Thai-Hindi 15 April 2023

 
prinwut
วันที่  15 เม.ย. 2566
หมายเลข  45793
อ่าน  690

Thai-Hindi 15 April 2023


- เราพูดถึงจิตที่กำลังมีทุกขณะแต่มีจิตหลายอย่างมากมาย เราต้องพูดถึงเป็นประเภทๆ เพราะฉะนั้นพูดถึงจิตประเภทที่ไม่มีเหตุเจตสิกเกิดร่วมด้วย

- จิตไม่มีเหตุเกิดร่วมด้วยมีไหม (เท่าที่สนทนาปัญจวิญญาณไม่มีเหตุเกิดร่วมด้วย) ตอบตรงคำถามหรือเปล่า (ไม่ตรง)

- เห็นไหม เรากำลังจะสนทนาถึง “ความลึกซึ้ง” เราไม่ใช่สนทนาเรื่องราวมีแต่ชื่อแต่ว่าไม่มีความเข้าใจ เพราะฉะนั้นต้องเป็นความมั่นคงจริงๆ ทุกคำถามเพราะสามารถที่จะตอบตรงเพราะเป็นการแสดงความเข้าใจว่า “มีความลึกซึ้ง” ที่เราจะต้องพูดถึงอีก

- จิตที่มีเหตุเกิดร่วมด้วยมีไหม (ท่านอาจารย์ถามว่ามีไหมจิตที่มีเหตุเกิดร่วมด้วยใช่ไหม) หมายความว่าเมื่อกี้เราพูดถึงจิตที่ไม่มีเหตุเกิดร่วมด้วยใช่ไหม ตอนนี้ถามว่าแล้วจิตที่มีเหตุเกิดร่วมด้วยมีไหม (มี)

- พระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ใช่ให้เราฟังเพื่อตอบพระองค์แต่ให้เข้าใจความจริง

- เดี๋ยวนี้มีจิตไหม (มี) เดี๋ยวนี้มีจิตประเภทไหน กำลังพูดถึงเดี๋ยวนี้ (จิตที่ไม่มีเหตุ) เท่านั้นหรือ (ตอนนี้เข้าใจคำถามแล้วว่ามีทั้งอเหตุกและจิตที่มีเหตุ) เพราะฉะนั้นไม่ใช่พาเขาไปเร็วๆ แต่ต้องฟังทุกคำให้มีความมั่นคงว่า “เพราะเข้าใจอย่างนี้จึงไม่ใช่เรา”

- เดี๋ยวนี้คำตอบของเขาตอบว่า มีทั้งจิตที่มีเหตุเกิดร่วมด้วยและมีทั้งจิตที่ไม่มีเหตุเกิดร่วมด้วยใช่ไหม เพราะอะไร (เพราะว่ามีเห็น ตามที่เคยฟังมา) ไม่ตรง ตอบไม่ตรง (เพราะมีจิตอยู่ตลอดเวลาและต้องมีจิตทุกประเภท)

- ถูกต้อง เพราะว่ามีจิตมากทั้งที่มีเหตุและไม่มีเหตุ ใช่ไหม

- เดี๋ยวนี้รู้ไหมว่าเป็นจิตที่มีเหตุหรือไม่มีเหตุ (ไม่) ถูกต้อง ถ้าพระพุทธเจ้าไม่ทรงแสดง มีใครรู้ไหม (ไม่มี)

- พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงว่ามีจิตที่มีเหตุและไม่มีเหตุ ถ้าพระองค์ไม่ทรงแสดงมากกว่านี้ต่อไปยิ่งขึ้น จะรู้ไหมว่า ขณะไหนเป็นจิตที่มีเหตุ ขณะไหนเป็นจิตที่ไม่มีเหตุ (ถ้าไม่ฟังต่อก็ไม่เข้าใจ)

- เพราะฉะนั้นถ้าไม่ฟังคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะสามารถรู้สภาพที่มีจริงเดี๋ยวนี้ได้ไหม

- เดี๋ยวนี้มีจิตไหม (มี) รู้หรือยังว่าเป็นจิต (ยัง) ถูกต้อง ได้ยินแต่เรื่องของจิต รู้ว่ามีจิตแต่ยังไม่รู้จักจิตใช่ไหม

