Thai-Hindi 20 May 2023

 
prinwut
วันที่  20 พ.ค. 2566
หมายเลข  45968
อ่าน  572

Thai-Hindi 20 May 2023


- ต้องไม่ลืม เราฟังธรรมซึ่งเราไม่มีโอกาสได้ฟังความจริงของชีวิตทุกขณะตั้งแต่เกิดจนตาย ขณะนี้มีทุกอย่างทุกสิ่งที่ได้กล่าวถึงแล้วแต่ไม่รู้มาก่อนเลย

- ทุกคำที่เราได้ยิน กล่าวถึงสิ่งที่กำลังมีซึ่งเราไม่เคยได้ยินได้ฟังมาก่อนเป็นเหตุให้ไม่รู้ความจริงสักอย่างตั้งแต่เกิดจนตายทุกชาติ เพราะฉะนั้นเริ่มฟัง เริ่มเข้าใจสิ่งที่มีจริงซึ่งไม่เคยรู้ก็เริ่มรู้ความลึกซึ้งอย่างยิ่งซึ่งกำลังมีเดี๋ยวนี้

- เดี๋ยวนี้มีสัมปฏิจฉันนจิตไหม (มี) เคยรู้มาก่อนไหม (ไม่เคย) สัมปฏิจฉันนจิตเป็นธาตุรู้ซึ่งไม่ใช่ใครเลยทั้งสิ้น

- ถ้าไม่มีเหตุให้เกิดสัมปฏิจฉันนะเกิดได้ไหม (ไม่) เดี๋ยวนี้สัมปฏิจฉันนะเกิดต่อจากจิตอะไร (เกิดหลังสันตีรณะ) เดี๋ยวนะคะ สัมปฏิจฉันนะเกิดต่อจากจิตอะไร สัมปฏิจฉันนจิตเกิดต่อจากจิตอะไรฟังคำถามดีๆ สัมปฏิจฉันนะเกิดต่อจากจิตอะไร (ยกตัวอย่างเห็น) ไม่ได้ถามให้ยกตัวอย่าง

- ถามว่า สัมปฏิจฉันนะเกิดต่อจากจิตอะไร ต้องตรง เรากำลังไปถึงความลึกซึ้งไม่พูดเรื่องอื่น (เกิดหลังสันตีรณะ) อะไรนะคะ นี่เป็นเหตุที่ดิฉันถามหลายๆ คำถามเพื่อให้รู้ว่า ความเข้าใจจริงๆ สามารถที่จะตอบได้ถูกต้องทั้งหมด แต่ถ้ายังไม่ถูกต้องหมายความว่า ความเข้าใจยังไม่พอ เพราะฉะนั้นถามอีกครั้ง คิดดีๆ ก่อนตอบ สัมปฏิจฉันนจิตเกิดต่อจากจิตอะไร (หลังจากเห็น)

- เห็นไหมคะ ลืมแล้วเพราะฉะนั้นต้องรู้ว่า เดี๋ยวนี้มีเห็น เห็นดับไหม (ดับแล้ว) สัมปฏิจฉันนะเกิดแล้วดับไหม (ดับ) จิตอะไรเกิดต่อจากสัมปฏิจฉันนะ (โวฏฐัพพนะ)

- ฟังดีๆ สัมปฏิจฉันนะดับ จิตอะไรเกิดต่อจากสัมปฏิจฉันนะ (โวฏฐัพพนะ) สัมปฏิจฉันนะดับอะไรเกิดต่อ (ตอนนี้ตอบว่า สันตีรณะ)

- เห็นไหมแม้เพียง ๓ ชื่อ ได้ยินบ่อยๆ แต่สามารถจะรู้ได้ไหมในเหตุในผลก่อนที่จะเข้าใจความลึกซึ้ง

- จิตเห็นดับแล้วจิตอะไรเกิดต่อบ้าง (เห็นดับสัมปฏิจฉันนะเกิดต่อตามด้วยสันตีรณะและโวฏฐัพพนะ) เรายังไม่ได้พูดถึงโวฏฐัพพนะเลย

- จิตได้ยินเกิดแล้วดับ จิตอะไรเกิดต่อบ้าง (สัมปฏิจฉันนะตามด้วยสันตีรณะ)

- จิตได้กลิ่นดับแล้วจิตอะไรเกิดต่อ (สัมปฏิจฉันนะและสันตีรณะ)

จิตลิ้มรสดับจิตอะไรเกิดต่อ (สัมปฏิจฉันนะและตามด้วยสันตีรณะ)

จิตที่กำลังรู้แข็งหรือเย็นดับแล้ว จิตอะไรเกิดต่อ (เช่นเดียวกันสัมปฏิจฉันนะตามด้วยสันตีรณะ)

