ฟังธรรมเพื่อเข้าใจความเป็นธรรม ไม่ใช่เรา_สนทนาธรรม ไทย-ฮินดี วันเสาร์ที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๕๖๖

 
เมตตา
วันที่  24 มิ.ย. 2566
หมายเลข  46089
อ่าน  297

- (คุณสุคิน: ท่านอาจารย์ครับ ผมให้อาช่าทราบว่า คราวที่แล้วท่านอาจารย์จะให้กลับกันให้เราเป็นคนถามคำถาม แล้วให้ท่านอาจารย์ตอบ อาช่าก็บอกว่าปกติแกก็มีคำถามเยอะ แต่ว่าในการสนทนาแกก็ได้รับคำตอบเอง เพราะฉะนั้น ถึงแกไม่ค่อยได้ถามแต่ว่าวันนี้แกขอเริ่มจากคำถามว่า วิถีจิตที่เรารู้ๆ กันว่า ในวาระหนึ่งของจิตหลังจากเกิดอารมณ์กระทบ ภวังค์ จนไล่มาเห็นทางปัญจทวารและมโนทวาร แกถามว่ามีไหมที่เริ่ม แต่ไม่ครบวาระครับท่านอาจารย์) หมายความว่าอย่างไร? (คือ แกบอกว่ามีจิตในวาระมีกี่ขณะ แกบอก ๑๖ ขณะ แล้วก็มีไหมที่ ... ) ไม่ถามเขา อันนี้เราไม่ถามเขา เราไม่ไปเพ่งเล็งที่จำนวน แต่เราต้องการให้เขารู้ความเป็นไปว่า ตั้งแต่เกิดมาอารมณ์ไม่ได้ปรากฏ แล้วทำไมเดี๋ยวนี้อารมณ์ปรากฏ ให้เขามีความเข้าใจจริงๆ ว่า มันเป็นธรรมดา การที่จะรู้ว่าเป็นธรรม ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ง่ายๆ เพียงรู้วิถีจิต แต่ต้องมีความเข้าใจมั่นคง ลึกซึ้งตามลำดับ.

- ถามคุณอาช่า เริ่มใช้คำว่า วิถีจิต ดิฉันจะถามคุณอาช่าว่า วิถีจิตคืออะไร ต้องเข้าใจจริงๆ ไม่ใช่พูดโดยไม่เข้าใจ หรือไม่รู้เรื่อง? (คุณสุคิน: ท่านอาจารย์ครับจริงๆ แล้วเมื่อกี๊อาช่าไม่ได้ใช้คำว่าวิถีจิต แต่แกหมายถึงตรงนั้นที่แกคำถามเกิดจากคำที่ว่า สงสัยว่า ในบางครั้งได้ยินเสียงบ้าง บางครั้งมีเสียงคนอื่นรู้ แต่ตัวแกไม่ได้ยินเสียงเหมือนกับไม่มีการรู้หรือรู้ตรงนั้น แกอยากถามเรื่องตรงนั้นมันเกิดอะไรขึ้น เป็นเพราะอะไร) เราไม่ได้ต้องการให้เขารู้ว่า มีคนนั้นได้ยิน มีเราไม่ได้ยิน เราต้องการให้เขารู้ความจริงว่า ความจริงทุกๆ ขณะคืออะไร แต่ละหนึ่งขณะ.

กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขต์ ด้วยความเคารพอย่างยิ่ง และกราบยินดีในความดีของคุณสุคิน ด้วยค่ะ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
เมตตา
วันที่ 24 มิ.ย. 2566

- เราต้องการให้เขารู้ความจริง ว่า ความจริงทุกๆ ขณะคืออะไร แต่ละหนึ่งขณะ ตราบใดที่ยังไม่ใช่ความรู้ของเขาในแต่ละคำที่มีจริงๆ ทุกขณะ ตราบนั้นไร้ประโยชน์ที่จะไปบอกเขาว่าเพราะอะไร.

- เพราะฉะนั้น จะมีการทบทวนบ่อยๆ เรื่อยๆ พูดแล้วพูดอีกเพื่อเป็นความเข้าใจที่มั่นคงว่า ไม่ใช่เรา.

- ถ้าไม่มีธาตุรู้ ไม่มีจิตเกิดขึ้นเลย จะมีคน จะมีสัตว์ จะมีเรื่องราวต่างๆ ได้ไหม? (ไม่ได้) .

- เห็นความสำคัญของธาตุรู้ไหม? (ครับ) ไม่ให้ธาตุรู้เกิดได้ไหม? (ไม่ได้) ธาตุรู้เกิดแล้วไม่รู้ว่าเป็นธาตุรู้ใช่ไหม? (ครับ) เพราะฉะนั้น ประโยชน์ที่สุด คือ เมื่อมีธาตุรู้ต้องรู้จักธาตุรู้ ไม่ใช่ไปคิดว่าเราได้ยิน เขาไม่ได้ยินอะไรต่างๆ .

- เมื่อเป็นธาตุรู้แล้ว ต้องทำหน้าที่หนึ่งหน้าที่ใดใช่ไหม เพราะเป็นธาตุรู้? (ครับ) .

- ธาตุรู้ขณะแรกเกิดขึ้นทำหน้าที่อะไร? (ปฏิสนธิ) ปฏิสนธิ คืออะไร? (อาช่าตอบว่า เกิด ตามที่เข้าใจบุคคลใดบุคคลหนึ่งเกิด สัตว์ใดเกิด นั่นคือความหมายของปฏิสนธิ) .

- เพราะฉะนั้น พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ว่า จิตแรกที่เกิด ธาตุรู้แรกที่เกิดทำกิจสืบต่อจากจุติจิตของชาติก่อน จิตอื่นๆ ทำกิจนี้ได้ไหม? (ไม่ได้) เพราะฉะนั้น จิตที่ทำกิจนี้เป็นชาติอะไร? (วิบาก) วิบากคืออะไร? (เป็นผลของกรรมในอดีต) พอใจไหมที่จะรู้เพียงเท่านี้? (ไม่พอครับ) แสดงว่า เราเริ่มเห็นความต่างกันของสิ่งที่มีชีวิตตั้งแต่เกิด.

