มีชีวิตอยู่เพื่อปัญญาปรากฏ มิถุนายน 2566

 
kanchana.c
วันที่  24 มิ.ย. 2566
หมายเลข  46091
อ่าน  429

เจ็บเพราะมีจิต

เคยได้ยินคนพูดว่า คนอายุ 70 – 80 ปี อยู่ในวัยอันตราย เหมือนลงเขาชันๆ ถ้ารอดไปได้ก็จะมีโอกาสอยู่ต่อได้อีกนาน ประสบกับตนเองเมื่ออายุ 73 เกือบปีแล้วที่ร่างกายเริ่มทรุดโทรมเจ็บป่วยเพราะความชรา เข่าเริ่มเสื่อมก่อน แต่ยังไม่ถึงขนาดต้องเปลี่ยนเข่า เพียงแต่น้ำหล่อลื่นเข่าแห้ง ทำให้กระดูกเสียดสีกัน เจ็บปวดทรมานมาก เดินไม่ได้ ต้องใช้ไม้ยันรักแร้และวีลแชร์ เมื่อหมอฉีดน้ำหล่อลื่นเข้าเข่าทั้งสองก็ดีขึ้น ความจริงเป็นเข่าข้างซ้ายข้างเดียว แต่อยากหายไวเลยขอให้หมอฉีดทั้ง 2 ข้าง เมื่อเข่าซ้ายหายเจ็บปวดเป็นปกติ เริ่มปวดเข่าขวา ไปหาหมอกระดูกบอกว่า ใช้เข่าขวามากไปต้องไปทำกายภาพบำบัด ทำเป็นเดือนก็ไม่หาย ปวดมากขึ้นเรื่อยๆ ไปโรงพยาบาลเกือบทุกวัน หาหมอหลายแผนก จนในที่สุดพบว่า ที่ปวดเท้า เข่า และน่องเพราะเป็นงูสงัด ที่เกิดจากเชื้อไวรัสจากที่เคยเป็นสุกใสตั้งแต่อายุ 7 ขวบ เมื่อหายแล้ว ไวรัสนั้นก็จะฝังตัวอยู่ตามปลายประสาท ไม่หายไปไหน จะตายไปพร้อมกับเรา เมื่อร่างกายอ่อนแอก็จะเปลี่ยนเป็นงูสวัดมาทักทายว่า ฉันยังอยู่นะจ๊ะ ตอนที่พบว่าเป็นงูสวัดก็มีอาการมากแล้ว ปวดถึงหลัง หมอให้กินยาต้านไวรัสวันละ 5 เม็ดทุก 4 ชั่วโมงเป็นเวลา 10 วัน พร้อมกับยาแก้ปวดปลายประสาท กินยาครบแล้วก็ยังไม่หายปวด ไปหาหมออีก หมอบอกว่า รักษาช้าไป ไวรัสเข้าไปอยู่ที่โพรงประสาทแล้ว ต้องกินยาแก้ปวดต่ออีก 6 เดือน และกินวิตามิน สมุนไพรบำรุงร่างกายให้แข็งแรง ไวรัสก็จะหลบไปซ่อนตามเดิมเอง (ในความทุกข์ก็ยังได้พบความสุขเมื่อท่านอาจารย์ดวงเดือน บารมีธรรม เมื่อทราบว่าต้องการสมุนไพรบำรุงร่างกาย จึงจัดส่งเห็ดหลินจือ น้ำสกัดพลูคาว มาให้มากมาย ตื้นตันใจในความเมตตาของท่านอย่างมาก กราบขอบพระคุณด้วยความตื้นตันอย่างยิ่งค่ะ)

