ภาษาบาลีสัปดาห์ละคำ [คำที่ ๖๐๘] โสจติ

 
Sudhipong.U
วันที่  26 เม.ย. 2566
หมายเลข  45818
อ่าน  568

ภาษาบาลี ๑ คำ คติธรรมประจำสัปดาห์ โสจติ

โดย อ.คำปั่น อักษรวิลัย

โสจติ อ่านตามภาษาบาลีว่า โส - จะ - ติ แปลว่า ย่อมเศร้าโศก แสดงถึงความเป็นจริงของธรรมอย่างหนึ่ง ที่เกิดขึ้นทำกิจหน้าที่ เป็นความเสียใจ เศร้าโศก ได้แก่ โทมนัสเวทนา (ความรู้สึกที่เป็นทุกข์ใจ) เป็นธรรมดาจริงๆ สำหรับผู้ที่ยังไม่สามารถดับความติดข้องยินดีพอใจในสิ่งต่างๆ ได้ เมื่อสิ่งนั้นพลัดพรากจากไป ก็เป็นที่ตั้งให้เกิดความเศร้าโศกเสียใจได้ เป็นธรรมที่มีจริง ที่เกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น

ข้อความในสารัตถปกาสินี อรรถกถา สังยุตตนิกาย สคาถวรรค นันทิสูตร แสดงตัวอย่างของผู้ที่มีความเศร้าโศก ดังนี้

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า โสจติ ปุตฺเตหิ ความว่า เมื่อบุตรทั้งหลาย สูญหายไปก็ดี เสื่อมเสียไปก็ดี ด้วยอำนาจแห่งการเดินทางไปต่างประเทศ แม้มีความสงสัยในบัดนี้ว่าจักสูญเสียไปมารดาบิดา ย่อมเศร้าโศก

อนึ่ง เมื่อบุตรตายแล้วก็ดี กำลังจะตายก็ดี หรือถูกราชบุรุษหรือโจรเป็นต้นจับตัวไป หรือว่าเข้าไปสู่เงื้อมมือของข้าศึกทั้งหลาย มารดาบิดา เป็นผู้มีความสงสัยว่า บุตรตายแล้ว ก็ดี ย่อมเศร้าโศก เมื่อบุตรพลัดตกจากต้นไม้หรือจากภูเขาเป็นต้น มีมือและเท้าหักก็ดี บอบช้ำก็ดี มีความสงสัยว่า (มือและเท้าของบุตร) แตกหักแล้ว ก็ดี มารดาบิดา ย่อมเศร้าโศก


พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง เป็นคำอนุเคราะห์เกื้อกูล เปิดเผยความจริง เพื่อให้เข้าใจธรรมซึ่งเป็นสิ่งที่มีจริงอย่างถูกต้องตรงตามความเป็นจริง เป็นไปเพื่อปัญญาโดยตลอด สิ่งที่มีจริง เป็นธรรม และมีจริงในชีวิตประจำวัน ถ้าไม่ได้ฟังพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ก็จะไม่มีทางเข้าใจความจริงได้เลย มืดมิดด้วยความไม่รู้มานานแสนนาน จนกว่าจะได้ฟังคำจริงที่พระองค์ทรงแสดง แต่ละคำล้วนเป็นไปเพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูกว่า เป็นธรรมไม่ใช่เรา

ธรรมเกิดเพราะเหตุปัจจัยจริงๆ ชีวิตประจำวันจึงไม่พ้นไปจากธรรม ทุกคนเกิดมาแล้วที่จะไม่มีความทุกข์ ที่จะไม่มีความเศร้าโศกเสียใจนั้น เป็นไปไม่ได้เลย เพียงแต่ว่าความทุกข์จะเกิดขึ้นกับใครในวันไหน ในลักษณะอย่างไร มากหรือน้อย และเป็นเรื่องธรรมดาสำหรับทุกคนซึ่งมีความติดข้องผูกพันกับสิ่งหนึ่งสิ่งใด เมื่อมีเหตุที่ทำให้ต้องพลัดพรากจากสิ่งที่ผูกพันยึดมั่นก็จะต้องเศร้าโศกเสียใจเป็นธรรมดาในเมื่อยังมีเหตุที่จะให้เศร้าโศกอยู่ ขณะใดที่ปัญญาไม่เกิด ขณะนั้นความเศร้าโศกก็ย่อมเป็นไปตามเหตุตามปัจจัยนั้นๆ แต่ถ้าปัญญาพร้อมสติเกิดขึ้นในขณะใด ชั่วขณะที่ปัญญาและสติเกิด ขณะนั้นย่อมรู้ธรรมตามความเป็นจริง ขณะที่รู้ความจริงของธรรมที่กำลังปรากฏ ย่อมไม่เศร้าโศก เนื่องจากขณะนั้นปัญญาเกิดพร้อมกับธรรมฝ่ายดีอื่นๆ เป็นกุศลธรรม ต่างกับขณะที่เศร้าโศกซึ่งเป็นอกุศลธรรมอย่างสิ้นเชิง กุศลธรรมกับอกุศลธรรม เกิดพร้อมกันไม่ได้