- เริ่มเข้าใจว่า ผลของกรรมที่ได้กระทำแล้ว ทำให้เกิดต่างๆ กันไป ทั้งรูปร่างหน้าตา พ่อแม่ พี่น้อง เกียรติยศ ชื่อเสียง สิ่งแวดล้อมทั้งหมด ไม่ให้เป็นอย่างนี้ได้ไหม? (ไม่ได้) เพราะฉะนั้น คุณอาช่าก็ทำดีไว้หลายอย่างตายแล้วจะเลือกให้กรรมดีนั้นให้ผลให้เกิดได้ไหม? (ไม่ได้) .

- เพราะฉะนั้น งูเกิดขึ้นด้วยจิตอะไรที่ทำให้เกิดเป็นงู? (เป็นผลของอกุศลกรรม) ต้องมีจิตประเภทหนึ่งเท่านั้นที่ทำกิจนี้ ที่ทำให้เกิดเป็นงู เกิดในนรก จิตนี้คือจิตอะไร? (รู้แค่ว่าเป็นผลของอกุศลกรรม) ผลของอกุศลกรรมมีเท่าไหร่? (มี ๗) เพราะฉะนั้น ขณะเกิดเป็นงู จิตอะไรเกิด? (สันตีรณะ) เห็นไหมว่า เราต้องรู้ว่า คำถามถามอะไร ทั้งหมดเพื่อให้เขาเมื่อเวลาเห็นงู เห็นนก เห็นคน เขาสามารถที่จะรู้ได้ว่าไม่ใช่อะไรเลย นอกจากจิตประเภทต่างๆ มิเช่นนั้นแล้ว เมื่อไหร่จะหมดความคิดว่า เป็นสิ่งนั้นสิ่งนี้ เป็นเรา เป็นคนนั้นคนนี้ มิเช่นนั้น ก็สงสัยเรื่องนั้นเรื่องนี้ เรากำลังได้ยินคนอื่นจะได้ยินไหม แต่ไม่รู้ว่า ไม่มีเรา.

- ปฏิสนธิจิตที่เป็นคุณอาช่าเป็นจิตอะไร? (เป็นผลของกุศลกรรม) เขาพูดแค่กุศลไม่ใช่หรือ เท่าที่ได้ยิน (เป็นผล เป็นวิบากครับ) ต้องพูดให้ครบต้องพูดให้เต็ม เพราะต่างกัน.

- อเหตุกกุศลวิบากทำกิจปฏิสนธิได้ไหม? (ได้) จิตอะไรที่เป็นอเหตุกกุศลวิบากที่ทำกิจปฏิสนธิ? (สันตีรณะ) เพราะฉะนั้น ปฏิสนธิจิตของคุณอาช่าเป็นสันตีรณกุศลวิบากหรือเปล่า? (เป็น) คุณอาช่าตาบอดหรือเปล่า? (ไม่) หูหนวกหรือเปล่า? (ไม่) บ้า ใบ้ บอด หนวกหรือเปล่า? (ไม่) พิการตั้งแต่กำเนิดหรือเปล่า? (ไม่) เพราะฉะนั้น ปฏิสนธิจิตของคนเป็นมนุษย์แต่ต่างกันตั้งแต่เกิดมีไหม? (แตกต่างกัน) เพราะฉะนั้น จิตปฏิสนธิของคนที่พิการตั้งแต่กำเนิดต่างกันหรือเหมือนกันกับปฏิสนธิจิตของคนที่ไม่พิการตั้งแต่กำเนิด? (แตกต่างกัน) เพราะฉะนั้น การเกิดเป็นมนุษย์ด้วยจิตที่เป็นสันตีรณกุศลวิบากต้องต่างกับการเกิดเป็นมนุษย์ที่ไม่พิการตั้งแต่กำเนิดเพราะเหตุว่าเป็นผลของกุศลกรรมอ่อนจึงทำให้เกิดเป็นอย่างนั้น กุศลกรรมต่างกันไหม แต่ละครั้งที่เกิด? (ต่างกัน) กุศลที่อ่อนมากในวันหนึ่งๆ มีไหม? (มี) .

- ที่คุณอาช่ากำลังฟังธรรมเป็นกุศลหรือเปล่า? (เป็นกุศล) ถ้าฟังธรรมเพราะอยากจะเก่งกว่าคนอื่นเป็นกุศลหรือเปล่า? (ไม่เป็นกุศล) เพราะฉะนั้น ถ้าฟังธรรมด้วยความสนใจนิดหน่อยเพราะอยากรู้เท่านั้น กับการฟังธรรมเพราะรู้ว่า ไม่รู้ สิ่งที่กำลังมี ซึ่งสามารถจะรู้ได้เมื่อฟังแล้วหรือเปล่า? (ต่างกัน) .

- เพราะฉะนั้น คนที่เกิดเป็นมนุษย์หลากหลายมาก เพราะกุศลต่างกัน เพราะฉะนั้น ต้องไม่ลืมว่า การเกิดเป็นมนุษย์ไม่พิการ ไม่บ้า ใบ้ แต่กำเนิดเป็นผลของกรรมที่มีกำลังกว่ากรรมเล็กๆ น้อยๆ .

- กุศลกรรมเล็กๆ น้อยๆ ของคุณอาช่ามีไหม? (มี) อกุศลกรรมที่มีกำลังมีไหม? (มี) ถ้าเป็นผลของกุศลกรรมที่เล็กน้อยที่มีอกุศลกรรมที่มีกำลังมากมายก็ทำให้เกิดเป็นคนพิการตั้งแต่กำเนิด เพราะขณะนั้นเป็นผลของกุศลกรรมที่ทำให้สันตีรณกุศลวิบากเกิดต่อจากจุติจิตของชาติก่อน (ครับ) เลือกที่จะเกิดเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ได้ไหม? (ไม่ได้) .