- เริ่มมีความปิติไหม ได้ฟังคำกล่าวถึงสิ่งที่มีจริงเดี๋ยวนี้แต่ไม่เคยรู้สิ่งนั้นจริงๆ เลย (ไม่มีความสุข รู้ว่าไม่รู้แต่ก็อยากจะรู้) แต่เดี๋ยวนี้เริ่มรู้ใช่ไหม (มีความสุขที่ได้ยินความจริง)

- ยินดีไหมที่มีโอกาสได้ฟังความจริง (มีความยินดีมาก ถ้าไม่ได้ฟังชีวิตนี้คงไม่มีความหมาย) แล้วรีบร้อนฟังชื่อเยอะๆ หรือจะเริ่มรู้ว่า กว่าจะรู้สิ่งที่ได้พูดไปแล้ว ไม่ง่าย

- เพราะฉะนั้น “ความปิติ” ไม่ใช่ง่ายที่จะเกิดขึ้นเพราะต้องเกิดจากความเข้าใจจริงๆ ถ้าเข้าใจชื่อจำชื่อจะปิติหรือ แต่รู้ว่า สิ่งที่มีเดี๋ยวนี้ยากที่จะรู้ได้แต่เริ่มที่จะได้ยินได้ฟังจึงสามารถที่จะเกิดปิติแม้ไม่มากก็เป็นความยินดีที่ได้มีโอกาสได้ยินได้ฟังคำที่กล่าวถึงสิ่งที่มีจริงๆ เดี๋ยวนี้

- ถ้าไม่เป็นอย่างนี้จะไม่ “รู้ค่า” ของพระธรรมที่ทำให้มีความเข้าใจถูก ถ้าไม่เห็นคุณค่าของพระธรรมจะไม่มีความเคารพพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

- เพราะฉะนั้นคิดไตร่ตรองคำทุกคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามีประโยชน์อย่างไร ถ้าไม่เห็นความจริงที่ได้รับความเข้าใจจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะเกิดยินดีไหมที่สามารถค่อยๆ เข้าใจสิ่งที่กำลังมีซึ่งลึกซึ้งที่สุด เพราะฉะนั้นจะฟังพระธรรมต่อไปไหม

- เมื่อฟังแล้วมีความเข้าใจแล้วประโยชน์อยู่ตรงไหน เมื่อได้ฟังคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามีความเข้าใจถูกในคำขอพระองค์และรู้ความจริง ค่อยๆ เข้าใจขึ้น “ประโยชน์” อยู่ที่ไหนอะไรเป็นประโยชน์ (คือเข้าใจความจริงของสิ่งที่ปรากฏ)

- ประโยชน์ของการรู้ความจริงคืออะไร (อยู่ที่การเข้าใจ) เข้าใจแล้วประโยชน์อะไร (ลดความติดข้อง)

- เพราะฉะนั้นประโยชน์สูงสุดคือรู้ความจริง อะไรถูก อะไรผิด อะไรดี อะไรชั่ว ปัญญาเท่านั้นที่จะเห็นโทษของสิ่งที่ผิดและเป็นโทษแล้ว “ละ” ได้

- ความไม่ดีที่เกิดเพราะความไม่รู้ทำสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ มีอะไรบ้างที่ไม่ดี (มีหลายอย่างตามที่นึกได้ ความติดข้อง ความโกรธ ความอิจฉา การนินทา)

- ทีละ ๑ ความติดข้องมีโทษอย่างไร (โทษคือ ความเป็นตัวตน) ทุจริตทั้งหมดความไม่ดีทั้งหมดทางกาย วาจา ใจ เกิดเพราะโลภะใช่ไหม แต่ทุกคนก็ยังมีโลภะใช่ไหม เพราะฉะนั้นเห็นโทษของโลภะระดับไหน (เห็นโทษขั้นฟังแล้วมาสังเกตในชีวิตประจำวันเล็กๆ น้อยๆ ) ระดับไหน (ขั้นฟัง ขั้นปริยัติ) ระดับไหนที่เห็นโทษ (ระดับที่ปรากฏออกมาทางกายทางวาจา) เพราะฉะนั้นเห็นโทษระดับไหน (ขั้นฟัง)

