธรรมอีกมากน้อยเท่าไหร่ ทุกคนจะจากโลกนี้ไปเดี๋ยวนี้ก็ได้ แต่เห็นประโยชน์ว่า ถ้าได้เข้าใจธรรมทุกโอกาสเป็นประโยชน์ที่สุดที่จะทำให้เพิ่มความเข้าใจขึ้น สะสมไปเป็นบารมี.
- เพราะฉะนั้น ฟังด้วยความเคารพอย่างยิ่งว่า ธรรมลึกซึ้ง มีอีกมาก นี่เป็นการเริ่มต้นเท่านั้น แต่ต้องตรง ฟังแล้วเข้าใจจริงๆ จึงจะเป็นประโยชน์.
- (อาช่า: หลังจากที่ฟังธรรมแล้ว พิจารณารู้ว่า การเกิดของปัญญานี่น้อยมาก แล้วโอกาสฟังธรรมก็น้อยมาก เพราะฉะนั้น หลังจากสิ้นชีวิตแล้วโอกาสที่จะเกิดเป็นมนุษย์และได้ฟังธรรมก็ไม่รู้ว่าเมื่อไหร่ ไม่สามารถบอกได้ยากมาก เพราะฉะนั้น พิจารณาตรงนี้แล้วแกก็เห็นค่าของการฟังธรรม) .
กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ด้วยความเคารพอย่างยิ่งค่ะ
- ถ้าเพียงแต่จำชื่อไม่มีประโยชน์เลย แต่ต้องรู้ว่า สิ่งที่เขาได้ยินคือ เดี๋ยวนี้ที่มีจริงๆ เป็นธรรมทั้งหมด เดี๋ยวนี้เข้าใจมั่นคงขึ้นว่า ทั้งหมด ไม่ว่าโลกไหนก็เป็นธรรม ไม่ใช่เรา มีแต่กุศลธรรม อกุศลธรรม วิบาก กิริยา จิต เจตสิก รูป.
- ธรรมมีมาก แต่ที่ปรากฏต้องเป็นทางหนึ่งทางใดใน ๖ ทาง ขณะแรก ปฏิสนธิจิตเกิดขึ้น โลกนี้ปรากฏไหม? (ไม่ปรากฏ) เพราะฉะนั้น โลกเริ่มปรากฏเมื่อไหร่? (หลังจากที่ปฏิสนธิจิตต่อเป็นภวังคจิตไม่รู้กี่ขณะ จิตแรกหลังจากนั้นก็เริ่มรู้อารมณ์ของชาตินี้) เพราะฉะนั้น ขณะเกิดโลกนี้ไม่ปรากฏเพราะว่า ภวังคจิตเหมือนปฏิสนธิจิต มีอารมณ์เดียวกันคือ อารมณ์ก่อนจุติของชาติก่อน เพราะฉะนั้น เมื่อเกิดแล้ว เริ่มรู้เมื่อไหร่ที่เกิดแล้วเป็นโลก เป็นเรา หรือมีสิ่งที่มี? (ไม่ทราบ) เพราะฉะนั้น จิตที่เกิดสืบต่อจากปฏิสนธิจิตยังรู้อะไรไม่ได้ สืบต่อจนกว่าจะมีการคิดนึกทางใจ ทางมโนทวาร เป็นวิถีแรกของทุกชาติทุกภพ (ค่ะ) เพราะฉะนั้น ต้องเริ่มเข้าใจทุกคำ ขณะที่จิตเกิด ปฏิสนธิดับไป ภวังคจิตเกิดสืบต่อ ไม่รู้อารมณ์ของโลกนี้เลย ไม่ใช่วิถีจิต เพราะโลกนี้ไม่ปรากฏ จิตหนึ่งขณะ ทุกๆ ขณะรู้ไหมว่ามีอะไรในจิตนั้นแต่ละหนึ่งขณะทุกขณะบ้าง? (ถ้าไม่มีความเข้าใจก็ไม่สามารถรู้ได้) มีสิ่งที่สะสมมาจากที่เคยเห็น เคยได้ยิน เคยคิดนึก เคยชอบ เคยไม่ชอบ ทุกชาติสะสมมา อย่าลืม อายูหนา อยู่ในจิตพร้อมที่จะเกิดเมื่อมีปัจจัยที่จะเกิดขึ้นซึ่งไม่ใช่อารมณ์อื่นซึ่งไม่ใช่อารมณ์ของปฏิสนธิ และภวังค์.