- ยังมีข้อสงสัยในเรื่องของกุศลวิบาก อกุศลวิบากที่เป็นอเหตุกะอีกไหม? (คุณสุคิน: อาช่าบอกว่าก่อนหน้านี้ก็สับสนเรื่องสันตีรณกุศลวิบากว่า ถ้าเป็นปฏิสนธิ ทำกิจปฏิสนธิแล้วตรงนั้นแกไม่ทราบว่าเป็นอย่างนั้นเกิดมาเป็นคนพิการ ตอนนี้ทราบแล้วว่าปฏิสนธิด้วยสันตีรณกุศลวิบากต้องเกิดมาเป็นคนพิการ ถ้าเกิดมาไม่พิการก็ไม่ปฏิสนธิด้วยสันตีรณกุศลวิบาก) อันนี้เป็นเหตุที่เราต้องทบทวนจนกระทั่งให้คนที่เริ่มเข้าใจธรรมรู้ประโยชน์จริงๆ ว่า ฟังธรรมเพื่อเข้าใจความเป็นธรรม ไม่ใช่เรา.

กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ด้วยความเคารพอย่างยิ่งค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
เมตตา
วันที่ 24 มิ.ย. 2566

- อันนี้เป็นเหตุที่เราต้องทบทวน จนกระทั่งให้คนที่เริ่มเข้าใจธรรมรู้ประโยชน์จริงๆ ว่า ฟังธรรมเพื่อเข้าใจความเป็นธรรม ไม่ใช่เรา เรากำลังพูดถึงชีวิตความเป็นไปของธรรม แต่ละหนึ่งขณะ ตั้งแต่เกิด.

- ปฏิสนธิจิตเกิดแล้วต้องดับใช่ไหม? (ครับ) แล้วต้องมีจิตเกิดต่อไหม? (ต้องเกิด) บังคับไม่ให้เกิดได้ไหม? (ไม่ได้) เพราะฉะนั้น จิตที่เกิดต่อจากปฏิสนธิมีอะไรเป็นปัจจัยให้เกิด? (เหตุของจิตนั้นต้องเป็นกรรมเดียวกันที่ทำให้ปฏิสนธิเกิด) เพราะฉะนั้น ต้องเป็นผลของกรรมเดียวกัน จึงมีกรรมนั้นเป็นกัมมปัจจัย ทำให้จิตนั้นที่เกิดต่อต้องเป็นอย่างนั้นไม่เป็นอย่างอื่น นอกจากกัมมปัจจัยแล้ว จิตทุกขณะที่ไม่ใช่จุติจิตของพระอรหันต์มีเป็นอนันตรปัจจัยทันทีที่จิตนั้นดับเป็นปัจจัยให้จิตต่อไปเกิดขึ้นไม่มีใครยั้บยั้งได้.

- และทันทีที่ปฏิสนธิจิตดับ จิตที่เกิดต่อเป็นอะไร? (เป็นภวังค์) จะเป็นจิตเห็นทันทีได้ไหมเกิดต่อจากปฏิสนธิจิต? (ไม่ได้) เพราะจิตที่เกิดต่อต้องเกิดต่อโดยสมนันตรปัจจัย กำกับไว้ว่า จิตประเภทนี้เกิดแล้วดับแล้วจิตอื่นจะเกิดต่อจากจิตที่เกิดต่อไม่ได้ เพราะฉะนั้น ทันทีที่ภวังคจิตดับ และจิตอื่นที่ไม่ใช่ภวังค์จะเกิดต้องเป็นจิตอะไร? (คุณสุคิน: ท่านอาจารย์ครับ อย่างแรกคือทราบว่า ภวังค์ก็ไม่ใช่ขณะเดียว ต้องเกิดต่อๆ ผมเลยถามหลังจากจบภวังค์นี่เป็นจิตอะไร เขาพิจารณาดูว่า เป็นเห็น เป็นอะไรไม่ได้ เพราะฉะนั้น น่าจะเป็นจิตคิดที่เกิดตรงหทยวัตถุ) เดี๋ยวก่อนนะ คิดสักยาวถูกไหมนี่? (เป็นจิตคิด แกตอบว่า จิตคิดครับ) ไม่ใช่ ดิฉันถามเขาว่า เขาคิดเสียยาวเรื่องนั้น เรื่องนี้ แล้วก็เป็นอย่างที่เขาพูดหรือเปล่าถ้าเป็นเรื่องเป็นราวอย่างนั้น ถามอะไรก็ตอบเป็นเรื่องหมด แต่ดิฉันไม่ต้องการให้เขาตอบเป็นเรื่อง เพราะฉะนั้น ทวนคำถามใหม่นะ.

- ทวนคำถามใหม่ ทันทีที่ภวังคจิตไม่ได้เกิดขึ้นทำภวังคจิต จะรู้อารมณ์ที่ไม่ใช่อารมณ์ของภวังค์ จิตอะไรต้องเกิดต่อจากภวังค์? (เป็นอาวัชชนะครับ) เห็นไหม ถ้าถามจริงๆ ให้เขาคิดทวนความจำของเขา จะได้ไม่ลืม เพราะชื่อมันเยอะ ต่อไปจะมีชื่ออีก แต่จะลืมไม่ได้เลยในเหตุผล เพราะฉะนั้น เขาก็สามารถที่จะรู้ตรงคำถามสั้นๆ ชัดๆ ไม่ไปคิดเรื่องอื่นว่าโน่น นี่ นั่นอะไรเท่านั้น ต่อจากภวังคจิตต้องเป็นจิตอะไร อีกที? (อาวัชชนะครับ) .

