ไม่พักด้วยอกุศล ไม่เพียรด้วยความเห็นผิด จึงจะข้ามโอฆะได้ คือต้องปฏิบัติอะไร อย่างไรคะ

 
nattawan
วันที่  30 ก.ค. 2566
หมายเลข  46326
อ่าน  433

กราบขอบพระคุณค่ะ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
khampan.a
วันที่ 1 ส.ค. 2566

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้าที่ ๒

เทวดานั้น ยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้ว ได้กราบทูลคำนี้กะพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ข้าแต่พระองค์ผู้ไม่มีทุกข์ ข้าพระองค์ขอทูลถาม พระองค์ข้ามโอฆะได้อย่างไร.

พระผู้มีพระภาคเจ้า ตรัสตอบว่า ท่านผู้มีอายุ เราไม่พักอยู่ ไม่เพียรอยู่ ข้ามโอฆะได้แล้ว.

เทวดาทูลถามว่า ข้าแต่พระองค์ผู้ไม่มีทุกข์ ก็พระองค์ไม่พักไม่เพียร ข้ามโอฆะได้อย่างไรเล่า.

พระผู้มีพระภาคเจ้า ตรัสตอบว่า ท่านผู้มีอายุ เมื่อใด เรายังพักอยู่ เมื่อนั้น เรายังจมอยู่โดยแท้ เมื่อใดเรายังเพียรอยู่ เมื่อนั้น เรายังลอยอยู่โดยแท้ ท่านผู้มีอายุ เราไม่พัก เราไม่เพียร ข้ามโอฆะได้แล้วอย่างนี้แล.


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้าที่ ๓๗

จริงอยู่ ว่าด้วยอำนาจกิเลส เมื่อบุคคลพักอยู่ ชื่อว่า ย่อมจม.ว่าด้วยอำนาจอภิสังขาร (เจตนา) เมื่อบุคคลเพียร ชื่อว่า ย่อมลอย


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้าที่ ๓๗

ว่าด้วยอำนาจแห่งตัณหา เมื่อบุคคลพักอยู่ ชื่อว่า ย่อมจม. ว่าด้วยอำนาจแห่งทิฏฐิ เมื่อบุคคลเพียร ชื่อว่า ย่อมลอย.


โอฆะ เป็นกิเลสดุจห้วงน้ำใหญ่ ที่ท่วมทับหมู่สัตว์อยู่ตลอดเวลา อีกทั้งยังพัดพาให้ไปเกิดในภพน้อยภพใหญ่ ไม่ให้ถึงฝั่งคือพระนิพพาน ไม่ให้ถึงการดับกิเลสได้อย่างเด็ดขาด โดยสภาพธรรมของกิเลสที่เป็นดุจห้วงน้ำใหญ่ นั้น ไม่พ้นไปจากโลภะความติดข้องยินดี พอใจในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ซึ่งมีเป็นปกติในชีวิตประจำวัน รวมถึงความยินดีในภพ ความยินดีในขันธ์ด้วย นอกจากนั้นก็ยังมีทิฏฐิ ซึ่งเป็นความเห็นผิด และอวิชชา ความไม่รู้ในลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง

การศึกษาพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดง ที่ขาดไม่ได้เลยนั้น คือ จะต้องเป็นผู้มีความละเอียด รอบคอบ และที่สำคัญ ต้องมีความเข้าใจในอรรถที่พระองค์ทรงมุ่งหมายในแต่ละแห่งๆ ด้วย อย่างในที่นี้ พระองค์ทรงแสดงว่า ไม่พัก ไม่เพียร จึงข้ามโอฆะได้นั้น หมายถึง ไม่พักอยู่ด้วยกุศล ไม่พักอยู่ด้วยความติดข้องยินดีพอใจ อีกทั้งไม่เพียร ด้วยการประพฤติปฏิบัติที่ผิด ไม่เพียรด้วยความเห็นผิด (เพราะการเพียรไปในทางที่ผิด ไม่เป็นไปเพื่อความเจริญขึ้นของปัญญา) หรือแม้แต่ความเพียรที่เป็นไปในกุศลที่ยังเป็นไปในวัฏฏะ ก็ไม่ทำให้ออกไปจากวัฏฏะได้ เป็นต้น เมื่อไม่เพียรไปด้วยความเห็นผิด เป็นต้น อย่างนี้ จึงข้ามโอฆะได้ ไม่เป็นผู้จม ไม่เป็นผู้ลอยอีกต่อไป เพราะการจม และการลอย แสดงถึงความเป็นผู้ยังข้ามห้วงน้ำคือกิเลสยังไม่ได้ บุคคลผู้ที่จะข้ามกิเลสดุจห้วงน้ำใหญ่ได้อย่างเด็ดขาดนั้น ต้องถึงความเป็นพระอรหันต์ ดังนั้น จึงไม่มีทางอื่นที่จะทำให้เป็นผู้หมดจดจากกิเลส ไม่จมลงอยู่ในกิเลสดุจห้วงน้ำใหญ่อีกต่อไป นอกจากการอบรมเจริญปัญญา เพื่อเข้าใจสภาพธรรมตามความเป็นจริง เพราะนอกจากปัญญาแล้ว ไม่มีสิ่งอื่นใดที่จะมาดับกิเลสได้เลย