- เพราะฉะนั้น ขณะหนึ่งก็ถึงเวลาที่สิ่งที่สะสมมามากมายในจิต จะเกิดขึ้น เปลี่ยนจากการเกิดแล้วไม่รู้อารมณ์ของโลกนี้ ไม่รู้สึกตัวเลยเป็นใครอยู่ที่ไหน ก็มีการที่สิ่งที่สะสมมาแล้วทำให้เกิดวิถีจิต หมายความว่า รู้อารมณ์อื่นที่ไม่ใช่อารมณ์ของภวังค์ เพราะสะสมมาที่จะคิดถึงสิ่งนั้น จิตเกิดดับอย่างรวดเร็วมาก ไม่มีใครรู้ว่า ขณะนั้นเป็นอะไร แต่เป็นวิถีจิตหมายความว่า เป็นจิตที่รู้สิ่งซึ่งไม่ใช่อารมณ์ของปฏิสนธิจิต เพราะฉะนั้น มี ๒ คำนะ จิตที่พ้นวิถีไม่ใช่วิถีเพราะไม่รู้อารมณ์ของโลกที่ปรากฏ แต่มีอามรณ์ของปฏิสนธิจิต และจิตที่เป็นวิถีจิตขณะนั้นไม่มีอารมณ์เดียวกับขณะที่ปฏิสนธิและเป็นภวังค์ แต่เริ่มที่จะนึกถึงหรือรู้อารมณ์ใหม่ เป็นอย่างนี้ทุกคนนะเหมือนกันหมด เกิดมายังไม่รู้อะไรและก็มีการนึกถึงหรือรู้อารมณ์หนึ่งอารมณ์ใดขึ้นมาก่อน แต่ว่าเต็มไปด้วยความไม่รู้ ก็จำไม่ได้ ไม่รู้ว่าคิดถึงอะไร หลังจากนั้นก็แล้วแต่ว่า ผลของกรรมใดจะให้ผลทำให้รู้อารมณ์ทางตา หรือหู หรือจมูก หรือลิ้น หรือกาย เป็นอนัตตาบังคับบัญชาไม่ได้ ต่อจากนั้นก็ให้ทราบว่า ชีวิตเริ่มเกิดตามเหตุตามปัจจัยที่จะให้เกิดผลของกรรม และกิเลสที่สะสมมาก็เริ่มปรุงแต่งให้เป็นกรรมตั้งแต่เกิดจนตาย.
- มีอะไรสงสัยไหม ชีวิตก็คือ จิต เจตสิก ทำกิจภวังค์แล้วก็มีการรู้อารมณ์ทางตา หรือหู หรือจมูก หรือลิ้น หรือกาย แต่พอรู้ทางหนึ่งทางใดแล้วก็เป็นภวังค์ แล้วก็รู้ทีละหนึ่งทางแล้วก็เป็นภวังค์ แต่ทุกครั้งที่ทางตาเกิดดับแล้วจะรู้อารมณ์นั้นต่อทางใจ ไม่ว่าจะเป็นทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น หรือทางกายดับแล้วก็เป็นมโนทวารเกิดสืบต่อ เดี๋ยวนี้ก็กำลังเป็นอย่างนี้ไปจนกว่าจะถึงขณะจิตสุดท้าย จุติจิตเกิด ดับ ปฏิสนธิจิตเกิดต่อเหมือนชาตินี้ ทุกขณะเป็นอย่างนี้ไม่สิ้นสุดจนกว่าจะหมดเหตุที่จะทำให้เกิดขึ้น จึงเกิดไม่ได้.
- ทุกขณะเกิดแล้วดับ ไม่กลับมาอีกเลย เป็นคนนี้ได้ชาตินี้ชาติเดียว เพราะฉะนั้น คนนี้เป็นอย่างไร กุศล และอกุศลมากหรือน้อยเป็นปัจจัยที่จะให้เกิดต่อไปในชาติต่อๆ ไป ความจริงเป็นอย่างนี้ใช่ไหม? (ใช่) ชาติก่อนเป็นคุณอาช่าหรือเปล่า? (ไม่เป็น) จากนี้ไปจะเป็นคุณอาช่าได้ไหม? (ไม่ได้) เป็นเราได้ไหม? (ไม่ได้) เป็นเทพเทวาได้ไหม? (ได้) ไปนรกได้ไหม? (ได้) เพราะฉะนั้น ไม่ประมาทในกุศลทั้งปวงต้องทำกุศลทุกอย่าง และกุศลที่ประเสริฐที่สุด คือ เข้าใจธรรม และเป็นคนตรงต่อความจริง.
