จงยังความไม่ประมาทให้ถึงพร้อมแม้ในการฟัง_สนทนาธรรม ไทย-ฮินดี วันเสาร์ที่ ๑๓ พฤษภาคม ๒๕๖๖
- (คุณสุคิน: ครั้งที่แล้วเราพูดถึงจิตที่เกิดแล้วอารมณ์ปรากฏ และจิตที่อารมณ์ไม่ปรากฏครับ) ถามคุณอาช่า ว่า เดี๋ยวนี้มีจิตไหม? (มี) ขณะไหนไม่มีจิตบ้าง? (ไม่มี) เพราะฉะนั้น ยกตัวอย่างจิตเดี๋ยวนี้ (คุณสุคิน: อาช่าตอบว่า มีเห็น ครับ ผมเลยถามต่อว่า มีอย่างอื่นด้วยไหม แกก็ตอบว่า มีทีละขณะก็คือจิตเดียว แต่ว่าหลังจากเห็นดับ ก็มีได้ยินด้วยครับ) ขณะนี้มีแข็งไหม? (มี) จิตอยู่ไหนขณะแข็งปรากฏ? (ตอนที่แข็งปรากฏ ตอนนั้นจิตอยู่ตรงที่กระทบแข็งครับ) จิตอยู่ตรงที่แข็งใช่ไหม? (ใช่ครับ) เพราะจิตกำลังรู้แข็ง (ครับ) .
- เพราะฉะนั้น คุณสุคิน เราจะไม่พูดยาวแต่พูดสั้นให้เขาคิดของเขาเองสั้นๆ จนกระทั่งชัดขึ้น จะไม่บอกอะไรเขาเลยทั้งสิ้น เพราะฉะนั้น ทุกคำที่ถามให้เขาคิดสั้นๆ เดียวนี้ที่เห็นจิตอยู่ที่ไหน? (ที่ตา) สิ่งที่ปรากฏหรือคะ (ท่านอาจารย์หมายถึงตาปรากฏหรือ?) จิตอยู่ไหน? จิตอยู่ไหน ไม่ได้ถามถึงเรื่องตา กำลังเห็น มีสิ่งที่ปรากฏเดี๋ยวนี้ จิตอยู่ไหน? (คำตอบแกว่า อยู่ที่ตาครับ) จิตอยู่ที่ตาแล้วรู้อะไร? (รู้สิ่งที่ปรากฏทางตา) รู้สิ่งที่กำลังปรากฏที่เราบอกว่า เห็น ใช่ไหม? (ใช่) ไม่ใช่ไปจำคำ แปลทีละสั้นๆ (ครับ) ถ้าจำว่า จิตอยู่ที่ตา จะรู้ลักษณะของจิตไหม? (ไม่) .
- แต่กำลังเห็นเดี๋ยวนี้ จิตนั่นเองที่รู้สิ่งที่ปรากฏตรงนั้น ตรงที่ปรากฏ เพราะฉะนั้น ขณะหนึ่งที่ได้ยิน จิตไม่ได้อยู่ที่อื่นเลย จิตได้ยินเสียงรู้เสียง และขณะนั้นเสียงปรากฏ ถ้าได้ยินไม่มี เสียงปรากฏไม่ได้ ไม่คุ้นเคยเลยกับลักษณะของจิตซึ่งกำลังรู้ทุกอย่างที่ปรากฏตรงนั้น ไม่ได้อยู่ตรงอื่น อยู่ตรงที่สิ่งนั้นปรากฏ เพราะฉะนั้น ต้องไตร่ตรองให้เข้าใจความลึกซึ้ง.
- มีจิตตลอดเวลา เกิดตายก็มีจิตทั้งหมด เกิดก็เป็นจิต ยังไม่ตายก็เป็นจิต ตายก็เป็นจิตเกิดก็เป็นจิต ไม่เคยขาดจิตเลย.
- เพราะฉะนั้น ไม่คุ้นเคยกับจิต ได้ยินแต่ว่าจิตรู้ จิตได้ยิน จิตคิด แต่เดี๋ยวนี้เราสามารถจะรู้จักจิตได้เมื่อรู้ว่า สิ่งใดปรากฏเพราะจิตตรงนั้นเกิดขึ้นรู้ตรงนั้น.
- จำว่า จิตเกิดที่ตา จำได้ จิตเกิดที่ตา แต่การที่กล่าวให้เข้าใจจิตจริงๆ ต้องกล่าวหลายนัย จึงสามารถที่จะเข้าใจความลึกซึ้งของจิตได้ ถ้าไม่เข้าใจความลึกซึ้งของจิตจริงๆ ไม่สามารถจะรู้จักจิต ได้ยินแต่ชื่อ.
กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ด้วยความเคารพอย่างยิ่ง และกราบยินดีในกุศลจิตของคุณสุคิน ด้วยค่ะ
- พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงความลึกซึ้งของจิตโดยนัยต่างๆ ฟังดีๆ คิดดีๆ ไตร่ตรองดีๆ ขณะที่สิ่งหนึ่งสิ่งใดปรากฏเดี๋ยวนี้ จิตอยู่ไหน? เพราะฉะนั้น พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงจิต และที่เกิดของจิตต่างๆ แต่ต้องรู้ว่า ลักษณะของจิตเป็นสภาพรู้สิ่งที่กำลังปรากฏ เพราะฉะนั้น จิตรู้ตรงนั้นอยู่ตรงนั้น เช่นเห็นสิ่งที่ปรากฏ หนึ่งขณะ มีจิต และสิ่งที่ปรากฏ.
- นี่คือ เริ่มเข้าใจว่า ขณะนั้นจิตอยู่ตรงจักขุปสาท ซึ่งขณะนั้นถ้าไม่มีจักขุปสาท รูปจะกระทบและจิตจะรู้ไม่ได้.