- เพราะฉะนั้นยากมากที่จะเห็นโทษระดับที่เห็นว่า ตราบใดที่โลภะที่รู้ว่ามีทุกวัน มานะ ความสำคัญตนทุกอย่างที่มี ไม่สามารถที่จะละคลายดับได้ ถ้าไม่เข้าใจความจริงที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงให้เข้าใจถูกต้องว่า ไม่ใช่เขา ไม่ใช่อะไรเลยแต่เป็นธรรม (ที่จะรู้ระดับนั้นไกลมาก ยากมาก)

- เพราะฉะนั้นการฟังธรรมถ้าไม่เห็นคุณค่าว่า เป็นสิ่งเดียวที่จะทำให้ค่อยๆ ละความไม่ดีจนกระทั่งสามารถที่จะละทุกอย่างที่ไม่ดีได้หมดก็เพราะมีความเข้าใจเท่านั้น จึงศึกษาเพื่อเข้าใจขึ้นเพื่อละ ไม่ใช่เพียงอยากจะรู้มากๆ

- เพราะฉะนั้นทุกครั้งที่ฟังแต่ละคำเห็นประโยชน์ว่าเพราะไม่เข้าใจอย่างนี้จึงไม่สามารถที่จะละสิ่งที่ไม่ดีความเลวทั้งหลายได้

- แม้แต่ขณะที่เข้าใจก็ไม่ใช่ “ฉันเข้าใจ” “เราเข้าใจ” แต่ถ้าไม่รู้อย่างนั้นก็ไม่ได้ละอะไรเพราะฉะนั้นด้วยการสำนึกอย่างนี้จึงฟังทุกคำเพื่อเห็นความลึกซึ้งว่า แม้คำที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสก็ยังไม่สามารถที่จะได้ยินได้ฟังแล้ว “ละ” ความไม่ดีทั้งหลายได้แต่ต้องมีความเข้าใจจริงๆ

- แต่ละคนเกิดมาไม่ว่าแสนโกฏิกัปป์จนถึงเดี๋ยวนี้ไม่เหมือนกันเลย มีผู้ที่รู้ความจริงอย่างละเอียดยิ่งจนถึงความเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้ากับคนที่ไม่รู้อะไรเลยก็มี

- พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงว่า “ธรรมลึกซึ้ง” มิฉะนั้นไม่สามารถที่จะละความติดข้องและความไม่รู้ที่มีทุกวันนานแสนนานมาแล้วได้ เพราะฉะนั้นเราจะฟังคำไหนก็ตามต้องไตร่ตรองเห็นประโยชน์จริงๆ ว่า “เพื่อรู้” เป็นสิ่งนั้น เห็นว่าเป็นอะไร ไม่ใช่เรา ไม่ใช่อะไรเลยทั้งสิ้น

- พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ๔๕ พรรษามากมายมหาศาลแต่ต้องฟังให้ค่อยๆ เข้าใจขึ้นทีละคำ

- ตั้งแต่เกิดมาก็มีเห็น ไม่เคยรู้เลยว่า “เห็นเกิด” แล้วเห็นก็ดับ เพราะฉะนั้นเมื่อไม่รู้ว่า “เห็นเกิดดับ” ก็เข้าใจว่าทุกอย่างเป็น “เราเห็น” “เราคิด” “เราจำ” ซึ่งเป็นความไม่รู้ความจริงเพราะฉะนั้นฟังเพื่อให้เข้าใจถูกต้องในสิ่งที่กำลังมีจริงๆ เดี๋ยวนี้

- คำว่า “ธรรม” หมายความถึงสิ่งที่มีจริงๆ ที่กำลังปรากฏให้รู้ได้ ดูเหมือนเข้าใจอย่างนี้ถูกต้อง ง่าย แต่ความจริงยังมีสิ่งที่ “ไม่ปรากฏ” แต่จริงด้วย

- เพราะฉะนั้นต่อไปนี้ได้ยินคำไหน เข้าใจว่าเป็นสิ่งที่มีจริงที่ถ้าไม่มีคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะไม่รู้ความจริงของสิ่งนั้นเลย

- เพราะฉะนั้นต่อไปนี้ให้รู้ว่าทุกคำมีจริงๆ แต่ยังไม่รู้ตามความเป็นจริงจึงต้องฟังเพื่อเข้าใจความจริง

- เพราะฉะนั้นที่เคยฟังแล้ว ฟังเรื่องจิตที่ไม่ประกอบด้วยเหตุหมายความว่า มีจิตที่ประกอบด้วยเหตุแต่เรายังไม่พูดถึง เราจะพูดถึงจิตที่ีไม่มีโลภะ โทสะ โมหะ อโลภะ อโทสะ อโมหะที่เป็นเหตุเกิดร่วมด้วย

