ไม่ว่าจะเกิดที่ไหนก็ตามมีผลติดตามมามากมาย ไม่ใช่เพียงขณะปฏิสนธิเท่านั้น_สนทนาธรรม ไทย-ฮินดี วันเสาร์ที่ ๑๘ มีนาคม ๒๕๖๖

 
เมตตา
วันที่  18 มี.ค. 2566
หมายเลข  45674
อ่าน  361

- (คุณสุคิน: ก่อนเริ่มขอแจ้งให้ท่านอาจารย์ทราบว่า อาช่า อาคิล วันนี้อยู่ได้ชั่วโมงเดียวเพราะต้องพาคุณพ่อคุณแม่ไปโรงพยาบาล) แล้วแต่เขา เราต้องช่วยเขาเต็มที่เขาอยู่ในภาวะลำบากแล้วต้องมีภาระเยอะ แต่ที่สำคัญที่สุดก็คือว่า ให้เขาเห็นประโยชน์อย่างยิ่งของการที่จะไม่ลืมที่จะเข้าใจพระธรรม.

- ทุกคนที่ได้เข้าใจพระธรรมเหมือนญาติพี่น้อง เป็นเพื่อนกัน เป็นญาติกัน ทุกอย่างที่มีปัญหาก็ช่วยกันแก้ เราเป็นพี่น้องกันเสมอ ตราบใดที่เรามีพระธรรมร่วมกันที่จะเข้าใจ และก็จะช่วยให้คนอื่นได้เข้าใจพระธรรมด้วย ที่สำคัญที่สุดต้องเข้าใจความจริงถึงที่สุดที่ละเอียดมาก มิเช่นนั้นก็ไร้ประโยชน์.

- การป่วยไข้ของคุณพ่อคุณอาคิลก็มาจากการที่ได้ช่วยหาที่ดินใหมูลนิธิ เราก็จะไม่ลืม ดิฉันจะทำทุกอย่างให้คุณอาคิล คุณอาช่า เข้าใจพระธรรมยิ่งขึ้นเพื่อประโยชน์แก่คนอื่น เพื่อดำรงพระศาสนา ที่สำคัญที่สุดต้องเข้าใจถูกในพระธรรมที่ลึกซึ้ง เปลี่ยนไม่ได้ ผิดทันที เพราะฉะนั้น มีอะไรที่เป็นเรื่องที่เขาจะสามารถทำให้ค่อยๆ เข้าใจ รู้ว่า พระธรรม คือ เดี๋ยวนี้ ที่เขาเริ่มจะเข้าใจ และเป็นสิ่งที่ถูกต้อง ไม่ประมาทเลยที่ต้องเข้าใจความลึกซึ้งของพระธรรม ต้องเข้าใจจริงๆ .

- ถ้ามีคนอื่นนอกจากคุณอาคิล คุณอาช่า ที่สนใจจะสนทนาต่อก็ทำได้ (อาช่า: ช่วยทบทวนกิจของสันตีรณะว่ามีอะไรบ้าง) สันตีรณะเป็นชาติอะไร? (วิบาก) นี่เป็นสิ่งสำคัญมากเพราะความต่างกันของวิบากที่เป็นผล กับจิตที่เป็นเหตุ จิตที่เป็นเหตุทำได้มากกว่า แต่จิตที่เป็นผลทำได้เฉพาะกิจของจิตนั้นๆ เท่านั้น เพราะฉะนั้น สันตีรณะเราจะรู้ก็เมื่อได้กล่าวถึง เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ว่า ต้องเกิดแน่นอน ต้องไม่ลืมว่าเดี๋ยวนี้มีเห็น มดก็เห็น เทวดาก็เห็น พรหมก็เห็น เพราะฉะนั้น ต้องมีสันตีรณะเกิดแน่นอนต่อจากเห็น กรรมทำให้สันตีรณะเกิดกี่ดวง กี่ประเภท? (มี ๒ ประเภท ประเภทแรกเป็นผลของกุศลกรรม อีกประเภทเป็นผลของอกุศลกรรม) นี่เป็นสิ่งที่เราคิด แต่ว่าความจริงสันตีรณะเป็นวิบากพิเศษที่เกิดจากกรรมที่ทำให้เกิดสันตีรณะ ๓ ไม่ใช่ ๒ นี่เป็นความพิเศษของสันตีรณะที่จะต้องรู้ อเหตุอกุศลวิบากมีเท่าไหร่? (มี ๘) บอกว่า ๘ คืออะไร? (ไม่สามารถตอบได้) นี่คือ การจำจำนวนไม่มีประโยชน์ เพราะจำโดยไม่เข้าใจแต่ไม่เข้าใจก็ผิดได้ นี่เป็นตัวอย่างที่ละเอียดแม้ว่าเป็นสิ่งที่ดูเหมือนว่าไม่สำคัญ แต่ความละเอียดที่จะเข้าใจธรรมเราจะต้องรู้ว่า ละเอียดที่เราคิดเองไม่ได้.