เพราะฉะนั้น จึงควรที่จะเป็นผู้เห็นประโยชน์สูงสุดของปัญญา ซึ่งต้องเริ่มอบรมเจริญจากการศึกษาพระธรรม ฟังพระธรรม ในชีวิตประจำวัน สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกไปตามลำดับ ครับ


คำบรรยายของท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ มีดังนี้

ส. ห้วงน้ำใหญ่คือกิเลส วันนี้ข้ามบ้างไหม มีโอฆะ มีห้วงน้ำใหญ่หรือเปล่า ตั้งแต่ลืมตามา ทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ

ธิ. ไม่พัก ไม่เพียร จะข้ามโอฆะได้หรือ

ส. ขณะที่เข้าใจ ไม่พัก ไม่เพียร พัก คือ ไม่ฟัง ไม่เข้าใจ สนุกสนานทั้งวัน เดือน ปี แล้วก็จากโลกนี้ไป พักไม่สามารถจะเข้าใจได้ แต่ถ้ามีความเห็นผิดเพียรอยากจะถึงนิพพาน เพียรเป็นตัวตนที่จะทำอย่างนั้นอย่างนี้ ซึ่งขณะนั้นก็ไม่ใช่หนทาง

เพราะฉะนั้น คำนี้จริงๆ ลึกซึ้งมาก ไม่พัก ไม่เพียร คือไม่ได้หลงอยู่ในความไม่รู้และความติดข้อง พักอยู่สบายๆ เวลาที่ได้ยินคำว่า “ไม่ต้องทำอะไร” คนก็บอกว่า นี่ไงบอกว่าไม่ต้องทำอะไร ก็ไม่ต้องทำ ก็คือพัก นั่นคือไม่ได้เข้าใจคำที่ได้ยินเลย คิดเองหมด ได้ยินคำอะไรก็คิดเอง แต่ธรรมะต้องศึกษาแต่ละคำที่ได้กล่าว แม้แต่มีผู้ที่กล่าวหาพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าด้วยถ้อยคำต่างๆ พระองค์ก็ใช้คำนั้นอธิบายให้เขาเข้าใจว่า พระองค์ไม่ได้เป็นอย่างนั้น

เพราะฉะนั้น ก็แสดงให้เห็นว่า เวลาได้ยินได้ฟังคำอะไร ไม่ใช่ไปคิดเองว่า หมายความว่าอย่างนี้ แต่ต้องรู้ว่า คำนั้นหมายความว่าอะไร ไม่พัก คือ รู้ว่าจะมีชีวิตอย่างนี้โดยไม่รู้สภาพธรรมะที่กำลังปรากฏให้รู้ คิดดู ไม่ใช่ไม่มีอะไรจะให้รู้ให้เข้าใจ มีสิ่งที่กำลังปรากฏเป็นสิ่งที่ควรรู้ ควรเข้าใจ แล้วจะพักไม่รู้ ไม่เข้าใจ ก็ลองคิดเอง มีสิ่งที่ปรากฏให้รู้ให้เข้าใจ แต่ก็ไม่รู้ บางคนก็ไม่อยากจะรู้ด้วย

ธิ. แล้วเพียรล่ะคะ

ส. ถ้าเข้าใจผิด ได้ยินแค่คำนี้ เพียรเลย เราเพียร เพราะบอกให้เพียร ก็ไม่ใช่เราที่เพียร เพียรต้องด้วยความเห็นถูกต้อง เพียรที่จะมีความเห็นที่ถูกต้องในสิ่งที่กำลังปรากฏ เพราะฉะนั้น ถ้าไม่ฟังเลย เพียรอย่างไรที่จะมีความเห็นถูกต้องในสิ่งที่ปรากฏ เป็นไปไม่ได้เลย เพราะฉะนั้น ก็ต้องตามลำดับขั้น ถ้ารู้จริงๆ โดยนัยของสภาพธรรมะที่เป็นอภิธรรมะที่ลึกซึ้งอย่างยิ่ง ก็จะรู้ว่า สภาพเพียรมีจริง เป็นเจตสิก ไม่ใช่จิต ภาษาบาลีจะใช้คำว่า “วิริยเจตสิก” เกิดกับจิตใดบ้าง จากการที่ทรงตรัสรู้ ไม่ใช่เราอยากจะเพียร แล้วเป็นเราเพียร โดยที่ว่าขณะนั้นเพียรเกิดแล้ว จิตนั้นๆ ก็ไม่รู้ว่าเพียร นี่ก็เป็นเรื่องที่ต้องอาศัยการศึกษาจริงๆ เพื่อเข้าใจ ไม่ใช่ศึกษาเพื่อชื่อว่าศึกษา แต่ไม่เข้าใจ อย่างนั้นไม่ใช่ผู้ศึกษาแน่นอน

ธิ. หมายถึงไม่ได้พักด้วยอกุศล และไม่เพียรด้วยอกุศล

ส. ถูกต้อง


... ยินดีในกุศลของคุณณัฐวรรณและทุกๆ ท่านด้วยครับ ...

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
nattawan
วันที่ 1 ส.ค. 2566

ไม่ได้พักด้วยอกุศล และไม่เพียรด้วยอกุศล

ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย

กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ด้วยความเคารพยิ่ง

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาอ.คำปั่นค่ะ

ยินดีในกุศลจิตทุกท่านค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
chatchai.k
วันที่ 3 ส.ค. 2566

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
Komsan
วันที่ 6 ส.ค. 2566

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