- อาวัชชนะ คืออะไร? (เป็นทวารครับ) คำถามว่าอย่างไร? (อาวัชชนะ คืออะไรครับ แกตอบว่า เป็นทวาร) ทวาร คืออะไร? (ทวาร คือ รู้ว่าอารมณ์อะไรกระทบ) ขอโทษคะ ต้องฟังคำถามละเอียด ทวาระ คืออะไร? (หมายถึง ทาง) เป็นนามธรรม หรือรูปธรรม? (เป็นนามธรรม) มีทวารอะไรบ้าง? (มีปัญจทวาร กับมโนทวาร) เป็นนามธรรมหรือเป็นรูปธรรม? (เป็นรูป) กี่ทวาร? (ตอนนี้จำได้แล้ว ๕ เป็นรูป และ ๑ เป็นนาม) เห็นไหม จำไม่พอใช่ไหม? (อาช่า: ... .) เอาอีกแล้ว ไปตั้งไกลอีกแล้ว ถามว่า เพียงจำไว้ไม่พอใช่ไหม? (แกอธิบายว่า ไม่เกี่ยวกับจำครับ แกบอกว่าพิจารณาดู แกคิดว่า มันไม่น่าจะเป็นอย่างนั้น) ไม่น่าจะได้หรือ คือความคิดของคน เขาไม่รู้จักธรรมว่าเปลี่ยนแปลงไม่ได้ การตรัสรู้ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่แสดงแล้ว ไม่ต้องไปคิดเอง ให้ไตร่ตรองตามที่ได้ฟังนั้นแหละเท่านั้น (คุณสุคิน: คือ ไม่น่านี่ผมใช้เองเป็นคำพูดของผม แกไม่ได้พูดอย่างนั้น แกบอกหลังจากพิจารณาแล้วไม่ใช่จำ) ตัองถูกต้องอย่างนั้น เพราะฉะนั้น จำเท่านั้นไม่พอใช่ไหม? (แค่จำไม่มีประโยชน์) .

- เพราะฉะนั้น จักขุทวารเป็นอาวัชชนะหรือเปล่า? (อาวัชชนะไม่ใช่เป็นรูป) เพราะฉะนั้น จักขุเป็นทวาร หรือจักขุเป็นอาวัชชนะ? (จักขุเป็นทวาร) อะไรเป็นอาวัชชนะ? (อาวัชชนะเป็นจิต) เป็นจิตอะไร? (เป็นอาวัชชนจิต) อาวัชชนจิตเป็นจิตอะไร? (กิริยา) เห็นไหม ถามอะไรต้องตอบอย่างนั้นซิ จะไปพูดอะไรที่ไม่ใช่คำตอบ เพราะฉะนั้น เขาจะต้องเข้าใจตรงนี้ว่าต้องไม่ปนกัน ระหว่างจักขุทวาร กับอาวัชชนะ.

- จักขุทวาราวัชชนจิตเป็นอะไร? (เป็นกิริยาจิต) ทำไมไม่เป็นวิบากจิต ทำไมไม่เป็นกุศลจิต ทำไมไม่เป็นอกุศลจิต? (เพราะว่าไม่ได้เป็นผลของกรรม และไม่ได้เป็นเหตุ ไม่ได้เป็นกุศล ไม่ได้เป็นอกุศล) และก็ไม่ได้ประกอบด้วยเหตุ ๖.

- ปัญจทวาราวัชชนจิตจะรู้อารมณ์ทางใจได้ไหม? (ไม่ได้) มโนทวาราวัชชนจิตจะรู้อารมณ์ที่เป็นการรู้อารมณ์ทางตาได้ไหม? (ได้) อันนี้ก็ยังไม่พร้อมด้วยเหตุผลนะ แต่ก็ฟังไว้ก่อนว่ามีความละเอียดอีกมาก เพียงแต่ให้เข้าใจว่าธรรมละเอียดกว่านี้ลึกซึ้งกว่านี้ ต้องศึกษาตามลำดับ.

กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ด้วยคว ามเคารพอย่างยิ่งค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
เมตตา
วันที่ 24 มิ.ย. 2566

- เพราะฉะนั้น ต้องมีความเข้าใจที่มั่นคงละเอียด จักขุทวารไม่ใช่จักขุทวาราวัชชนจิต ถูกต้องไหม ลืมหรือยัง? (เข้าใจ) เพราะฉะนั้น ปัญจทวาราวัชชนจิตมีกี่ดวง? (๕ ดวง) ฟังดีๆ นะ ปัญจทวาราวัชชนจิตมีกี่ดวง? (๑ ดวง) แต่รู้อารมณ์ได้ ๕ ทางใช่ไหม? (ใช่) มโนทวาราวัชชนจิตมีกี่ดวง? (๑ ดวง) แต่ข้อพิเศษ คือรู้อารมณ์ได้ทุกอารมณ์ แสดงให้เห็นว่า เราคิดเองไม่ได้ ต้องเข้าใจความจริงซึ่งเป็นเหตุ และเป็นผลโดยละเอียดอย่างยิ่ง ค่อยๆ เข้าใจขึ้น แต่ที่เข้าใจแล้วต้องไม่ลืม.

- อเหตุกจิตทั้งหมดมีกี่ดวง? (๑๘ ดวง) มีอะไรบ้าง? (มีกุศล ๘ อกุศล ๗ กิริยา ๓) อเหตุกะจะเป็นกุศลได้หรือ? (๗ เป็นอกุศลวิบาก ๘ เป็นกุศลวิบาก และ ๓ เป็นกิริยา) ตอนนี้เรารู้จักแล้วพูดถึงกี่ดวงแล้ว? (เราพูดถึง อกุศลวิบาก ๗ กุศลวิบาก ๘ และกิริยา ๒ คือ ปัญจทวาราวัชชนจิต และมโนทวาราวัชชนจิต กิริยาอีก ๑ ยังไม่ได้พูดถึง) .