- หมายถึงเริ่มรู้แล้วว่า ถามอะไรต้องตอบอย่างนั้นใช่ไหม จิตเห็นเกิดขึ้นเห็นขณะเดียวแล้วดับ ถ้าไม่มีจิตอื่นเกิดสืบต่อจะไม่มีอะไรเกิดขึ้นเลยแต่กรรมทำให้เกิดจิตเห็นดับ แล้วจิตที่เป็นสภาพธรรมที่ต้อง “รู้สี” ต่อทำหน้าที่รับต่อเป็นสัมปฏิจฉันนะดับ และกรรมทำให้สันตีรณะเกิดต่อไม่พอเพียงแค่รับไว้จึงสามารถที่จะรู้เพิ่มขึ้น ทั้ง ๓ จิตนี้เป็นผลของกรรม

- เพราะฉะนั้นเกิดมาต้องรู้ว่า เป็นผลของกรรมแน่นอนแต่เมื่อไหร่ต้องรู้ด้วย ต้องรู้ว่าตลอดชีวิตอะไรบ้างที่เป็นผลของกรรมเท่านั้น

- เพราะฉะนั้นให้บอกมาว่า จิตที่เป็นผลของกรรมมีอะไรบ้าง ทำกิจอะไรบ้าง เมื่อไหร่ เพื่อจะได้รู้ว่า ตลอดชีวิตทุกชาติขณะไหนอะไรบ้างที่เป็นผลของกรรมมากน้อยอย่างไร เท่าที่รู้เพื่อไม่ลืมว่า“ไม่มีเรา” และเท่าที่รู้ มีอะไรบ้างที่เป็นผลของกรรม

- กรรมดีกรรมไม่ดีที่ได้กระทำแล้วทำให้เกิดผลขณะไหนบ้างในชีวิตเพราะฉะนั้นให้เริ่มบอกด้วยความเข้าใจของเขาเองว่า ผลของกรรมเริ่มเมื่อไหร่และมีอะไรบ้าง (ปฏิสนธิ)

- เป็นผลของกรรมอะไร (เป็นผลของกรรมที่เกิดก่อนจุติจิตของชาติที่แล้ว) ถามว่า เกิดเป็นผลของกรรมอะไร (เป็นผลของกุศลกรรม) เท่านั้นหรือ (ถ้าพูดถึงชีวิตเราเอง..) ไม่ได้พูดถึงชีวิตเราดิฉันถามว่า ปฏิสนธิจิตเป็นผลของกรรมอะไรบ้าง ไม่ได้พูดถึงชีวิตของใครเลย พูดถึงจิต (เป็นผลของกุศลกรรมและอกุศลกรรม)

- เริ่มเป็นผู้ตรงต่อความหมายและความจริง ไม่ใช่ไปคิดเรื่องอื่นแต่ต้องฟังคำถามและตอบให้ตรง เพราะฉะน้้นเริ่มมั่นใจเริ่มเชื่อหรือยังว่า แต่ละชีวิตหลากหลายตั้งแต่เกิดเพราะกรรมต่างกัน มั่นคงไหม

- เพราะฉะนั้นกรรมที่ไม่ดีที่ทำไว้ชาตินี้ ถ้าจากโลกนี้ไปทำให้เกิดในนรก ทำให้เกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน สัตว์บก สัตว์น้ำ สัตว์ในป่า เกิดเป็นเปรตได้ไหม (เป็นไปได้)

- นกตัว ๑ ชาติก่อนของนกตัวนั้นทำความดีเยอะแยะได้ไหม (ได้) เพราะฉะนั้นไม่ประมาท

- เกิดเป็นคนนี้ไม่ทราบว่า ชาติก่อนๆ ทำดีไว้มากแค่ไหน ทำไม่ดีไว้มากแค่ไหน เพราะฉะนั้นเห็นใจคนที่เกิดในชาตินี้มีโอกาสที่จะได้ฟังธรรมแต่ไม่ได้ฟัง

- เพราะฉะนั้นเห็นใจ สงสาร คนที่เกิดเป็นคนแต่ยังไม่ได้เข้าใจธรรม ถ้าช่วยให้เขาได้เข้าใจจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในสังสารวัฏฏ์ทั้งเราและเขาไหม แต่ธรรมละเอียดลึกซึ้งเป็นประโยชน์เมื่อได้เข้าใจถูกต้อง ถ้าเข้าใจผิด พูดผิดทำให้คนอื่นเข้าใจผิดด้วยไม่เป็นประโยชน์เลย

- เพราะฉะนั้นประโยชน์สูงสุดคือ รู้ว่าธรรมมีจริงๆ ได้ฟังคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ตรัสรู้ความจริงของธรรมที่มีจริง เพราะฉะนั้นต้องศึกษาด้วยความเคารพเพื่อให้คนอื่นได้เข้าใจด้วยคือไม่ใช่ฟังแต่ชื่อ ฟังแต่เรื่องแล้วก็จำแต่ต้องรู้ความจริงของสิ่งที่ได้ฟังด้วยว่า ขณะนี้กำลังเป็นอย่างนั้น

