การขอพรในพระพุทธศาสนา

 
wittawat
วันที่  24 ส.ค. 2566
หมายเลข  46441
อ่าน  402

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น

พระวินัยปิฎก มหาวรรค เล่ม ๕ ภาค ๒ - หน้า 261

"ครั้งนั้น ชีวกโกมารภัจจ์ ถือผ้าสิไวยกะคู่นั้นไปในพุทธสำนัก ครั้น ถึงแล้ว ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้า นั่งอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ชีวกโกมารภัจจ์นั่งเรียบร้อยแล้ว ได้กราบทูลคำนี้แด่พระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ข้าพระพุทธเจ้าจะขอประทานพรต่อพระผู้มีพระภาคเจ้าสักอย่างหนึ่ง พระพุทธเจ้าข้า

ภ. พระตถาคตทั้งหลายเลิกให้พรเสียแล้ว ชีวก.

ชี. ข้าพระพุทธเจ้าขอประทานพรที่สมควรและไม่มีโทษ พระพุทธ เจ้าข้า.

ภ. จงว่ามาเถิด ชีวก.

ชี. พระพุทธเจ้าข้า พระผู้มีพระภาคเจ้าและพระสงฆ์ทรงถือผ้าบังสุกุล เป็นปกติอยู่ ผ้าสิไวยกะของข้าพระเจ้าคู่นี้ พระเจ้าจัณฑปัชโชตทรงส่งมาพระ ราชทาน เป็นผ้าเนื้อดีเลิศ ประเสริฐ มีชื่อเสียงเด่นอุดม และเป็นเยี่ยมกว่าผ้าทั้ง

หลายเป็นอันมาก ตั้งหลายคู่ ตั้งหลายร้อยคู่ หลายพันคู่ หลายแสนคู่ ขอ พระผู้มีพระภาคเจ้าจงทรงพระกรุณาโปรดรับผ้าคู่สิไวยกะของข้าพระพุทธเจ้า และขอจงทรงพระพุทธานุญาตคหบดีจีวรแก่พระสงฆ์ด้วยเถิด พระพุทธเจ้าข้า.

พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงรับผ้าคู่สิไวยกะแล้ว ครั้นแล้ว ทรงชี้แจงให้ ชีวกโกมารภัจจ์ เห็นแจ้ง สมาทาน อาจหาญ ร่าเริงด้วยธรรมีกถา ครั้น ชีวกโกมารภัจจ์อันพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงชี้แจงให้เห็นแจ้ง สมาทาน อาจหาญ ร่าเริงด้วยธรรมีกถา แล้วลุกจากที่นั่งถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้า ทำประทักษิณกลับไป."

และต่อจากนั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าก็ประทานอนุญาตคหบดีจีวรแก่ภิกษุทั้งหลาย

เกี่ยวกับเรื่องการขอพร ที่แปลว่า สิ่งที่ประเสริฐ และพรที่ท่านหมอชีวกขอนั้น ก็เป็นการขอโอกาสในการกระทำความดี ที่เป็นกุศลธรรม ได้แก่ การให้ทาน เป็นต้น ที่จะนำผลคือ ความสุขมาให้ และยังเป็นโอกาสที่ชาวพุทธจะสามารถถวายจีวรให้แก่พระภิกษุอีกด้วย แต่สิ่งที่กระผมสงสัยมีดังต่อไปนี้

1. คำว่า "พร" จากประโยคที่ว่า "พระตถาคตทั้งหลายเลิกให้พรเสียแล้ว" คำนี้ จะหมายถึง สิ่งใด ครับ (คล้ายๆ พระอินทร์ให้พรกับพวกฤษี เป็นของวิเศษ หรืออย่างไรครับ) และทำไม พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหลายถึงเลิกให้พรเสียแล้ว

2. ปรากฏข้อความจาก คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้า 182

"เจ้าอนุรุทธศากยะได้ถวายภัตอันเป็นส่วนตัวแด่พระปัจเจกพุทธเจ้านามว่าอุปริฏฐะ ในคราวที่ตนเป็นนายอันนภาระ ทรงทำความปรารถนาไว้ว่า " ขอข้าพเจ้าจงอย่าได้สดับคำว่า "ไม่มี""

การตั้งความปรารถนาของ นาย อันนภาระ เป็นการขอพร หรือไม่ หรือว่าต่างจากการขอพรอย่างไร