- ใครจะรู้หนึ่งขณะจิตอย่างละเอียด ถ้ามีความเข้าใจถูกต้องจะเข้าใจความหมายของคำว่า อายตนะ ในหนึ่งขณะ.
- เราได้ฟังเผินๆ ว่า จิตเป็นสภาพรู้เกิดขึ้น แต่ขณะหนึ่งขณะเท่านั้นจริงๆ ใครจะรู้ว่าต่างกับขณะอื่น ถ้าไม่ค่อยเข้าใจขึ้นจะไม่สามารถละความเข้าใจว่าเราเห็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดได้เลย เพราะฉะนั้น แม้จะฟังธรรมมากเท่าไหร่ กี่ชาติ แต่ถ้าไม่เข้าใจจริงๆ ไม่สามารถที่จะรู้จักสภาพธรรม เช่น จิตหรือสิ่งที่กำลังปรากฏได้เลย.
- ด้วยความไม่ประมาท จึงฟังสิ่งที่กำลังมีขณะนี้ ค่อยๆ ละเอียดขึ้น เพราะฉะนั้น พิจารณา หนึ่งขณะ เท่านั้น ว่ามีอะไรบ้าง เห็นหนึ่งขณะต้องมีธาตุรู้เกิดขึ้นเห็นสิ่งที่มีขณะนั้นตรงนั้น ไม่ใช่ขณะอื่น เพราะกำลังรู้สิ่งนั้นตรงนั้น เพราะฉะนั้น จิตจะไปที่อื่นรู้อย่างอื่นไม่ได้.
- ด้วยเหตุนี้ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงทรงแสดงว่า หนึ่งขณะที่เห็นมีอะไรบ้าง ขณะนั้นมีสิ่งซึ่งต้องมีขาดไม่ได้เลย มิเช่นนั้น ไม่มีแม้แต่จิตเห็น และสิ่งที่ปรากฏ เพราะฉะนั้น หนึ่งขณะที่เห็นจริงๆ ต้องมีจิตซึ่งเป็นธาตุรู้ ๑ ต้องมีสิ่งที่จิตรู้แน่นอนเพราะจิตเป็นธาตุรู้ จิตเป็นธาตุที่เกิดขึ้นรู้สิ่งที่กำลังรู้ เพราะฉะนั้น จะขาดสิ่งหนึ่งสิ่งใดขณะนั้นไม่ได้.
- เพราะฉะนั้น พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงว่า ขณะเห็นหนึ่งขณะ มีอะไรที่ขาดไม่ได้เลยต้องอยู่ที่นั่น สิ่งที่ต้องมีขณะนั้นขาดไม่ได้เป็นอายตนะ เพราะฉะนั้น จิตเป็นจักขุวิญญาณเป็นธาตุรู้เป็นอายตนะ เพราะฉะนั้น รูปที่ปรากฏเป็นรูปายตนะต้องอยู่ด้วยกันต้องมีที่นั่นขาดไม่ได้ เพราะฉะนั้น ขณะนั้นมีรูปซึ่งจิตเห็นเป็นรูปายตนะ และมีจิตเห็นซึ่งเป็นธาตุรู้ จึงเป็นมนายตะ และจิตจะเกิดในภูมิที่มีรูป จิตจะเกิดที่อื่นพ้นจากรูปไม่ได้ ต้องเกิดที่รูปหนึ่งรูปใด เพราะฉะนั้น ขณะนั้นต้องมีรูปซึ่งเป็นที่เกิดของจิต เพราะฉะนั้น ขณะนั้นมีรูปซึ่งเป็นอารมณ์เป็นสิ่งที่จิตรู้และมีจิต และต้องมีจักขุปสาท ถ้าไม่มีจักขุปสาทจิตเห็นเกิดไม่ได้ เป็นรูปซึ่งเป็นจักขวายตนะเป็นอายตนะหนึ่งที่ต้องมีขณะนั้น และจิตจะเกิดโดยไม่มีเจตสิกเกิดร่วมด้วยไม่ได้เลย.
- เพราะฉะนั้น ขณะเห็นก็ต้องมีเจตสิกเกิดที่นั่นด้วย เพราะฉะนั้น จะได้ยินคำว่า อนัตตา ถ้าปราศจากสิ่งที่อาศัยการเกิดอยู่ที่นั่นจะไม่มีธาตุรู้ที่กำลังเห็นเลย.
- เพราะฉะนั้น เข้าใจความหมายของคำว่า หนึ่งขณะจิต ต้องมีอะไรที่ขาดไม่ได้ทั้งหมด ตรงนั้น เป็นอายตนะ.
- เพราะฉะนั้น ขณะเห็นหนึ่งขณะเท่านั้นจะต้องมีจิตเป็นมนายตนะ มีสิ่งที่ปรากฏเป็นอารมณ์ขณะนั้นเป็นรูปายตนะ และต้องมีเจตสิกเกิดกับจิตเป็นธัมมายตนะ และต้องมีที่เกิดของจิตคือจักขุปสาทเป็นอายตนะ.
- เพราะฉะนั้น พอได้ยินคำว่า จักขวายตนะ เข้าใจได้ไหมเมื่อเราพูดถึงแล้ว เพราะฉะนั้น จะถามว่าจักขวายตนะคืออะไร ถ้าฟังดีๆ ค่อยๆ เข้าใจจะคิดออก? (จักขวายตนะคือ รูปที่จิตเห็นเกิด) ถูกต้อง แต่ต้องรู้ว่า รูปซึ่งเป็นที่เกิดของจิต ได้แก่ จักขุปสาทรูปเท่านั้น เดี๋ยวนี้มีจักขุปสาทรูปไหม? (มี) ถ้าจิตไม่เกิดที่นั่น จิตไม่เกิดขึ้นเห็น จักขุปสาทรูปเป็นจักขวายตนะหรือเปล่า? (ถ้าไม่เห็น ตอนนั้นไม่เป็นจักขวายตนะ) ถูกต้อง เป็นจักขุปสาทรูปซึ่งเกิดเพราะกรรมเป็นปัจจัยทุกขณะของจิตที่เกิดขึ้น ตั้วอยู่ ดับไป.