- เพราะฉะนั้นกรรมให้ผลขณะแรกคือ ขณะเกิด เกิดแล้วจนถึงวันนี้อะไรเป็นผลของกรรมบ้าง (หลังจากปฏิสนธิแล้วภวังค์ เห็น ได้ยิน ลิ้มรส รับกลิ่น สัมผัสทางกาย สัมปฏิจฉันนะ สันตีรณะ)

- เพราะฉะนั้นปฏิสนธิในชาติ ๑ มีกี่ขณะ (๑) ต่อจากนั้นเป็นอะไร (ภวังค์) จิตที่ทำกิจปฏิสนธิกับจิตที่ทำภวังคกิจเป็นจิตเดียวกันหรือเปล่า (เป็นจิตประเภทเดียวกัน)

- ถามว่า ขณะจิตที่เกิดครั้งแรกดับ จิตที่เกิดต่อเป็นจิตเดียวกันหรือเปล่า (ไม่ได้เป็นจิตเดียวกัน) แต่เป็นจิตประเภทเดียวกันเพราะเป็นผลของกรรมเดียวกันที่ทำให้เกิดเป็นคนนี้

- ตอนนี้เป็นคำถามที่ต้องคิดดีๆ ปฏิสนธิจิตเกิดขึ้นเป็นผลของกรรม ๑ ดับแล้ว กรรมไม่ได้ให้ผลเพียงขณะเดียว กรรมทำให้จิตเกิดสืบต่อเป็นจิตที่เป็นผลของกรรมเดียวกัน เป็นจิตประเภทเดียวกัน รู้อารมณ์อะไร (อารมณ์ของภวังค์จะเป็นอารมณ์เดียวกันของปฏิสนธิจิต)

- ถูกต้องเพราะอะไร (เพราะเป็นผลของกรรมเดียวกัน) เก่งมากเพราะฉะนั้นขณะไหนที่จิตไม่มีอารมณ์เดียวกับภวังค์ (ตอนเห็นจะเป็นอารมณ์คนละอย่าง)

- เห็นเป็นผลของกรรมหรือเปล่า (เป็น) เป็นผลของกรรมเดียวกับกรรมทีทำให้เกิดปฏิสนธิ ภวังค์หรือเปล่า (ไม่) แน่ใจหรือ (แน่ใจ)

- ถ้าเป็นผลของกรรมดี เกิดดี เห็นสิ่งที่ดี เป็นผลของกรรมที่ทำให้เกิดหรือเปล่า (ไม่ใช่) เพราะฉะนั้นกรรมดีให้ผลเพียงแค่ปฏิสนธิ ภวังค์และจุติเท่านั้นหรือ (คิดแล้วน่าจะเป็นแบบนั้น) ไม่ต้องรับผลของกรรมต่อเลยหรือ (เข้าใจว่าต้องมีเห็นมีได้ยินแต่ว่าจะเป็นผลของกรรมในอดีตหรือกรรมชาตินี้ก็ได้แต่ไม่ใช่กรรมเดียวกับที่ให้เกิดปฏิสนธิ)

- ถ้าอย่างนั้นก็ไม่มีประโยชน์อะไรใช่ไหม (ตอนนี้คิดว่าไม่น่าจะเป็นไปได้ว่า ผลของกรรมมีแค่ปฏิสนธิ ภวังค์ จุติ เกิดมาแล้วน่าจะมีผลอื่นด้วย)

- นี่เป็นสิ่งที่ลึกซึ้งถ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ทรงแสดง เราก็อาจจะคิดอย่างโน้นคิดอย่างนี้ได้ แต่เหตุผลมี เช่น ถ้ากรรมทำให้เกิดในนรก มีปฏิสนธิแล้วจะไม่รู้ความทรมานทุกข์ไฟแรงๆ ตลอดเวลาไม่ดับไปเลยอย่างนั้นหรือ เพราะฉะนั้นนั่นเกิดจากอะไรก็ต้องเป็นผลของกรรมที่ทำให้ต้องได้รับสิ่งนั้นเพราะเกิดในนรกจึงต้องมีอารมณ์ที่เป็นผลของกรรมที่ทำให้เกิดในนรก

- เพราะฉะนั้นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่า “กรรมเป็นสภาพที่ปกปิด” ไม่รู้ว่ากรรมจะให้ผลเมื่อไหร่ จะให้ผลในชาตินั้น หรือว่าจะให้ผลในชาติต่อไป หรือยังไม่ให้ผลในชาตินั้น หรือยังไม่ให้ผลในชาติต่อไป แต่ยังให้ผลในชาติอีกยาวไกล เพราะฉะนั้นขณะนี้ที่กำลังเห็นเป็นผลของกรรมไหนไม่ทราบในแสนโกฏิกัปป์ก็ได้ เป็นผลของกรรมในชาตินี้ก็ที่ทำให้เกิด