- เพราะฉะนั้นคำว่า จิตที่ไม่ประกอบด้วยเหตุภาษาบาลีใช้คำว่า “อเหตุกจิต”

- อเหตุกจิตทั้งหมดมีเท่าไหร่ (อาช่าตอบว่า ปัญจวิญญาณ ๕…) เดี๋ยวก่อน คุณสุคินถามเขาได้เลยว่าอะไร (จำจำนวนไม่ได้แต่พยายามนึกว่ามีอะไร) อะไรเท่าไหร่ (๗) บอกอีกที (เห็นได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส สัมผัสทางกาย สันตีรณะ สัมปฏิจฉันนะ) แสดงว่าเขาจำ แต่ว่าเข้าใจแค่ไหนเห็นไหม

- เพราะฉะนั้นตั้งต้นใหม่ จิตเห็นมีกี่ดวง (มี ๒) เพราะฉะนั้นที่กล่าวมาแล้วมีเท่าไหร่ ตอนนี้อเหตุกมีเท่าไหร่ลองนับดู (เห็น๒ ได้ยิน๒ ลิ้มรส๒ ได้กลิ่น๑ สัมผัสทางกาย๒ สัมปฏิจฉันนะ๒ สันตีรณะ๒)

- เพราะฉะนั้นเขาฟังและเขาจำและเขาคิดได้ว่าเขาจำอะไรได้บ้างแต่ยังไม่ได้เข้าใจพอ เห็นได้ว่าถ้าเพียงแต่จำชื่อกับจำนวนเขาจะลืม แต่ถ้าเขาเข้าใจแต่ละหนึ่งเพิ่มขึ้นเขาจะไม่ลืมถูกต้องไหม

- ความเข้าใจของเรายังไม่พอแน่นอนทุกคนและการได้ยินได้ฟังน้อยมากแต่ถ้าเราฟังและเรารู้จุดประสงค์เพื่อเข้าใจในเหตุผลจะทำให้ไม่ลืมและเข้าใจถูกต้องในความเป็นจริงว่าเป็นแต่ละ ๑ ธรรมที่ไม่ใช่เรา

- เป็นของธรรมความเข้าใจเริ่มต้นจากน้อยมาก ยังไม่มั่นคงก็ทำให้ลืมได้แต่เข้าใจขึ้นๆ จนกว่าไม่ลืม แต่ไม่ใช่ไปนั่งท่องว่า มีเท่าไหร่ๆ เพราะฉะนั้นเราจะปลูกฝังความเข้าใจที่มั่นคงที่จะรู้จักสิ่งที่มีที่เป็นความจริงที่จะไม่ลืม ไม่ลืมที่นี่หมายความว่า ไม่ลืมเพราะจำและเข้าใจ ไม่ใช่ที่ลืมเพราะไม่ได้จำ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
prinwut
วันที่ 15 เม.ย. 2566

- เกิดมาแล้วไม่เห็นได้ไหม (ได้) เกิดมาแล้วไม่เห็นเดี๋ยวนี้ (ไม่ได้) พูดถึงธรรมดาไม่ใช่เฉพาะบุคคลพูดถึงธรรมดาเกิดมาแล้วไม่เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้กลิ่น ไม่ลิ้มรส ไม่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสได้ไหม (ไม่ได้)

- ทำไมทุกคนเห็นไม่เหมือนกัน บางคนเห็นสิ่งที่สวยงามน่าพอใจ บางคนเห็นสิ่งที่สกปรกน่าเกลียดมาก บางคนได้กลิ่นหอม บางคนได้กลิ่นเหม็น (เป็นเพราะเป็นผลของกรรมแต่ละคน)

- เพราะฉะนั้นเห็นสิ่งที่ไม่ดีในนรก ในมนุษย์ เป็นผลของอะไร (เป็นผลของอกุศลกรรม) เปลี่ยนได้ไหมเลือกได้ไหม ไม่ให้เกิดได้ไหม (ไม่ได้)

เพราะฉะนั้นเมื่อเหตุไม่ดีก็ทำให้เห็นไม่ดี ได้ยินไม่ดี ได้กลิ่นไม่ดี ลิ้มรสไม่ดี รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสไม่ดี