- ใครทำให้จักขุปสาทรูปเกิดได้บ้าง? (ไม่มี) เพราะฉะนั้น มีความมั่นคงว่า ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตาทั้งหมดทุกอย่าง.
- รูปที่ไม่ได้กระทบตาที่จิตไม่ได้เห็นเป็นรูปายตนะหรือเปล่า? (ไม่เป็น) ถูกต้อง เป็นความเข้าใจ เพราะฉะนั้น ให้ทราบความละเอียดความลึกซึ้งของ หนึ่งขณะจิต ขณะนั้นมีอะไรบ้างที่นั่นทั้งหมดเป็นอายตนะ ขาดอย่างหนึ่งอย่างใดไม่ได้เลย ค่อยๆ เข้าใจธรรม.
กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ด้วยความเคารพอย่างยิ่งค่ะ
- กำลังได้ยิน ขณะที่ได้ยินเท่านั้น อะไรเป็นอายตนะ? (ตอนที่ได้ยินเสียงตอนนั้นก็มีหู มีเสียง มีได้ยิน ... ) ขอโทษ ถามว่ามีอายตนะอะไรบ้าง? (คุณสุคิน: เมื่อกี๊เขาจะใช้คำว่าอายตนะ ผมบอกใช้คำธรรมดาก็ได้ว่ามีอะไรบ้าง) อย่าเพิ่ง เขาจะได้ชินหูเพื่อเขาจะได้ไม่ลืม ในเมื่อเขาได้ยินคำว่า อายตนะ แล้ว เขาก็ใช้คำนี้เพื่อจะได้มั่นคงว่า เป็นอายตนะเมื่อไหร่ (มีโสตายตนะ ธัมมายตนะ มนายตนะ รูปายตนะครับ) รูปายตนะใช้สำหรับทางตาเท่านั้น เพราะฉะนั้น ทางหูใช้คำว่า สัททายตนะ สัททะ แปลว่า เสียง (ครับ) เพราะฉะนั้น เวลาที่เราพูดธรรมดา เราไม่ใช้คำว่า อายตนะ แต่เวลาที่เราศึกษาธรรมเพื่อให้เราคุ้นเคยกับการที่จะเข้าใจความหมาย ไม่ใช่พอพูดรูปายตนะแล้วเราจะเข้าใจ แต่ขณะนั้นเราเข้าใจทันทีว่า หมายเฉพาะรูปซึ่งต้องมีในขณะที่จิตกำลังรู้สิ่งนั้น เตือนให้เขาเข้าใจขึ้นๆ ในความไม่ใช่ตัวตน.
- เพราะฉะนั้น ต้องเข้าใจ คือ รอบรู้ในความเป็นจริงที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงโดยละเอียดยิ่ง เพราะฉะนั้น เห็นความลึกซึ้งทีละน้อยๆ ค่อยๆ เข้าใจมั่นคงขึ้นทีละน้อยๆ ทุกคำที่ได้ยิน.
- กำลังนอนหลับมีสัททายตนะไหม? (อาช่าตอบว่าไม่มี แต่ว่าคนใหม่ซึ่งมาวันนี้ตอบว่า มี) เพราะฉะนั้น คนที่ตอบว่าไม่ ช่วยอธิบายให้คนใหม่ฟังด้วย (คนมาใหม่: เข้าใจแล้วครับ) ดีมาก นี่เป็นการฝึกหัดด้วยนะ การที่จะให้ความรู้ความเข้าใจคนอื่น ตัวคนให้ต้องมีความรู้ความเข้าใจจริงๆ เพราะฉะนั้น เมื่อมีความรู้ความเข้าใจแล้ว ถ้าไม่พูดให้คนอื่นได้ฟัง จะรู้ไหมว่าความเข้าใจของเขาเริ่มคิดถึงธรรมละเอียดขึ้นๆ เพื่อที่จะให้คนอื่นได้เข้าใจด้วย เพราะฉะนั้น นี่ก็เป็นสิ่งที่ดีมากที่จะให้เขาเริ่มอธิบายด้วยตัวของเขาเอง.
- ถามว่า กำลังนอนหลับแล้วฝันมีรูปายตนะไหม? (คนใหม่ตอบว่า ไม่มี) ก็เข้าใจดีนะ ไม่ช้าด้วย ถ้ามีความเข้าใจจริงๆ ค่อยๆ เข้าใจตามลำดับ ไม่ใช่รีบร้อนไปเข้าใจทั้งหมด เพราะยังมีความละเอียดที่เราจะกล่าวถึงแม้จิตหนึ่งขณะให้เห็นความลึกซึ้งว่า มีจิตที่รู้รูปายตนะ หรือรูปารมณ์ก็ตามแต่นะ แต่ความต่างกันของจิตที่รู้ ไม่ใช่จิตประเภทเดียวกัน.
- จิตเป็นธาตุรู้ แต่หลากหลายมากตามเหตุตามปัจจัย พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมละเอียดขึ้นๆ ลึกซึ้งขึ้นๆ เพื่อให้รู้ตามความเป็นจริงว่า เป็นธรรมนั้นๆ ซึ่งไม่ใช่อะไรทั้งสิ้น ไม่ใช่เรา ไม่ใช่สิ่งหนึ่งสิ่งใด แต่เป็นลักษณะของธรรม จึงเข้าใจว่าธรรมคืออะไร.
กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ด้วยความเคารพอย่างยิ่งค่ะ
- ถ้าไม่รู้ความละเอียดของธรรม จะค่อยๆ รู้ว่า ไม่ใช่เราได้ไหม? เพราะฉะนั้น พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงพระมหากรุณาแสดงธรรม ๔๕ พรรษาโดยละเอียดยิ่งเพื่อให้เริ่มเข้าใจถูก.
- ถ้าเพียงแต่บอกว่า ไม่ใช่เรา แต่ไม่รู้ความจริงลึกซึ้งขึ้นละเอียดขึ้น ก็ไม่สามารถที่จะละความเป็นเราซึ่งเป็นเราตั้งแต่เช้าจนถึงเดี๋ยวนี้ ตั้งแต่เกิดจนถึงเดี๋ยวนี้ ตั้งแต่ชาติก่อนๆ แสนโกฎกัปป์จนถึงเดี๋ยวนี้.
- ไม่ใช่รีบร้อนอยากรู้อยากหมดความเป็นเรา แต่เริ่มเห็นความลึกซึ้งว่า ชีวิตทั้งหมดทุกขณะ ถ้าไม่ฟังธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่สามารถที่จะรู้ความจริงที่จะละการยึดถือว่าเป็นตัวตนได้.
- เดี๋ยวนี้สามารถที่จะรู้ถึงความเป็นอายตนะได้ไหม? (ไม่ได้) ถูกต้อง เพราะฉะนั้น ฟังเพื่อเข้าใจ แต่ไม่ใช่ฟังแล้วอยากจะรู้แจ้ง เดี๋ยวนี้เริ่มรู้ความลึกซึ้งของธรรม ไม่ใช่เพียงหนึ่งขณะเลยที่ปรากฏ แต่ถ้าไม่มีความรู้ความเข้าใจเลยจะไม่รู้ว่า เดี๋ยวนี้ไม่ใช่เราเพราะเป็นอายตนะ.
- เวลาที่มีความเข้าใจมั่นคง ถ้าลักษณะหนึ่งลักษณะใดปรากฏ ไม่ต้องใช้คำว่าอายตนะเลย แต่เมื่อมีความเข้าใจในความเป็นสิ่งนั้นเพราะได้ฟังเรื่องอายตนะ และเรื่องอื่นๆ ก็ทำให้สามารถที่จะรู้ในความเป็นจริงว่า สิ่งนั้นเป็นสิ่งอื่นไม่ได้ เช่น ขณะนี้มีสิ่งที่ปรากฏทางตาเท่านั้น ไม่ใช่วัตถุสิ่งใดๆ เลยทั้งสิ้นเมื่อมีความเข้าใจอายตนะ.
- ขณะนี้มีสิ่งหนึ่งสิ่งใดปรากฏ ถ้าไม่เคยฟังมาก่อนเลย จะไม่รู้เลยว่า สิ่งนั้นเป็นสิ่งหนึ่งที่เป็นอายตนะ เพราะฉะนั้น ขณะนี้อายตนะทั้งหมดใช่ไหมที่ปรากฏ? (ใช่) แต่เมื่อมีปัญญารู้ขึ้นๆ เหมือนเดี๋ยวนี้เลย ปกติธรรมดาอย่างนี้ แต่รู้ว่าเป็นอายตนะ.
- เพราะฉะนั้น ไม่ใช่ให้เริ่มไปคิดถึงอายตนะ แต่ให้รู้ว่า ทุกสิ่งทุกอย่างที่ปรากฏต้องมีสิ่งที่รู้ ถ้าไม่รู้อย่างนี้ก็เป็นสิ่งของ เป็นคน เป็นสัตว์ เป็นโลกที่ปรากฏเหมือนเดิม.
- เพราะฉะนั้น เริ่มปลูกฝังความเข้าใจความเป็นธรรมค่อยๆ มั่นคงขึ้น ทุกสิ่งทุกอย่างปรากฏเพียงหนึ่งขณะที่ธาตุรู้เกิดขึ้นรู้สิ่งนั้น และนี่คือ อริยสัจจะที่ ๑ ใครจะรู้ว่า สิ่งที่ปรากฏเดี๋ยวนี้จริงๆ เพียงปรากฎ หนึ่งขณะ แล้วก็ดับไป ถ้าไม่รู้อย่างนี้จะเห็นความห่างความต่างแสนไกลระหว่างพระสัมมาสัมพุทธเจ้ากับคนที่ไม่เคยรู้ความจริงเลย.
- เห็นพระปัญญาคุณ พระบริสุทธิคุณ และพระมหากรุณาคุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเพียงใดที่ทำให้เราสามารถมีความเห็นตามความเป็นจริงของสิ่งที่มี ซึ่งมีตลอดในสังสารวัฏฏ์ แต่ไม่เคยรู้มาก่อนเลย.
- ให้ทุกคนมีเงินมีทองมาก มีเกียรติยศ มีทรัพย์สิน แต่ไม่รู้ความจริงนี้จะเอาไหม? (อาช่าตอบว่าอย่างไรๆ ก็เห็นค่าของความเข้าใจมากกว่าทุกสิ่งทุกอย่าง) นี่เป็นสิ่งที่ประเสริฐที่สุด คือ ความเข้าใจถูก ที่เห็นคุณค่าของความเข้าใจถูก คือ ปัญญา ที่สามารถจะมีได้ในขั้นฟัง และยังสามารถถึงการประจักษ์แจ้งได้เมื่อมีความเข้าใจเพิ่มขึ้น เงินทองซื้อไม่ได้นอกจากวิริยะความเพียร ความอดทน ความตรงต่อความลึกซึ้งของธรรมที่รู้ว่า ถ้าได้ฟังและสนใจที่จะเข้าใจ ก็สามารถจะค่อยๆ เข้าใจขึ้น.