ยังไม่เห็นจริงๆ ว่า ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใคร เมื่อกรรมจะให้ผล ทำให้ไม่มีใครแม้แต่ตัวเองเห็นตุ่มใสๆ หลายจุดบนเท้า ขา และหลัง ไม่อย่างนั้นกรรมจะให้ผลได้อย่างไร ถ้าเลือกได้ แต่ด้วยความเป็นเรา จึงอดไม่ได้ที่จะคิดซ้ำไปซ้ำมาว่า วันนั้นก็เห็นตุ่มใสๆ ขึ้นที่ตาตุ่ม ก็ไม่ได้บอกหมอ ขึ้นที่เท้าก็ไม่พูด บางทีก็คิดโกรธหมอที่จับเท้าดูแล้วก็ไม่เห็น คิดกลับกลับมาว่า ไม่น่าจะเป็นมากถึงขนาดนี้เลย ตอนปวดมากๆ จนนอนไม่หลับก็อดคิดไม่ได้ว่า เป็นอกุศลวิบากที่ทำไว้เอง ทำให้ย้อนนึกไปถึงเหตุการณ์ที่เคยทำให้คนอื่นเสียใจด้วยคำพูดที่ไม่ระมัดระวังของตนเอง เราเป็นคนมีปกติชอบพูดให้คนหัวเราะ รู้สึกสนุกดี ส่วนมากเอาเรื่องของตัวเองมาเล่าให้คนขบขัน วันนั้นพูดถึงคนอื่น ทุกคนหัวเราะขำ แต่คนนั้นทำหน้าเสียใจอยู่คนเดียว เกือบ 50 ปีผ่านมาแล้ว ยังจำได้ คนใกล้ตายเวลานึกถึงกรรมที่เคยทำไว้แล้วคงเป็นอย่างนี้ เวลาปวดงูสงัดจะปวดตุ๊บๆ ถึงหัวใจ ก็คงเป็นผลของกรรมที่ทำให้คนอื่นเจ็บใจด้วยความคะนองอย่างนี้เอง บางทีก็เป็นคนพูดตรงๆ คิดว่าดี ไม่ได้ขัดเกลาคำพูดตรงๆ นั้น พูดตรงแล้วคนฟังเสียใจ เมื่อฟังธรรมพอเข้าใจแล้ว จึงรู้ว่า เป็นคนมีโทสะ ไม่มีเมตตา ถึงใจร้ายพูดให้คนเสียใจได้อย่างนั้น ขออโหสิกรรมเพื่อนฝูงทั้งหลายที่ได้ทำให้เจ็บใจเพราะคำพูดมามากมาย

ตอนนี้ยังไม่ตาย ยังมีสภาพรู้ คือ จิตและเจตสิกอยู่ จึงต้องเจ็บ ถ้าไม่มีจิตเมื่อไร ก็จะไม่เจ็บ หมดสิ้นความเป็นบุคคลนี้ แล้วเกิดขึ้นเป็นคนใหม่ (อาจจะไม่ได้เป็นคน) ก็ต้องมีสภาพรู้อยู่ดี เกิดใหม่ก็ต้องทำกรรม รับผลของกรรมเช่นเดียวกับชาตินี้เช่นกัน หนีผลของกรรมไม่พ้น ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน แล้วการที่จะคิดว่า เราไม่น่าทำกรรมอย่างนั้นอย่างนี้ก็ไม่มีประโยชน์อะไร เพราะทุกอย่างก็ผ่านไปหมดแล้ว ไม่กลับมาให้เปลี่ยนแปลงอะไรได้เลย สิ่งที่ทำแล้วทำคืนไม่ได้ สิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้นก็ยังมาไม่ถึง ไม่มีประโยชน์อะไรที่จะไปนึกถึง ขณะเดี๋ยวนี้สำคัญที่สุดที่จะมีชีวิตอยู่เพื่อความเข้าใจธรรมเพิ่มขึ้น

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า

บุคคลไม่ควรคำนึงถึงสิ่งที่ล่วงแล้ว

ไม่ควรมุ่งหวังสิ่งที่ยังไม่มาถึง

สิ่งใดล่วงไปแล้ว สิ่งนั้นก็เป็นอันละไปแล้ว

และสิ่งที่ยังไม่มาถึงก็เป็นอันยังไม่ถึง

ก็บุคคลใดเห็นแจ้งธรรมปัจจุบันไม่ง่อนแง่น

ไม่คลอนแคลนในธรรมนั้นๆ ได้

บุคคลนั้นพึงเจริญธรรมนั้นเนืองๆ ให้ปรุโปร่งเถิด

พึงทำความเพียรเสียในวันนี้แหละ

ใครเล่าจะรู้ความตายในวันพรุ่ง

เพราะว่าความผัดเพี้ยนกับมัจจุราชผู้มีเสนาใหญ่นั้น

ย่อมไม่มีแก่เราทั้งหลาย

พระมุนีผู้สงบย่อมเรียกบุคคลผู้มีปกติอยู่อย่างนี้

มีความเพียรไม่เกียจคร้านทั้งกลางวันและกลางคืนนั้นแลว่า ผู้มีราตรีหนึ่งเจริญ.

จาก ภัทเทกรัตตสูตร ว่าด้วยผู้มีราตรีเดียวเจริญ

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ เล่ม ๓ ภาค ๒


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
siraya
วันที่ 26 มิ.ย. 2566

กราบอนุโมทนาในความเข้าใจธรรมะค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
sulome
วันที่ 26 มิ.ย. 2566

ขอขอบพระคุณและกราบอนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
Naza
วันที่ 27 มิ.ย. 2566

อนุโมทนาค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