- ขณะที่ได้กลิ่นไม่ดีเป็นผลของอะไร (เป็นผลของอกุศลกรรม) กำลังได้กลิ่นที่ไม่ดีขณะนั้นรู้ไหมว่าเป็นผลของกรรมที่ไม่ดี (ก่อนฟังไม่รู้เรื่องเลย แต่ตอนนี้ถ้ามีกลิ่นที่ไม่ดีก็คิดได้) คิดได้แต่รู้ไหมว่าเป็นผลของอกุศลกรรม (ตอนที่ปรากฏไม่รู้)

- ต้องเป็นคนตรงจึงสามารถที่จะเข้าใจคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่าต่างระดับมีเบื้องต้นท่ามกลางและที่สุด

- ทบทวนแต่ไม่ใช่ให้จำ ให้เข้าใจ ทบทวนให้เข้าใจ อกุศลวิบากมีเท่าไหร่ (มานิชตอบ ๑ อาช่าตอบเห็นไม่ดี ได้ยินไม่ดี สัมปฏิจฉันนะ สันตีรณะ) ตอบเลย อกุศลวิบากมีจำนวนเท่าไหร่ (๑๐) อกุศลวิบากจิตมีเท่าไหร่ อะไรบ้าง “อกุศลวิบากจิต” (ปฏิสนธิ ภวังค์…)

- ไม่ได้ถามถึงกิจ ฟังคำถามดีๆ นี่เป็นเหตุที่ต้อง “เริ่มละเอียด” มิฉะนั้นการศึกษาทั้งหมดที่ทุกคนไม่เข้าใจ ยังช้ามากเพราะเหตุว่าเขาไม่ละเอียดแต่ถ้าเขาละเอียดเขาจะไม่ลืมและเข้าใจจริงๆ เพราะฉะนั้นต้องฟังคำถามก่อน ถามว่าอะไรแล้วจึงตอบ ถามว่า อกุศลวิบากจิตมีเท่าไหร่ ไม่ได้ถามถึง“กิจ” เลย (ถ้านัยของชาติของจิตมี ๑)

- ฟังดีๆ อกุศลวิบากจิตทั้งหมดมีเท่าไหร่ (ไม่ทราบคำตอบขอให้ทบทวน) คุณอาช่าไม่ค่อยสบาย ดิฉันทราบปัญหาและมีเรื่องยุ่งๆ มาก เพราะฉะนั้นเวลาฟังแล้วก็ไม่มีเวลาพอที่จะไตร่ตรองแต่เวลาที่ฟังธรรมเป็นอีกเวลาหนึ่งที่จะพ้นจากการคิดเรื่องปัญหาอื่นๆ แต่ก็ยากเพราะเหตุว่าจะทำให้การฟังไม่ละเอียด แต่อย่างไรก็ตามเพียงคนที่ตอบจำนวนได้ ไม่ได้หมายความว่าเขาเข้าใจเพราะฉะนั้นการที่เราอยู่ตรงนี้จนกว่าจะมั่นคงคือชีวิตประจำวัน ไม่ใช่เพียงให้เขารู้ว่ามีจำนวนเท่าไหร่แต่ให้เข้าถึงความจริงเดี๋ยวนี้ที่เป็นชีวิตประจำวัน

- เพราะฉะนั้นคุณอาช่าพูดอีกครั้ง อกุศลวิบากจิตมีอะไรบ้าง อกุศลวิบาก อกุศลวิบาก อกุศลวิบาก (๑) อะไร (คืออกุศลวิบากจิต) มี ๑ เห็นเป็นอกุศลวิบากหรือเปล่า ได้ยินเป็นอกุศลวิบากหรือเปล่า เท่าไหร่แล้ว (๒) เพราะฉะนั้น อกุศลวิบากจิต อกุศลวิบากจิต อกุศลวิบากจิตทั้งหมดมีเท่าไหร่ (๗) จำไว้นะคะมีมากกว่านั้นได้ไหม (ไม่)