ความรู้สึกเศร้าโศก เสียใจ หรือโทมนัสเวทนานั้น ก็เป็นเพียงสภาพธรรมอย่างหนึ่ง ซึ่งเกิดขึ้นเพียงชั่วขณะ เพราะเหตุว่าในขณะนั้นก็เห็น ขณะเห็นไม่ใช่ขณะที่เศร้าโศก ขณะที่ได้ยิน ก็ไม่ใช่ขณะที่ เศร้าโศก เพราะฉะนั้นเมื่อฟังพระธรรมศึกษาพระธรรมสะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกไปตามลำดับก็จะเห็นการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของธรรมแต่ละขณะ แต่ละประเภท ซึ่งเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยแล้วก็ดับไป ไม่เที่ยง ไม่ยั่งยืน แต่เพราะปัญญายังน้อย ก็ยังไม่สามารถรู้ตามความเป็นจริงตรงตามลักษณะของธรรมที่กำลังปรากฏ และทำให้มีความรู้สึกเหมือนกับว่าความเศร้าโศกนั้นไม่ได้ดับไปเลย แต่ความจริงความเศร้าโศกซึ่งเป็นโทมนัสเวทนานั้น เกิดขึ้นเพียงชั่วขณะแล้วก็ดับไป แล้วก็มีธรรมอื่นเกิดปรากฏ แสดงถึงความเกิดดับสืบต่อเป็นไปอย่างรวดเร็วของธรรม

ถ้าปัญญาไม่เกิด ไม่มีปัญญา ก็ไม่มีอะไรที่จะละคลายความทุกข์ความเศร้าโศกนั้นๆ ได้ เพราะปัญญาเป็นธรรมฝ่ายดีที่อุปการะเกื้อกูลที่จะทำให้พิจารณาเห็นโทษของโลภะว่า ถ้ามีโลภะ ความติดข้องต้องการมากๆ ความทุกข์ที่จะตามมาก็ต้องมาก เพราะฉะนั้น หนทางเดียวที่ความทุกข์จะลดน้อยลง ก็คือ มีความติดข้องมีความผูกพันลดน้อยลงด้วย และความทุกข์ที่กล่าวถึงนั้นก็เป็นทุกข์ทางใจ ซึ่งเป็นความเศร้าโศก เป็นโทมนัสเวทนา เป็นทุกข์ประเภทหนึ่ง ซึ่งปัญญาสามารถระงับได้ เพราะเหตุว่า เมื่อดับเหตุที่จะทำให้มีความเศร้าโศกเกิดขึ้นได้แล้ว ความเศร้าโศกก็เกิดขึ้นไม่ได้ แต่ก็ยังมีทุกข์อย่างอื่นอีกมาก กล่าวคือ ถ้าเป็นทุกข์กายซึ่งเป็นผลของอกุศลกรรมที่ได้กระทำแล้ว ไม่มีใครสามารถเปลี่ยนสภาพของทุกข์กายนั้นให้เป็นสุขทางกายได้ ธรรมเป็นจริงอย่างไรก็เป็นจริงอย่างนั้น และสำหรับทุกข์กายในภูมิมนุษย์ที่ว่ามากสำหรับบุคคลผู้ที่เจ็บไข้ได้ป่วยหรือเป็นโรคภัยอย่างร้ายแรง แต่ถ้าจะเปรียบเทียบทุกข์กายนั้นกับความเดือดร้อนในนรกหรือในการเกิดเป็นเปรตแล้ว ก็ย่อมจะเทียบกันไม่ได้เลย เพราะเหตุว่าความทุกข์ในอบายภูมินั้นมีมากกว่าทุกข์กายในสุคติภูมิอย่างเทียบกันไม่ได้ แต่เมื่อว่าโดยความเป็นจริงของธรรมแล้ว ความเศร้าโศกที่เป็นทุกข์ใจ ก็เป็นธรรม เป็นโทมนัสเวทนาที่เกิดร่วมกับโทสมูลจิต ทุกข์ทางกาย ก็เป็นธรรม คือ เป็นทุกขเวทนาที่เกิดพร้อมกับกายวิญญาณในขณะที่จิตเกิดขึ้นรู้สิ่งที่กระทบสัมผัสทางกาย เป็นผลของอกุศลกรรมที่ได้ทำไว้แล้ว ทั้งหมดเป็นเรื่องของธรรมที่เกิดเพราะเหตุปัจจัย ธรรมแม้จะมีจริงอยู่ทุกขณะ แต่ถ้าไม่ได้ฟังไม่ได้ศึกษาพระธรรม ไม่มีทางที่จะเข้าใจถูกตามความเป็นจริงได้เลย ยังคงมีความไม่รู้อีกต่อไปในสังสารวัฏฏ์

ธรรมที่มีจริงนั้น ย่อมสามารถเป็นที่ตั้งให้สติและปัญญาเกิดขึ้นระลึกรู้ตามความเป็นจริงได้ว่าเป็นธรรม ไม่ใช่เรา เป็นไปเพื่อละคลายการยึดถือธรรมว่าเป็นตัวตน สัตว์ บุคคล เพราะฉะนั้น สำคัญอยู่ที่เหตุ คือ การฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมอบรมเจริญปัญญา สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกไปทีละเล็กทีละน้อย ไม่ประมาทในแต่ละคำที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ไม่ว่าจะเป็นคำใดก็ตาม ล้วนแล้วแต่เป็นคำอนุเคราะห์เกื้อกูลให้มีความเข้าใจถูกเห็นถูกในสิ่งที่มีจริงตามความเป็นจริงทั้งหมด จึงเป็นขณะที่มีค่าอย่างยิ่งที่เกิดมาแล้วได้มีโอกาสฟังพระธรรมศึกษาพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง อบรมเจริญปัญญา สะสมเป็นที่พึ่งต่อไป

ขอเชิญติดตามอ่านคำอื่นๆ ได้ที่..

บาลี ๑ คำ


เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