ภาษาบาลีสัปดาห์ละคำ [คำที่ ๖๒๖] สโทส

 
Sudhipong.U
วันที่  20 ส.ค. 2566
หมายเลข  46382
อ่าน  396

ภาษาบาลี ๑ คำ คติธรรมประจำสัปดาห์ สโทส

โดย อ.คำปั่น อักษรวิลัย

สโทสอ่านตามภาษาบาลีว่า สะ - โท - สะ มาจาก บทหน้า ที่มีความหมายว่า มี, ประกอบด้วย กับคำว่า โทส (ความโกรธ, ความขุ่นเคืองใจ, โทสะ) รวมกันเป็น สโทส แปลว่า บุคคลผู้มีโทสะ, บุคคลผู้มีความโกรธ, บุคคลผู้มีความขุ่นเคืองใจ, สโทสบุคคล แสดงถึงความเป็นจริงของธรรมที่มีจริงอย่างหนึ่ง คือ โทสะ ความโกรธ ความขุ่นเคืองใจ เมื่อได้เหตุได้ปัจจัยก็เกิดขึ้น ว่าโดยสภาพธรรมก็คือ โทสเจตสิก เมื่อโทสะเกิดขึ้น ก็แสดงว่ายังไม่สามารถดับโทสะได้นั่นเอง โทสะเป็นสภาพธรรมที่มีจริงๆ เกิดขึ้นจริงๆ ตามการสะสมของแต่ละบุคคล และมีหลายระดับขั้น ตั้งแต่ขั้นเพียงเล็กน้อย จนถึงมีกำลังกล้าสามารถประทุษร้ายเบียดเบียนผู้อื่นได้ แม้แต่ผู้มีคุณ ผู้ถูกโทสะครอบงำยังประทุษร้ายได้ด้วยกำลังของโทสะ โทสะ ความโกรธความขุ่นเคืองใจ จะมีกำลัง จะมีมาก ก็เพราะมาจากการสะสมทีละเล็กทีละน้อย ซึ่งจะประมาทความโกรธ ไม่ได้เลยทีเดียว

ข้อความในพระอภิธรรมปิฎก ปุคคลบัญญัติ ได้แสดงถึงความเป็นจริงของบุคคลผู้มีโทสะ ไว้ดังนี้

สโทสบุคคล (บุคคลผู้มีโทสะ) เป็นไฉน?

บุคคลใด ละโทสะยังไม่ได้ บุคคลนี้ เรียกว่า ผู้มีโทสะ


สิ่งที่มีจริงๆ เป็นธรรม ไม่ว่าจะกล่าวถึงเรื่องใด ล้วนแล้วย่อมไม่พ้นไปจากธรรมเลย ทุกขณะของชีวิตคือความเกิดขึ้นเป็นไปของธรรมเท่านั้น ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ไม่ต้องไปแสวงหาธรรมที่ไหนเลย แม้แต่โทสะ ความโกรธ ความขุ่นเคืองใจ ก็เป็นธรรม เพราะมีจริงๆ เกิดขึ้นจริงๆ ใครก็ปฏิเสธไม่ได้ เกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุปัจจัย ลักษณะของโทสะ ความโกรธ ก็คือ ดุร้าย กระสับกระส่าย ไม่สงบ เกิดขึ้นเมื่อใด ไม่สบายใจเมื่อนั้น เนื่องจากเวทนา (ความรู้สึก) ที่เกิดร่วมกับโทสะ มีเพียงหนึ่งเดียว คือ โทมนัสเวทนา เท่านั้น จะเป็นเวทนาอื่นไม่ได้ นี้คือความเป็นจริงของธรรม

ปกติในชีวิตประจำวัน แต่ละบุคคลล้วนมีกิเลสซึ่งเป็นเครื่องเศร้าหมองของจิตมากด้วยกันทั้งนั้น ทั้งความติดข้องยินดีพอใจ ความโกรธ ความขุ่นเคืองใจ ความไม่พอใจ ความสำคัญตน เป็นต้น แต่ถ้าถึงกับที่จะต้องล่วงออกมาเป็นทุจริตกรรมประการต่างๆ ก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่ผู้อื่นนั้น ขณะนั้นแสดงให้เห็นถึงกำลังของกิเลสว่ามีมากอย่างยิ่ง

โทสะ ความโกรธ ความไม่พอใจ ความขุ่นเคืองใจ เป็นสภาพธรรมที่มีจริง ว่าโดยสภาพธรรมแล้ว คือ โทสเจตสิก (สภาพธรรมที่เกิดประกอบพร้อมกับจิต คือ โทสะ) เกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย เพราะตราบใดที่ยังไม่ได้เป็นพระอนาคามีบุคคล ย่อมมีโทสะเป็นธรรมดา มากบ้าง น้อยบ้าง ตามการสะสมของแต่ละบุคคล ยังเป็นบุคคลผู้มีโทสะ หรือ สโทสบุคคล อยู่นั่นเอง

