ความคิดที่ประกอบด้วยเจตนา เป็นขณิกสมาธิหรือไม่?
ถ้าเป็นขณิกสมาธิแล้ว ขณิกสมาธินี้จะเป็นเหตุปัจจัยให้รู้สัจจธรรมความจริง หรือให้เกิดสติทุกเมื่อได้ไหมครับ หรือจะทำให้จิตใจฟุ้งซ่านเปล่าๆ เพราะกระผมไม่มีเวลานั่งสมาธิให้จิตใจสงบแน่วแน่แล้วพิจารณาธรรม หลายครั้งมากรู้ตัวว่าเดินทางผิดเพราะยิ่งคิดยิ่งยึดมั่นถือมั่นในตัวตน ยิ่งปฏิบัติ (ตามสมควร) ยิ่งเป็นสีลพตปรามาส ต้องนับหนึ่งใหม่ตลอดบางทีรู้สึกท้อไม่อยากคิด ไม่อยากทำ อยู่เฉยๆ ก็รู้สึกสบายดีหลอกตัวเองไปวันๆ
ควรทราบความจริงว่า ขณะที่สติปัฏฐานเกิด ขณะที่วิปัสสนาญาณเกิด ขณะนั้นเอกัคคตาเจตสิกเป็นสมาธิขั้นขณิกสมาธิ (เว้นโลกุตระ) และควรทราบว่ากิจในการรู้อริยสัจจธรรมนั้นเป็นกิจของปัญญา ดังนั้น ควรอบรมเจริญปัญญา เพราะปัญญาเกิดขึ้นจึงเข้าใจสภาพธรรมตามความเป็นจริง ไม่ต้องเป็นห่วงสมาธิ เพราะสมาธิมีประกอบทุกขณะจิต ขณะที่สติปัฏฐานเกิดขึ้น แม้ว่าเป็นขณิกสมาธิ แต่ขณะนั้นสงบจากอกุศล กุศลจิตทุกขณะสงบจากโลภะ โทสะและโมหะ เรื่องการปฏิบัติยังไม่ต้องรีบร้อน ขอให้เข้าใจจริงๆ ก็พอ
ขอบคุณครับ ถ้าเป็นอย่างนั้นผมยังอีกไกล ต้องนับลบศูนย์แล้วละครับ การเจริญสติปัฎฐานเพื่อให้เกิดปัญญา แล้วปัญญาจะทำหน้าที่ของมันเองใช่ไหมครับ ผมต้องฝึกอบรบเจริญปัญญาโดยให้เข้าใจสภาวธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง ทางทวารทั้งหกใช่ไหมครับ ที่จริงแล้วการปฏิบัติของผมก็เพื่อจุดประสงค์ให้เข้าใจสภาวธรรมนั้นแหละครับ แต่ผมไม่รู้จะเริ่มต้นอย่างไร และผมเคยอ่านจากตำรามาบ้างบางทีจับต้นชนปลายไม่ถูกเหมือนกันครับ
ค่อยๆ ฟังพระธรรมโดยน้อมพิจารณาให้แยบคายให้ยิ่งขึ้นครับ
ถ้าลองย้อนพิจารณาอีกครั้ง
๑. เวลาที่เรากำลังอยู่เฉยๆ มีแต่อุเบกขาเวทนาเกิดมากๆ ก็ยังเป็นอกุศลจิตที่เกิด เพราะจิตไม่ได้เป็นไปใน ทาน ศีล สมถภาวนาหรือสติปัฏฐาน
๒. เวลาที่เราทุกข์ใจจากความคิดว่า เรากำลังหลอกตัวเอง กำลังท้อแท้ ประกอบไปด้วยความเศร้าหมองใจ ขุ่นเคืองใจคือ เกิดโทมนัสเวทนาที่ประกอบเข้ากับ
โทสมูลจิต
๓. เวลาที่ยึดมั่นถือมั่นในตนเองมาก ด้วยอาการของมานะเจตสิกที่เกิดกับจิต ขณะนั้นจิตก็เป็นอกุศล
