ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๖๐๓

 
khampan.a
วันที่  12 มี.ค. 2566
หมายเลข  45663
อ่าน  1,072

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น



ขออนุญาตแบ่งปันข้อความธรรม (ปันธรรม) ที่ได้จากการฟังพระธรรมจาก
ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ในแต่ละครั้ง รวบรวมเป็นธรรมเตือนใจเพื่อศึกษา และพิจารณาร่วมกัน เพื่อความเข้าใจธรรม (ปัญญ์ธรรม) ตามความเป็นจริง ซึ่งเป็นข้อความที่สั้นบ้าง ยาวบ้าง แต่ก็มีอรรถที่สมบูรณ์ พอที่จะเข้าใจได้ ควรค่าแก่การพิจารณาอย่างยิ่ง ดังนี้


ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๖๐๓



~ พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงเตือนอยู่เรื่อยๆ ว่าแม้แต่การที่จะให้ทาน หรือการที่จะรักษาศีล ก็ไม่ควรจะเป็นไปโดยหวังคติ (ที่เกิด) โดยหวังภพหรือโดยหวังสังสารวัฏฏ์ หวังสุขซึ่งเป็นวิบาก แต่ควรที่จะเห็นโทษของสิ่งต่างๆ เหล่านั้น และรู้ว่าถึงแม้ว่าจะมีสุขเป็นวิบากสักเท่าไร ก็ไม่เที่ยง ไม่เหมือนกับการที่จะดับสนิท ไม่มีการเกิดของขันธ์ (สภาพธรรมที่เกิดดับ ว่างเปล่าจากตัวตน) อีกเลย

~
เรื่องของการดับกิเลส เป็นเรื่องที่ละเอียด และต้องอบรมเจริญปัญญาเพื่อรู้ลักษณะของสภาพธรรม เพื่อละอวิชชา คือ ความไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ เพราะความไม่รู้ทำให้ยึดถือสภาพธรรมว่า เป็นเรา เป็นตัวตน และเมื่อมีเรา มีตัวตน ก็ทำให้มีความยึดมั่น มีความพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ (สิ่งที่กระทบสัมผัสกาย)

~ พระผู้มีพระภาคเจ้า ได้ทรงแสดงเรื่องของอกุศลมาก เพื่อให้เห็นโทษ ใครที่ยังไม่เห็นโทษของอกุศล ก็ยังประมาทอยู่ เพราะคิดว่ามีกุศลพอแล้ว แต่ถ้าเห็นโทษของอกุศลมากๆ จะเป็นผู้ที่ไม่ประมาท

~ ทุกอย่างเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย จะบังคับไม่ให้สุข ไม่ให้ทุกข์ ก็ไม่ได้ จากไม่รู้ จะบังคับให้รู้ ให้เข้าใจ ให้รู้แจ้งสภาพธรรมก็ไม่ได้ แต่เวลาที่เริ่มเข้าใจขึ้นจะเปลี่ยนความเข้าใจที่เริ่มจะเข้าใจให้ไม่รู้เหมือนเดิม ก็ไม่ได้

~
ไม่มีใครเลยสักคน แต่เป็นธรรมแต่ละลักษณะจริงๆ ถ้าสามารถรู้ตามความเป็นจริงได้ ก็คือว่า หาความเป็นเราหรือความเป็นตัวตนไม่ได้เลย เพราะว่าเป็นลักษณะของธรรมที่เกิดเพราะเหตุปัจจัย แล้วก็ดับแล้วก็ไม่กลับมาอีกสักขณะเดียว