- ความต่างของอกุศลวิบาก กับกุศลวิบากมีมาก เราไม่สามารถจะรู้ได้เลย กรรมทุกอย่างที่เป็นอกุศลกระทำแล้ว เป็นเหตุให้เกิดอกุศลวิบากแค่ ๗ ดวงเท่านั้น และกุศลกรรมที่ทำไปแล้วก็ให้ผลมากกว่าอกุศลวิบาก แต่ต้องรู้ความละเอียด จึงจะเห็นความต่างของผลของอกุศลกรรมและผลของกุศลกรรม แม้ว่าจำนวนจะมากกว่าอกุศลกรรม ต้องไม่ลืมว่า กรรมทำให้เกิดต่างกัน อกุศลกรรมทำให้เกิดอกุศลวิบาก เกิดเป็นสัตว์ดิรัจฉาน เกิดเป็นเปรต เกิดเป็นอสุรกาย เกิดในนรกเท่านั้น ไม่มากกว่านั้น แต่ในนรกมากมายหลายขุม และเปรตหลายชนิด ทั้งหมดเป็นผลของอกุศลกรรม ขณะแรกที่ทำให้เกิดขึ้น.

กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ด้วยความเคารพอย่างยิ่ง และกราบยินดียิ่งในกุศลจิตของคุณสุคินค่ะ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
เมตตา
วันที่ 18 มี.ค. 2566

- ถ้าให้ผลเพียงทำให้เกิดขณะเดียวไม่พอเลย เพราะขณะเกิดเป็น ๑ ขณะจิตที่ยังไม่รู้อารมณ์ใดๆ ของชาตินั้นเลย แต่ไม่ว่าจะเกิดที่ไหนก็ตาม มีผลติดตามมามากมายไม่ใช่เพียงขณะปฏิสนธิเท่านั้น เพราะฉะนั้น ต้องทราบ ว่า ผลของกรรมต้องมากกว่าเพียงทำให้เกิดขึ้น ผลของกรรมที่ปรากฏให้รู้ได้ทุกชาติ มีเพียง ๕ ทาง เกิดเป็นเปรต เกิดเป็นสัตว์ดิรัจฉาน เกิดเป็นอสุรกาย เกิดเป็นมนุษย์ เกิดเป็นเทวดา เกิดเป็นเทพ จะต้องมีผลของกรรม ๕ ทาง.

- คนที่สนใจธรรมและมีเวลา ดิฉันยินดีที่จะให้เขาได้เข้าใจพระธรรม.

- เพราะฉะนั้น ผลของกรรมที่เป็นวิบากมีมาก แต่จะรู้ได้ก็ต่อเมื่อมีการเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น การลิ้มรส การรู้สิ่งที่กระทบสัมผัสกายเท่านั้น จิตอื่นๆ ไม่ได้ปรากฏ มีแต่เห็นบ้าง ได้ยินบ้าง ได้กลิ่นบ้าง ลิ้มรสบ้าง รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสกาย ๕ ทางบ้าง และคิดนึกซึ่งไม่ใช่ผลของกรรม เพราะฉะนั้น ส่วนใหญ่จิตทั้งหมดไม่ได้ปรากฏ นอกจากทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ.

- ทบทวนนะ อกุศลกรรมทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นอะไรที่แรงมาก น้อยมาก เบามากก็ตามแต่ สามารถที่จะให้ผลทำให้อกุศลวิบากซึ่งเป็นผลของอกุศลกรรม ๗ ประเภทเท่านั้นเกิดขึ้น.

- เพราะฉะนั้น เราจะเริ่มรู้จักผลของกรรมคือ เห็นสิ่งที่ไม่น่าพอใจ ได้ยินเสียงที่ไม่น่าพอใจ ได้กลิ่นที่ไม่น่าพอใจ ได้รสที่ไม่น่าพอใจ กระทบสัมผัสสิ่งที่ไม่น่าพอใจ คุณพ่อของคุณอาคิลกำลังเจ็บ เป็นผลของอะไร ทางไหน? (ผลของอกุศลกรรม) จะน้อยจะมากเท่าไหร่ก็เป็นผลของอกุศลวิบากที่เกิดขึ้นจากอกุศลกรรมในชาติที่เป็นมนุษย์น้อยกว่าในภพภูมิอื่นมาก ความเจ็บปวดของมนุษย์ กับความเจ็บปวดของสัตว์ เราสามารถจะประมาณได้ แต่น้อยกว่าความเจ็บปวดในนรกมากมายมหาศาล.

