สิ่งที่เป็นธรรมดาที่สุดขณะนี้ ลึกซึ้งอย่างยิ่ง_สนทนาธรรม ไทย-ฮินดี วันเสาร์ที่ ๖ พฤษภาคม ๒๕๖๖
- มีใครคิดบ้างว่า สิ่งที่เป็นธรรมดาที่สุดขณะนี้ ลึกซึ้งอย่างยิ่ง กว่าจะรู้ความจริงที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ และทรงแสดง เพื่อให้เข้าใจความจริงของสิ่งที่มีจริงๆ เดี๋ยวนี้ไม่ง่ายเลย แต่ต้องเข้าใจความจริงว่า ถ้าไม่สามารถจะรู้ความจริงของสิ่งที่กำลังมีเดี๋ยวนี้ จะไม่มีการเข้าใจอะไรได้เลยตามความเป็นจริง.
- ทุกคำที่เป็นคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพื่อให้ค่อยๆ เข้าใจถูกต้องตามความเป็นจริงของสิ่งที่มีแต่ละหนึ่งขณะ ที่มีจริงๆ .
- ทุกครั้งที่จะได้ฟังคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ต้องรู้ว่าพูดถึงสิ่งที่กำลังมีแน่นอน แต่ที่ค่อยๆ เข้าใจเพิ่มขึ้นๆ จนสามารถที่จะเข้าใจความจริงของสิ่งที่กำลังมีตามลำดับ ถ้ามีความรู้เรื่องต่างๆ มากมาย แต่ไม่รู้ความจริงของขณะเดี๋ยวนี้ มีประโยชน์ไหม? (ไม่มีประโยชน์) .
กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ด้วยความเคารพอย่างยิ่งค่ะ
- ก่อนอื่นต้องตั้งต้นว่า เดี๋ยวนี้มีอะไร หรือเป็นอะไรทุกครั้ง เพราะฉะนั้น เริ่มต้นด้วยคำว่า เดี๋ยวนี้มีอะไร มีจริงๆ? (มีเห็น) เห็นเกิดหรือเปล่า? (เห็นเกิด) เห็นเกิดเองได้ไหม? (ไม่ได้) นี่แสดงว่า เรากำลังเริ่มจะเข้าใจเห็นที่กำลังเห็น ถ้าไม่มีสิ่งที่ทำให้เห็นเกิดขึ้น เห็นเกิดไม่ได้เลย เพราะฉะนั้น เดี๋ยวนี้สิ่งที่อาศัยปรุงแต่งให้เห็นเกิดขึ้น คือ ปัจจัยแต่ละอย่างที่ทำให้เห็นเกิดขึ้นได้.
- เพื่อให้เข้าใจถูกต้อง ทุกครั้งที่เราพูดเรื่องอะไร ต้องไม่ลืมว่าต้องมีปัจจัยสิ่งที่อาศัยทำให้สิ่งนั้นเกิด สิ่งนั้นจึงเกิดขึ้นได้เดี๋ยวนี้.
- เพราะฉะนั้น ปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เห็นเกิดขึ้นคืออะไร? (อารัมมณปัจจัย) ไม่ได้บอกให้พูดถึงชื่อเท่านั้น ถ้าบอกว่า อารัมมณปัจจัย อะไรเป็นอารัมมณปัจจัยที่เห็นเกิดขึ้นได้? (คุณสุคิน: ตอนนี้ถามเขาใหม่ เขาตอบว่า สี) สิ่งที่กระทบตา ถ้าไม่กระทบตา เห็นเกิดได้ไหม? (ไม่ได้) .