- เงินทองไม่ใช่บารมี แต่การที่มีปัญญารู้ประโยชน์ของการที่จะเข้าใจธรรม และทำความดีทุกอย่าง เพราะว่า ถ้าขณะใดที่เป็นอกุศล ขณะนั้นไม่สามารถจะเข้าใจธรรมได้.
- ทุกคนจะจากโลกนี้ไปเมื่อไหร่ก็ได้ วันนี้ก็ได้ แต่ถ้าไม่มีความเข้าใจถูกเลยต่อไปก็ไม่สามารถที่จะเข้าใจ ถ้าไม่มีการฟัง และเห็นประโยชน์จริงๆ .
- ทุกคนจะตายเดี๋ยวนี้ก็ได้ เย็นนี้ก็ได้ เพราะฉะนั้น มีชีวิตอยู่ที่ยังเป็นอยู่ก็เพื่อที่จะเข้าใจพระธรรม และช่วยให้คนอื่นได้เข้าใจด้วย.
กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ด้วยความเคารพอย่างยิ่งค่ะ
- คุณความดีเท่านั้น ที่เป็นเหตุที่จะให้สิ่งที่ดีเกิดขึ้น และปัญญาที่เข้าใจถูกต้องค่อยๆ สะสมไป ก็จะทำให้สามารถรู้ความจริงซึ่งประเสริฐกว่าทุกสิ่งในโลก นี่เป็นคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าหรือเปล่า "จงยังความไม่ประมาทให้ถึงพร้อมแม้ในการฟัง".
- เดี๋ยวนี้มีอกุศลจิตไหม? (มี) เดี๋ยวนี้มีวิบากจิตไหม? (มี) เดี๋ยวนี้มีกุศลจิตไหม? (เป็นไปได้) เป็นไปได้หรือ ขณะที่เข้าใจเป็นกุศล หรืออกุศล? (ถ้าเข้าใจ ขณะนั้นเป็นกุศล) เดี๋ยวนี้มีจิตที่ไม่ประกอบด้วยเหตุ มีอเหตุกจิตไหม? (มี) และเดี๋ยวนี้มีสเหตุกจิตไหม ถ้ารู้จักอเหตุกจิตที่ไม่ประกอบด้วยเหตุ ก็รู้ว่าจิตอื่นนอกจากนี้ประกอบด้วยเหตุ จึงใช้คำว่า สเหตุกจิต? (มี) เดี๋ยวนี้มีกิริยาจิตไหม? (มี) มีกิริยาจิตที่ไม่ประกอบด้วยเหตุไหม? (มี) มีกิริยาจิตที่ไม่ประกอบด้วยเหตุเท่าไหร่ กี่ดวง? (มี ๓) มี ๓ อะไรบ้าง? (แกจำตัวเลขได้ แต่ถามถึงชื่อแกตอบได้เฉพาะปัญจทวาราวัชชนะ) ปัญจทวารวัชชนะคืออะไร? (เป็นจิตที่เกิดก่อนเห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรสที่เป็นวิบากจิต) มีเท่าไหร่? (มี ๕) ดีมาก อะไรบ้าง? (จักขุทวาราวัชชนะ โสตทวารวัชชนะ ฆานทวาราวัชชนะ ชิวหาทวาราวัชชนะ กายทวาราวัชชนะ) เพราะฉะนั้น เขารู้จักปัญจทวาราวัชชนะเป็นจิตหนึ่งที่สามารถจะเกิดได้ทาง ๑ ใน ๕ ทวาร ทวารหนึ่งทวารใดก็ได้จึงรวมเป็นปัญจทวาราวัชชนะ นี่คือ กิริยาจิตที่ไม่ประกอบด้วยเหตุ ๑ ใช่ไหม? (ครับ) เขาพอจะนึกออกไหมว่ามีอะไรอีก? (มโนทวารวัชชนะครับ) คืออะไร? (จำไม่ได้ ไม่ทราบชื่อครับ) ไม่ใช่ไม่ทราบชื่อนะ อาวัชชนะ ปัญจทวาร ๕ มโน ๑ จะไม่รู้จักชื่ออย่างไร? (ก็คือ รู้ว่า มโน แต่จิตไหนที่เป็นมโนทวารวัชชนะ นี่ไม่รู้) มีจิตหนึ่งที่วิบากจิตหมดหน้าที่ เห็นแล้วก็ รับอารมณ์ต่อ รู้อารมณ์ต่อ จบ เป็นหน้าที่ของวิบากเท่านั้น แต่สิ่งที่สะสมอยู่ในจิตแน่นมาก เยอะมาก พร้อมที่จะไหลออกไปเมื่อมีการเห็นแล้ววิบากทั้งหลายจบแล้ว จิตนั้นเป็นกิริยาจิตที่เกิดก่อนกุศล และอกุศล และกิริยาจิตของพระอรหันต์.
- เพราะฉะนั้น เห็นแล้ว ได้ยินแล้ว ได้กลิ่นแล้ว ลิ้มรสแล้ว รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสแล้ว จบหน้าที่ของวิบากทั้งสัมปฏิจฉันนะทั้งสันตีรณะเกิดแล้วดับแล้ว กิเลสทั้งหลายกุศลทั้งหลายที่สะสมมามากในจิตพร้อมที่จะเกิดได้ แต่จะเกิดทันทีต่อจากวิบากจิตไม่ได้ จะมีจิตหนึ่งซึ่งเป็นกิริยาจิตที่เกิดก่อนกุศล อกุศล เป็นธรรมดายังไม่รู้อารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มีจิตไหม? (มี) ทำกิจอะไร? (ทำกิจอาวัชชนะ) .