~
การฟังธรรมเพื่อให้เข้าใจถูก จะเข้าใจถูกได้มากน้อยแค่ไหน ขึ้นอยู่กับการไตร่ตรอง แม้แต่คำว่า “ธรรม” มีความเข้าใจมั่นคงจริงๆ แค่ไหน หรือยังมีเราแทรกว่า เราเข้าใจธรรม แต่ถ้าฟังจริงๆ ธรรมเป็นสิ่งที่เกิดปรากฏ เมื่อมีปัจจัย ไม่มีใครสามารถบังคับบัญชาได้ เกิดแล้วดับไปแล้วด้วย นี่คือ การค่อยๆ เข้าใจความจริงของธรรมว่า เป็นธรรม ถ้าไม่เข้าใจอย่างนี้ก็เป็นเราตลอดไป เข้าใจก็เป็นเราเข้าใจ ไม่เข้าใจว่า แม้ขณะที่เข้าใจก็เป็นธรรมด้วย

~ ทุกคนเคยโกรธ แต่ถ้าใครมีสติระลึกได้ในขณะที่กำลังโกรธว่า ขณะนั้นเป็นสภาพธรรมที่เป็นอันตรายกับตนเอง เพราะบุคคลอื่นไม่สามารถทำให้เราโกรธได้ ถ้าเราไม่มีกิเลส เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่า ขณะใดที่ความโกรธเกิดขึ้น ขณะนั้นเป็นการประทุษร้ายตนเอง ซึ่งบุคคลอื่นไม่ได้กระทำ นอกจากกิเลสของตนเองเป็นผู้กระทำ ถ้าคิดได้อย่างนี้ ในขณะนั้นจะเห็นโทษของอกุศล

~
ในขณะใดที่รู้สึกตระหนี่ ไม่มีการสละ ไม่มีการบริจาคแม้ในสิ่งเล็กๆ น้อยๆ ที่ควรจะให้ใคร อาจจะเป็นอาหารหรือเสื้อผ้าหรือของใช้ ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับคนอื่น แต่ไม่ได้คิดเลยในขณะนั้น ก็ยังคงเก็บไว้เฉยๆ แต่ถ้าสติเกิด ระลึกได้ขณะใด ทราบว่าขณะนั้นเป็นความติดในวัตถุ ซึ่งไม่ได้เป็นประโยชน์กับตนเอง แต่จะเป็นประโยชน์กับคนอื่น ในขณะนั้นก็เปลี่ยนจากอกุศลเป็นกุศล

~
ชีวิตวันหนึ่งๆ ซึ่งเต็มไปด้วยอวิชชา ขณะนั้นหลงลืมสติ ไม่เป็นกุศล ไม่สามารถที่จะพิจารณาสภาพธรรมในชีวิตประจำวันได้ตามความเป็นจริง จนกว่าสติเกิดเมื่อใด มีการระลึกได้แม้ในเหตุในผล ในความถูกความควรในชีวิตประจำวันขณะใด ขณะนั้น เป็นการเกิดขึ้นของสติ ซึ่งจะเห็นได้ว่า ในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าในกาลสมัยไหน กุศลธรรมเกิดขึ้นเพราะสติมีการระลึกได้ มิฉะนั้นแล้ว วันหนึ่งๆ ทุกคนก็เต็มไปด้วยโลภะบ้าง โทสะบ้าง โมหะบ้าง แม้แต่การที่จะฟังพระธรรมข้อเล็กข้อน้อย หรือว่าข้อความสั้นๆ หรือเป็นเรื่องที่ท่านผู้ฟังอาจจะคิดว่า คงจะไม่มีความสำคัญเท่าข้อความอื่น แต่ถ้าในขณะนั้น สติเกิด ระลึกได้ พิจารณาข้อความนั้นจริงๆ จะได้ประโยชน์จากพระธรรมข้อนั้น ตามขั้นของความเข้าใจ

~
เวลาที่โลภะเกิด มีความพอใจ ไม่ว่าจะเป็นความพอใจในสิ่งหนึ่งสิ่งใดก็ตาม จะไม่สละสิ่งนั้น ทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย จะเห็นได้ว่า วันหนึ่งๆ นี้ ช่างสละน้อยจริงๆ และที่เป็นอย่างนี้ก็เพราะว่าขณะที่โลภะเกิดขึ้น ขณะใด ขณะนั้นมีการไม่สละโดยรอบ ทุกอย่างสละไม่ได้ในขณะที่พอใจ