- เพราะฉะนั้นเราจะรู้ไม่ได้เลยแต่เพียงเข้าใจเผินๆ ว่า กรรมให้ผล กรรมดีให้ผลดี กรรมชั่วให้ผลชั่วแค่นั้นไม่พอเลย ต้องรู้ว่ากรรมคืออะไร ไม่ใช่เรา ขณะเกิดไม่ใช่เรา ขณะที่กรรมให้ผลไม่ใช่เรา ต้องเข้าใจว่า ไม่มีเราแต่มีธรรม คือ จิต เจตสิก รูป

- กรรมเป็นจิตเจตสิกที่เป็นกุศลและอกุศลให้ผลเป็นจิตและเจตสิกที่เป็นกุศลวิบาก อกุศลวิบากถ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ทรงแสดงว่า ไม่มีเราแต่มีธรรม ไม่มีใครสามารถจะรู้ได้เลยถึงความจริงว่า ขณะนี้เป็นอะไร

- ขณะนี้เป็นเราหรือเป็นจิตเจตสิกรูป (จิตเจตสิกรูป) เพราะฉะนั้นขณะแรกที่เกิดกรรมทำให้กุศลวิบากจิตเกิดและรูปที่เป็นผลของกรรมเกิดด้วย เพราะฉะนั้นเริ่มเข้าใจความจริงที่ไม่ใช่เราทีละเล็กทีละน้อย

- อกุศลกรรมทำให้อกุศลวิบากจิตเกิดพร้อมเจตสิกและรูปซึ่งเป็นผลของกรรมเกิดพร้อมกันเพราะฉะนั้นในขณะเกิดพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงว่า มีจิตเจตสิกอะไรเกิดและมีรูปอะไรเกิดในขณะนั้น ไม่ใช่ทั้งหมดแต่เป็นเฉพาะรูปที่เกิดจากกรรมบางรูป


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
prinwut
วันที่ 20 พ.ค. 2566

- ขณะเกิดยังไม่เป็นปัจจัยให้จักขุปสาทรูปเกิดแม้ว่าจักขุปสาทรูปจะเป็นผลของกรรม ในขณะเกิดกุศลกรรมทำให้เกิดรูปต่างกับขณะที่เป็นอกุศลกรรม แต่ขณะนั้นรูปยังไม่ปรากฏเป็นนก เป็นลิง เป็นคนกรรมที่ทำให้รูปต่างกันตั้งแต่เกิดภายหลังเป็นนก เป็นปลา เป็นสิงโต เป็นตุ๊กแกได้ คนก็เป็นคนต่างๆ เป็นหญิง เป็นชาย รูปร่างหน้าตาต่างๆ

- เพราะฉะนั้นกรรมทำให้จิตเจตสิกรูปเกิดแต่จิตเจตสิกเป็นสภาพธรรมที่เป็นผลที่ “ต้องรู้” สิ่งหนึ่งสิ่งใด ส่วนรูปเป็นผลซึ่งไม่สามารถจะรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใดได้ เพราะฉะนั้นใครเปลี่ยนแปลงภาวะความเป็นของธรรมไม่ได้เลย

- ตาปลากับตาคนกับตานกต่างกันหรือเหมือนกัน (ต่างกัน) ตานกฮูกกับตามดต่างกันใช่ไหมแต่ “จักขุปสาท” ไม่ต่าง เพราะฉะนั้นก็มีความเข้าใจมั่นคง ปลามีสัมปฏิจฉันนะไหม (มี)

- เพราะฉะนั้นให้ทราบว่า ใครเปลี่ยนแปลงวิบากไม่ได้ เกิดขึ้นเพราะกรรมที่ทำให้เป็นอย่างนั้นแล้วดับไม่กลับมาอีกเลยเป็น “สุญญตา” ทุกขณะ

- ช้างโกรธไหม (โกรธ) ช้างเป็นช้าง คนเป็นคน แล้วโกรธเป็นอะไร (เป็นเจตสิก) เรียนเรื่องเจตสิกแล้วใช่ไหมต่างกับจิตอย่างไร (ต่างกันที่จิตรู้แจ้งอารมณ์ส่วนเจตสิกรู้อารมณ์เดียวกันแต่ใช่แบบที่จิตรู้)

- เพราะฉะนั้นจิตเกิดขณะที่เป็นมดเกิด คนเกิด ช้างเกิดกับขณะที่ต่างกันเป็นคนเป็นสัตว์เกิดปฏิสนธิจิตต่างกันตรงไหน (ทราบแค่ว่าต่างกัน เกิดเป็นช้างกับเกิดเป็นเสือเพราะเป็นผลผลของกรรมที่ต่างกัน)

- เกิดเป็นช้างเป็นผลของกรรมอะไร เกิดเป็นเสือเป็นผลของกรรมอะไร (เป็นผลของอกุศล) ต่างกันที่ไหน (ต่างกันที่กรรมหนักกรรมเบา)

