ขออนุญาตถามข้อสงสัยของ ชาติ ชรา มรณะ ในปฏิจจสมุปบาท ครับ

 
Anyana
วันที่  25 มี.ค. 2566
หมายเลข  45713
อ่าน  455

ขออนุญาตถามข้อสงสัยของ ชาติ ชรา มรณะ ในปฏิจจสมุปบาท ครับ

อยากทราบว่า ชาติ ชรา มรณะนั้น หมายถึงสิ่งใดในปฏิจจสมุปบาท

หมายถึงอาการเกิดขึ้นตั้งอยู่ดับไปของสิ่งใด ระหว่างธรรมในส่วนของกิเลส กรรม หรือวิปาก หรือหมายถึงทั้งหมดเลยหรือเปล่าครับ

หรือหมายถึงสิ่งอื่นใดนอกจากที่ได้กล่าวมาแล้วอีกบ้างหรือเปล่าครับ

ขอบพระคุณสำหรับความเมตตากรุณณาในการตอบคำถามครับ

ขอบคุณครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
khampan.a
วันที่ 26 มี.ค. 2566

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ปฏิจจสมุปบาท
หมายถึง สภาพธรรมที่เกิดขึ้นด้วยดี คือเป็นไปตามลำดับโดยอาศัยปัจจัยเป็นธรรมที่อาศัยกันและกันเกิดขึ้น เป็นเหตุ เป็นผลที่ทำให้สังสารวัฏฏ์เป็นไปทรงแสดงถึงเหตุและผลที่เกิดจากเหตุ ปฏิจจสมุปบาทไม่พ้นไปจากสภาพธรรมที่เกิดขึ้นเป็นไป เป็นจิต เจตสิก และ รูป เมื่อกล่าวอย่างกว้างๆ แล้ว เพราะมีอวิชชา คือ ความไม่รู้ จึงเป็นเหตุให้มีการกระทำที่เป็นบุญบ้างเป็นบาปบ้าง ซึ่งจะเป็นเหตุให้เกิดในภพต่อไป มีจิต เจตสิก และ รูป เกิดขึ้นเป็นไป ทำให้สังสารวัฏฏ์ยืดยาวต่อไป ปฏิจจสมุปบาทมีองค์ ๑๒ ได้แก่

๑. อวิชชา ๒. สังขาร ๓. วิญญาณ ๔. นามรูป
๕. สฬายตนะ ๖. ผัสสะ ๗. เวทนา ๘. ตัณหา ๙. อุปาทาน ๑๐. ภพ
๑๑. ชาติ ๑๒. ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะทุกข์ โทมนัส อุปายาส

ความเป็นปัจจัยของปฏิจจสมุปบาท คือ

อวิชชา เป็นปัจจัยให้เกิด สังขาร

สังขาร เป็นปัจจัยให้เกิด วิญญาณ

วิญญาณ เป็นปัจจัยให้เกิด นามรูป

นามรูป เป็นปัจจัยให้เกิด สฬายตนะ

สฬายตนะ เป็นปัจจัยให้เกิด ผัสสะ

ผัสสะ เป็นปัจจัยให้เกิด เวทนา

เวทนา เป็นปัจจัยให้เกิด ตัณหา

ตัณหา เป็นปัจจัยให้เกิด อุปาทาน

อุปาทาน เป็นปัจจัยให้เกิด ภพ ภพ เป็นปัจจัยให้เกิด ชาติ

ชาติ เป็นปัจจัยให้เกิด ชรา มรณะ โสกะ (ความเศร้าโศก) ปริเทวะ (ความคร่ำครวญ) ทุกข์ (ทุกข์กาย) โทมนัส (ทุกข์ใจ) อุปายาส (ความคับแค้นใจ)