- มีอะไรสงสัยไหมมีอะไรที่จะสนทนาไหม? (มานิชมีคำถามว่า คนที่เคยอ่านเรื่องวิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวกับการที่ว่ามนุษย์เจริญจากสัตว์ชั้นต่ำขึ้นมาจนถึงมาเป็นมนุษย์ กับการที่ตอนนี้เข้าใจจากการฟังธรรมว่า การเกิดเป็นมนุษย์เป็นผลของกรรม จะให้ความคิดทั้งสองนี้สอดคล้องกันได้หรือไม่) นักวิทยาศาสตร์รู้จักจิต เจตสิก รูป ไหม? (ไม่) ใครรู้จัก? (พระพุทธองค์) พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงพระมหากรุณาแสดงสิ่งที่พระองค์ตรัสรู้ที่ลึกซึ้งอย่างยิ่ง ๔๕ พรรษา เพื่อให้คนอื่นได้ค่อยๆ มีความเข้าใจที่ถูกต้องเพราะยากที่จะเข้าใจได้ (ครับ) ทุกคนมีชีวิตที่สั้นมากเพียงชั่วขณะจิตเดียว เพราะฉะนั้น ประโยชน์สูงสุดคือ จะฟังคำของใคร? ฟังคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว รู้ได้เลยว่า นักวิทยาศาสัตร์ไม่รู้ความจริงของสิ่งที่กำลังมีเดี๋ยวนี้เลย เพราะฉะนั้น จะมีใครเป็นที่พึ่ง? (มีพระพุทธองค์เป็นที่พึ่ง) โดยวิธีไหน? (ค่อยๆ เข้าใจ) ฟังคำทุกคำของพระองค์ รู้ความลึกซึ้งอย่างยิ่ง ค่อยๆ เข้าใจขึ้น แล้วจะรู้คุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายิ่งขึ้น.
- พระธรรมที่ทรงแสดงเป็นคำตอบทุกเรื่องสำหรับที่คนไม่รู้ แต่คำของพระองค์ลึกซึ้งที่สุดเพราะเข้าใจความจริงที่ใกล้ที่สุดเดี๋ยวนี้ที่ทุกคนไม่เคยคิดเลย เดี๋ยวนี้ เดี๋ยวนี้คิดอะไร? (คิดเรื่องที่เราสนทนากันอยู่) คิดมีจริงไหม? (มีจริง) อะไรคิด? (เป็นจิต) จิตและเจตสิกที่คิดเป็นผลของกรรมหรือเปล่า? (ไม่ได้เป็นผลของกรรม) เพราะฉะนั้น จิตเห็นคิดได้ไหม? (ไม่ได้) เห็นแล้วคิดได้ไหม? (เห็นแล้วคิดได้) เห็นเป็นกุศลหรือเป็นอะไร? (ไม่ได้เป็นกุศลหรืออกุศล) เห็นเป็นอะไร? (มานิชไม่ทราบ) ฟังตั้งนานไม่รู้หรือว่าเป็นอะไร? (เป็นวิบาก) เป็นกุศลวิบากหรืออกุศลวิบาก? (เขาได้ยินว่าเป็นผลของกุศลกรรม) ถ้าเห็นสิ่งที่ไม่ดีเป็นผลของอะไร? (สุคิน: เห็นได้ครับ ผมยกตัวอย่างเห็นคนที่ถูกฆ่าและมีเลือด) เขาเข้าใจแล้วยัง? (เข้าใจแล้ว) เพราะฉะนั้น ต่อไปนี้ให้ทุกคนคิดและก็ไตร่ตรองที่จะสนทนาต่อไปคราวหน้า เรื่อง เมื่อเห็นแล้วคิด คิดเป็นอะไร? เพราะอะไร?
กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ด้วยความเคารพอย่างยิ่งค่ะ