- ฟังคำถามดีๆ เกิดแล้วไม่เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้กลิ่น ไม่ลิ้มรส ไม่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ไม่คิดนึก จิตที่เกิดทำกิจอะไร? (ทำกิจภวังค์) ภวังคจิตคืออะไร? (เป็นวิบากจิตที่ทำกิจดำรงชีวิตต่อ) ถูกต้อง จนกว่าจะสิ้นสุดกรรมที่ทำให้เป็นบุคคลนี้จะเป็นบุคคลนี้ต่ออีกไปไม่ได้ แต่ถ้ายังไม่สิ้นสุด ปฏิสนธิจิตเกิดหนึ่งขณะเป็นผลของกรรมดับแล้วเป็นปัจจัยให้จิตขณะต่อไปเกิดขึ้น โดยกรรมเดียวกัน ทำให้จิตนั้นเกิดขึ้นรู้อารมณ์เดียวกันกับปฏิสนธิเป็นอารมณ์ที่ไม่ใช่อารมณ์ของโลกนี้ เพราะฉะนั้น ทำภวังคกิจ อารมณ์ต่างๆ ของโลกนี้ไม่ได้ปรากฏ ถ้าปรากฏต้องเป็นทางหนึ่งทางใดใน ๖ ทวาร.
- เข้าใจแล้วนะ เพราะฉะนั้น ก่อนเห็น ก่อนได้ยิน ก่อนได้กลิ่น ก่อนลิ้มรส ก่อนรู้สิ่งที่กระทบกาย ก่อนคิดนึก จิตมีไหม? (คุณสุคิน: ตอนแรกเขาตอบแบบเดิมว่าเป็น อวัชชนะ แต่ผมถามว่า ตามที่เมื่อกี๊เราสนทนากันเรื่องปฏิสนธิจิต และตามด้วยภวังค์ ... ) ไม่ต้องบอกเขาให้เขาคิดดีกว่าใช่ไหม? (เขาตอบแล้วว่า เป็นภวังค์) ก่อนเห็น ก่อนได้ยิน ก่อนได้กลิ่น ก่อนลิ้มรส ก่อนรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ก่อนคิดนึก มีจิตไหม? (มีครับ คือภวังค์) จิตอะไร? ทีละตอน สั้นๆ จิตอะไรถ้ามีอยู่แล้ว จิตอะไร? (ภวังค์ครับ) เพราะฉะนั้น เวลาที่นอนหลับไม่ฝันเป็นจิตอะไร? (ตอนหลับสนิทเป็นภวังค์) แล้วฝันไหม ถ้าฝันเกิดขึ้น ฝันเป็นอะไร? (อาช่าตอบว่า ไม่ทราบ อาคิ่ลตอบว่า ตอนนั้นคิด) จิตกำลังเป็นภวังค์ไม่รู้อารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ แต่ขณะที่จะรู้อารมณ์ทางตา หรือหู หรือจมูก หรือลิ้น หรือกาย หรือใจ ต้องมีจิตหนึ่งที่เกิดก่อนที่ไม่ใช่ภวังคจิตเป็นวิถีจิตแรก แล้วแต่ว่าจะเป็นวิถีจิตทางตา หรือจมูก หรือลิ้น หรือกาย เป็นปัญจ ๕ ทาง แล้วถ้ารู้ทางใจไม่ได้อาศัยตา ไม่เห็น ไม่ได้ยินอะไรเลย แต่คิดได้ใช่ไหม เพราะฉะนั้น ฝันคือคิด แต่ก่อนฝันเป็นภวังค์ และจะเป็นคิดทันทีไม่ได้เลย (อาคิ่ลตอบว่า อาวัชชนะ) ความจริงยังไม่ต้องพูดถึงชื่อก็ได้ แต่ให้ค่อยๆ รู้ความจริงว่า เกิดขณะนั้นไม่รู้อารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย อารมณ์ของโลกนี้ไม่ปรากฏเลย เพราะฉะนั้น ขณะนั้นจิตรู้อารมณ์ที่ไม่ใช่อารมณ์ของโลกนี้ แต่เป็นอารมณ์ที่รับมาใกล้จะตายรู้อะไร เพราะฉะนั้น ปฏิสนธิจิตก็มีอารมณ์เหล่านั้น เมื่อปฏิสนธิจิตซึ่งเป็นผลของกรรมนั้นทำให้มีอารมณ์นั้นดับไปแล้ว จิตที่เกิดต่อไปก็ทำหน้าที่ดำรงภพชาติความเป็นบุคคลนั้น ยังไม่มีอารมณ์ของโลกนี้ปรากฏเลย เพราะฉะนั้น ก่อนที่อารมณ์หนึ่งอารมณ์ใดจะปรากฏ ต้องมีจิตหนึ่งซึ่งไม่ใช่ผลของกรรม เพราะเหตุว่า สามารถที่จะรู้อารมณ์ที่เป็นอารมณ์ที่เป็นผลของกุศล หรืออกุศลก็ได้ หรือเรื่องราวต่างๆ ก็ได้ ด้วยเหตุนี้จิตนั้นเป็นวิถีจิตแรก เพราะฉะนั้น เขาต้องเริ่มเห็นความต่างกันของจิตสองประเภท จิตที่พ้นวิถีไม่ต้องอาศัยวิถีก็เกิด ปฏิสนธิ ดำรงภพชาติไป จนกว่าอารมณ์ของโลกนี้จะปรากฏ เพราะฉะนั้น ขณะที่อารมณ์ของโลกนี้ยังไม่ปรากฏจึงไม่ใช่วิถีจิตเป็นวิถีวิมุตตจิต.
กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ด้วยความเคารพอย่างยิ่งค่ะ
- เพราะฉะนั้น เราจะเริ่มคำใหม่แต่ต้องเข้าใจไม่ใช่มีแต่ชื่อ เพราะฉะนั้น จิตเกิดขึ้นเป็นผลของกรรมขณะแรกเป็นปฏิสนธิจิตไม่รู้อารมณ์ของโลกนี้ เพราะฉะนั้น จึงไม่ใช่วิถีจิตเป็นวิถีวิมุตตจิต และการที่จะรู้อารมณ์หนึ่งอารมณ์ใดต้องอาศัยทางหนึ่งทางใด ถ้าไม่มีตาไม่เห็น ถ้าไม่มีหูไม่ได้ยิน เป็นต้น.
- เพราะฉะนั้น ทุกครั้งที่รู้อารมณ์ที่ไม่ใช่อารมณ์ของปฏิสนธิ ภวงค์ ขณะนั้นต้องอาศัยทวารหนึ่งทวารใด เพราะฉะนั้น ถ้าอารมณ์ที่ไม่อาศัยทวาร คือ อารมณ์ของปฏิสนธิ ภวังค์ ขณะนั้นเป็นทวารวิมุตติพ้นจากทวารไม่ต้องอาศัยทวาร จิตก็รู้อารมณ์ได้.
- อเหตุกจิตทั้งหมดมี ๑๘ ดวง อเหตุกจิตไหนที่รู้อารมณ์โดยไม่อาศัยทวาร? ใครตอบได้เก่งมากเลย (อาช่าตอบว่า ปัญจทวาร ในเมื่อตัวเองเป็นทวารก็ไม่ได้เกิดจากทวาร) ขอโทษนะ ปัญจทวาร หมายถึงรูป ๕ รูป ส่วนปัญจทวารวัชชนะเป็นวิถีจิตแรก แต่คำถามถามว่า อเหตุกะไหนที่รู้อารมณ์โดยไม่อาศัยทวาร? (ตอบไม่ได้ครับ) สันตีรณจิตทำกิจปฏิสนธิ เพราะฉะนั้น ฟังธรรมความเข้าใจสำคัญที่สุด ถ้ามีความเข้าใจมั่นคง ทุกคำถามเข้าใจได้ตอบได้ แต่ลืมเพราะไม่ได้คิดถึงละเอียดในเบื้องต้นเป็นของธรรมดาของทุกคนที่จะให้คนมีความมั่นคงจนตอบได้ต้องยากมาก เพราะว่า มีทั้งจิต มีทั้งอารมณ์ มีทั้งกิจ มีจิตที่รู้อารมณ์โดยอาศัยทวาร และไม่อาศัยทวาร ต้องเป็นคนที่เข้าใจจริงๆ จึงจะเห็นความไม่ใช่เราทีละน้อยในขั้นการฟัง.
- ความเป็นไปของชีวิตจริงๆ ลึกซึ้งอย่างนี้ เพราะฉะนั้น การที่จะค่อยๆ รู้ความจริงต้องละเอียดมากจึงจะค่อยๆ ละความไม่รู้.
- เพราะฉะนั้น ถาม จักขุวิญญาณทำกิจกี่กิจ? (ทำกิจเห็น) คำถามว่า ทำกิจได้กี่กิจ ไม่ได้ถามว่าทำกิจอะไร (กิจเดียวครับ) .
- ปัญจทวาร เป็นนามธรรมหรือรูปธรรม? (เป็นรูปธรรม) ใช้คำว่า ปัญจทวาร หมายถึงกี่รูป? (๕ รูป) จักขุทวาร หมายความถึงกี่รูป? (๑ รูป) .
- เพราะฉะนั้น ปัญจทวาราวัชชนะ เป็นปัญจทวารหรือเปล่า? (ไม่ได้เป็นทวารครับ) นี่ก็เริ่มมั่นคงขึ้นนะ ต้องถามบ่อยๆ มิเช่นนั้นก็ปะปนกัน ต้องรู้ว่า อาวัชชนะ หมายความถึงจิตแรกที่รู้อารมณ์ที่กระทบเป็นวิถีจิตแรก ถ้าไม่มีวิถีจิตแรก เห็นไม่ได้ ได้ยินไม่ได้ อะไรไม่ได้เลย ต้องมีวิถีที่ไม่ใช่ภวังค์เพราะเริ่มรู้อารมณ์ที่ไม่ใช่อารมณ์ของภวังค์.
- สัมปฏิจฉันนะมีกี่กิจ? (๑ กิจ) สัมปฏิจฉันนะเกิดได้กี่ทวาร (๕ ทวาร) สัมปฏิจฉันนะเกิดได้ ๕ ทวาร ทำกี่กิจ? (๕ กิจ) หรือ? (๑๐ ครับ) ว่าอะไรนะ? (ถ้าแยกเป็นผลของกุศล และอกุศล ... ) ไม่ได้ถามอย่างนั้นเลย ฟังคำถามให้ดีๆ แล้วจะรู้ว่าตอบเพราะคิดมากน้อยละเอียดแค่ไหน ยังไม่ต้องไปไหนเลย ไปพูดทำไมยาวๆ เพียงแค่ถามว่า สัมปฏิจฉันนะเกิดได้ ๕ ทวาร ทำกี่กิจ? (๑ กิจครับ) ต้องไม่ลืมนะ ไม่ใช่ ๕ กิจนะ เกิด ๕ ทวารก็ทำกิจเดียวนะ.