- เพราะฉะนั้น พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ว่า ผลของอกุศลกรรมเป็นวิบากจิตที่เป็นอกุศล ๗ ประเภท เห็นเป็นผลของอกุศลกรรมเป็นอกุศลวิบาก ๑ ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสกาย ๕ แล้วยังมีผลของกรรมอีก ๒ ขณะ ๒ ประเภท เพราะจิตเห็นเกิดขึ้นทำกิจเห็น ๑ ขณะเท่านั้น จิตที่กำลังเจ็บทางกายเกิดขึ้น ๑ ขณะเท่านั้น จิตเห็นทำกิจอื่นไม่ได้เลยนอกจากเห็น จิตได้ยินทำกิจอื่นไม่ได้เลยนอกจากได้ยิน จิตได้กลิ่นทำกิจอื่นไม่ได้เลยนอกจากได้กลิ่น จิตลิ้มรสทำกิจอื่นไม่ได้เลยนอกจากลิ้มรส จิตที่รู้สิ่งที่กระทบแล้วเจ็บทำกิจอื่นไม่ได้นอกจากขณะที่เกิดขึ้นแล้วรู้เจ็บเท่านั้น ๕ แล้ว อย่าลืมนะ ทั้งหมดอกุศลวิบากมี ๗ นี่ ๕ เหลืออีก ๒ แต่เห็นแล้วรู้สึกอย่างไร? ได้กลิ่นแล้วรู้สึกอย่างไร? เจ็บแล้วรู้สึกอย่างไร? เป็นจิตอื่นไม่ใช่จิตเห็น จิตได้ยินเป็นต้น จิตเห็นเกิดขึ้น ๑ ขณะแล้วดับทำกิจอื่นไม่ได้ แต่มีจิตที่กรรมทำให้เกิดขึ้นรับสิ่งที่จิตเห็นเห็น แต่ไม่เห็น คนละกิจ ก่อนที่จะคิดเรื่องราวอื่นต่อจากเห็น ต่อจากได้ยิน จะต้องมีจิตที่เกิดขึ้น รับ สิ่งที่จิตเห็นเห็นไว้ แล้วก็ดับ จิตที่เป็นผลของกรรมที่ต้องรู้อารมณ์เดียวกับความเจ็บ ต้องเกิดก่อน ต้องเกิดหลังจากจิตที่รู้เจ็บดับไปแล้ว มิเช่นนั้นจะไม่มีจิตอะไรที่จะรับรู้อารมณ์นั้นต่อจาก จิตเห็น จิตได้ยิน ได้เลย จิตที่เกิดต่อจากเห็น ได้ยิน เป็นต้น ทำกิจรับรู้อารมณ์เดียวกันจึงเป็นสัมปฏิจฉันนจิต เพราะฉะนั้น สัมปฏิจฉันนะ ๑ ขณะเป็นอกุศลวิบาก รับรู้อารมณ์ต่อจากตา หู ที่รู้อารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ทำอะไรไม่ได้นอกจากรับไว้เท่านั้น จิตที่เกิดต่อรู้อารมณ์ที่เห็นแล้ว ได้ยินแล้ว ได้กลิ่นแล้วต่อจากสัมปฏิจฉันนะ เพราะฉะนั้น จิตที่เกิดต่อจากสัมปฏิจฉันนะ เป็นอกุศลวิบากที่กรรมทำให้เกิดขึ้นที่จะต้องรับรู้ต่อจากสัมปฏิจฉันนะอีก ๑ ขณะ อกุศลวิบากมีเพียง ๗ เท่านั้น ต้องไม่ลืม ยังสงสัยไหม จำได้ไหม เข้าใจไหม ในจิต ๗ ดวงนี้.

กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ด้วยความเคารพอย่างยิ่งค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
เมตตา
วันที่ 18 มี.ค. 2566

- ก่อนที่จะมีความคิดต่างๆ นาๆ เกี่ยวกับสิ่งที่เห็นบ้าง ได้ยินบ้างพวกนี้ จิตเห็นทำเพียงแค่เห็น สัมปฏิจฉันนะเพียงแค่รับไว้ แลัวสันตีรณะก็รับต่อพอที่จะทำให้จิตที่เกิดต่อเป็นอะไร เป็นกุศล หรืออกุศล หรือคิดเรื่องอะไร วิบากจิตหมดแล้ว อกุศลวิบากจิต ๗ หมดแล้ว แต่จิตที่เกิดต่อที่เป็นอกุศลที่สะสมมา หรือกุศลที่สะสมมาพร้อมที่จะเกิดได้ แต่เกิดทันทีไม่ได้ จิตที่เกิดต่อจากสันตีรณะเกิดเพราะปัจจัยที่ต้องเกิด กระทำทางให้อกุศล หรือกุศลจิตที่สะสมมาเกิดต่อ จิตที่กระทำทาง เปิดทาง ให้กุศล หรืออกุศลจิตเกิดต่อ จึงชื่อว่า ชวนะ ซึ่งเป็นกุศล หรืออกุศล ปฏิปาทกะ เป็นบาทให้กุศล และอกุศลจิตเกิดได้.

- เพราะฉะนั้น เดี๋ยวนี้เองเป็นจิตที่เรากล่าวถึง ขณะที่เห็นต้องมีจิตเกิดก่อนเห็น เพราะสิ่งที่กระทบตาต้องกระทบจักขุปสาทเป็นปัจจัยให้จิตนี้เกิดขึ้นรู้ ว่า อารมณ์กระทบ เพราะฉะนั้น เขายังไม่เห็นยังไม่ได้รับผลของกรรม แต่กระทำทางหรือเปิดทางให้วิถีจิตเกิดขึ้นเห็น จิตนี้ชื่อว่า ปัญจทวาราวัชชนะ แล้วแต่ว่าจะเป็นจักขุทวาราวัชชนะ โสตทวาราวัชชนะ หรืออะไรก็แล้วแต่ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ก่อนจิตนี้เกิดเป็นจิตอะไร? (ภวังคุปเฉทะ) ถูกต้อง ก่อนภวังคุปเฉทะเกิดเป็นจิตอะไร? (เป็นภวังคจรนะ) ก่อนภวังคจรนะเป็นอะไร? (รู้ว่าเป็นภวังค์) แต่มีชื่อหนึ่งว่า อตีตภวังค์ หมายความว่า เป็นภวังค์ที่เกิดก่อน หมายความว่า เป็นอารมณ์ที่กระทบก่อนที่จะไหว ก่อนที่จะเป็นภวังคุปเฉทะ เข้าใจใช่ไหม? เป็นเรื่องเข้าใจ ไม่ใช่เรื่องจำ จะได้ไม่ลืมว่ามีกี่ดวง.

- อกุศลวิบากมีกี่ดวง? (๗) สันตีรณะอกุศลวิบากเกิดเมื่อไหร่? (หลังสัมปฏิจฉันนะ) สัมปฏิจฉันนะเกิดเมื่อไหร่? (เกิดหลังจากเห็น ได้ยิน ..ที่เป็นผลของอกุศลกรรม) จิตเห็นเกิดเมื่อไหร่? (หลังจากปัญจทวาราวัชชนจิต) ปัญจทวาราวัชชนจิตเกิดเมื่อไหร่ (หลังจากภวังคุปเฉทะ) ภวังคุปเฉทะเกิดเมื่อไหร่? (หลังจากภวังคจรนะ) ภวังคจรนะเกิดเมื่อไหร่? (หลังจากอตีตภวังค์) อตีตภวงค์เกิดเมื่อไหร่? (ไม่แน่ใจ) อตีตภวัค์เกิดเมื่ออารมณ์กระทบ (ค่ะ) เพราะฉะนั้น แสดงให้รู้ ว่า รูปที่กระทบมีอายุเท่ากับจิตเกิดดับ ๑๗ ขณะ เมื่อกระทบแล้ว รู้หรือไม่รู้ก็ตามแต่ รูปนั้นอยู่ไปถึง ๑๗ ขณะของจิตแล้วดับ.

กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ด้วยความเคารพอย่างยิ่งค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
เมตตา
วันที่ 18 มี.ค. 2566

- ทั้งหมดนี้เพื่อที่จะให้เข้าใจคำตอบว่า สันตีรณะทำกี่กิจ อะไรบ้าง? ไม่ใช่เพียงตอบง่ายๆ ให้เป็นชื่อให้จำเท่านั้น แต่ต้องเข้าใจเพื่อละความไม่รู้ เพื่อเห็นความเป็นอนัตตาของธรรม.