- เพราะฉะนั้นต้องถามสั้นๆ ทีละน้อยให้คิด ถ้ายาวและคิดเยอะก็ไม่เข้าใจเพราะคิดโน่นคิดนี่แต่ถ้าถามสั้นๆ แล้วไตร่ตรองละเอียดขึ้นจนกระทั่งเข้าใจ เพราะฉะนั้นจะถามสั้นๆ ปฏิสนธิจิตของนกกับปฏิสนธิของช้างมีเจตสิกเกิดร่วมด้วยเท่ากันไหม (พิจารณาแล้วไม่ทราบแต่ตามที่เข้าใจน่าจะเหมือนกัน)

- ปฏิสนธิจิตของมด ปฏิสนธิจิตของช้างเป็นจิตอะไร (เป็นผลของอกุศลกรรม) คำถามว่า ปฏิสนธิของมดปฏิสนธิจิตของช้างเป็น “จิต” อะไรที่ทำกิจปฏิสนธิของมดของช้าง (เป็นวิบาก)

- วิบากที่เป็นอกุศลวิบากมีเท่าไหร่ (๗) อกุศลวิบากอะไรใน ๗ ดวงที่ทำกิจปฏิสนธิ (สันตีรณะ)

- สันตีรณจิตที่ทำกิจปฏิสนธิของนกกับสันตีรณจิตที่ทำกิจปฏิสนธิของช้างมีเจตสิกเท่ากันไหม (ไม่ทราบ) ดีแล้ว ไม่ทราบจะได้ไม่คิดเอง ค่อยๆ ฟัง

- เปลี่ยนจิตแต่ละ ๑ ขณะให้เป็นอื่นได้ไหม (ไม่ได้) สันตีรณจิตมีเจตสิกเกิดร่วมด้วยเท่าไหร่ เปลี่ยนให้เป็นมากกว่านั้นน้อยกว่านั้นได้ไหม (ไม่ได้) เพราะฉะนั้นตามที่เคยพูดกันให้เข้าใจตั้งแต่เบื้องต้นคือจิตแต่ละจิตต้องเกิดขึ้นทำกิจ มีจิตไหนที่เกิดขึ้นแล้วไม่ได้ทำกิจอะไรบ้างไหม (ไม่มี)

- เพราะฉะนั้นที่คิดว่าเป็นเราทำทั้งวันความจริงเป็นอะไร (เป็นจิตเจตสิกรูป) ความจริงรูปทำอะไรเองได้ไหม (ไม่ได้) เพราะฉะนั้นอะไรทำ? (จิตเจตสิก)

- เพราะฉะนั้นตอนนี้ทบทวนเรื่องกิจของจิตที่เป็นจิตที่ไม่ประกอบด้วยเหตุที่เป็นอกุศลวิบาก เริ่มตั้งแต่อกุศลจิตดวงที่ ๑ (เห็น) จักขุวิญญาณทำกิจอะไร (เห็น) ถ้าไม่เห็นจิตนั้นจะชื่อว่า จักขุวิญญาณไหม (ไม่) เพราะฉะนั้นกำลังเห็นไม่เรียกว่า จักขุวิญญาณ ได้ไหม (ไม่มีชื่อก็ยังทำกิจอยู่)

- ถูกต้องแต่ไม่รู้ว่าจิตไหน ด้วยเหตุนี้เราพูดถึงจิตนั้นเท่านั้นที่เห็นทำ “ทัสสนกิจ” ทำกิจเห็น

- จักขุวิญญาณทำกิจอะไรได้บ้าง (ทำเฉพาะเห็น) จิตเดียวใช่ไหม (ใช่) เพราะฉะนั้นอเหตุกจิตจิตที่ไม่ประกอบด้วยเหตุดวงที่ ๒ คืออะไร (โสตวิญญาณ) ทำกิจอะไร (รู้เสียง) เพราะฉะนั้นขณะนี้ให้ทราบว่า กำลังพูดถึงเรื่องกิจของจิตเพราะจิตเกิดแล้วไม่ทำกิจไม่ได้

- จักขุวิญญาณ โสตวิญญาณมีเจตสิกเกิดร่วมด้วยเท่าไหร่ (๗) ดีมากที่ไม่ลืม เพราะฉะนั้นเดี๋ยวนี้มีจักขุวิญญาณโสตวิญญาณไหม (มี) เป็นเราหรือเปล่า (ไม่) นี่เป็นความมั่นคงที่เปลี่ยนไม่ได้จนกว่าจะรู้ความจริง

- อเหตุกจิตที่เป็นอกุศลวิบากดวงต่อไปคืออะไร (ฆานวิญญาณจิตที่รู้กลิ่น) มีเจตสิกเกิดร่วมด้วยเท่าไหร่ (๗) ทำกิจอะไร (รับรู้กลิ่น)

- จักขุวิญญาณมีเจตสิก ๗ โสตวิญญานมีเจตสิก ๗ โสตวิญญาณทำกิจเห็นได้ไหม (ไม่ได้)

- เพราะฉะนั้นจักขุวิญญาณ โสตวิญญาณ ฆานวิญญาณแต่ละ ๑ มีกี่กิจ (แต่ละ ๑ มีหนึ่งกิจ)