ชาติ
ในปฏิจจสมุปบาท หมายถึงการเกิดขึ้นของโลกิยวิบากจิต (และเจตสิกธรรมที่เกิดร่วมด้วย) และ กัมมชรูป ดังนั้น ชาติ ในปฏิจจสมุปบาท จึงหมายถึง ทั้งนามชาติ (คือ การเกิดขึ้นของวิบากจิต และ เจตสิกที่เกิดร่วมด้วย) และ ทั้งรูปชาติ คือ การเกิดขึ้นของรูปธรรม ที่เป็นกัมมชรูป ด้วย อันเป็นผลมาจาก ภพ ที่เป็นกรรมภพ คือ กุศลกรรม หรือ อกุศลกรรม นั่นเอง ชาติ เป็นสภาพธรรมที่จะเกิดในอนาคต นำมาซึ่งชรา มรณะ เป็นต้น ต่อไป แต่สำหรับในชาติ นี้ ความเป็นไปของสภาพธรรม จนถึงจุติจิต ก็ต้องสืบต่อเป็นไป ตั้งแต่จากขณะแรกคือ วิญญาณ แล้ว

ชรา
คือ ความแก่ ที่เป็นผลของชาติ หมายถึง ความแก่ของโลกิยวิบากจิต (พร้อมทั้งเจตสิกธรรมที่เกิดร่วมด้วย) และ กัมมชรูป เพราะขณะที่วิบากจิต (พร้อมทั้งเจตสิกธรรมที่เกิดร่วมด้วย) และ กัมมชรูป เกิดขึ้น เป็นอุปปาทขณะ นั่นคือ ชาติ ส่วนขณะที่วิบากจิต (พร้อมทั้งเจตสิกธรรมที่เกิดร่วมด้วย) และ กัมมชรูป ดำรงอยู่ ตั้งอยู่ ยังไม่ดับไป เป็นฐีติขณะ นั่น คือ ชรา ส่วน มรณะ ก็คือ ความดับไปของสภาพธรรมที่เป็นนามธรรม และ รูปธรรม นั่นเอง ครับ

…ยินดีในกุศลของทุกๆ ท่านครับ ...

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
Anyana
วันที่ 26 มี.ค. 2566

สาธุ ขอบคุณสำหรับคำตอบครับ

ขออนุญาตถามข้อที่ยังสงสัยต่อนะครับ

คือในความเข้าใจที่ผมเข้าใจมาอยู่นั้น หากจะแบ่งปฏิจจสมุปบาททั้ง12ตัวนี้เป็นกลุ่ม 3 อย่าง

กิเลส กรรม วิปาก

ก็จะได้แก่

กิเลส เท่ากับ อวิชา ตันหา อุปาทาน

กรรม เท่ากับ สังขาร ภพ

วิปาก เท่ากับ วิณญาญ นามรูป สฬายตน ผัสสะ เวทนา

ผมสรุปจากข้อความคำตอบที่ได้อ่าน เลยเข้าใจว่าแบบนี้ ไม่รู้ว่าเข้าใจถูกไหม คือ

ชาติ ชรา มรณะ

หมายถึงอาการในส่วนวิปากจิต หรือ ส่วนวิปาก ส่วนนี้เพียงส่วนเดียวเท่านั้นหรือเปล่าครับ

ชาติ ชรา มรณะ

ไม่ได้หมายถึงอาการของ กิเลส และ กรรม หรือเปล่าครับ

ถ้าหมายถึงแค่ วิปากเท่านั้น เท่ากับว่าในส่วน กิเลส คือ อวิชชา ตันหา อุปาทาน และ กรรม คือ สังขาร และ ภพ นั้น

ไม่มีอาการ ชาติ ชรา มรณะหรือเปล่าครับ

หรือ ถ้าหมายถึงโดยรวมคือ ทั้ง กิเลส กรรม วิปาก ล้วนอยู่ภายในอาการ ชาติ ชรา มรณะ แบบนี้จะถือว่าได้ไหมครับ ถูกต้องหรือเปล่าครับ

อีกอย่างปฏิจจสมุปบาทที่ผมเข้าใจคือ ธรรมนี้อธิบายได้ทั้งปฏิจจสมุปบาทในระดับขณะจิตเกิดดับ รวมถึงอธิบายได้ในระดับการคงอยู่ในภพแบบที่เราเป็นมนุษย์อยู่นี้จนกว่าเราจะมรณะจากกายเนื้อในภูมิมนุษย์นี้ด้วยหรือเปล่าครับ

ผมเข้าใจถูกหรือคลาดเคลื่อนอย่างไร ขอท่านช่วยชี้แนะผมทีนะครับ ช่วยขยายความอย่างลึกซึ้งพิสดารตามเห็นสมควร เพื่อการเจริญในปัญญายิ่งๆ ขึ้นไปทีนะครับ

ขอบพระคุณมากครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
Anyana
วันที่ 26 มี.ค. 2566

ขออนุญาตถามเพิ่มเติมอีกส่วนที่เกี่ยวข้องกันเพื่อขยายความเข้าใจที่ผมมีให้มากขึ้นนะครับ

ขออนุญาตนะครับ

... ... ... ... ... ... ... ... ... ... ... ... ... ... ... ... ... ... ... ... ..