- เพราะฉะนั้น อเหตุกะดวงสุดท้ายมีชื่อว่า หสิตุปปาทจิต เป็นกิริยาจิตเฉพาะของพระอรหันต์ เป็นเหตุให้เกิดการแย้มของพระอรหันต์ อารมณ์ที่คนอื่นรู้ไม่ได้ (คุณสุคิน: อารมณ์ที่คนอื่นรู้ไม่ได้หมายความว่าอะไรครับ) หมายความว่า หสิตุปปาทจิตเป็นจิตที่ทำให้พระอรหันต์ยิ้มในอารมณ์ที่คนอื่นไม่สามารถจะรู้ได้ว่า อารมณ์นั้นคืออะไรที่ทำให้พระอรหันต์ยิ้ม เพราะธรรมดาทุกคนยิ้มเพราะมีเหตุที่พอจะรู้ได้ ธรรมดาคนธรรมดายิ้มด้วยกุศลจิตก็ได้ ยิ้มด้วยอกุศลจิตก็ได้ พระอรหันต์ก็ยิ้มด้วยกิริยาจิตที่เป็นมหากิริยาที่มีโสมนัสเกิดร่วมด้วย แต่เมื่อเป็นหสิตุปปาทะเป็นการแย้มของพระอรหันต์ซึ่งเป็นไปในอารมณ์ซึ่งคนอื่นรู้ไม่ได้ เช่น การรู้ชาติก่อนๆ ที่เกิดขึ้นกับคนนั้นคนนี้เป็นต้น.

- เพราะฉะนั้น พระโสดาบันมีอเหตุกะกี่ดวง? (๑๗) พระอนาคามีมีอเหตุกจิตกี่ดวง? (๑๗) ใครมีอเหตุกจิต ๑๘ ดวง? (พระอรหันต์) .

- เวลาที่คุณอาช่ายิ้ม คุณสุคินรู้ไหมว่าจิตอะไรยิ้ม? (ก็พอทราบครับ) ถามเขาดูซิค่ะว่า เวลาคุณสุคินยิ้ม อาช่ารู้ไหมว่าจิตอะไรยิ้ม? (เป็นกุศล อกุศล) เพราะฉะนั้น ตอนนี้เราเข้าใจอเหตุกะ ๑๘ แล้วใช่ไหม? (ใช่) .

- อเหตุกจิตเป็นกุศล อกุศลได้ไหม? (ไม่ได้) แต่ทั้งวันไม่ได้มีแต่เห็น ได้ยิน แต่มีกุศลบ้าง อกุศลบ้างใช่ไหม? (ใช่) เพราะฉะนั้น เราจะพูดถึงจิตที่เป็นสเหตุกะต่อไปนี้ ขณะที่ทุกคนหลับสนิท ไม่มีกุศลจิต อกุศลจิตแน่นอน เพราะขณะนั้นเป็นผลของกรรมที่ทำให้หลับสนิท แต่กุศลจิต และอกุศลจิต เพราะเห็น ได้ยิน ได้เข้าใจธรรม ตลอดวันหนึ่งๆ นอกจากเป็นอเหตุกะแล้วก็ยังเป็นสเหตุกะ คือจิตนั้นประกอบด้วยโลภะ โทสะ โมหะ หรือ อโลภะ อโทสะ อโมหะซึ่งเป็นเหตุ.

- รูปมีอายุยาวมากกว่าจิต จิตเกิดดับ ๑๗ ขณะ รูปๆ หนึ่งดับ เพราะฉะนั้น เมื่อรูปเกิดกระทบภวังค์ ๑ ขณะ การกระทบของรูป ... (คุณสุคิน: การกระทบนี้เรียกว่า contact เดี๋ยวผมขอหาคำศัพย์นี้ว่าจะพูดว่าอย่างไร) เราพูดถึงการกระทบค่ะ เรายังไม่ได้พูดถึงสภาพรู้ (ครับ ครับ) เมื่อมีสิ่งที่กระทบกัน สิ่งนั้นกระทบตา เสียงกระทบหู (ตรงนั้น เพราะฉะนั้น ผมไม่อยากให้ใช้คำที่ไม่ถูก กำลังนึกอยู่ครับ) คุณสุคินคะ การกระทบกันของรูปมีได้ไหม? (ได้) เพราะฉะนั้น เราก็พูดถึงการกระทบกันของรูป คือ เสียงกระทบหู กระทบภวังค์ (คุณสุคิน: ต้องเริ่มต้นใหม่ครับ พอดีอาช่าเขาหลุดออกไปไม่ได้ยินครับ) .

- เรากำลังจะตั้งต้นพูดถึงจิตที่ประกอบด้วยเหตุ (ครับ) ภวังคจิตประกอบด้วยเหตุก็มี ไม่ประกอบด้วยเหตุก็มี แต่เหตุต้องเป็นฝ่ายที่เป็นโสภณะ อันนี้เรายังไม่ต้องพูดถึงเลยก็ได้นะ ข้ามไปก่อน เพราะว่าเรากำลังจะพูดถึงว่า เมื่ออเหตุกะเกิดแล้วต่อจากนั้นจะเป็นจิตที่ประกอบด้วยเหตุ.

- เพราะฉะนั้น ทุกคนเห็นแล้วก็มีจิตหลากหลายต่างกันมาก บางคนก็เป็นกุศล บางคนก็เป็นอกุศล แม้ดับไปแล้วนะสิ่งต่างๆ ที่ผ่านไปก็เก็บสะสมอยู่ในจิตทุกขณะ.

- เพราะฉะนั้น กุศล อกุศลที่ผ่านมาแล้วในแสนโกฏิกัปป์สะสมสืบต่ออยู่ในจิตไม่หายไปไหนเลย พร้อมที่จะเกิดเมื่อถึงเวลา.

- เพราะฉะนั้น เมื่อเสียงกระทบหู กระทบภวังค์ ๑ ขณะ เสียงที่เกิดกระทบหู ภวังคจิตถูกกระทบด้วย ๑ ขณะ เสียงดับหรือยัง? (ยังไม่ดับ) ภวังค์ดับหรือเปล่า? (ดับ) เพราะฉะนั้น เสียงยังกระทบอยู่นะ เพราะฉะนั้น ภวังค์ที่ถูกกระทบดับ ทำให้ภวังค์ที่เกิดต่อไหวที่จะทิ้งอารมณ์เก่า รูปดับหรือยัง? (ยังไม่ดับ) เพราะฉะนั้น ภวังค์ที่ไหวทำให้เกิดภวังค์สุดท้ายที่จะต้องรู้อารมณ์ที่กระทบไม่ใช่อารมณ์ของภวังค์ เพราะฉะนั้น ทันทีที่รูปเกิดกระทบภวังค์ ทำให้เกิดภวังค์ที่ถูกกระทบเป็น อตีตภวังค์ ดับ แล้วภวังค์ที่เกิดต่อก็ไหวที่จะทิ้งอารมณ์เก่าเพราะการกระทบของอารมณ์ใหม่เป็น ภวังคจลนะ อีกขณะหนึ่งก็คือว่า เมื่อกระทบแล้ว ไหวแล้วก็สิ้นสุดไม่รู้อารมณ์ของภวังค์ แต่เริ่มรู้อารมณืที่กระทบ.