~
คำพูดของบางท่านสะกิดใจจริงๆ บางทีฟังแล้วระลึกได้ทันที ซึ่งถ้าท่านไม่กล่าววาจาอย่างนั้น บุคคลนั้นก็ยังคงมีอกุศลต่อไปอีกนาน โดยเฉพาะในเรื่องของความโกรธหรือในเรื่องของความตระหนี่ ความริษยา เรื่องของอกุศลทั้งหลาย ถ้ามีธรรมที่ระลึกได้ในขณะนั้นและกล่าวขึ้น ย่อมเป็นประโยชน์ต่อผู้ที่กำลังมีอกุศลจิต

~
ทุกคนมีอกุศลมาก ซึ่งทุกคนก็บอกไม่ถูกว่ามากสักแค่ไหน ถ้ สติเกิดระลึกได้จริงๆ ก็จะรู้ได้ว่า อกุศลมีมาก แต่ถ้าสติไม่เกิด ไม่มีทางที่จะรู้ได้ ไม่มีทางที่จะพิจารณาได้ว่า ขณะนั้นสิ่งใดเป็นสิ่งที่ถูกที่ควร และสิ่งใดเป็นสิ่งที่ไม่ถูกไม่ควรที่จะต้องละเว้น เพราะฉะนั้น จึงเห็นได้จริงๆ ว่า สติจำปรารถนาในที่ทั้งปวง ถ้าสติไม่เกิด ใครก็เจริญกุศลไม่ได้ ไม่ใช่ว่ามีใครสามารถเจริญกุศลได้โดยสติไม่เกิด

~ ไม่ว่าจะเป็นการกระทำในการช่วยเหลือบุคคลหนึ่งบุคคลใด กระทำกิจในพระธรรมโดยการศึกษา โดยการอ่าน โดยการสนทนา โดยการเกื้อกูลบุคคลหนึ่งบุคคลใดก็ตาม ขณะนั้น เป็นสติทั้งนั้น เพราะถ้าสติไม่เกิด การกระทำอย่างนั้นๆ ก็เกิดไม่ได้ การศึกษาพระธรรม ถ้าพิจารณาแต่ละพยัญชนะ โดยละเอียดจริงๆ ไม่ข้าม ก็จะทำให้การอบรมเจริญปัญญาเป็นไปโดยถูกต้อง ไม่ผิดเลย

~ ทุกคนจะจากโลกนี้ไปเดี๋ยวนี้ก็ได้ แต่เห็นประโยชน์ว่าถ้าได้เข้าใจธรรมทุกโอกาส เป็นประโยชน์ที่สุดที่จะทำให้เพิ่มความเข้าใจขึ้น สะสมไปเป็นบารมี

~ ไม่ประมาทในกุศลทั้งปวงต้องทำกุศลทุกอย่าง กุศลที่ประเสริฐที่สุดคือเข้าใจธรรมและเป็นคนตรงต่อความจริง

~ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงพระมหากรุณาแสดงสิ่งที่พระองค์ตรัสรู้ที่ลึกซึ้งอย่างยิ่ง ๔๕ พรรษา เพื่อให้คนอื่นได้ค่อยๆ มีความเข้าใจที่ถูกต้อง เพราะยากที่จะเข้าใจได้

~ คำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ลึกซึ้งที่สุด เพราะทำให้เข้าใจความจริงที่ใกล้ที่สุดเดี๋ยวนี้ที่ทุกคนไม่เคยคิดเลย

~ สำหรับผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่ ไม่ว่าจะฟังเรื่องของความตายโดยลักษณะต่างๆ และ รู้ว่า ความตายเป็นของแน่นอน ควรที่สติจะระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏบ่อยๆ เนืองๆ แต่อกุศลที่ได้สะสมมามากก็ทำให้เป็นผู้หลงลืมสติอยู่เสมอ และมีความยินดีพอใจในสิ่งที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย เป็นประจำ และ ยังมีโทสะ ความขุ่นเคืองใจ เวลากระทบกับสิ่งที่ไม่น่าพอใจทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ โดยที่ไม่สามารถให้กิเลสหมดไปได้อย่างรวดเร็ว ทั้งๆ ที่ฟัง ทั้งๆ ที่รู้ เพราะฉะนั้น เป็นเรื่องที่จะต้องฟังและอบรมเจริญปัญญา และเห็นโทษของอกุศลจริงๆ

~
เรื่องของกุศล ถ้าทำไปโดยไม่หวัง และ เห็นอกุศลมากขึ้นจะดีกว่าไหม คือ กุศลก็ทำไปเรื่อยๆ แต่ก็ไม่ผูกพันในกุศลนั้น ไม่ติดหรือไม่หวังในผลของกุศลใดๆ และพิจารณาเห็นอกุศลของตนเองละเอียดขึ้น ย่อมจะเป็นประโยชน์ ซึ่งการที่กุศลจิตแต่ละขณะจะเกิด จะเห็นได้ว่า ยากกว่าขณะที่อกุศลจิตจะเกิด

~ สิ่งที่ประเสริฐที่สุด ก็คือ การสามารถอบรมเจริญความเห็นถูกต้องในสิ่งที่มีจริงๆ ที่กำลังปรากฏ มิฉะนั้น ก็ไม่ฟังพระธรรม ฟังเพื่ออะไร? เพื่อรู้ว่า พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ความจริงทุกขณะของชีวิต เพื่อให้ผู้อื่นสามารถเห็นถูกต้องตามความเป็นจริง ซึ่งเป็นกุศลที่จะทำให้กุศลทั้งหลายเจริญขึ้น ถ้ามีปัญญาเห็นถูกต้องแล้ว จะทำอกุศลไหม? ก็ไม่ทำ เพราะฉะนั้น ปัญญาจะนำมาซึ่งกุศลทุกประการด้วย



ขอเชิญคลิกอ่านย้อนหลังครั้งที่ผ่านมาได้ที่นี่ครับ

ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๖๐๒




...กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์
ที่เคารพยิ่ง
และขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
swanjariya
วันที่ 12 มี.ค. 2566

กราบเท้าท่านอาจารย์ด้วยความเคารพยิ่ง

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
Jans
วันที่ 12 มี.ค. 2566

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
suporn71
วันที่ 12 มี.ค. 2566

กราบเท้าบูชาท่านอาจารย์สุจินต์ ในความเมตตาเป็นอย่างสูงยิ่งค่ะ และ กราบอนุโมทนาอจ.คำปั่นค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
Wisaka
วันที่ 12 มี.ค. 2566

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
jaturong
วันที่ 12 มี.ค. 2566

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
มังกรทอง
วันที่ 12 มี.ค. 2566

สนทนาธรรมเกิดขึ้น กุศลมี ทางสื่อไลน์เปรมปรีดิ์ เลิศล้ำ อาจารย์สุจินต์นำวิถี ทางถูก ฟังแห่งความจริงค้ำ เด่นด้วยปัญญา

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
สิริพรรณ
วันที่ 12 มี.ค. 2566

คำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าลึกซึ้งที่สุด เพราะทำให้เข้าใจความจริงที่ใกล้ที่สุดเดี๋ยวนี้ที่ทุกคนไม่เคยคิดเลย

กราบเท้าท่านอาจารย์ด้วยความเคารพยิ่งในความเมตตากรุณาแสดงคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาโดยตลอดในชีวิตที่ยาวนาน เพื่อให้ผู้ฟังเข้าใจความจริงตามที่ทรงแสดง เป็นสิ่งที่มีค่าที่สุดในชีวิตนี้ที่ได้ฟัง

กราบขอบพระคุณยินดีในกุศล อจ.คำปั่น ด้วยค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
Lai
วันที่ 13 มี.ค. 2566

อนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
chatchai.k
วันที่ 16 มี.ค. 2566

กราบอนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