ปัจจุบัน และ ปฏิบัติ

 
wittawat
วันที่  28 ส.ค. 2566
หมายเลข  46470
อ่าน  418

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น

กระผมมีข้อสงสัยเกี่ยวข้องกับคำศัพท์ที่มาจากภาษาบาลี ๒ คำนี้ ว่ามีความสอดคล้องกันอย่างไร

1. ปัจจุบัน (เกิดขึ้นเฉพาะ) และ ปฏิบัติ (ถึงเฉพาะ) ได้ยินว่าทั้ง ๒ คำนี้มีการแยกมาจากคำศัพท์ ๒ ตัวผสมกัน แต่เหมือนกับตัวหน้านั้นจะมีความหมายเหมือนกัน คือ ปัจจะ มาจากคำว่า ปฏิ ที่แปลว่า เฉพาะ หรือเข้าใจว่าหมายถึง สิ่งที่ปรากฏเฉพาะหน้า ใช่หรือไม่ครับ (ผมฟังจากรายการแนวทางเจริญวิปัสสนาครั้งที่ ๕๓๖ ดูเหมือนท่านผู้ฟังที่เชี่ยวชาญภาษาบาลีท่านหนึ่งจะพูดเช่นนั้น) และถ้าใช่ ขออาจารย์ช่วยขยายความความละเอียดของ ศัพท์ทั้ง ๒ นี้ด้วย ถึงความสอดคล้องกัน

2. คำว่า ปฏิบัติ และคำว่า ปฏิเวธ (แทงตลอด) ไม่ทราบว่า ปฏิ ที่อยู่ข้างหน้า ๒ คำนี้แปลต่างกันหรือไม่ครับ ทำไมคำหนึ่งแปลว่า เฉพาะ อีกคำแปลว่า ตลอด กรุณาแสดงความละเอียดด้วยครับ อีกประการหนึ่ง คำว่า แทงตลอด นี่ค่อนข้างเป็นคำศัพท์ที่เข้าใจยากในภาษาไทยทีเดียวครับ ว่าท่านหมายถึงอะไร

ขอกราบอนุโมทนาล่วงหน้าครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
khampan.a
วันที่ 29 ส.ค. 2566

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

1. ปัจจุบัน (เกิดขึ้นเฉพาะ) และ ปฏิบัติ (ถึงเฉพาะ) ได้ยินว่าทั้ง ๒ คำนี้มีการแยกมาจากคำศัพท์ ๒ ตัวผสมกัน แต่เหมือนกับตัวหน้านั้นจะมีความหมายเหมือนกัน คือ ปัจจะ มาจากคำว่า ปฏิ ที่แปลว่า เฉพาะ หรือเข้าใจว่าหมายถึง สิ่งที่ปรากฏเฉพาะหน้า ใช่หรือไม่ครับ (ผมฟังจากรายการแนวทางเจริญวิปัสสนาครั้งที่ ๕๓๖ ดูเหมือนท่านผู้ฟังที่เชี่ยวชาญภาษาบาลีท่านหนึ่งจะพูดเช่นนั้น) และถ้าใช่ ขออาจารย์ช่วยขยายความความละเอียดของ ศัพท์ทั้ง ๒ นี้ด้วย ถึงความสอดคล้องกัน

เรื่องของคำ ก็ยากที่จะเข้าใจจริงๆ แต่เมื่อพิจารณาไตร่ตรอง ก็จะค่อยๆ เข้าใจขึ้นได้ คำว่า ปัจจุบัน แปลได้ว่า เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเฉพาะ มาจาก ปฏิ บทหน้า ลงในความหมายว่า เฉพาะ แปลง ปฏิ เป็น ปจฺจ รวมกับ อุปฺปนฺน (เกิดขึ้น) รวมกันเป็น ปจฺจุปฺปนฺน เขีนเป็นไทยสั้นๆ เป็น ปัจจุบัน ปัจจุบัน มี ๓ คือ ปัจจุบันโดยขณะ คือ ขณะที่ธรรมนั้นเกิดขึ้นแล้วยังไม่ดับไป ปัจจุบันโดยการสืบต่อ (สันตติ) คือ ธรรมที่เกิดดับสืบต่อกันกันอย่างรวดเร็วเสมือนว่ายังปรากฏอยู่ และ ปัจจุบันโดยอัทธา หมายถึง ปัจจุบันระยะกาลเวลาที่ยาว เช่น ตลอดชาตินี้ ตลอดปี ตลอดเดือน ตลอดสัปดาห์ ตลอดวัน ตลอดยาม เป็นต้น