- อเหตุกอกุศลวิบากจิตต่อไปเป็นอะไร (ชิวหาวิญญาณ) เดี๋ยวนี้มีไหม (มี) รสอะไร (จำไม่ได้) เพราะฉะนั้นเดี๋ยวนี้ เดี๋ยวนี้มีไหมจิตที่ลิ้มรส (ไม่มี)

- เพราะฉะนั้นถ้าไม่รับประทานอาหารจะมีรสปรากฏไหม (ลิ้มรสต่อเมื่อมีอาหารในปาก) เมื่อรสกระทบลิ้นสิ่งนั้นก็ปรากฏ

- เพราะฉะนั้นต่อไปเป็นอเหตุกอกุศลวิบากอะไร (กายวิญญาณ) มีเจตสิกเกิดร่วมด้วยเท่าไหร่ (เท่ากับเจตสิกที่เกิดอีก ๔ ทาง) เท่ากันแต่ต่างกันตรงไหน (ต่างกันที่เวทนาถ้า ๔ ทางเป็นอุเบกขาแต่ทางกายจะเป็นสุขเวทนาหรือทุกขเวทนา)

- เรากำลังพูดถึงอกุศลวิบากที่เป็นอเหตุกทางกาย กายวิญญาณ (ต่างกันที่อุเบกขาเวทนากับทุกขเวทนา)

- นี่เป็นความละเอียดอย่างยิ่งที่ต้องเริ่มเห็นความไม่ใช่เราทุกคำที่ต้องเริ่มค่อยๆ เข้าใจว่า เป็นธรรมแต่ละ ๑ จึงไม่ใช่เราจนกว่าจะรู้ความจริง

- เริ่มเข้าใจถูกตั้งแต่ขั้นฟังทีละเล็กทีละน้อยจนกว่าจะเข้าใจขึ้นจนมั่นคง อกุศลวิบากมีทั้งหมดเท่าไหร่ (มี ๗) มีมากกว่า ๗ ได้ไหม (ไม่ได้)

- เกิดในนรกกับเกิดเป็นลิงอกุศลวิบากมีเท่ากันไหม (จำนวนจิตเท่ากัน) ถ้าเกิดเป็นมนุษย์มีอกุศลวิบากเกิน ๗ ได้ไหม น้อยกว่า ๗ ได้ไหม (ไม่ได้)

- เพราะฉะนั้นเราพูดถึงอกุศลวิบากไปแล้วกี่ดวง (๕) เพราะฉะนั้นเหลืออีก ๒ ใช่ไหม (ใช่) อะไรเกิดต่อจากเห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งกระทบสัมผัส (สัมปฏิจฉันนะ) สัมปฏิจฉันนะ “เห็น” ไหม (ไม่) สัมปฏิจฉันนะรู้สิ่งที่กระทบตาไหม (รู้) ทำกิจอะไรสัมปฏิจฉันนะ (รับรู้อารมณ์ต่อ) เมื่อสัมปฏิจฉันนะดับแล้วจิตอะไรเกิดต่อ (สันตีรณะ) ทั้งหมดอกุศลวิบากมีเท่าไหร่ (๗) มากกว่านั้นได้ไหม (ไม่ได้)

- เพราะฉะนั้นอกุศลวิบากจิตไหนที่ทำกิจปฏิสนธิ (สันตีรณะ) เพราะอะไร (จิตอื่นทำไม่ได้เพราะสันตีรณะเป็นจิตที่มั่นคงกว่า)

- เพราะฉะนั้นให้ทราบว่า สันตีรณะทำกิจได้ทั้งหมด ๕ กิจ เพราะฉะนั้นแม้ว่าสันตีรณะรู้อารมณ์เดียวกับจิตเห็นจิตได้ยินแต่ในฐานะที่รู้เพราะไม่ได้ทำกิจเห็น ไม่ได้ทำกิจรับ แต่ทั้งหมดทำแล้วเพราะฉะนั้นสันตีรณะรู้อารมณ์นั้นโดยไม่ต้องทำกิจเห็น กิจได้ยิน กิจได้กลิ่น กิจสัมปฏิจฉันนะจึงสามารถที่จะทำกิจปฏิสนธิได้

- ยังเหลืออีกกิจเดียวเรายังไม่ได้กล่าวถึงซึ่งเป็นกิจที่ ๕ ของสันตีรณะ เพราะฉะนั้นเราจะไม่พูดอะไรโดยไม่เข้าใจเพียงแค่จำแต่เมื่อถึงเวลาก็เข้าใจโดยเหตุผลที่ว่า ทำไมจิตนั้นจึงทำกิจนั้นได้

- ไม่มีอะไรสงสัยเกี่ยวกับอกุศลวิบากใช่ไหม ต้องเป็นอเหตุกะไม่ประกอบด้วยโลภะ โทสะ โมหะและต่างกันด้วยกิจ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
prinwut
วันที่ 20 พ.ค. 2566