- ฆ่าคน ๑๐๐​ คนมีอกุศลวิบากจิตจำนวนเท่าไหร่ (๗) คนที่ฆ่า ๑ คนมีอกุศลวิบากจิตเท่าไหร่ (๗) ทั้งสองต่างกันอย่างไร ฆ่า ๑ คนกับฆ่า ๑๐๐ คน (ต่างกันที่คนนึงจะได้รับผลมากกว่าแต่ทั้งคู่ไม่เกิด ๗) มากกว่าอย่างไร (มานิชตอบว่าที่เอาชีวิตคนหนึ่งต้องรับผลตามนั้นส่วนที่ฆ่า ๑๐๐ คนก็ต้องได้รับผลของทั้งหมดที่ทำทั้ง ๑๐๐ ครั้งที่ฆ่าคน)

- โดยวิธีไหนอย่างไร (ถ้าฆ่าใครวันหนึ่งก็ต้องถูกฆ่า) นั่นไม่ใช่ธรรม เป็นเรา เรากำลังพูดถึงจิต (เข้าใจแล้วว่าคนที่ไม่ได้ศึกษาธรรมก็คิดแบบนี้ได้)

- เพราะฉะนั้นไตร่ตรองการศึกษาธรรมต้องได้ประโยชน์สูงสุดเห็นโทษทุกอย่างชัดเจนขึ้น ไม่อย่างนั้นเราบอกเขา “ฆ่าแล้วมีผลตกนรก” “ไปเกิดเป็นเดรัจฉาน” เขาไม่สามารถจะรู้ความจริงได้แต่ถ้าเขาเข้าใจละเอียดขึ้นถึงแต่ละขณะในชีวิตซึ่งเกิดขึ้นเป็นไปจริงๆ นั่นเป็นเหตุที่เขาจะได้รู้ความจริงเป็นเหตุให้มั่นคงขึ้นในการเห็นโทษของธรรม

- เพราะฉะนั้นเราพูดเรื่องนี้เพราะเป็นชีวิตจริง ถ้าสามารถจะเข้าใจได้เป็นประโยชน์ที่จะเข้าใจอย่างอื่นนี่เป็นพื้นฐานของความเป็นไปในชีวิตซึ่งจะต้องเข้าใจก่อนคือ อเหตุกจิต แต่ว่าเราไม่จำเป็นต้องเรียกชื่อ แต่ว่าเราพูดถึงเห็นได้ยินพวกนี้แสดงว่า เราไม่รู้จักเลยถึงความละเอียดลึกซึ้งเพราะฉะนั้นเราไม่ได้เห็นโทษจริงๆ

- เพราะฉะนั้นทุกคำถามต้องคิดไตร่ตรองไม่ใช่รีบตอบและเป็นการเข้าใจเดี๋ยวนี้จริงๆ ชีวิตจริงๆ ทุกขณะตั้งแต่เกิดจนตาย

- เพราะฉะนั้นต้องไม่ลืม ถามถึงอเหตุกวิบากจิต อเหตุกอกุศลวิบากจิตมีทั้งหมดเท่าไหร่ (๗) ไม่ลืมคราวที่แล้วเราก็พูดถึงอกุศลวิบากจิต ๗ ๗ ๗ เท่านั้นไม่มีมากกว่านี้

- ในนรกมีอกุศลวิบากจิตเท่าไหร่ (๗) พระสัมมาสัมพุทธเจ้ามีอกุศลวิบากจิตเท่าไหร่ (๗) คนตาบอดมีอกุศลวิบากจิตเท่าไหร่ (๖) คนหูหนวกตาบอดทั้งสองอย่างมีอกุศลวิบากเท่าไหร่ (๕)

- ไม่ลืมไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนทั้งหมดแต่ต้องเข้าใจให้ถูกต้อง อกุศลวิบากทั้งหมด ๗ ดวงทำกิจอะไรบ้างเห็นไหมเราเปลี่ยนแล้วเพื่อที่จะเข้าใจว่า สภาพธรรมเกิดขึ้นทำกิจหน้าที่เมื่อเป็นธาตุรู้ต้องมีกิจหน้าที่ไม่ใช่เกิดมาแล้วไม่ทำอะไรแล้วดับไปๆ แต่ทุกขณะที่ธาตุรู้เกิดขึ้นมีกิจของตนๆ ที่จะต้องกระทำ

- คุณสุคินทบทวนที่เขาตอบว่าอย่างไร (เขาตอบว่า ๗ และเข้าใจว่าทำกิจอะไรบ้างเริ่มเข้าใจขึ้น)

