ทางสายกลาง

 
kanchana.c
วันที่  14 ส.ค. 2566
หมายเลข  46384
อ่าน  359

มีชีวิตอยู่เพื่อปัญญาปรากฏ

14 ส.ค. 2566

ทางสายกลาง

ในวันอาสาฬหบูชา วันเพ็ญเดือน 8 เมื่อกว่า 2,600 ปีมาแล้ว (2566 + 45) พระผู้มีพระภาคเจ้าทางแสดงธัมมจักกัปวตนสูตรเป็นครั้งแรก แก่ปัญจวัคคีย์ทั้ง 5 ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน เมืองสารนาถ กรุงพาราณสี ประเทศอินเดีย ในครั้งนั้นท่านพระอัญญาโกณฑัญญะได้ดวงตาเห็นธรรม เข้าใจพระธรรมที่พระพุทธองค์ทรงแสดง จึงเกิดพระรัตนตรัยขึ้นเป็นครั้งแรกในโลก และต่อมาอีก 5 วันทรงแสดงอนัตตลักขณสูตร (สูตรว่าด้วยธรรมทั้งหลายไม่ใช่ตัวตนของเรา) ปัญจวัคคีย์ทั้งหมดก็บรรลุพระอรหันต์หมดกิเลสทั้งปวง ไม่กลับมาเกิดอีกเลย

กล่าวโดยสรุป ธัมมจักกัปปวัตนสูตรแสดงถึงส่วนที่สุดสองอย่างอันบรรพชิตไม่ควรเสพ คือ

การประกอบตนให้พัวพันด้วยกามสุขในกามทั้งหลาย คือ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส เป็นธรรมอันเลว เป็นของชาวบ้าน เป็นของปุถุชน ไม่ใช่ของพระอริยะ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์

การประกอบความลำบากแก่ตน (เช่น บำเพ็ญทุกรกิริยา) ไม่ใช่ของพระอริยะ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์

ปฏิปทาสายกลาง ไม่เข้าไปใกล้ที่สุดสองอย่างนั้น ที่พระพุทธองค์ได้ทรงตรัสรู้แล้วด้วยปัญญาอันยิ่ง ทำญาณให้เกิด ย่อมเป็นไปเพื่อความสงบ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ เพื่อนิพพาน คือ อริยสัจ 4

อริยสัจสี่ ธรรมที่เป็นความจริงอันประเสริฐสี่ประการ คือ

ทุกขอริยสัจคือ ความเกิดก็เป็นทุกข์ ความแก่ก็เป็นทุกข์ ความเจ็บไข้ก็เป็นทุกข์ ความตายก็เป็นทุกข์ ความประจวบด้วยสิ่งที่ไม่เป็นที่รัก ก็เป็นทุกข์ ความพลัดพรากจากสิ่งเป็นที่รัก ก็เป็นทุกข์ ปรารถนาสิ่งใดไม่ได้สิ่งนั้น ก็เป็นทุกข์ โดยย่อ อุปาทานขันธ์ 5 เป็นทุกข์

ทุกขสมุทัยอริยสัจคือ ตัณหา ประกอบด้วยความกำหนัดด้วยอำนาจความเพลิน มีปกติเพลิดเพลินในอารมณ์นั้นๆ คือ กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา

ทุกขนิโรธอริยสัจคือ ตัณหาดับโดยไม่เหลือด้วยมรรค คือวิราคะ สละ สละคืน ปล่อยไป ไม่พัวพัน

ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจคือ อริยมรรคมีองค์แปด

อริยสัจสี่นี้ คือ

ทุกขอริยสัจ ควรกำหนดรู้

ทุกขสมุทัยอริยสัจ ควรละเสีย

ทุกขนิโรธอริยสัจ ควรทำให้แจ้ง

ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ คือ อริยมรรคมีองค์แปด ควรเจริญ

ปฏิปทาสายกลางนั้น ได้แก่ อริยมรรคมีองค์ 8 คือ

ปัญญาเห็นชอบ (สัมมาทิฏฐิ)

ความดำริชอบ (สัมมาสังกัปปะ)

เจรจาชอบ (สัมมาวาจา)

การงานชอบ (สัมมากัมมันตะ)

เลี้ยงชีวิตชอบ (สัมมาอาชีวะ)

พยายามชอบ (สัมมาวายามะ)

ระลึกชอบ (สัมมาสติ)

ตั้งจิตมั่นชอบ (สัมมาสมาธิ)