- ถ้าเข้าใจดีแล้ว ดิฉันจะถามสั้นๆ และความเข้าใจของเขาทั้งหมด ทำให้เขาตอบได้สั้นๆ ถามอะไรก็ได้เป็นการทดสอบความเข้าใจว่า เข้าใจจริงๆ เข้าใจมั่นคงแค่ไหน อกุศลวิบากจิตมีกี่ดวง? (๗ ดวง) อะไรบ้าง? (มีเห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส กระทบสัมผัสกาย สัมปฏิจฉันนะ สันตีรณะ) เพราะฉะนั้น อกุศลวิบากจิตมีมากกว่านี้ได้ไหม? (ไม่ได้) เจ็บมากในนรกจะมีอกุศลวิบากจิตเกิน ๗ ดวงได้ไหม? (ไม่ได้) ในอเวจีมหานรกมีอกุศลวิบากจิตเท่าไหร่? (๗ เหมือนกัน) .

- ในมนุษย์กำลังป่วยไข้ได้เจ็บ กำลังเห็นสิ่งไม่ดี อาหารที่เผ็ดมาก ทั้งหมดมีอกุศลวิบากเท่าไหร่? (มี ๗) ความเจ็บในนรก ในอเวจีมหานรก ความเจ็บในโลกนี้ต่างกันตรงไหน? (ไม่ต่างกัน) ต่างกันที่ว่าสิ่งที่กระทบแรงกว่า เพราะถ้าเขากระทบไฟเบาๆ นิดเดียวไม่เจ็บมาก แต่ยิ่งแรงเท่าไหร่ความเจ็บยิ่งมากเท่านั้นในขณะนั้น แล้วแต่ว่า ไฟนั้น หรือความร้อนนั้นจะมากแค่ไหน นี่เป็นข้อที่ ๑ ในโลกนี้มีตั้งแต่เจ็บนิดหน่อยจนกระทั่งมากที่สุด แต่ที่อเวจีมหานรก คิดดูนะ ความร้อนของไฟจะแรงกว่านี้เท่าไหร่ เพราะฉะนั้นกายวิญญาณจะเจ็บปวดสักเท่าไหร่นี่ข้อที่ ๑ ข้อที่ ๒ ก็คือว่า จะมีการกระทบทางกายมาก บ่อย นานกว่าในมนุษย์เท่าไหร่ บ่อยๆ ๆ ๆ ๆ ๆ .

- สันตีรณะเกิดต่อจากอะไร? (หลังจากสัมปฏิจฉันนะ) สัมปฏิจฉันนะรู้สึกเจ็บไหม? (ไม่) เป็นอกุศลวิบากรู้สึกเจ็บไหม? (เจ็บ) ไม่ได้ เจ็บต้องเป็นกายวิญญาณเท่านั้น เปลี่ยนไม่ได้ ต้องมั่นคงในความเข้าใจให้ถูกต้อง แต่ละจิตต่างกัน เพราะฉะนั้น สัมปฏิจฉันนะเจ็บไหม? (ไม่เจ็บ) ถูกต้อง กายวิญญาณเจ็บไหม? (เจ็บ) เวลานี้เขารู้แล้วใช่ไหม ขณะเจ็บเป็นจิตประเภทไหน และขณะที่เกิดก่อนและหลังไม่ใช่เป็นจิตประเภทนั้น.

- ปัญจทวาราวัชชนะเจ็บไหม? กายทวาราวัชชนะซึ่งเป็นหนึ่งในปัญจทวาราวัชชนะเ็บไหม? (ไม่) ปัญจทวาราวัชชนะเกิดต่อจากอะไร? (หลังภวังคุปเฉทะ) ภวังคุปเฉทะเกิดต่อจากอะไร? (ภวังคจรนะ) ภวังคจรนะเกิดต่อจากอะไร? (อตีตภวังค์) อตีตภวังค์เกิดต่อจากอะไร? (สุคิน: ผมรู้ว่า อาช่าไม่ทราบ แต่แกบอกว่าจิตที่เกิดต่อหน้านั้น ผมเลยถามว่าเป็นภวังค์ใช่ไหม? แกบอกว่าไม่ใช่ภวังค์ เป็นจิตอะไรก็ได้) บอกเลย ไม่ใช่ภวังค์เป็นจิตอะไรก็ได้ เรากำลังให้เขาคิด เพราะฉะนั้น เราถามให้เขาคิดว่า อตีตภวังค์เกิดต่อจากอะไร แค่นี้คิดไม่ออกหรือ ลองคิดดู (เป็นวิถีจิตอย่างไรอย่างหนึ่ง) ไม่ใช่ คิดดีๆ (ตอบว่า ตทารัมพนะ) ยังไม่ได้พูดคำนี้เลย อย่าไปคิด เพราะว่า คิดเองผิด เรายังไม่ได้พูดถึงไปคิดได้อย่างไร? แต่เขาควรจะรู้ว่า เมื่อวิถีจิตหมดแล้วอะไรเกิดต่อ? (ก่อนอตีตภวังค์ต้องเป็นภวังค์) ต้องไม่ลืมเลย คิดเองไม่ได้ แต่เวลาที่เขาไม่ได้คิดเขาตอบผิด แต่ถ้าค่อยๆ คิดเขาสามารถจะค่อยๆ เข้าใจแล้วไม่ลืม เป็นความเข้าใจของเขา เพราะฉะนั้นต้องให้เขาคิด เพราะฉะนั้น เราจะถามวนไปวนมาอย่างนี้ เขาอาจจะเบื่อ แต่แสดงให้เห็นว่า ความเข้าใจเขาแค่ไหน มั่นคงแค่ไหน ถ้าเขาเข้าใจมั่นคงอย่างนี้เขาจะลืมไหม แต่ถ้าเราไม่พูดให้ละเอียดเขาจะรู้ไหม ว่า ความคิดของเขาไม่ได้เป็นไปตามที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ ว่า ภวังค์เกิดหลายขณะ มาก ผู้ที่มีภวังค์น้อยที่สุด คือ ขณะที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้ากระทำยมกปฏิหาริย์เท่านั้น เพราะว่า เป็นการกระทำทุกสิ่งทุกอย่างเกิดสืบต่อกันเร็วสุดที่จะประมาณได้ เพราะฉะนั้น ขณะนั้นเราเป็นอย่างนั้นหรือเปล่า? ใครก็ไม่เป็น เพราะฉะนั้น หลังจากนี้ที่เห็นต้องมีภวังค์ แต่เขาสามารถที่จะหลายขณะ เราไม่รู้เลย แต่ว่าไม่ใช่ ๑ ขณะ ๒ ขณะ.