- จิตตั้งแต่อตีตภวังค์ ภวังคจลนะ ภวังคุปัจเฉทซึ่งเป็นภวังค์ดวงสุดท้าย ไม่ใช่วิถีจิตเพราะมีอารมณ์ของภวังค์ เพราะฉะนั้น ภวังคจิต หมายถึง ขณะใดๆ ก็ตามที่จิตยังไม่รู้อารมณ์อื่นนอกจากอารมณ์เดียวกับปฏิสนธิ.

กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ด้วยความเคารพอย่างยิ่งค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
เมตตา
วันที่ 24 มิ.ย. 2566

- เพราะฉะนั้น วิถีจิตหมายถึง จิตที่รู้อารมณ์ที่ไม่ใช่อารมณ์ของภวังค์ เพราะฉะนั้น วิถีจิตทั้งหมด คือจิตทุกขณะที่รู้อารมณ์ที่ไม่ใช่อารมณ์ของภวังค์.

- งูมีภวังคจิตไหม? (มี) เทวดามีวิถีจิตไหม? (มี) ก่อนวิถีจิตเป็นอะไร? (เป็นภวังค์) เพราะฉะนั้น ก่อนวิถีจิตไม่ใช่จิตที่เป็นวิถีจิต พ้นจากการเป็นวิถีจิตที่จะรู้อารมณ์อื่นจึงมีชื่อว่า วิถีวิมุตติ (คุณสุคิน: ท่านอาจารย์ทวนใหม่ครับ) ภาษาบาลีจะใช้คำว่า วิถีวิมุตติ เพราะเหตุว่า เป็นจิตที่ไม่ใช่วิถี จะต้องเป็นอารมณ์ของภวังค์ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน.

- เพราะฉะนั้น ขณะไหนบ้างที่ไม่ใช่วิถีจิต? (ตอนที่เป็นภวังค์) แล้วตอนไหนอีกที่ไม่ใช่วิถีจิต? (ปฏิสนธิ กับจุติ) เพราะฉะนั้น จิตที่ไม่ใช่วิถีจิต คือขณะที่เป็นปฏิสนธิจิต เป็นภวังคจิต เป็นจุติจิต.

- เพราะฉะนั้น ขณะใดก็ตามที่ไม่รู้อารมณ์อื่น นอกจากอารมณ์ของปฏิสนธิ ขณะนั้นก็เป็นวิถีวิมุตตจิตคือไม่ใช่วิถีจิต.

- เดี๋ยวนี้มีจิตที่ไม่ใช่วิถีไหม? (มี) มีเมื่อไหร่? (คุณสุคิน: ทีแรกอาช่าตอบว่า ภวังค์ ผมเลยถามเขาว่าตอบโดยนัยว่าไม่ต้องตอบว่าภวังค์อย่างเดียว ตอบอีกแบบได้ไหม เขาก็ตอบว่าตอนที่นอน แล้วผมเลยถามเขาต่อไปอีกว่าพูดอีกแบบหนึ่งได้ไหมว่าตอนไหนเป็นภวังค์ แกก็ตอบว่า ตอนที่สิ่งที่ปรากฏในชีวิตประจำวันไม่ได้ปรากฏตอนนั้นเป็นวิมุตตจิต) นี่ก็เป็นสิ่งที่ละเอียดที่จะต้องฟังอีกจนกระทั่งมีความเข้าใจละเอียดขึ้น แต่ให้ทราบว่า ขณะใดก็ตามจิตนั้นไม่ได้รู้อารมณ์ที่เป็นอารมณ์เดียวกับปฏิสนธิ ภวังค์ จุติ จิตนั้นเป็นวิถีจิต แต่ถ้าขณะใดที่รู้อารมณ์เดียวกับปฏิสนธิ ภวังค์ ขณะนั้นก็ไม่ใช่วิถีจิต จึงต้องเข้าใจ คำว่า วิถีจิต หมายความถึงอะไร.

- เพราะฉะนั้น ต่อไปนี้จะเห็นว่า วิถีจิต มีมากมายหลายประเภท ต่อไปนี้เราจะพูดถึงเรื่องวิถีจิต เพราะฉะนั้น ต่อไปนี้เราจะพูดถึงกุศลจิต อกุศลจิต.

- กุศลจิต อกุศลจิต ขณะนอนหลับสนิทมีไหม? (ไม่มี) แล้วขณะที่กำลังเห็นเดี๋ยวนี้ มีกุศลจิต อกุศลจิตไหม? (ไม่ครับ) เห็นแล้วไม่เป็นกุศล อกุศลหรือ แล้วกุศล อกุศลมีเมื่อไหร่? (เห็นแล้วก็เกิดกุศล อกุศลครับ) ซึ่งไม่ใช่อเหตุกะ (ครับ) อเหตุกะเป็นวิถีจิตหรือเปล่า? (เป็น) .

- เพราะฉะนั้น วิถีจิตเริ่มเมื่อ ทางหูนะ เสียงกระทบหู และกระทบภวังค์ด้วย ภวังค์เป็นวิถีจิตหรือเปล่า? (ไม่เป็น) แต่ภวังค์ที่ถูกกระทบมีอารมณ์เดียวกับภวังค์ตามปกติ ชื่อว่าอตีตภวังค์ แสดงว่า อารมณ์เดียวกัน แต่เป็นขณะจิตที่ภวังค์ถูกกระทบด้วย.