คำว่า อัพยากตธรรม

จากข้อความนี้

กุศลจิตและเจตสิก เป็น กุศลธรรม

อกุศลจิตและเจตสิก เป็น อกุศลธรรม

วิบากจิตและเจตสิก เป็น อัพยากตธรรม

กิริยาจิตและเจตสิก เป็น อัพยากตธรรม

รูปทุกรูป เป็น อัพยากตธรรม

นิพพาน เป็น อัพยากตธรรม

โดยความหมายจริงๆ แล้ว คำนี้หมายถึงทุกธรรมตั้งแต่ จิต เจตสิก รูป และ นิพพาน เลยหรือเปล่าครับ

หรือเว้นไว้ด้วยตามข้อความว่า

กุศลจิตและเจตสิก เป็น กุศลธรรม

อกุศลจิตและเจตสิก เป็น อกุศลธรรม

และที่เหลือคือ อัพยากตธรรม

คือมี 3 ประเภทตามนั้นจริงๆ

หรือจริงๆ แล้วในความจริง มีเพียงแค่ อัพยากตธรรม ครับ

... ... ... ... ... ... ... ... ... ... ... ... ... ... ... ... ... ... ... ...

คำว่า อาเนญชาภิสังขาร หมายถึง อรูปาวจร เป็นกุศล หรือ อัพยากตธรรมหริอครับ

... ... ... ... ... ... ... ... ... ... ... ... ... ... ... ... ... ... ... ...

อวิชชา ตันหา อุปาทาน สังขาร ภพ

5 ตัวนี้ จัดสงเคราะห์อยู่ในส่วนไหนของ จิต เจตสิก บ้างหรือครับ

หรือทั้ง 5 ตัวนี้จัดอยู่ทั้งในจิต และ เจตสิกทั้งหมดหรือเปล่าครับ

... ... ... ... ... ... ... ... ... ... ... ... ... ... ... ... ... ... ... ... ..

ขอบพระคุณมากครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
khampan.a
วันที่ 27 มี.ค. 2566

เรียน ความคิดเห็นที่ ๒ ครับ

พิจารณาจากข้อความในพระไตรปิฎก ดังนี้

[เล่มที่ 77] พระอภิธรรมปิฎก วิภังค์ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้าที่ ๕๖๔

ก็ในคำว่า วัฏฏะ ๓ ย่อมหมุนไปไม่มีกำหนด นี้ อธิบายว่า ภวจักร (การเวียนว่ายตายเกิด) นี้มีวัฏฏะ ๓ ด้วยวัฏฏะ ๓ เหล่านั้น คือ "สังขารและภพ เป็นกรรมวัฏฏ์ อวิชชา ตัณหา อุปาทาน เป็นกิเลสวัฏฏ์ วิญญาณ นามรูป สฬายตนะ ผัสสะ และเวทนา เป็นวิปากวัฏฏ์" พึงทราบว่า ย่อมหมุนไปโดยการหมุนไปรอบบ่อยๆ ชื่อว่า ไม่มีกำหนดเพราะมีปัจจัยไม่ขาดสายตลอดเวลาที่กิเลสวัฏฏ์ยังไม่ขาดทีเดียว.