- เพราะฉะนั้น นอกจากสิ่งที่กระทบตาเป็นสีสันวรรณะที่เป็นอารัมมณปัจจัย มีปัจจัยอะไรอีก? (วิปากปัจจัย) ไม่ได้ถามอย่างนั้นเลย ทำไมไปคิดถึงวิบาก เดี๋ยวนี้เองสำหรับเฉพาะเห็น ไม่ได้ถามว่าเห็นเป็นอะไร แต่ถามว่า เห็นเกิดได้ต้องมีปัจจัยอาศัยให้เห็นเกิด สิ่งหนึ่งก็คือ สิ่งที่กระทบตา ทำให้เห็นเกิดขึ้นเห็นสิ่งนั้นเป็นอารัมมณปัจจัย เพราะเห็นเห็นสิ่งนั้น และนอกจากนั้นมีอะไรอีกที่เป็นปัจจัย? ไม่ได้ถามเรื่องวิปากเลย ฟังธรรมต้องละเอียดมากๆ มิเช่นนั้น จะไม่เข้าใจ เพราะเรากำลังจะให้เขาค่อยๆ นำมาสู่การเข้าใจเห็นเดียวนี้ ไม่ใช่เพียงพูดเรื่องเห็น (ถ้าไม่มีตาก็ไม่เห็น) เพราะฉะนั้น มี ๒ ปัจจัยใช่ไหม เท่าที่เรากล่าวถึง (ใช่) ยังไม่ต้องเอ่ยถึงชื่อของปัจจัยก็ได้ แต่รู้ว่า เดี๋ยวนี้ที่กำลังเห็น ต้องมีตาแน่นอน ถ้าไม่มีตา เห็นจะเกิดไม่ได้.
- (คุณสุคิน: ผมถามคุณมานิชเพื่อให้เขาเข้าใจความหมายสิ่งที่ท่านอาจารย์พูดถึงว่า การศึกษาปัจจัยคือจากการพิจารณาสิ่งที่เกิดปรากฏตอนนี้ คุณมานิชเลยมรคำถามระหว่างที่แกฟังอยู่ แกถามถึงแสง ว่ามีส่วนอะไรในการเห็น?) ถ้าไม่มีเห็น จะมีแสงปรากฏไหม? (ไม่ปรากฏครับ) เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะเป็นแสง ไม่ว่าจะเป็นสี หรือจะเป็นอะไร เป็นสิ่งที่กระทบตาใช่ไหม? (ใช่) ไม่ต้องไปมากเรื่องคิดอะไร แต่ให้เข้าใจตรงๆ อะไรก็ตามที่ปรากฏให้เห็น จิตต้องเห็นสิ่งนั้น แล้วแต่จะเรียกชื่อหรือไม่เรียกชื่อก็ต้องเห็นสิ่งนั้น.
- ขณะที่สี หรือแสง หรืออะไรก็ตามกำลังปรากฏให้เห็น ขณะนั้นเป็นปัจจัยให้จิตเกิดเห็นหรือเปล่า? (ถ้าไม่มีก็ไม่เห็นครับ) ถ้าไม่มีอะไรกระทบตา จะเห็นสิ่งนั้นได้ไหม? (ไม่ได้) เพราะฉะนั้น ขณะที่กำลังเห็นเดี๋ยวนี้ ปัจจัยหนึ่งคืออะไร? (สิ่งที่ปรากฏทางตา) เพราะฉะนั้น เป็นอารัมมณปัจจัย เพราะว่า เป็นสิ่งที่ทำให้จิตเกิดขึ้นรู้เฉพาะสิ่งนั้น.
- ขณะเกิดมีอารัมมณปัจจัยไหม? (มีครับ) อะไรเป็นอารัมมณปัจจัยขณะที่เกิด? (อาคิ่ลตอบว่า เป็นอารมณ์เดียวกับของจิตที่เกิดก่อนจุติจิตของชาติก่อน) เขารู้ไหม? (ไม่รู้ครับ) เก่งมาก ที่เขาเข้าใจตรง และไม่ลืม จิตเป็นสภาพรู้ แต่อารมณืที่จิตรู้ ปรากฏ และไม่ปรากฏ แล้วแต่ปัจจัย.
- ตั้งแต่เกิดมามีขณะไหนบ้างที่ไม่มีจิต? (ไม่มี) เพราะฉะนั้น ตั้งแต่เกิดจนตาย รู้จิตทางไหนบ้าง? (ทางปัญจทวาร และทางมโนทวาร) เพราะฉะนั้น แสดงว่า จิตเกิดขึ้นตั้งแต่เกิดต้องรู้อารมณ์ แต่ขณะนั้นอารมณ์ไม่ปรากฏ จนกว่าจะมีสิ่งที่กระทบตา กระทบหู กระทบจมูก กระทบลิ้น กระทบกาย กระทบใจเกิดขึ้น จึงรู้อารมณ์ต่างๆ เหล่านั้นได้.