- เพราะฉะนั้นต่อไปนี้เราจะพูดถึงกุศลวิบากที่ไม่ประกอบด้วยเหตุชื่อว่า “อเหตุกกุศลวิบาก”

- เท่าที่ทราบอเหตุกจิตที่ไม่ประกอบด้วยเหตุทั้งหมดมีเท่าไหร่ (๑๘) ต่างกันอย่างไร (กุศลวิบาก ๗ อกุศลวิบาก ๘ กิริยา ๓) ดีมาก

- เพราะฉะนั้นยังเหลือที่จะต้องพูดคือกุศลวิบากที่ไม่ประกอบด้วยเหตุและกิริยาจิตที่ไม่ประกอบด้วยเหตุ ถ้าจิตใดที่ไม่ประกอบด้วยเหตุจิตนั้นจะมีกำลังไหม

- บางคนคิดว่า ทำไมต้องเรียนชื่อต่างๆ เรียนจิตต่างๆ เรียนเจตสิกยุ่งยาก (นั่นไม่ถูก ถ้าไม่เรียนอย่างละเอียดจะไม่เข้าใจความลึกซึ้งของธรรม) ถูกต้องเพราะเหตุว่า ธรรมที่มีในชีวิตประจำวันทุกวันไม่พ้นจากที่เรากำลังพูดถึง

- มีสิ่งที่มีจริงทุกอย่างแต่ไม่รู้ความจริงของแต่ละ ๑ อย่างทั้งสิ้น จนกว่าเริ่มฟังคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเห็นความลึกซึ้งอย่างยิ่งของสิ่งที่มีในชีวิตทั้งหมด เป็นสิ่งที่ประเสริฐที่สุดในสังสารวัฏฏ์เพราะสามารถที่จะมีความเห็นความเข้าใจที่ถูกต้อง

- ความถูกต้องคือรู้ความจริงว่า “ไม่มีเรา” เป็นเพียงสิ่งที่มีจริงที่เกิดขึ้นแล้วดับไป ทุกอย่างเกิดขึ้นแล้วดับไปจนกว่าจะตายก็ยังไม่รู้ความจริงว่า ต้องเป็นอย่างนี้จนกว่าจะรู้ความจริงไม่ใช่ไม่รู้อะไรเลยแล้วคิดว่าจะไม่มีกิเลสต่อไปได้ แม้คนนั้นจะได้ยินคำที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสแต่ก็ไม่เข้าใจเลย

- เพราะฉะนั้นตอนนี้เรื่องของอเหตุกวิบาก ๑๕​ ดวง มีข้อสงสัยอะไรไหมหรือเริ่มเข้าใจแล้วเป็นอย่างนี้ตลอดวัน ต้องพูดถึงสิ่งที่เราได้ฟังบ่อยๆ เพื่อไม่ลืมเข้าใจถูกเพราะฉะนั้นถามว่าสันตีรณะจิตมีกี่กิจ (๕ กิจ)

- สันตีรณกุศลวิบากกับสันตีรณอกุศลวิบากต่างกันตรงไหน (ต่างกันตรงที่ ๑ เป็นผลของกุศลอีก ๑ เป็นผลของอกุศล) อกุศลกรรมทำให้เกิดอกุศลวิบากอเหตุกเท่าไหร่ (๗) กุศลกรรมทำให้เกิดอเหตุกกุศลวิบากเท่าไหร่ (๘) ต่างกันตรงไหน ๘ กับ ๗ (ต่างกันที่ผลของกุศลมีสันตีรณะ ๒​ ผลของอกุศลมี ๑) ​ ๑ กับ ๒ ต่างกันตรงไหน (สันตีรณกุศลวิบากประกอบด้วยอุเบกขาเวทนา ๑ และโสมนัสเวทนา ๑ ถ้าเป็นผลของอกุศลสันตีรณประกอบด้วยทุกขเวทนา) ไม่ได้เลย สันตีรณไม่ได้ประกอบด้วยทุกขเวทนา ทุกขเวทนาเกิดกับกายวิญญาณเท่านั้น สุขเวทนาก็เกิดกับกายวิญญาณเท่านั้นไม่เกิดกับจิตอื่นเลย

- นี่เป็นสิ่งที่จะต้องเข้าใจความละเอียดขึ้นเพราะฉะนั้นเห็นความอ่อนมากของผลของกุศลที่เพียงทำให้เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส แสนสั้นแล้วหมดไป

- เพราะฉะนั้นเมื่อเป็นผลของกุศลทำให้รู้อารมณ์ที่ดีและอารมณ์ที่ดีเลิศได้ ในชีวิตประจำวันถ้าเห็นสิ่งใดที่เป็นผลของกุศลเป็นสิ่งที่ดีแต่ความรู้สึกก็ไม่มากธรรมดาเฉยๆ เพราะฉะนั้นเรารู้ไม่ได้ว่าสิ่งที่เราเห็นเป็นต้นมีความประณีต สวยงามพิเศษหรือธรรมดา นี่เป็นเหตุที่ทางฝ่ายกุศลจะมีอารมณ์ที่ประณีตขึ้นๆ