- สันตีรณะมีเท่าไหร่? (มี ๒) มี ๓ ค่ะ คืออะไรบ้าง? ถามเขา วิบากมีเท่าไหร่ทั้งหมด ถามเป็นขั้นๆ นะ ถามว่าอเหตุกวิบากทั้งหมดทีเท่าไหร่? (มี ๑๕) เป็นอกุศลวิบากเท่าไหร่? (๗) เป็นกุศลวิบากเท่าไหร่? (๘) รวมเป็นเท่าไหร่? (๑๕) ความต่างของกุศลวิบากที่เป็นสันตีรณะกับอกุศลวิบากที่เป็นสันตีรณะคืออะไร? (คำตอบขั้นต้นของอาช่าต่างกันก็คือต่างกันเพราะเป็นผลของกุศล และเป็นผลของอกุศล) วิบากอะไรมีมากสำหรับสันตีรณะมากกว่ากัน? (กุศลมีมากกว่า) ทำไมมากกว่า? (ไม่ทราบคำตอบครับ) เพราะกุศลวิบากให้ผลให้รู้อารมณ์ที่ดี กับอารมณ์ที่ดีมากๆ วิเศษ เช่นในภูมิเทวดาเป็นต้น ในมนุษย์ก็ได้ที่ต่างกัน.
- สันตีรณะทำกิจกี่กิจ? หมายถึงกิจนะ ทุกจิตต้องมีกิจ สันตีรณจิตมีกี่กิจ? (ยังสับสนอยู่ครับ) เพราะฉะนั้น ต้องฟังละเอียดสันตีรณะทั้งหมดมีกี่ดวง ค่อยๆ คิด เห็นไหมคะเมื่อกี๊ยังนับได้ เดี๋ยวนี้ถามว่าทั้งหมดมีสันตีรณจิตกี่ดวง ฟังธรรมเพื่อเข้าใจ? (๓ ครับ) อกุศลวิบากอเหตุกะมีเท่าไหร่? กุศลวิบากอเหตุกะมีเท่าไหร่? เพิ่งตอบมาเมื่อกี๊นี้เอง (๓ ครับ) ๓ ดวงอะไรบ้าง? (คือ จำได้ว่ามี ๒ แต่ว่า ๒ อันนี้ต่างกันอย่างไรไม่ทราบครับ) ก็ธรรมดามี ๒ คือ กุศลวิบาก ๑ และอกุศลวิบาก ๑ แต่สันตีรณะมีกุศลวิบาก ๒ ใช่ไหม จึงได้เป็นอเหตุกกุศลวิบากเท่าไหร่ มากกว่าอกุศลวิบาก (ตอบว่า ๓ ครับ) ต่างกันไหม? (ต่างกัน) ต่างกันตรงไหน? (คนใหม่ตอบว่า ฟังท่านอาจารย์ผลของกุศลต่างกัน และท่านอาจารย์พูดถึงว่าอารมณ์ต่างกันอย่างเช่นภูมิมนุษย์กับภูมิเทวดา) อารมณ์ที่ดีเป็นอารมณ์ที่ดียิ่งประณีตมากใช่ไหม แต่ว่าอารมณ์ที่ไม่ดีก็เหมือนกันหมดคือไม่ดีทั้งนั้นไม่ว่าจะน้อยหรือมาก.
- ตอนนี้ฟังดีๆ นะ สันตีรณกุศลวิบากมี ๒ ต่างกันตรงไหน ต่างกันที่ขณะที่อารมณ์ดีธรรมดาความรู้สึกที่เกิดกับสันตีรณะเป็นอุเบกขา ไม่สุขไม่ทุกข์ แต่ถ้าอารมณ์นั้นประณีตมาก สันตีรณะรับรู้อารมณ์นั้นด้วยความรู้สึกเป็นสุขโสมนัส.
- เราไม่สามารถที่จะรู้จริงๆ ว่า ขณะนั้นจิตรับรู้อารมณ์ด้วยโสมนัสหรืออุเบกขา แต่เริ่มเข้าใจชีวิตที่ต่างขณะ บางครั้งเราเห็นสิ่งที่น่าพอใจมากไม่เคยเห็นมาก่อนเลย ดิฉันไปอินเดียตรงกับมีงานแต่งงาน เจ้าสาวแต่งชุดที่สวยไม่เคยเห็นและไม่เคยคิดเลยว่าจะเป็นอย่างนั้นได้ เพราะฉะนั้น ขณะนั้นจะรู้ได้ไหมว่าเป็นโสมนัสสันตีรณกุศลวิบาก แต่เราไม่สามารถจะรู้ได้แต่เรารู้ว่าต่างกันจริงๆ ระหว่างที่เราไม่เคยเห็นชุดสวยงามเลอเลิศอย่างนั้นเหมือนชุดของนางฟ้าเลย แต่ขณะที่ธรรมดาทุกวันเราไม่ได้เห็นอย่างนั้น ฉะนั้น แสดงความต่างจริงๆ ของผลของกุศลซึ่งทำให้เกิดโสมนัสสันตีรณะในขณะที่อารมณ์นั้นปรากฏ นั่นเป็นวิบากเป็นผลของกรรมนะ สัตว์ก็เห็น คนก็เห็น นกก็เห็นขณะเดียวกัน แต่รูปที่เห็นไม่ต่างกันสำหรับเห็นในขณะนั้น แต่เห็นแล้วความรู้สึกก็ต่างกันตามการสะสม นี่เป็นความละเอียดต่อไปอีก.
- ธรรมเป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้ แต่เริ่มเข้าใจความเป็นอนัตตาของธรรมได้ เพราะฉะนั้น วันนี้เป็นการทบทวนเรื่องสันตีรณะ เพราะฉะนั้น คราวหน้าจะถามว่า สันตีรณะมีกี่กิจ และความละเอียด เพราะฉะนั้น ก็ทบทวนที่ได้ฟังไว้แล้ว.
กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ด้วยความเคารพอย่างยิ่งค่ะ