ทำบุญหรือบริจาคควรอธิษฐานหรือไม่

 
cc_funny
วันที่  31 พ.ค. 2566
หมายเลข  46039
อ่าน  348

เท่าที่สังเกตตัวเองเวลาทำบุญหรือบริจาคจะไม่ค่อยได้อธิษฐาน

แต่มาได้ยินคำว่าบารมี 10 ซึ่งหนึ่งในนั้นคืออธิษฐานบารมี

อยากขอความเข้าใจเกี่ยวกับอธิษฐานบารมี

ด้วยความนับถือ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
khampan.a
วันที่ 3 มิ.ย. 2566

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

บารมี เป็นธรรมที่จะทำให้ถึงซึ่งฝั่งคือการดับกิเลส เมื่อกล่าวอย่างกว้างๆ แล้ว หมายถึง ความดีทุกประการ ซึ่งได้แก่ สภาพจิตที่ดีงามที่ประกอบด้วยโสภณเจตสิกประการต่างๆ นั้นเอง ไม่ว่าจะเป็น ทาน (การสละวัตถุสิ่งของเพื่อประโยชน์สุขแก่ผู้อื่น) ศีล (การสำรวมกาย วาจา ให้เป็นปกติ ไม่กระทำทุจริตกรรม) เนกขัมมะ (การออกจากกาม ออกจากอกุศล) ปัญญา (ความเข้าใจถูก เห็นถูก) วิริยะ (ความเพียรในทางที่เป็นกุศล) ขันติ (ความอดทนต่อสภาพธรรมที่น่าปรารถนา และไม่น่าปรารถนา) สัจจะ (ความจริงใจในการเจริญกุศล) อธิษฐานะ (ความ ตั้งใจมั่น ความมั่นคงในการเจริญกุศล) เมตตา (ความเป็นมิตร เป็นเพื่อน หวังดีต่อ ผู้อื่น) อุเบกขา (ความเป็นกลาง ไม่หวั่นไหวไปด้วยอำนาจของอกุศล) ล้วน เป็นความดีที่ควรอบรมเจริญเป็นอย่างยิ่งและประการที่สำคัญ บารมีทุกบารมีจะขาด ปัญญาไม่ได้เลย

ธรรมฝ่ายดี ที่เป็นกุศลธรรมในชีวิตประจำนั้น มีความละเอียดลึกซึ้งมาก ซึ่งเป็นธรรมที่เป็นไปเพื่อขัดเกลาละคลายกิเลส เพราะถ้าจิตไม่ได้เป็นไปในทางที่เป็นกุศลแล้ว วันหนึ่งๆ ก็มีแต่จะเพิ่มพูนกิเลส เพิ่มพูนอกุศลให้มีมากขึ้น

ดังนั้น อธิษฐานบารมี ไม่ใช่การขอ แต่ความตั้งใจมั่นในการเจริญกุศล ฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมอบรมเจริญปัญญา และเจริญกุศลประการต่างๆ เพื่อขัดเกลากิเลส เพราะเห็นโทษของความไม่ตั้งมั่นในกุศลธรรม เห็นโทษของการไม่มีความมั่นคงในการเจริญกุศลประการต่างๆ ทั้งหมดจึงไม่พ้นไปจาก สภาพจิตที่ดีงามในขณะนั้นที่เห็นโทษของอกุศล เห็นคุณประโยชน์ของกุศล พร้อมทั้งถอยกลับจากอกุศลและเพิ่มพูนกุศลให้ยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นไปเพื่อการขัดเกลาละคลาย กิเลสจนกว่าจะถึงการดับได้อย่างหมดสิ้นในที่สุด ครับ

ขอเชิญศึกษาเพิ่มเติมจากคำบรรยายของท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์
ได้ที่หัวข้อด้านล่างนี้ครับ

อธิษฐานไม่ใช่การขอ

... ยินดีในกุศลของทุกๆ ท่านครับ ...

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
wannee.s
วันที่ 14 มิ.ย. 2566

อธิษฐานบารมี คือความตั้งใจแน่วแน่มั่นคงในกุศลทุกประการ อย่างนางวิสาขาท่านเป็นผู้เลิศในการให้ทาน ท่านขอพรจากพระพุทธเจ้า ขอโอกาสทำความดี คือถวายผ้าอาบน้ำฝนกับภิกษุ เป็นต้นค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