- ย้อนกลับไปเมื่อกี้นี้ อกุศลวิบากมี ๗ ทั้งหมดในโลกมนุษย์ก็ ๗ สัตว์เดรัจฉานก็ ๗ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ ๗ ในนรกก็ ๗ เป็นเปรตก็ ๗ ต่างกันอย่างไรคนที่ทำอกุศลกรรมฆ่าคน ๑๐๐ คน ๑๐๐๐​ คนกับคนที่ฆ่าคน ๑ คน (ถ้านัยนั้นก็ไม่ต่างกัน)

- ทำไมฆ่า ๑๐๐​ กับฆ่า ๑ คนไม่ต่างกันหรือ ฆ่าสัก ๑ คนดีไหม คนเหมือนกัน (มี ๒ นัยคือจะเกิดอกุศลวิบากบ่อยขึ้นหรือรุนแรงขึ้น)

- ถูกต้อง เพราะฉะนั้นจึงมีที่เกิดต่างกัน เป็นมนุษย์มีอกุศลวิบากเจ็บไข้ได้ป่วยแม้จะรุนแรงเท่าไหร่ก็ไม่เท่ากับนรก

- เพราะฉะนั้นกรรมที่ทำต่างกันมากโดยการที่ทำต่อใคร บุคคลนั้นเป็นคนมีคุณประโยชน์หรือไม่ เป็นพระอรหันต์หรือว่าเป็นคนธรรมดาหรือเป็นโจร เพราะฉะนั้นเป็นเรื่องที่เราจะกล่าวถึงทีหลังแต่ต้องทราบจำนวนและประเภทของจิตก่อน

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
prinwut
วันที่ 15 เม.ย. 2566

- คราวก่อนเราพูดถึงเรื่องอกุศลวิบากจิต ๗ ดวงแต่ความเข้าใจยังไม่มั่นคงก็สามารถที่จะทำให้ลืมหรือเข้าใจเพียงเล็กน้อย แต่วันนี้ที่เราได้ฟังครั้งหนึ่งความเข้าใจเรื่องอกุศลวิบากจิตเพิ่มขึ้นไหม

- เดี๋ยวนี้วันนี้มีอกุศลวิบากแล้วหรือยัง (คุณอาช่ากับคุณมธุตอบว่ามี ส่วนคุณมานิชคิดนานก่อนจะตอบว่ามี) เพราะฉะนั้นตอบได้ไหมว่ามีขณะไหน (ไม่ได้)

- เห็นไหมความรู้มีหลายระดับ รู้แต่ว่ามีแต่ขณะที่กำลังมีจริงๆ ไม่รู้ แต่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงหนทางที่จะ “รู้ชัด” ในขณะที่กำลังมีจึงสามารถที่จะค่อยๆ ละคลายความเป็นเราว่า เรารู้สิ่งที่อ่อนหรือแข็งความรู้สึกที่เจ็บหรือไม่เจ็บทั้งหมดเป็นธรรม

- จิตที่เกิดเป็นผลของอกุศลกรรมกับจิตที่เกิดเป็นผลของกุศลกรรม จิตไหนมีมาก ประเภทไหนมีมากวิบากประเภทไหนมีมาก (จิตที่เป็นผลของอกุศลกรรม) มีมากกว่าหรือ นี่คือยังไม่ได้ฟังคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า คิดเอง ผิด (คำตอบเดิม)

- เพราะความจริงอะไรเกิดง่ายกว่ากัน กุศลหรืออกุศล อะไรเกิดง่ายกว่ากัน (อกุศลเกิดง่ายกว่า) เพราะฉะนั้นกว่ากุศลจะเกิดยากไหม (ยาก) ต้องอาศัยปัจจัยเจตสิกมากกว่าใช่ไหมมิฉะนั้นก็เป็นอกุศล

- เพราะฉะนั้นเริ่มละเอียด เริ่มไตร่ตรอง เข้าใจในปัจจัยที่จะทำให้เป็นกุศลและจะรู้ว่า กุศลเกิดยากต้องอาศัยปัจจัยหลายอย่างกว่าจะเกิด เพราะฉะนั้นเมื่อให้ผลกุศลย่อมมีกำลังที่จะให้กุศลวิบากเกิดมากกว่าอกุศลวิบาก