- จึงมีคำถามว่า ก่อนเห็นมีจิตไหม? (มี) จิตอะไร? (อาวัชชนะครับ) ก่อนอาวัชชนะมีจิตไหม? (มีครับ และตอบว่าเป็นภวังคจิต) ไม่ได้ถามชื่อเลยนะ ถามว่ามีไหม? ทุกคนติดคำว่า คำ พอถามอะไรก็ตอบเป็นคำ แต่เขาไม่สามารถที่จะเข้าใจหนทางที่จะรู้จักจิต
- ใครๆ ก็เรียนชื่อได้ จำชื่อได้ ถามใคร ใครก็ตอบชื่อได้ แต่เดี๋ยวนี้มีจิตที่อารมณ์ไม่ปรากฏไหม? (มี) เมื่อไหร่? (ตอนนี้) ตอนนี้ตอนไหน? (คุณสุคิน: อาช่าตอบว่าหลังเห็น แต่ผมบอกว่า หลังหรือว่าก่อน เลยต้องอธิบายให้เขาฟังว่า ที่เราคิดว่าหลังนี่ คือเราคิดแล้วจำ แต่เรารู้ว่า เห็นมี ..) ไม่ใช่ ไม่ใช่ ที่เขาตอบเราต้องถามเขาว่า เขาตอบว่าก่อนเห็นมีจิตที่ไม่เห็น และจิตที่ไม่เห็นจะมีอีกเมื่อไหร่ที่เขาตอบว่า หลังเห็นใช่ไหม? (ใช่ครับ) ถูกต้อง นั่นคือถูกต้อง เพราะฉะนั้น ให้เขาเข้าใจถูกต้องว่า เห็นสั้นมาก เพราะว่าเห็นนิดเดียวก็มีจิตที่เสียงดับไปแล้ว ได้ยินเกิดไม่ได้ รู้เสียงไม่ได้ เพราะฉะนั้น ขณะนั้นเป็นขณะที่จิตไม่ได้มีอารมณ์ที่ปรากฏ นี่ค่ะ เป็นจุดที่เขาจะต้องเข้าใจให้ถูกต้องว่า อารมณ์ไม่ปรากฏเมื่อไหร่ เมื่อไม่มีจิตเห็น ก่อนเห็น และเมื่อเห็นดับไปแล้ว แสดงให้เห็นความสั้นที่สุดที่เขาจะเริ่มรู้ว่า ชีวิตคือแค่นี้.
- ก่อนได้ยินมีเสียงปรากฏไหม ปรากฏนะ ก่อนจิตได้ยินเกิดมีจิตอะไร? (คุณสุคิน: อาช่าตอบว่าก่อนได้ยินเกิดไม่มีได้ยิน และผมก็ถามเขาว่า ก่อนได้ยินมีอะไร เขาตอบว่ามีจิต) แปลว่า เขาเข้าใจถูกต้องแล้วนะ แล้วหลังได้ยินมีจิตไหม? (มีจิตครับ) จิตอะไร ไม่ใช่ชื่อนะ? (มีอารมณ์ที่ไม่ปรากฏ) นี่เป็นสิ่งที่เขาจะต้องเข้าใจขึ้นว่า ชีวิตเป็นอย่างนี้ เดี๋ยวนี้ แต่ไม่ได้ปรากฏตามความเป็นจริง นี่เป็นการแสดงให้เข้าใจถูกต้องว่า จิตไม่เคยขาดเลยตั้งแต่เกิด.
กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ด้วยความเคารพอย่างยิ่งค่ะ
- มีจิตเห็นตลอดเวลาได้ไหม? (ไมได้) เพราะฉะนั้น มั่นคง "สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นมีความดับไปเป็นธรรมดา" ไม่มีเราเพราะไม่เหลือ จิตทุกขณะเป็นสุญญตาหรือเปล่า? (คุณสุคิน: เขาส่วนใหญ่จะไม่เข้าใจคำว่า สุญญตาครับ) เคยได้ยินไหม? (เคยได้ยิน แต่ว่าไม่เคยถาม ไม่เคยสนทนาครับ) นี่แหละ เป็นสิ่งที่ต้องระลึกอยู่เสมอว่า ได้ยินคำไหน ไม่ใช่ได้ยินเฉยๆ แต่ต้องเข้าใจให้ถูกต้อง (เข้าใจแล้วครับ ตอนนี้อาคิ่ลอยากเข้าใจคำว่า สุญญตาครับ) เดี๋ยวนี้มีอะไรเกิดไหม? (มี) สิ่งที่เกิดดับไหม? (ดับ) สิ่งที่เกิดดับไปแล้ว จะกลับมาเกิดอีกได้ไหม? (ไม่ได้) การดับไปเลยไม่เกิด นั่นคือ สุญญตา (คุณสุคิน: ท่านอาจารย์ครับ เมื่อกี๊ผมก็อธิบายให้เขาฟังแล้ว ผมก็ย้อนกลับไปถามคำถามเดิมว่า มีจิตไหนที่ไม่ใช่สูญญตาไหม มานิชตอบว่า ไม่มี) เพราะฉะนั้น คุณสุคิน เราไม่ตอบไม่บอกอะไร ให้เขาคิดเอง จนกระทั่งเป็นความเข้าใจที่มั่นคง.