- เพราะฉะนั้น จะรู้ว่ารูป ๑ รูปมีอายุ ๑๗ ขณะดับเมื่อไหร่ ก็ต้องรู้ว่าขณะที่รูปนั้นเกิด กระทบภวังค์หรือเปล่า และก็อายุของจิตเกิดดับเท่าไหร่ ขณะไหน รูปดับ เรายังไม่พูดถึงเรื่องนี้ แต่เขาสามารถที่จะคิดไตร่ตรองได้เอง แต่เราจะพูดว่า อกุศลวิบากจิตทั้งหมดมีกี่ดวง? (อาช่าต้องขอตัวไปแล้ว คุณมานิชจะอยู่สนทนาต่อ) ข้อสำคัญก็คือว่า เราจะเก็บเรื่องนี้ไว้คราวหน้าสำหรับให้เขาคิดไตร่ตรองกัน แล้วคุณมานิชจะถามอะไรก็เชิญ.

กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ด้วยความเคารพอย่างยิ่งค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
เมตตา
วันที่ 18 มี.ค. 2566

- ถามพร้อมๆ กันก็ดีนะ เท่าที่พูดในวันนี้ก็ให้เขาไปทบทวนว่า ทุกครั้งที่ได้ฟังต้องมั่นคง อกุศลวิบากมี ๗ ดวง เพราะฉะนั้น คำถามของเขาที่ถามว่า สันตีรณจิตทำกิจอะไรบ้าง? เราจะต่อคราวหน้าเพราะต้องไม่ลืมว่า ต้องเป็นอกุศลวิบากจิต ๗ เท่านั้น ไม่เปลี่ยน ไม่ว่าจะอะไรทั้งหมด.

- (มานิช: เวลาฟังธรรมจะปลื้มปีติมาก แต่บางครั้งหลังจากฟังการสนทนาแล้วอกุศลก็เกิดแบบเดิม จะโกรธ อกุศลเกิดมาก เวลาทำอะไรไปก็ต้องมาเสียใจภายหลังว่าไปทำทำไม) เป็นธรรมดา ถ้าสิ่งนี้ไม่เกิดขึ้นเขาจะรู้ไหมว่าเขาสะสมอะไรมาบ้าง? (ไม่รู้) ชีวิตประจำวันทำให้เห็นความจริง ว่า ถ้าไม่มีเหตุที่ได้สะสมมา ความคิด การกระทำอย่างนั้นก็เกิดไม่ได้ (มานิชขอเพิ่มว่า ถ้าเกิดอกุศลมาก ความอดทนเล็กๆ น้อยๆ ก็ไม่มี แล้วต่อไปจะเจริญทางธรรมได้อย่างไร) แต่ถ้าไม่มีความเข้าใจธรรมเลย เขาจะรู้ความจริงไหม ว่า ทุกอย่างเป็นอนัตตา ไม่ใช่เขา กุศลเป็นกุศล อกุศลเป็นอกุศล ผลของกุศล อกุศลเป็นผลของกุศล อกุศล.