ถึงจะเป็นสภาพของอกุศลจิต ที่เกิดขึ้นต่างขณะกัน ก็ไม่ใช่ว่าดับไปแล้วจะไร้ค่า หรือจะทำให้เราต้องเป็นทุกข์มาก เพราะสติปัฏฐานในชีวิตประจำวันเจริญได้ทุกขณะที่ตื่นครับ
เคยไหมครับ บางขณะที่อกุศลจิตเกิด แต่สภาพจิตหลังจากนั้นกลับผ่องใส โล่ง โปร่งเพราะเหตุว่าเมื่อ "สติปัฏฐานเกิด" ขณะนั้นเหมือนโผล่ขึ้นมาหายใจจากที่เคยจมอยู่ในห้วงน้ำได้ทีหนึ่ง ทว่าบางขณะที่กำลังสุขใจอย่างยิ่งด้วยโลภะ สภาพจิตหลังจากนั้นกลับหนักอึ้ง เพราะเต็มไปด้วยความติดข้องต้องการ เต็มไปด้วยเยื่อใยที่ดึงให้ต้องจมลงไปในห้วงน้ำนั้นอีก ทั้งนี้ก็เพราะเหตุว่า "หลงลืมสติ" ครับ
ฉะนั้น ประการแรกที่ควรจะได้พิจารณา คือ "สติเกิด" หรือ "หลงลืมสติ" เพราะสติปัฏฐานเป็นโสภณธรรมขั้นสูงที่ต้องปรารภเนืองๆ ไม่เกิดบ่อยตามใจต้องการ
ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย
เริ่มต้นไม่ถูกใช่ไหมครับ ในเรื่องการอบรมสติปัฏฐาน เริ่มต้นดังนี้ ฟังให้เข้าใจก่อน ฟังว่าธรรมคืออะไร ธรรมคือสิ่งที่มีจริงในขณะนี้ ทาง ตา..ใจ ฟังว่าปัญญารู้อะไร ปัญญาก็ต้องรู้ในสิ่งที่มีจริงในขณะนี้ว่าเป็นธรรมไม่ใช่เรา บังคับให้สติเกิดไม่ได้ ต้องเริ่มจากการฟังให้เข้าใจก่อน ขณะที่เข้าใจในสิ่งที่ฟัง ขณะนั้นธรรมก็ทำหน้าที่ปฏิบัติคือเข้าใจ (ปัญญา) ขึ้น ไม่มีตัวเราไปปฏิบัติ ธรรมเป็นสิ่งที่ยาก และเราสะสมความไม่รู้มามากกว่า ดังนั้นต้องอดทนที่จะฟังธรรมไม่ได้รู้เฉพาะตอนนั่งหรือปัญญาจะเกิด (สติปัฏฐานเกิด) ไม่ใช่เฉพาะตอนนั่ง เพราะธรรมมีอยู่ทุกอิริยาบถ แต่ปัญญาและสติไม่เกิดเอง โดยเริ่มจากการฟังให้เข้าใจว่าธรรมคืออะไรก่อน สุดท้ายก็แนะนำให้ฟังรายการวิทยุครับ รวมทั้งไฟล์เสียงในเวป และสอบถามสนทนาในกระดานสนทนาครับ
ขออุทิศกุศลให้สรรพสัตว์
การทำสมาธิให้จิตจ่อที่อารมณ์ใดอารมณ์หนึ่งนานๆ นั้น เมื่อไม่ประกอบด้วยปัญญาก็เป็นมิจฉาสมาธิ เพราะขณะนั้นเป็นความพอใจ ที่จะให้จิตตั้งมั่นแน่วแน่อยู่ที่อารมณ์เดียว เมื่อปราศจากปัญญา ก็ไม่สามารถรู้ความต่างกันของโลภมูลจิตและกุศลจิตค่ะ ก่อนการตรัสรู้ของพระผู้มีพระภาค ก็มีผู้บำเพ็ญเพียรเจริญสมถภาวนา จนบรรลุ ตาทิพย์ หูทิพย์ ระลึกชาติได้ ฯลฯ แต่ท่านเหล่านั้นก็ไม่สามารถรู้แจ้งอริยสัจจธรรม เมื่อไม่ได้อบรมเหตุ คือวิปัสสนาภาวนาค่ะ เพราะเป็นหนทางเดียวที่จะดับกิเลส และไม่ต้องกลับมาเกิดอีกเลยค่ะ