- เพราะฉะนั้น สิ่งที่เกิดแล้วดับ ไม่กลับมาเกิดอีกได้เลย เป็นสุญญตา ใครทำอะไรให้เกิดขึ้นได้บ้าง? (ไม่มี) แล้วสิ่งที่เกิดแล้วไม่ดับได้ไหม? (เป็นไปไม่ได้) แล้วสิ่งที่เกิดแล้วเปลี่ยนสิ่งนั้นให้เป็นสิ่งอื่นได้ไหม? (ไม่ได้) นี่คือ ความหมายของอนัตตา.
- (คุณสุคิน: ท่านอาจารย์ครับ อยากให้ท่านอาจารย์เกื้อกูลแทนคุณอาช่า คุณราจิฝยังไม่เข้าใจเหมือนยังไม่เคยได้ยินศัพย์นี้) เพราะฉะนั้น ต้องอธิบายเป็นภาษาฮินดีใช่ไหม? (คือ ให้อาช่าอธิบาย แต่อาช่ารู้สึกว่าก็แค่อธิบายเป็นคำ และราจิฝยังไม่เข้าใจครับ) เดี๋ยวนี้มีอะไร? (มีเห็น) ใครทำให้เห็นเกิดขึ้น หรือเห็นเกิดเพราะมีปัจจัยจึงเกิด? (เกิดเพราะเหตุปัจจัยครับ) ใครเปลี่ยนให้เห็นเป็นได้ยินได้ไหม? (ไม่ได้) เพราะฉะนั้น เห็นไม่ใช่คน ไม่ใช่นก ไม่ใช่งู ไม่ใช่มด เห็นเป็นเห็น นั่นคือ ไม่ใช่ใครสิ่งใดสิ่งหนึ่งจึงเป็นอนัตตา ไม่ใช่สิ่งใดสิ่งหนึ่งหรือเป็นใครเลยทั้งสิ้น.
- โดยมากคนคิด ว่า เขาเข้าใจธรรมได้ยินคำเข้าใจ แต่เขาไม่รู้จักธรรมเลย เขาคิดว่าธรรมเป็นนก ธรรมเป็นคน ธรรมเป็นโต๊ะ ธรรมเป็นพระอาทิตย์ ธรรมเป็นภูเขา เป็นอัตตา แต่ธรรมแต่ละหนึ่งเกิดขึ้นเพราะมีเหตุปัจจัยที่ทำให้เกิด แล้วดับไปไม่กลับมาอีก จะเป็นอย่างอื่นไม่ได้เลย นี่คือ อนัตตา ไม่ได้เป็นอย่างหนึ่งอย่างใดอย่างที่เคยเข้าใจว่าเป็นนกเป็นคน.
- มีคุณสุคินไหม? (ไม่มี) แล้วมีอะไร? (มีแต่ธรรมอย่างหนึ่ง) อย่างเดียวหรือ? (หลายอย่าง) แต่ละอย่างเกิดแล้วดับใช่ไหม? (ใช่) กลับมาเกิดอีกได้ไหม? (ไม่ได้) นั่นคือ ความหมายของสุญญตา.
- เพราะฉะนั้น ทั้งหมดเป็นธรรมที่มีปัจจัยเกิด บังคับบัญชาไม่ได้ ดับไปไม่กลับมาอีกเป็นอนัตตา และสุญญตา.
- สงสัยอะไรไหม? (ไม่สงสัย) เดี๋ยวนี้มีปัจจัยอะไร? (คุณสุคิน: แกจำชื่อไม่ได้ แต่บอกว่า มีสีปรากฏ) สิ่งที่จิตรู้เป็นอารัมมณะ เพราะฉะนั้น สิ่งนั้นเป็นปัจจัยให้เกิดจิตโดยเป็นสิ่งที่จิตรู้ คือ เป็นอารัมมณปัจจัย.