- อตีตภวังค์เป็นภวังค์ที่รูปกระทบกับทวารดับแล้ว ขณะต่อไปเป็นอะไร? (ภวังคจลนะ) ภวังคจลนะเป็นวิถีจิตหรือเปล่า? (ไม่) ยังไม่รู้อารมณ์ที่กระทบแต่เพียงรู้ว่าอารมณ์กระทบ แล้วภวังค์ไหวเพราะถูกกระทบ ภวังคจลนะดับแล้วอะไรเกิดต่อ? (ภวังคุปเฉทะ) มีอารมณ์อะไร? (มีอารมณ์เดียวกับอตีตภวังค์ และภวังคจลนะครับ) ภวังคุปเฉทะเป็นวิถีจิตหรือเปล่า? (ไม่เป็น) ถูกต้อง ไม่ลืมนะเพราะคิดว่าได้ยินคำนี้มาก่อนแล้วก็สนใจด้วย แต่เรายังไม่ได้พูดถึงวาระที่จะเกิดขึ้นตามลำดับ.

- คำว่า ภวังคุปเฉทะ หมายความว่าอะไร? (แปลว่าภวังค์ที่จะยุติก่อนที่วิถีจิตจะเกิด) เป็นภวังค์ที่สิ้นสุดความเป็นภวังค์จะเป็นภวังค์ต่อไปอีกไม่ได้ มีอตีตภวังค์หลายครั้งก็ได้ มีภวังคจลนะหลายครั้งก็ได้ แต่เมื่อภวังคุปเฉทะเกิดแล้วดับต้องเป็นวิถีจิต จะเป็นภวังค์ต่อไปไม่ได้.

- เพราะฉะนั้น วิถีจิตแรกต่อจากภวังคุปเฉทะเป็นจิตอะไร? (เป็นอาวัชชนะ) เป็นกุศล หรืออกุศล? (ไม่ได้เป็นกุศล ไม่ได้เป็นอกุศล และไม่เป็นวิบาก) ไม่ลืมนะ เก่งมาก เพราะฉะนั้น เป็นวิถีจิตแรกใช่ไหม? (ครับ) .

- ปัญจทวารวัชชนะ หรือจะเป็นทางตา จักขุทวาราวัชชนะ ทางหูเป็นโสตทวาราวัชชนะ ดับแล้ว จิตต่อไปอะไรเกิดขึ้น? (เป็นวิบากจิตครับ) ทำกิจอะไร? (เป็นปัญจวิญญาณที่เกิด) ทีละ ๑ หรือ ทั้ง ๕? (ทีละ ๑) วิบากจิตเป็นวิถีจิตได้ไหม? (ได้) นี่แสดงให้เห็นว่า ผลของกรรมทำให้กุศลวิบากที่เป็นจักขุวิญญาณ หรืออกุศลวิบากที่เป็นจักขุวิญญาณเกิดขึ้นเลือกไม่ได้เพราะ ถ้าเป็นอารมณ์ที่ดีจิตที่ดีเป็นกุศลวิบากที่เห็นสิ่งนั้น ถ้าสิ่งที่ปรากฏไม่น่าพอใจก็ต้องเป็นผลของอกุศลกรรมทำให้จิตเห็นขณะนั้นเป็นอกุศลวิบาก.

กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ด้วยความเคารพอย่างยิ่งค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
เมตตา
วันที่ 24 มิ.ย. 2566

- หมายความว่า วิบากจิตเป็นวิถีจิตได้ เพราะเหตุว่า เวลาที่จักขุวิญญาณจิตเห็นเกิดขึ้น ถ้าเห็นสิ่งที่น่าพอใจเป็นวิบากเป็นผลของกุศลกรรม ถ้าเห็นสิ่งที่ไม่น่าพอใจเป็นอกุศลวิบากเป็นเป็นผลของอกุศลกรรม.

- จักขุวิญญาณชอบสิ่งที่น่าพอใจที่กำลังเห็นได้ไหม? (ไม่ได้) เก่งมาก เพราะเพียงเห็นเป็นผลของกรรม.

- จักขุวิญญาณเห็นแล้วดับ รูปที่กระทบตาดับแล้วยัง? (ยัง) เพราะฉะนั้น จิตที่เกิดต่อก็รู้อารมณ์ที่กระทบตาที่ยังไม่ดับ และทำกิจอะไรต่อจากจิตเห็น? (รับรู้อารมณ์) ทำกิจอะไร? (รับรู้อารมณ์ที่เรียกว่าสัมปฏิจฉันนะครับ) รูปดับหรือยัง? (ยัง) เพราะฉะนั้น กรรมทำให้จิตอะไรเกิดต่อจากสัมปฏิจฉันนะ? (สันตีรณะ) เพราะฉะนั้น กรรมทำให้สัมปฏิจฉันนะเกิดต่อรับอารมณ์นั้นไว้เท่านั้น แล้วเมื่อสัมปฏิจฉันนะดับแล้ว กรรมก็ทำให้จิตที่เกิดต่อรู้อารมณ์ที่รับไว้เพิ่มขึ้นเพราะเป็นผลของกรรม.

- เพราะฉะนั้น ผลของกรรมให้ผลเพียงแค่เห็น แล้วสัมปฏิจฉันนะ สันตีรณะ หมดหน้าที่ของกรรมที่จะให้รู้อารมณ์นั้นเท่านั้น ต่อไปนี้ก็เป็นจิตซึ่งไม่ใช่วิบาก แต่กุศล และอกุศลที่สะสมมาในจิตทุกขณะพร้อมที่จะเกิดที่จะชอบหรือไม่ชอบที่จบอารมณ์ที่ปรากฏ.