[เล่มที่ 77] พระอภิธรรมปิฎก วิภังค์ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้าที่ ๕๕๖

จริงอยู่ อวิชชาเป็นประธานแห่งวัฏฏะ ๓ (กิเลสวัฏฏ์ กรรมวัฏฏ์ และวิปากวัฏฏ์) เพราะว่า ด้วยการยึดถืออวิชชา กิเลสวัฏฏ์ฏะที่เหลือ และกรรมวัฏฏ์ฏะ เป็นต้น ย่อมผูกพันคนพาลไว้เหมือนการจับศีรษะงู สรีระงูที่เหลือก็จะพันแขนอยู่ แต่เมื่อตัดอวิชชาขาดแล้วย่อมหลุดพ้นจาววัฏฏะเหล่านั้น เหมือนบุคคลตัดศีรษะงูแล้วก็จะพ้นจากการถูกพันแขน ฉะนั้นเหมือนอย่างที่ตรัสว่า "เพราะสำรอกอวิชชาโดยไม่เหลือ สังขารจึงดับ


เมื่อว่าโดยสภาพธรรมที่เกิดขึ้นเป็นไป ทั้งหมด ย่อมมีอาการความเป็นไป ที่เป็นชาติ ชรา และ มรณะ ทั้งหมด เพราะจิต เจตสิก และ รูป เกิดขึ้น เมื่อเกิดแล้วก็คล้อยไปสู่ความดับ และ ดับไปในที่สุด แต่ที่กล่าวถึงโดยนัยของชาติ ชรา มรณะ โดยนัยที่เป็นปฏิจจสมุปบาท มุ่งหมายถึง ความเป็นไปของธรรม ที่มาจากเหตุ คือกรรม เมื่อทำกรรมแล้ว ทำให้เกิดผล และ เป็นปัจจัยให้สภาพธรรมเกิดขึ้นเป็นไปอีกมากมาย

ปฏิจจสมุปบาทมีทั้งส่วนที่เป็นกิเลส กรรม และ วิบาก ตามข้อความในพระไตรปิฎกในข้างต้น แม้แต่ในขณะนี้ ก็เป็นปฏิจจสมุปบาท ซึ่งเป็นสภาพธรรมที่มีจริง ที่เป็นจิต เจตสิก และรูป ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงโดยนัยที่อาศัยกันเกิดขึ้นโดยปัจจัยต่างๆ
ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
khampan.a
วันที่ 27 มี.ค. 2566

เรียนความคิดเห็นที่ ๓ ครับ

--ความหมายของอัพยากตธรรม คือ สิ่งที่มีจริงที่ไม่ใช่ทั้งกุศลและไม่ใช่ทั้งอกุศล ดังนั้น นอกเหนือจากกุศลและอกุศล ก็เป็นอัพยากตธรรม ทั้งหมด สภาพธรรมที่เป็น อัพยากตธรรม ก็คือ วิบากจิต (และเจตสิกที่เกิดร่วมด้วย) กิริยาจิต (และเจตสิกที่เกิดร่วมด้วย) รูปทั้งหมด และ นิพพาน

--อาเนญชาภิสังขาร คือ เจตนาที่ปรุงแต่งอย่างยิ่งโดยไม่หวั่นไหว เป็น เจตนา ที่เกิดร่วมกับอรูปาวจรกุศล ก็เป็น กุศลธรรม ครับ

--อวิชชา ตันหา อุปาทาน สังขาร ภพ
พิจารณาดังนี้
อวิชชา ได้แก่ โมหเจตสิก
ตัณหา ได้แก่ โลภเจตสิก
อุปาทาน ความยึดมั่น ได้แก่ สภาพธรรมที่เป็นโลภะ กับ มิจฉาทิฏฐิ ก็เป็นเจตสิก ๒ ประเภท คือ โลภเจตสิก กับ ทิฏฐิเจตสิก
สังขาร ในปฏิจจสมุปบาท คือ เจตนา ก็เป็น เจตนาเจตสิก
ภพ มี ๒ อย่าง คือ กรรมภพ ได้แก่ เจตนาเจตสิก
และ อุปปัตติภพ ได้แก่ โลกิยวิบากจิต (รวมเจตสิกธรรมที่เกิดร่วมด้วย) และ กัมมชรูป ดังนั้น สภาพธรรมที่เป็นอุปปัตติภพ ก็เป็น อัพยากตธรรม ครับ

พระธรรม ละเอียดลึกซึ้งอย่างยิ่ง จึงต้องค่อยๆ สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกไปทีละเล็กทีละน้อย ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
Anyana
วันที่ 27 มี.ค. 2566

กราบขอบพระคุณอย่างยิ่งที่ช่วยแสดงธรรมเพื่อคลายข้อสงสัยให้แก่กระผมครับ ขอบพระคุณมากครับ สาธุ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