- ขณะไหนไม่มีอารัมมณปัจจัย? (ก่อนเห็น และหลังเห็น) ผิด ก่อนเห็นมีจิตไหม? (มี) เมื่อมีจิตต้องมีอารัมมณปัจจัยใช่ไหม? มิเช่นนั้น จิตก็ไม่รู้อะไร ไม่เกิดขึ้น (เข้าใจแล้วครับ) ถามอีกนะ ขณะไหนไม่มีอารัมมณปัจจัย? (ไม่ครับ) ถามอีกที ขณะไหนไม่มีอารัมมณปัจจัย? (ตอนที่เป็นสุญญตา) ไม่ใช่ค่ะ ถามว่าขณะไหนไม่มีอารัมมณปัจจัย? (ไม่มีขณะไหนที่ไม่มีอารัมมณปัจจัยครับ) เพราะฉะนั้น ก็ถามอีกทีไงว่า ขณะไหนไม่มีอารัมมณปัจจัย? (ไม่ทราบ) ขณะที่ไม่มีจิต.
- ธรรมเปลี่ยนได้ไหม? (ไม่ได้) ไม่มีจิต แต่มีอารัมมณปัจจัยได้ไหม? (ไม่ได้) ไม่มีอารัมมณปัจจัยแต่มีจิตได้ไหม? (ไม่มีอารัมมณปัจจัย ไม่มีจิตครับ)
- เดี๋ยวนี้อะไรเห็น? (จิต) ถ้ามีสิ่งที่ปรากฏให้เห็น แต่ไม่มีเห็นได้ไหม ไม่มีจิตได้ไหม? (ไม่ได้) นี่คือ สิ่งที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ เพราะพระองค์รู้แจ้งจิต.
กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ด้วยความเคารพอย่างยิ่งค่ะ
- เดี๋ยวนี้อาคิ่ลเห็น อาช่าเห็น มานิชเห็น หรืออะไรเห็น? (จิตเห็น) รู้จักจิตเห็นหรือยัง? (ยังไม่รู้จัก) ถูกต้อง เพราะฉะนั้น คำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามีระดับต้น ระดับกลาง ระดับประจักษ์แจ้ง.
- เพิ่งเข้าใจว่า ไม่ใช่อาช่าเห็น แต่เป็นจิตเห็น นี่เป็นขั้นต้น แต่ยังไม่รู้จักจิต ถ้าไม่ฟังก็ลืมว่า ที่กำลังเห็นเดี๋ยวนี้ไม่ใช่เราเห็นเลย แต่เป็นธาตุรู้เกิดขึ้นเห็น.
- เดี๋ยวนี้มีจิตแน่นอน แต่ถ้าไม่รู้จักว่าจิตคืออะไร ไม่มีทางที่จะรู้ว่าขณะนี้เป็นจิต เห็นเป็นจิตหรือเจตสิก? (เป็นจิต) ทำไมว่าเป็นจิตไม่ใช่เจตสิก (เพราะ เห็นก็แค่รู้อารมณ์อย่างชัดตามที่เป็น) เพราะ ธรรมแต่ละหนึ่งปะปนกันไม่ได้ จิตไม่ใช่เจตสิก เจตสิกไม่ใช่จิต.