- เห็นแหวนธรรมดา ทองธรรมดา เพชรธรรมดา แต่ถ้าเป็นแหวนที่สวยเป็นพิเศษบริสุทธิ์มากขณะนั้นทำให้เกิดโสมนัสสันตีรณ

- เพราะฉะนั้นทบทวนอีกครั้งสันตีรณที่เป็นกุศลวิบากและอกุศลวิบากทำกิจอะไรได้บ้าง (รวมกันแล้ว ๕ กิจ) เพราะฉะนั้นสันตีรณกุศลวิบากที่เป็นอเหตุกทำกิจได้กี่กิจ (ที่ตอบว่า ๕ จะได้แต่ตัวเลขอยากให้ทบทวน)

- ๕ กิจ ปฏิสนธิกิจ ภวังคกิจ จุติกิจ กี่กิจแล้ว (๓) ​ มีอีกกิจไหม (สันตีรณ) ถูกต้องเพราะฉะนั้นยังเหลืออีกกิจเดียวที่ยังไม่กล่าวถึงเพราะต้องค่อยๆ กล่าวถึงตามลำดับ

- เพราะฉะนั้นกุศลวิบากอเหตุกสันตีรณทำได้กี่กิจ (๔) เหมือนกับอเหตุกที่เป็นอกุศลวิบากหรือเปล่า (เหมือนกัน) เหมือนกันคือ อเหตุกกุศลวิบาก อเหตุกอกุศลวิบากทำทั้งหมดได้ ๕กิจแต่เรายังไม่พูดกิจที่ ๕ แต่สันตีรณกุศลวิบากมี ๒ ต่างกันที่อุเบกขากับโสมนัส

- เพราะฉะนั้นกุศลอย่างอ่อนเป็นปัจจัยให้เกิดกุศลวิบากสันตีรณที่เป็นอุเบกขาเวทนาที่ทำกิจได้ ๕ กิจแต่โสมนัสสันตีรณกุศลวิบากทำได้ ๒ กิจ

- เพราะฉะนั้นความต่างกันของอเหตุกกุศลวิบากอุเบกขากับอเหตุกสันตีรณโสมนัสต่างกันที่กิจหน้าที่ อกุศลวิบากสันตีรณอุเบกขาทำได้ ๕ กิจแต่อเหตุกสันตีรณโสมนัสทำได้ ๒ กิจ มิฉะนั้นจิต ๒ ดวงไม่ต่างกัน

- คราวต่อไปเราจะได้พูดถึงกิจของโสมนัสสันตีรณและอุเบกขาสันตีรณ แต่การที่เราได้พูดถึงอเหตุกจิตทั้งหมดเป็นพื้นฐานที่จะให้รู้ความต่างของการเป็นไปในชีวิต ถ้ามีความเข้าใจที่มั่นคงในธรรมที่เป็นเหตุเป็นผลและกิจหน้าที่ก็จะเข้าใจถูกต้องเวลาที่เราพูดถึงจิตประเภทอื่นต่อไป

- เริ่มรู้ความจริงของสิ่งที่มีจริงที่เป็นจริงใช่ไหม ถ้าไม่รู้ความจริงอย่างนี้จะไม่รู้อะไรเลย ฟังแล้วไม่ลืม คิดถึง ไตร่ตรองเพิ่มขึ้น เข้าใจขึ้นทีละน้อยๆ

- ก็ยินดีด้วย ขอบคุณ และยินดีในกุศลของคุณสุคินและทุกคนที่เริ่มเข้าใจความจริงที่จะดำรงความเข้าใจที่ถูกต้องต่อไป สวัสดีค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
prinwut
วันที่ 20 พ.ค. 2566

กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์

ยินดีในกุศลของคุณสุคินและชาวอินเดียผู้ร่วมสนทนาทุกท่าน

ขอบพระคุณและอนุโมทนาคุณอัญชิสา (คุณสา) คุณจิรัชพรรณ์ (คุณซี) ที่ช่วยตรวจทาน

กราบขอบพระคุณและกราบอนุโมทนาอาจารย์คำปั่นในกุศลทุกประการครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
khampan.a
วันที่ 21 พ.ค. 2566

กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพยิ่ง
กราบยินดีในกุศลของคุณสุคิน ผู้ถ่ายทอดคำท่านอาจารย์เป็นภาษาฮินดี
ขอบพระคุณและยินดีในกุศลวิริยะของพี่ตู่ ปริญญ์วุฒิ เป็นอย่างยิ่ง ที่ถอดคำสนทนาของท่านอาจารย์ ทุกคำ เป็นประโยชน์เกื้อกูลอย่างยิ่ง
และยินดีในกุศลของผู้ช่วยตรวจทาน และยินดีในกุศลของทุกๆ ท่านด้วยครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
siraya
วันที่ 25 พ.ค. 2566

ขอบพระคุณ และกราบอนุโมทนาในกุศลของทุกๆ ท่านค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