ในชีวิตประจำวัน เป็นเรื่องยากมากที่จะไม่เกิดโทสะ แม้จะตั้งใจเอาไว้ว่า จะไม่โกรธ จะไม่ขุ่นเคืองใจ แต่ก็ไม่สามารถเป็นไปตามที่ตั้งใจไว้ เพราะเหตุว่า ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น เมื่อได้เหตุได้ปัจจัย โทสะก็เกิดขึ้นทำกิจหน้าที่

โทสะ ความโกรธ ความขุ่นเคืองใจ เป็นสภาพธรรมที่หยาบกระด้าง ดุร้าย และมีหลายระดับ โทสะที่ยังไม่มีกำลังกล้าในชีวิตประจำวัน เช่น หงุดหงิด ไม่พอใจเล็กๆ น้อยๆ แต่ถ้าหากโทสะมีกำลังรุนแรงมาก ก็อาจถึงขั้นประทุษร้ายเบียดเบียนผู้อื่น หรือฆ่าผู้อื่นก็ได้ นี้คือโทษของอกุศลธรรม ซึ่งไม่เป็นประโยชน์แก่ใครๆ ทั้งสิ้น ขณะที่โทสะเกิดขึ้นนั้น กาย วาจา จะหยาบกระด้าง และย่อมแสดงกิริยาอาการที่ไม่เหมาะสมต่างๆ มากมาย ที่คนปกติไม่สามารถจะเป็นอย่างนั้นได้ เช่น กระแทกกระทั้น มีสีหน้าบึ้งตึง กล่าวคำที่หยาบคาย มือ เท้า เป็นไปในทางเบียดเบียนผู้อื่น เป็นต้น

ข้อที่ทุกคนควรพิจารณาคือ สาเหตุที่แท้จริงของโทสะ ไม่ใช่เหตุการณ์ ไม่ใช่บุคคลอื่น แต่เป็นเพราะการสะสมโทสะของตน ซึ่งสะสมมาอย่างเนิ่นนานในสังสารวัฏฏ์ โทสะไม่ใช่ตัวตน แต่เป็นสภาพธรรมที่เกิดเพราะปัจจัย เมื่อกระทบสิ่งที่ไม่น่าพอใจแล้วหงุดหงิด ไม่พอใจ โกรธ ขุ่นเคืองใจ ขณะนั้นทราบได้ว่าจะต้องเป็นอุปนิสัยที่ได้สะสมมา จึงทำให้มีโทสะ มีความไม่พอใจ โกรธ ขุ่นเคืองใจอยู่บ่อยๆ เนืองๆ มากกว่าผู้ที่มีความอดทน และในเมื่อเป็นอกุศลของตนเอง ตนเองเท่านั้นที่จะเป็นผู้ได้รับโทษจากอกุศลของตนเอง คนอื่นจะทำโทษให้แก่เราไม่ได้เลย นอกจากกิเลสของตนเองเท่านั้นจริงๆ

การที่จะค่อยๆ ขัดเกลาละคลายกิเลสทั้งหลาย มีโทสะเป็นต้นได้นั้น ต้องอาศัยการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมให้เข้าใจจริงๆ เป็นปัญญาของตนเอง แล้วกุศลธรรม คุณความดีทั้งหลาย ก็จะค่อยๆ เจริญขึ้นในชีวิตประจำวัน อันเป็นหนทางเดียวที่จะค่อยๆ ขัดเกลาละคลายกิเลส และเมื่ออบรมเจริญปัญญาความรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ถูกต้องตรงตามความเป็นจริงขึ้น โทสะ ความโกรธ ความขุ่นเคืองใจ ก็จะค่อยๆ ลดน้อยลง แต่ว่ายังไม่ได้ดับอย่างเด็ดขาด จนกว่าจะถึงความเป็นพระอนาคามีบุคคล ซึ่งจะเห็นตามความเป็นจริงว่า กิเลสที่มีมากนั้น ต้องอาศัยปัญญาเท่านั้น จึงจะดับได้

ถ้าไม่ได้ฟังพระธรรม ไม่ได้ศึกษาพระธรรม ไม่ได้อบรมเจริญปัญญา ก็จะเป็นเหตุให้สะสมกิเลสประการต่างๆ เป็นอุปนิสัยที่หนาแน่นขึ้น จนยากที่จะขัดเกลาละคลายได้ ดังนั้นการที่จะมีพระธรรมเป็นที่พึ่งได้นั้น จึงต้องฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูก ไม่ประมาทในแต่ละคำที่เป็นคำจริงที่พระองค์ทรงแสดง พระธรรมแต่ละคำที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง เป็นคำจริง เป็นคำอนุเคราะห์เกื้อกูล ซึ่งควรค่าแก่การฟังการศึกษาเป็นอย่างยิ่ง เป็นประโยชน์ที่สุดในชีวิต

ขอเชิญติดตามอ่านคำอื่นๆ ได้ที่..

บาลี ๑ คำ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
nattawan
วันที่ 21 ส.ค. 2566

ยินดีในกุศลจิตค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
chatchai.k
วันที่ 5 ก.ย. 2566

ยินดีในกุศลจิตครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