- เพราะฉะนั้น เดี๋ยวนี้เรากำลังพูดถึงจิตที่ไม่มีโลภะ โทสะ โมหะ เกิดร่วมด้วยทั้งหมดมีเท่าไหร่? (มี ๑๘ ประเภท) มีอะไรบ้าง ประเภทใหญ่ๆ? (จำได้ ๑๐ ก็คือ ปัญจทวาร ผลของกุศลกับ ... ) แบ่งเป็นประเภทใหญ่ๆ ก่อน โดยชาติ อเหตุกะทั้งหมดมี ๑๘ ต่างกันเป็นกี่พวก? (จำได้แค่วิบาก) วิบากอย่างเดียวหรือ? อกุศลวิบาก ไม่ใช่แค่กุศลวิบากเท่านั้น (จำได้แค่เฉพาะแค่วิบากครับ) เพราะฉะนั้น เหลือจิตอีกกี่ดวงที่ไม่ใช่วิบากที่ไม่ประกอบด้วยเหตุ? (ไม่ทราบที่เหลือเป็นจิตประเภทไหนครับ) รู้จักปัญจทวาราวัชชนจิตไหม? (แกเข้าใจว่า ที่แกไม่ได้ตอบปัญจทวาร เพราะคิดว่ามี ๕ ในเมื่อเหลือ ๓ แกเลยงงครับ) เดี๋ยวก่อนนะ ทั้งหมดมี ๑๘ ใช่ไหม? (ใช่ครับ) เป็นกุศลวิบากเท่าไหร่ เป็นอกุศลวิบากเท่าไหร่? (อกุศลวิบาก ๗ แล้วก็กุศลวิบาก ๘ ครับ) ทั้งหมดเป็นวิบากจิตที่ไม่มีเหตุเกิดร่วมด้วยเท่าไหร่? (๑๕ ครับ) ทั้งหมดอเหตุกะที่ไม่ประกอบด้วยเหตุมีเท่าไหร่? (๑๘) เพราะฉะนั้น เป็นวิบาก ๑๕ ใช่ไหม? (ใช่ครับ) เหลือเท่าไหร่ที่เป็นจิตไม่ประกอบด้วยเหตุ? (๓ ครับ) เป็นกุศลหรือเป็นอกุศล? (ไม่ได้เป็นทั้งกุศล และอกุศล) เพราะฉะนั้น เป็นอะไร ถ้าไม่เป็นกุศล ไม่ใช่อกุศล ไม่ใช่วิบาก อีก ๓ ดวงเป็นอะไร? (เป็นกิริยา) เพราะฉะนั้น รู้แล้วใช่ไหมว่า อเหตุกจิต ๑๘ เป็นวิบาก ๑๕ เป็นกิริยา ๓ ถูกต้องไหม? (เข้าใจครับ) .
- เพราะฉะนั้น เขารู้จักกิริยาจิตที่เป็นอเหตุกะแล้วหรือยังว่ามีอะไรบ้าง? (รู้ ๑ คือ ปัญจทวาราวัชชนจิต) ทำไมไม่ใช่วิบาก? (ไม่เข้าใจครับ) เพราะเหตุว่า ถ้าเป็นกุศลวิบากจะรู้อารมณ์ที่ดีเท่านั้น รู้อารมณ์ที่ไม่ดีไม่ได้เพราะเป็นผลของกุศล และถ้าเป็นอกุศลวิบากก็จะรู้อารมณ์ที่ดีไม่ได้ต้องรู้อารมณ์ที่ไม่ดีเพราะเป็นผลของอกุศล แต่สำหรับปัญจทวารวัชชนะเป็นวิถีจิตแรกเริ่มต้นเลย ปัญจทวาราวัชชนะคืออะไร ปัญจทวาราวัชชนะเป็นวิถีจิตแรก คำว่า เป็นวิถีจิตแรกขณะแรก หมายความว่าอะไร? (หมายความว่า หลังจากภวังค์สุดท้าย อารมณ์เริ่มรู้ทางทวารใดทวารหนึ่งครับ) หมายความว่าก่อนจะรู้อารมณ์อื่น จิตรู้อารมณ์อะไร? (ครับ) ถามว่า ก่อนวิถีแรกจะเกิด จิตรู้อารมณ์อะไร? กำลังพูดถึงเดี๋ยวนี้นะ เพราะฉะนั้น จะเข้าใจธรรมต้องเข้าใจเดี๋ยวนี้ (รู้อารมณ์ที่ไม่ปรากฏ) นี่แหละ เป็นสิ่งที่จะเริ่มเข้าใจชีวิตจริงๆ กำลังพูดถึงสิ่งที่มีจริงๆ เดี๋ยวนี้ ก่อนเห็นไม่มีเห็น แล้วจิตรู้อารมณ์อะไร.
กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ด้วยความเคารพอย่างยิ่งค่ะ
- เพราะฉะนั้น ให้เข้าใจสิ่งที่มีเดี๋ยวนี้ไม่ใช่เรียกชื่อ เดี๋ยวนี้เองจิตกำลังมีอารมณ์ที่ไม่ปรากฏ แล้วก็มีเห็น เพราะฉะนั้น ในขณะที่รู้อารมณ์ที่ปรากฏ ไม่เห็น แต่เมื่อเห็นต้องไม่ใช่อารมณ์ที่ไม่ปรากฏ.