- ประโยชน์สูงสุดที่สุดในชาตินี้ที่จะเป็นปัจจัยให้ละคลายสิ่งที่ไม่ดีที่ทำไปแล้วที่สะสมมา ก็คือ เป็นสิ่งที่ประเสริฐที่สุดที่ได้ปลาบปลื้มใจที่ได้เข้าใจพระธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่ต้องประพฤติตามด้วย ตามกำลังของความสามารถ.

- ทุกคนเคยทำผิดมาแล้วมากๆ ๆ แต่สามารถที่จะรู้ความจริง รู้คุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ประโยชน์มหาศาลที่เขาสามารถจะรู้ว่า อะไรผิดอะไรถูก อะไรควรอะไรไม่ควร สิ่งที่ผิดไปแล้วถ้าสามารถแก้ได้ต้องแก้ทันที ทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ที่สุดสำหรับตัวเอง และคนอื่น (มีความพยายามอยู่บ้าง แต่ว่ายาก) เพราะเหตุว่า เป็นตัวเขาไม่สำเร็จ แต่ถ้าเขารู้คุณค่าของพระธรรมและเขามีความมั่นคงในการที่จะเข้าใจเพิ่มขึ้น ความเข้าใจเท่านั้นอย่างเดียวเท่านั้นที่สามารถที่จะมีกำลังที่จะละอกุศลได้ สำคัญที่สุดที่เห็นสิ่งใดไม่ดีต้องทิ้งทันที มิเช่นนั้น ก็จะเพิ่มขึ้นๆ โดยเขาไม่รู้ตัว.

- เป็นบุญของเขาที่มีโอกาสได้ฟังพระธรรมได้รู้จักพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มิเช่นนั้น ชีวิตจะลงต่ำไปจนกระทั้งไม่สามารถที่จะขึ้นมารู้ความจริงได้.

- ทุกคนเป็นเพื่อนที่ดีต้องการให้เขาเข้าใจพระธรรม เพราะฉะนั้น เขารู้ว่าสิ่งใดที่ไม่ดีต้องทิ้ง อย่าเก็บไว้ มิเช่นนั้นจะเพิ่มขึ้น.

- ไม่มีสิ่งใดจะประเสริฐเท่ากับพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่งที่แท้จริง เพราะฉะนั้น ถ้าเขามีความมั่นคง ว่า ปัญญาความเห็นถูกเท่านั้นที่จะทำให้สิ่งที่ไม่ดีที่สะสมมาทั้งหมดค่อยๆ น้อยลงแล้วก็ทำความดีเพิ่มขึ้นเพราะเข้าใจธรรมขึ้น สำคัญที่สุดคือ ต้องเข้าใจถูกในพระธรรม.

- คนดีพร้อมที่จะให้อภัยคนอื่น แต่คนที่ได้รับการอภัยแล้วเขาต้องรู้จริงๆ ว่า เขาจะต้องดีขึ้น มิเช่นนั้นแล้วถึงคนอื่นจะให้อภัยแต่ความไม่ดีก็ยังมีอยู่ คนดีอื่นไม่สำคัญเลยเขาจะให้อภัยหรือไม่ให้อภัย แต่คนที่เข้าใจถูกต้องถึงประโยชน์ถึงคุณค่าของการที่ชีวิตจะเปลี่ยนไปในทางที่ดีเมื่อมีความเข้าใจขึ้น เห็นประโยชน์ของความเข้าใจ จึงศึกษาด้วยความละเอียดอย่างยิ่งเพื่อเป็นที่พึ่งในการที่จะละความชั่ว.

- สิ่งที่ไม่ดีที่ทำไปแล้วต้องให้ผลแน่นอน เพราะฉะนั้น ก็ควรที่จะเข้าใจและก็ทำแต่ความดีเพื่อที่จะให้ความดีนั้นให้ผล และผลของความดีก็คือ เป็นคนดีขึ้นๆ และก็มีปัญญามีความเข้าใจยิ่งขึ้นจึงจะมีพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นที่พึ่งที่ทำให้ปลาบปลื้มขึ้น.

- ธรรมละเอียดลึกซึ้ง ยากที่จะรู้ได้ แต่ว่าถ้ามีความเข้าใจที่สะสมมาซึ่งเราไม่ทราบ คุณมานิชจะสะสมอะไรมาบ้างแต่ก็สะสมความเข้าใจที่จะเห็นประโยชน์ ต้องมั่นคงขึ้นในคุณความดี.