- แต่วิบากที่เห็นทั้งหมดดับแล้ว กุศล และอกุศลที่เก็บสะสมมาพร้อมที่จะเกิดในสิ่งที่ปรากฏ แต่เกิดต่อจากวิบากทันทีไม่ได้ เพราะฉะนั้น มีจิตหนึ่งที่เราเรียนแล้วคือ กิริยาจิต ที่เกิดก่อนกุศล และอกุศลเกิดต่อจากวิบากเพื่อที่ว่า กุศลและอกุศลที่สะสมมาจะเกิดได้ จิตนั้นทำหน้าที่เปิดทางให้กุศล และอกุศลเกิด ถ้าเป็นทางปัญจทวารจิตนั้นทำโวฏฐัพพนกิจ ไม่ใช่ทำอาวัชชนกิจ จิตนั้นคือจิตที่มีกิจมากกว่าจิตอื่นนะ คือมโนทวาราวัชชนจิต ทำกิจอาวัชชนะทางมโนทวารแต่ทำโวฏฐัพพนะกิจทางปัญจทวาร จิตนี้เกิดก่อนกุศล และอกุศล หรือกิริยาจิตของพระอรหันต์ ถ้าไม่พูดถึงจิตของพระอรหันต์จิตนี้ (กุศล อกุศล) ก็ทำกิจที่เกิดขึ้นประกอบด้วยเหตุคือกุศล และอกุศลที่สะสมมา ที่จะพอใจหรือไม่พอใจ หรือเป็นกุศลในอารมณ์ที่จักขุวิญญาณเห็น โสตวิญญาณได้ยิน เป็นต้น เพราะฉะนั้น เพื่อเข้าใจจิตนี้ ต้องกล่าวย้อนไปถึงอเหตุกะ ๑๘ ดวง จิตใดก็ตามที่ทำกิจรู้อารมณ์ถ้าทางปัญจทวารก็ทำกิจโวฏฐัพพนะ.

- อเหตุกกิริยามีเท่าไหร่? (มี ๓) ๓ คืออะไรบ้าง? (ปัญจทวาราวัชชนจิต ๑ มโนทวาราวัชชนจิต ๑ และหสิตุปาทะ) เพราะฉะนั้น เราจะไม่พูดถึงหสิตุปาทะ แต่จะพูดถึงกิริยา ๒ ปัญจทวาราวัชชนจิตทำกิจอะไร? (ทำหน้าที่รับรู้อารมณ์ที่มาทางปัญจทวารทวารไหนก็ได้) เพราะฉะนั้น ถ้าเป็นการรู้อารมณ์ครั้งแรกที่กระทบทาง ๕ ทวารเป็นปัญจทวาราวัชชนะ แต่เวลาที่ไม่ใช่อารมณ์ที่ปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย แต่คิดถึงโดยไม่ได้เห็น ไม่ได้ยินเลย จิตที่เกิดรู้อารมณ์ที่ไม่ใช่อารมณ์ของภวังค์ ขณะแรก เป็นมโนทวาราวัชชนะรู้อารมณ์ทางใจขณะแรก.

- เพราะฉะนั้น เราจะพูดถึงเฉพาะมโนทวาราวัชชนจิต เพราะว่า มโนทวาราวัชชนจิตมี ๒ กิจ ไม่ใช่กิจเดียวอย่างปัญจทวาราวัชชนะ.

- เพราะฉะนั้น กิจที่ ๑ ของมโนทวาราวัชชนะเป็นอาวัชชนกิจเหมือนทางปัญจทวาราวัชชนะ แต่ปัญจทวาราวัชชนะเกิดทาง ๕ ทวาร แต่มโนทวาราวัชชนะเกิดเฉพาะทางใจ ที่คิดถึง กระทบอารมณ์ที่ทำให้คิดทางใจ เพราะฉะนั้น ทาง ๕ ทางมีอาวัชชนจิตที่เป็นขณะแรกที่เป็นวิถีจิตรู้อารมณ์ก่อนเห็น ได้ยินเป็นต้น เป็นจิตแรกที่รู้อารมณ์ที่ไม่ใช่อารมณ์ของภวังค์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย จิตเดียวแต่รู้ได้ ๕ ทาง และจิตแรกที่รู้อารมณ์ทางใจ ก็คือมโนทวาราวัชชนจิตทำกิจแรกที่รู้อารมณ์ทางใจ.

- แต่ มโนทวาราวัชชนะ ต่างกับปัญจทวาราวัชชนะ เพราะเหตุว่ามโนทวาราวัชชนะสามารถทำได้ ๒ กิจ แต่ทางปัญจทวารรู้อารมณ์ได้ทีละ ๑ ทวาร แต่รู้ได้ ๕ ทวาร มโนทวาราวัชชนะก็รู้อารมณ์ขณะแรกทางใจแต่ต่างกับปัญจทวาราวัชชนะเพราะสามารถรู้อารมณ์ทางใจเป็นขณะแรกทำกิจอาวัชชนะ แต่มโนทวาราวัชชนะรู้อารมณ์ได้ทุกอารมณ์ แต่ถ้าทำอาวัชชนกิจรู้ได้ทางทวารเดียว คือมโนทวาร.

- เพราะฉะนั้น คราวต่อไปเราจะพูดเรื่องมโนทวาราวัชชนจิต ตอนนี้รู้แล้วใช่ไหมทำไมเป็นปัญจทวาราวัชชนจิต ทำไมเป็นมโนทวาราวัชชนจิตเพราะอะไร แต่สิ่งที่ได้ฟังแล้วทั้งหมด เปลี่ยนไม่ได้ แต่จะเข้าใจเพิ่มขึ้น.

- ธรรมเป็นสิ่งที่ลึกซึ้ง กำลังมีเดี๋ยวนี้ กว่าจะรู้ว่า ไม่ใช่เรา ต้องอาศัยความเข้าใจที่ละเอียดขึ้นๆ มั่นคงขึ้น ต้องไม่ลืมความละเอียด ความลึกซึ้ง จึงจะได้รู้จักพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในพระปัญญาคุณ พระบริสุทธิคุณ พระมหากรุณาคุณ.

กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ด้วยความเคารพอย่างยิ่งค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
khampan.a
วันที่ 24 มิ.ย. 2566

กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพยิ่ง
กราบยินดีในกุศลของคุณสุคิน ผู้ถ่ายทอดคำท่านอาจารย์เป็นภาษาฮินดี
ขอบพระคุณและยินดีในกุศลวิริยะของพี่เมตตาด้วยครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
siraya
วันที่ 25 มิ.ย. 2566

กราบอนุโมทนาค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