- ถ้าถามคำถามหนึ่ง จะรู้ว่าที่ฟังมาแล้วทั้งหมดเขาเข้าใจ แลัวจำได้ไม่ลืมหรือเปล่า นี่เป็นเหตุที่ทำให้เห็นประโยชน์สูงสุดของการเข้าใจ เพราะว่า ถ้าเราไม่ย้อนกลับไปที่จะให้เขาพิจารณาว่า เขาเข้าใจแค่ไหน ฟังไปก็ลืม.
- นี่เป็นเหตุที่เราพูดซ้ำๆ บ่อยๆ พูดแล้วพูดอีก เดี๋ยวพูดโน่น เดี๋ยวพูดนี่ เพื่อที่จะให้รู้ว่า ที่เขาได้ฟังทั้งหมดเขาเข้าใจ หรือแค่จำ.
- เพราะฉะนั้น เตรียมฟังคำถามเพื่อที่จะรู้ว่า ต้องฟังคำถามแล้วก็รู้ว่า ถามอะไร แล้วตอบให้ตรงตามที่ได้เข้าใจ อย่าลืมนะ เท่าที่เข้าใจตามที่ได้เข้าใจแล้ว.
- เพราะฉะนั้น ฟังดีๆ ไตร่ตรองแล้วตอบนะ ก่อนเห็นมีจิตไหม? (มี) จิตรู้อารมณ์อะไรก่อนเห็น? (รู้อารมณ์ที่เห็นจะเห็นครับ) ยังค่ะ ฟังดีๆ ก่อนเห็นก่อนเลยยังไม่มีเห็นเลย จิตรู้อารมณ์อะไร? (อาคิ่ล: เป็นภวังค์ และอารมณ์ก็คือ อารมณ์ของ ..) ไม่ใช่ คุณสุคินคะ พูดกันมากๆ ทำไมไม่ถามสั้นๆ ให้เขาตอบมาเราจะได้รู้ว่าตรงไหนที่เขาจะต้องเข้าใจชัดเจน เราพูดยาวมากเลยไม่รู้ว่าอะไร เพราะฉะนั้น ตอบสั้นๆ ตามคำถามเท่านั้นเราจะได้ค่อยๆ ไปๆ ให้ลึกซึ้งขึ้นว่า เขาเข้าใจหรือเปล่า (คุณสุคิน: ท่านอาจารย์เริ่มต้นถามใหม่ครับ) เริ่มถามว่า ก่อนเห็นมีจิตไหม? ตอนนี้เราจะพูดเรื่องจิตกับอารมณ์เท่านั้น (มี) อารมณ์อะไร? (อารมณ์ชาติก่อน) เรากำลังพูดว่า ปรากฏหรือไม่ปรากฏ เขาไปรู้ได้อย่างไรว่ามันชาติก่อน ขณะเห็นมีอารมณ์ไหม มีอารมณ์อะไร เราไปคิดถึงชาติก่อนทำไม เราไม่ได้ถามถึงชาติก่อน เราถามถึงอารมณ์ก่อนเห็น นี่ต้องฟังคำถาม มิเช่นนั้น ปัญญาไปลึกซึ้งไม่ได้ (คุณสุคิน: ท่านอาจารย์ครับ ผมก็พูดให้เขาฟังว่า ... ) ไม่ต้องเลย ถามเขาเท่านั้น ให้เขาตอบมา แล้วดิฉันจะได้ถามต่อไป (อารมณ์ของชาติก่อน) รู้หรือว่า เป็นอารมณ์ของชาติก่อน ไม่ได้ถามว่าเป็นอารมณ์มาจากไหน ฟังดีๆ ไม่ได้ถามว่าอารมณ์นั้นมาจากไหน แต่ถามว่า ก่อนเห็น จิตเกิดขึ้นรู้อารมณ์ไหม? (รู้อารมณ์) อารมณ์อะไร? (อารมณ์เดียวกับจิตเห็น) ถามสั้นๆ ตอบสั้นๆ อารมณ์อะไร ฟังซิว่าจะตอบว่าอย่างไร เข้าใจแค่ไหน ถามสั้นๆ ตอบสั้นๆ อารมณ์อะไร? (อารมณ์ไม่ปรากฏ) ถูกต้อง แสดงให้เขามั่นใจจริงๆ ว่าเมื่อจิตเกิดต้องรู้ แต่อารมณ์ที่ไม่ปรากฏก็มี และอารมณ์ที่ปรากฏก็มี เพื่อที่จะได้เข้าใจ คำว่า วิถีจิต แต่เรายังไม่พูดแต่ให้เขาเข้าใจจริงๆ ว่า อารมณ์มี ๒ อย่าง แต่จิตไม่เคยขาดหายไปเลย จิตต้องเกิด และต้องรู้อารมณ์ แต่อารมณ์มี ๒ อย่างเพราะจริงๆ แล้วก็เป็นอย่างนั้น อย่างหนึ่งไม่รู้อะไรเพราะอารมณ์ไม่ปรากฏ อีกอย่างเอาเสียง เสียงปรากฏ สีปรากฏ กลิ่นปรากฏ เพราะฉะนั้น เป็นจิตต่างๆ กัน.