Tag  พร  
  ความคิดเห็นที่ 1  
 
khampan.a
วันที่ 25 ส.ค. 2566

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ไม่มีผู้ใดสามารถทำให้ใครประสบกับสิ่งที่น่าปรารถนา น่าใคร่น่าพอใจได้ และ ไม่มีผู้ใดสามารถทำให้ใครประสบกับสิ่งที่ไม่น่าปรารถนา ไม่น่าใคร่ ไม่น่าชอบใจได้ เพราะต้องเป็นไปตามเหตุ คือ กรรม กล่าวคือ กุศลกรรม เป็นเหตุให้เกิดผลที่เป็นสุข ในทางตรงกันข้าม อกุศลกรรม เป็นเหตุให้เกิดผลที่เป็นทุกข์

เมื่อพิจารณาถึงคำว่า พร ในพระพุทธศาสนาแล้ว ไม่ใช่การขอในสิ่งที่ตนอยากจะได้ ไม่ใช่ความหวังความต้องการ แต่พร คือ เหตุที่จะนำมาซึ่งผลที่ดี เมื่อเป็นเช่นนี้ พร ในพระพุทธศาสนา จึงหมายถึง กุศลกรรม การทำดีประการต่งๆ สะสมเหตุที่ดี ขณะที่ความดีเกิดขึ้น นั่นแหละ คือ พร ซึ่งเป็นสิ่งที่ประเสริฐ ย่อมเป็นเหตุให้เกิดผลที่ดีในภายหน้าได้ แทนที่จะไปขอจากใคร ก็ทำกุศล เจริญคุณความดี เจริญเหตุที่ดีทันที ดังนั้น เมื่อพิจารณาจากพระพุทธพจน์ดังกล่าวที่ปรากฏในพระวินัยปิฎก จึงเข้าใจได้ตามเหตุตามผล คือ ผลที่ดีที่จะเกิดขึ้น ย่อมเกิดมาจากเหตุที่ดี ไม่ใช่ใครจะไปให้อะไรได้ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า จึงตรัสว่า "พระตถาคตทั้งหลายเลิกให้พรเสียแล้ว" แต่ถ้าเป็นการขอโอกาสได้เจริญกุศลได้ทำความดี อย่างเช่น การขอโอกาสทำความดีของหมอชีวกโกมารภัจจ์ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ทรงอนุญาต ทรงเกื้อกูลให้หมอชีวกโกมารภัจจ์ได้ทำกุศลดังกล่าว นั่นแหละคือพรจริงๆ เพราะขอให้มีโอกาสได้เจริญกุศล สะสมสิ่งที่ดี ตรงกับคำว่า ขอพร คือ ขอให้มีโอกาสได้เจริญกุศล ครับ


ส่วนประเด็นของอันนภาระคนหาบหญ้า ชีวิตในอดีตของท่านพระอนุรุทธะ เมื่อได้เจริญกุศลแล้ว ก็น้อมไป ด้วยกำลังของกุศลที่ตนเองได้เจริญแล้วขอให้ไม่พบกับคำว่า "ไม่มี" ขอให้พ้นจากชีวิตที่ยากลำบาก จึงไม่ใช่การขอพร เพราะพร คือ ความดีของท่านได้สำเร็จไปแล้ว แต่หลังจากนั้น ก็มีความน้อมไป ตามกำลังแห่งกุศลที่ท่านได้เจริญแล้ว เพราะถ้าผลจะเกิดขึ้น ก็ต้องมาจากเหตุที่ดีท่านได้เจริญแล้ว ไม่ได้มาจากอย่างอื่น ครับ

... ยินดีในกุศลของคุณวิทวัตและทุกๆ ท่านด้วยครับ ...

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
เมตตา
วันที่ 25 ส.ค. 2566

ขอบพระคุณและยินดีในกุศลจิตของ อ.คำปั่น และคุณวิทวัต ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
nattawan
วันที่ 27 ส.ค. 2566

พร ในพระพุทธศาสนา จึงหมายถึง กุศลกรรม การทำดีประการต่งๆ สะสมเหตุที่ดี ขณะที่ความดีเกิดขึ้น นั่นแหละ คือ พร ซึ่งเป็นสิ่งที่ประเสริฐ ย่อมเป็นเหตุให้เกิดผลที่ดีในภายหน้าได้

ยินดีในกุศลจิตค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
wittawat
วันที่ 28 ส.ค. 2566

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
chatchai.k
วันที่ 30 ส.ค. 2566

ยินดีในกุศลจิตครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