- อกุศลทั้งหมดทุกชนิดมากน้อยไม่นำสิ่งที่ดีให้เลย ต้องเห็นโทษภัยของอกุศลแม้เพียงเล็กน้อย ว่า กั้น ไม่ให้มีความเข้าใจพระธรรมในขณะที่เป็นอกุศล เพราะฉะนั้น ผู้ที่เห็นประโยชน์จริงๆ เห็นคุณของกุศลจึงไม่ละเว้นโอกาสที่จะเป็นกุศล.

- อกุศลไม่ใช่บารมี เพราะเหตุว่าเป็นความไม่รู้ จึงไม่สามารถที่จะทำให้เข้าใจความจริงของสิ่งที่เป็นความจริงในขณะนี้ได้ ผู้ที่เห็นประโยชน์ของกุศลจึงเห็นโทษของอกุศล และเมื่อเห็นโทษแล้วก็เว้นอกุศล ขณะที่เว้นอกุศลและเป็นกุศลเป็นบารมีที่ค่อยๆ ทำให้เพิ่มขึ้นจนกระทั่งสามารถที่จะเข้าใจประโยชน์ของบารมีที่จะทำให้เข้าใจธรรมได้.

- ทุกคนเดินทางไกลมาแล้วในสังสารวัฏฏ์ และมีโอกาสในระหว่างที่เดินทางได้มีโอกาสได้พบสิ่งที่ประเสรฐที่สุดคือ พระธรรม เพราะฉะนั้น เมื่อเห็นประโยชน์อย่างนี้ก็รู้ว่า ในชีวิตแต่ละชาติ ชาติก่อน ชาติต่อไป ไม่รู้ว่ามีโอกาสจะได้พบได้ฟังพระธรรมไหม ชาตินี้กำลังได้พบเป็นโอกาสที่ประเสรฐสุดที่จะได้เข้าใจพระธรรม และมีพระธรรมเป็นที่พึ่งในการที่จะเป็นคนดีที่จะรู้ความจริง.

- คนที่ได้รู้จักพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามีพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นที่พึ่ง ก็เป็นผู้ที่มีความหวังดีต่อคนอื่น เป็นมิตรซึ่งกันและกัน และช่วยเหลือกันทุกประการที่จะให้ทุกคนละความไม่ดี และเพิ่มความดีขึ้น.

- เราต้องอาศัยกันและกันช่วยกันเข้าใจธรรมขึ้นเพื่อที่จะได้ถึงที่สุด คือ ได้ทำความดีเพิ่มขึ้น จนกระทั่งความไม่ดีและความไม่รู้น้อยลงเป็นประโยชน์สูงสุดของชาตินี้ซึ่งเราไม่รู้ว่าจะสิ้นสุดลงเมื่อไหร่ เพราะฉะนั้น ทำความดีทันทีไม่ละเว้น เพราะว่า โอกาสนั้นอาจจะไม่มีอีกแล้วก็ได้.

- ทุกคนมีเพื่อนธรรมที่หวังดีต่อกันเป็นกำลังใจซึ่งกันและกัน สบายใจขึ้นไหม? (สบายใจขึ้น) เพราะฉะนั้น ก็ทำความดีต่อไป ศึกษาสิ่งที่มีค่าที่สุดในสังสารวัฏฏ์ คือ เข้าใจพระธรรมในความลึกซึ้งต่อไป.

- ชีวิตจะสิ้นสุดลงเมื่อไหร่ไม่มีใครรู้เลย เดี๋ยวนี้ก็ได้ เพราะฉะนั้น ทำความดีและเข้าใจพระธรรม หวังว่าทุกคนจะมั่นคงในพระธรรมยิ่งขึ้นเพราะเป็นประโยชน์สูงสุด ไม่มีประโยชน์ใดเท่าเทียมได้เลย เพราะประโยชน์สูงสุด คือ การได้เข้าใจความจริง ขณะนี้ ว่า ไม่มีเรา ทุกอย่างเป็นสิ่งที่มีจริงที่เกิดขึ้นตามเหตุตามปัจจัย.

- ถ้าคุณมานิชศึกษาธรรมตรึกตรองธรรม มีอะไรที่สงสัย ใคร่ที่จะได้สนทนากัน ก็ขอเชิญทุกครั้งเลย (ครับ) .

- ดิฉันยินดีที่สุดที่จะให้คนอื่นได้ปลาบปลื้มยิ่งขึ้นในความมั่นคงต่อพระรัตนตรัย ไม่รีรอถ้ามีปัญหาก็เชิญสนทนาธรรมในคราวต่อไป.

กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ด้วยความเคารพอย่างยิ่งค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
chatchai.k
วันที่ 19 มี.ค. 2566

กราบอนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