- พูดถึงชื่อจิตไม่ยาก แต่พูดถึงจิตเดี๋ยวนี้ยากที่จะรู้ว่า เป็นจิต เริ่มมีความเข้าใจที่มั่นคง ถึงแม้ไม่มีเสียง ไม่มีสี ไม่มีกลิ่น ไม่มีคิดนึก ไม่มีอะไร ก็มีจิต ถ้ามีความเข้าใจรอบรู้ในแต่ละคำ ถามอะไรจะไม่ลืม และก็จะตอบได้ เพราะเข้าใจจริงๆ .
- เพราะฉะนั้น ความต่างกันของเพียงฟังรู้เรื่อง กับการที่จะเข้าใจสิ่งที่กำลังปรากฏต่างกันมาก.
- กำลังเห็น ไม่ว่าจะเข้าใจว่าเป็นคุณอาช่า คุณอาคิ่ล หรือนกเห็นอะไร แต่เห็นเป็นเห็น เพราะฉะนั้น เห็นเป็นจิตที่เกิดขึ้นเห็น รู้สิ่งที่กำลังปรากฏ และจิตที่ก่อนเห็นอารมณ์ไม่ปรากฏ จิตที่เกิดก่อนเห็นแต่ละคนเหมือนกันไหม? (มี ๒ คำตอบครับ ๑ ก็คือ เหมือน อีก ๑ ก็คือ ไม่เหมือน เหมือนตรงที่ว่าเป็นกิจ ก็คือ ภวังค์ แต่ว่าถ้าไม่เหมือนคือ อารมณ์ไม่เหมือน) ก็เอาชื่อเข้ามาอีกนะ ภวังค์ เพราะฉะนั้น นกก็เห็น ก่อนเห็นจิตของนก ที่ว่าคนเห็น ก่อนเห็นจิตของคน เพราะฉะนั้น จิตที่เกิดก่อนเห็นไม่ได้รู้อารมณ์อะไรที่ปรากฏเพราะอารมณ์ไม่ปรากฏ แต่จิตที่อารมณ์ไม่ปรากฏนั้นแหละเหมือนกันไหม ของคนกับนก? (เหมือนกัน) จิตของนกก่อนเห็น และจิตของคนก่อนเห็นเหมือนกันหรือคะ จิตก่อนเห็นของนกกับจิตก่อนเห็นของคนเหมือนกันไหม? (ไม่เหมือนครับ) เห็นไหม เพราะฉะนั้น เราต้องเข้าใจคำถาม แล้วก็ตอบให้ตรงคำถาม เพราะว่ามีคำถามที่จะถามอีกต่อไปแต่เราพูดเรื่องอื่นหมด ไม่ถึงคำถามนั้น ต้องเก็บไว้คราวหน้า.
- วันนี้เขาเข้าใจธรรมละเอียดขึ้นอีกนิดหน่อยนะ นี่เป็นสิ่งที่มีจริงๆ ในชีวิตประจำวันให้เขาเข้าใจให้ถูกต้อง เพราะมิเช่นนั้น จะไร้ประโยชน์มากถ้าเรารู้แต่ชื่อ เดี๋ยวนี้มีจิตได้ยิน มีจิตก่อนได้ยิน เริ่มเข้าใจถูกต้องขึ้นทีละน้อย ว่า ไม่ใช่เราอย่างไร ก็ยินดีในกุศลความอดทนของแต่ละคน ที่จะฟังอีกเพราะรู้ว่า เพียงเท่านี้ไม่พอยังไม่รู้จักพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถึงความละเอียดอย่างยิ่งของธรรม ต้องอดทนต่อไปอีกมากแต่เป็นประโยชน์สูงสุด ก็ยินดีในกุศลของทุกคน และคุณสุคินด้วยนะคะ.
กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ด้วยความเคารพอย่างยิ่งค่ะ