เคยฟังธัมมจักกัปปวตนสูตรมาหลายครั้ง เคยสวดได้ (ตอนนี้ลืมหมดแล้ว การไม่ท่องบ่นเป็นมลทินของมนต์ เพราะเข้าใจแล้วว่า สวดโดยไม่เข้าใจไม่มีประโยชน์ ก็เลยหยุดสวด แล้วฟังธรรม อ่านธรรม พิจารณาธรรมแทน) และเคยเข้าใจผิดอย่างมากว่า ตนเองนั้นเดินทางสายกลาง เพราะไม่เคยคิดทรมานตนให้เป็นทุกข์เลยแม้แต่ขณะเดียว (ถ้าเลือกได้ แต่เลือกไม่ได้) หิวนิดหน่อยก็รีบหาอาหารรับประทานให้หายหิว ร้อนนิดหน่อยก็อาบน้ำ หรือทำให้เย็นสบายโดยวิธีต่างๆ ง่วงนิดหน่อยแม้จะมีงานต้องรีบทำให้เสร็จ ก็ขอนอนก่อน แล้วค่อยทำงานทีหลัง ส่วนการทำตนให้เพลิดเพลินด้วยกามคุณ 5 นั้น ก็อยากทำอยู่เหมือนกัน (แต่เลือกไม่ได้เช่นกัน) ก็ไม่สามารถทำได้เพราะไม่อยู่ในฐานะจะทำได้อย่างที่ต้องการให้เพลิดเพลินเป็นสุขตลอดเวลา จึงจำเป็นต้องสันโดษ (ไม่ใช่กุศลเพราะไม่ได้ยินดีตามมีตามได้ แต่จำเป็น) เป็นส่วนมาก

เมื่อได้ฟังธรรมจากท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนามาเกือบ 40 ปี ค่อยๆ เข้าใจขึ้นทีละเล็กทีละน้อยว่า ชีวิตที่ผ่านมานั้นไม่เคยอยู่บนทางสายกลางเลย และยังห่างไกลจากทางสายกลางยิ่งกว่าฟ้ากับดิน เพราะทางสายกลางคือ มีชีวิตปกติธรรมดา ทำดีและศึกษาพระธรรมให้เข้าใจว่า ธรรมคือสิ่งที่มีจริงที่กำลังปรากฏเดี๋ยวนี้ ซึ่งได้แก่ เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส คิดนึก รูป เสียง กลิ่น รส สิ่งที่กระทบสัมผัส โลภ โกรธ หลง อิสสา ตระหนี่ เมตตา กรุณา ฯลฯ และเข้าใจธรรมเดี๋ยวนี้ว่า ไม่ใช่เรา ไม่ใช่สิ่งหนึ่งสิ่งใด เกิดขึ้นทำกิจหน้าที่แต่ละหนึ่งแล้วดับทันที ไม่กลับมาอีก เลือกให้เป็นอย่างที่ต้องการไม่ได้ จึงเห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส กระทบสัมผัสสิ่งที่ดีบ้าง ไม่ดีบ้าง รูปงามบ้าง ไม่งามบ้าง อายุสั้น อายุยืน สุขภาพดี ไม่ดี ได้ลาภ ยศ สุข สรรเสริญต่างๆ กันตามผลของกรรมที่ประมวลมาแล้วสำหรับการเป็นบุคคลนี้ในชาตินี้ (อายูหนา) และคิดนึกด้วยโลภะบ้าง โทสะบ้าง โมหะบ้าง อิสสาบ้าง เมตตาบ้าง กรุณาบ้าง ปัญญาบ้าง ตามการสะสมจากจิตขณะหนึ่งสู่อีกขณะหนึ่งมายาวนานนับเวลาไม่ได้ เพราะการเกิดดับสืบต่ออย่างรวดเร็วของธรรม ยากจะรู้ตามได้ จึงต้องใช้เวลานานมาก เหมือนขุดภูเขาสิเนรุด้วยเล็บ ไม่ต้องหวังว่า จะขุดให้ราบเรียบได้ในเวลาเท่านั้นเท่านี้ แม้หวังก็รู้ว่า เป็นธรรมของปุถุชนผู้ยังมืดบอดที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย คือเหตุหรือรากที่ยังมีอยู่ รากของอกุศลยังไม่มีอะไรหมดไปสักอย่างเดียว มีแต่จะเจริญงอกงามขึ้นเพราะความไม่รู้ที่ยังไม่หมดไป

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้นด้วยเศียรเกล้า

ขอกราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์ที่มีความเมตตานำพระธรรมคำสอนที่ท่านเข้าใจแล้วมากล่าวสอนบ่อยๆ เนืองๆ อย่างไม่เบื่อหน่าย เหน็ดเหนื่อยกับความไม่รู้มากมายของศิษย์ทั้งหลาย กราบเท้าในฐานะมารดาที่ให้กำเนิดความเห็นถูกในชาตินี้ (อาจจะไม่ใช่ชาตินี้ชาติเดียว) แม้ความเข้าใจจะเพิ่งเริ่มต้น ยังเป็นกลละ แต่จะตั้งใจฟังและพิจารณาต่อไปจนเจริญเติบโตขึ้นค่ะ (ตามเหตุปัจจัย เลือกไม่ได้อีกเหมือนกัน)


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
nattawan
วันที่ 15 ส.ค. 2566

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาพี่แดงค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
siraya
วันที่ 15 ส.ค. 2566

กราบอนุโมทนาพี่แดงค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
chatchai.k
วันที่ 5 ก.ย. 2566

ยินดีในกุศลจิตครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