- เพราะฉะนั้นฟังธรรมต้องละเอียด ต้องไตร่ตรอง คราวต่อไปเราจะได้พูดถึงเหตุที่กุศลให้ผลเป็นกุศลวิบากมากกว่าอกุศลให้ผลเป็นอกุศลวิบากจำนวนที่ต่างกัน

- วันนี้มีอะไรสงสัยไหม (คุณมธุถามความหมายของอเหตุกจิต)

- เหตุที่จะทำให้เกิดการกระทำดีชั่วมี ๖ เหตุ เพราะฉะนั้นต้องรู้ว่า เหตุที่จะทำให้เกิดการกระทำที่ไม่ดีมีเท่าไหร่ เหตุที่จะทำให้เกิดการกระทำที่ดีมีเท่าไหร่

- ก่อนอื่นต้องทราบว่า “เหตุ” เป็นธรรมอะไร (โลภะ โทสะ โมหะ อโลภะ อโทสะ อโมหะ) เห็นได้เลยว่าคำตอบเป็นเรื่องชื่อที่ได้ฟังและที่จำ แต่ยังมีความลึกซึ้งที่แสดงว่า เขาเข้าใจมากกว่านี้ได้ เพราะฉะนั้นถ้าเราผ่านไปๆ การศึกษาธรรมก็มีความเข้าใจตื้นๆ เพียงชื่อเท่านั้นเอง

- ถ้าถามอีกคำหนึ่ง เขาจะรู้ได้เลยว่า เขาเข้าใจลึกซึ้งหรือมั่นคงแค่ไหน ถามว่าทำไม โลภะ โทสะโมหะ อโลภะ อโทสะ อโมหะ จึงเป็นเจตสิก (เพราะว่าเกิดกับจิต)

- เท่านี้ไม่พอ ยังมีความลึกซึ้งกว่านี้ด้วย แสดงถึงความเข้าใจที่กว่าจะมั่นคง เป็นธรรมดาสำหรับคุณอาช่า คุณอาคิ่ล คุณมานิชและทุกคนที่ฟังธรรมไม่นาน แม้แต่คนที่ฟังนานแต่ว่าไม่ไตร่ตรองไม่มั่นคงไม่ลึกซึ้งก็ไม่สามารถจะตอบได้

- เพราะฉะนั้นเป็นเรื่องที่ทุกคนเข้าใจคุณอาช่า คุณอาคิ่ล คุณมานิชว่า ยากมากที่จะคิดได้ละเอียดเพราะการฟังยังไม่เท่าคนที่ฟังมาแล้ว ๒๐​ ปี ๓๐ ปีซึ่งจะตอบได้หรือไม่ได้ก็แล้วแต่ความละเอียดของเขา (เข้าใจ)

- เข้าใจว่าอย่างไร (ที่ตอบไปถูกแล้วแต่ถามได้อีกอย่างว่าทำไม ๖ เจตสิกนี้จึงเป็น “เหตุ”)

- ทำไมธรรมนี้จึงเป็นเจตสิก (เข้าใจว่าเพราะเป็นเจตสิก) ถามว่าทำไมจึงเป็นเจตสิกไม่ได้ถามว่าเพราะอะไร (เพราะเกิดกับจิต) ยังตอบได้อีกเพราะฉะนั้นคราวหน้าต้องเข้าใจว่า การฟังธรรมต้องละเอียดต้องลึกซึ้งเพื่ออะไร เพื่อเข้าใจสิ่งที่มีเดี๋ยวนี้ทีละเล็กทีละน้อยเป็นพื้นฐาน ไม่อย่างนั้นเรียนไปไม่เข้าใจสิ่งที่มีเดี๋ยวนี้ ไม่ใช่พื้นฐานที่จะเข้าใจพระธรรม

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
Junya
วันที่ 16 เม.ย. 2566

กราบเท้าท่านอาจารย์ด้วยความซาบซึ้งยิ่งและกราบยินดีในวิริยะกุศลของคุณตู่เป็นอย่างยิ่งค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
khampan.a
วันที่ 17 เม.ย. 2566

ขอบพระคุณและยินดีในกุศลวิริยะของพี่ตู่ ปริญญ์วุฒิ เป็นอย่างยิ่งครับ
แต่ละคำ ล้วนเป็นประโยชน์เกื้อกูลที่สุดครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
siraya
วันที่ 17 เม.ย. 2566

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาในกุศลวิริยะของคุณตู่ ปริญญ์วุฒิค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