ข้อความในพระอภิธรรมปิฎก ธัมมสังคณีปกรณ์ แสดงถึงความเป็นจริงของธรรมที่เป็นปัจจุบัน ดังนี้

ธรรมเป็นปัจจุบัน เป็นไฉน?
ธรรมเหล่าใดซึ่งเกิดแล้ว เป็นแล้ว เกิดขึ้นพร้อมแล้ว บังเกิดแล้ว บังเกิด เฉพาะแล้ว ปรากฏแล้ว เกิดขึ้นแล้ว เกิดขึ้นพร้อมแล้ว ตั้งขึ้นแล้ว ตั้งขึ้นพร้อมแล้ว เกิดขึ้นเฉพาะแล้ว สงเคราะห์ด้วยส่วนที่เกิดขึ้นเฉพาะแล้ว คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ สภาวธรรมเหล่านี้ ชื่อว่า ธรรมเป็นปัจจุบัน

ส่วนคำว่า ปฏิปตฺติ ก็มาจาก ปฏิ บทหน้า ลงในความหมายว่า เฉพาะ กับคำว่า ปตฺติ ที่แปลว่า ถึง แปลรวมกันได้ว่า ถึงเฉพาะ ซึ่งก็ต้องศึกษาจริงๆ จึงจะเข้าใจว่า ถึงเฉพาะอะไร และ อะไรที่เป็นสภาพธรรมที่ถึงเฉพาะ? ถึงเฉพาะซึ่งลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏโดยความเป็นปัจจุบันขณะหรือโดยความเป็นปัจจุบันสันตติ ซึ่งก็สอดคล้องกับคำว่าปัจจุบันที่กล่าวในตอนต้น และถึงเฉพาะด้วยสติและปัญญา เป็นต้น โดยที่สติทำกิจระลึกตรงลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรกาฏ ปัญญา เข้าใจถูกต้องในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ


2. คำว่า ปฏิบัติ และคำว่า ปฏิเวธ (แทงตลอด) ไม่ทราบว่า ปฏิ ที่อยู่ข้างหน้า ๒ คำนี้แปลต่างกันหรือไม่ครับ ทำไมคำหนึ่งแปลว่า เฉพาะ อีกคำแปลว่า ตลอด กรุณาแสดงความละเอียดด้วยครับ อีกประการหนึ่ง คำว่า แทงตลอด นี่ค่อนข้างเป็นคำศัพท์ที่เข้าใจยากในภาษาไทยทีเดียวครับ ว่าท่านหมายถึงอะไร

คำที่เป็นประเด็น คือ ปฏิเวธ เพราะมี ปฏิ บทหน้า เหมือนกับ ปจฺจุปนฺปนฺน และ ปฏิปตฺติ แต่ทำไม เวลาอยู่กับ -เวธ (แทง, เจาะ, รู้แจ้ง) แล้ว จึงไม่ได้เแปลว่า เฉพาะ ตามความเป็นจริงแล้ว ปฏิ เป็นคำอุปสรรคตามหลักไวยากรณ์ จะมีความหมายหลายอย่าง เช่น เฉพาะ, ตอบ, ทวน, กลับ เป็นต้น ซึ่งตรงนี้ไม่สามารถหยั่งถึงความละเอียดของคำได้ แต่เมื่อได้ศึกษาตามข้อความในพระไตรปิฎกและอรรถกถา ก็จะเห็นว่า ปฏิเวธ เป็นปัญญาในระดับที่เป็นวิปัสสนาญาณขั้นต่างๆ ซึ่งเป็นปัญญาที่เห็นแจ้ง แทงตลอด ในความเป็นจริงของธรรม ไม่ใช่เพียงขั้นที่ถึงเฉพาะตรงลักษณะของสภาพธรรม แต่เป็นการรู้อย่างแจ่มแจ้ง เห็นอย่างแจ่มแจ้ง หรือ ประจักษ์แจ้งในธรรมนั้นๆ ตามระดับขั้นของวิปัสสนาญาณ จนถึงแทงตลอดในพระนิพพาน ดับกิเลสตามดำลับขั้นได้ เมื่อเป็นปัญญาที่แทงตลอด จึงให้ความหมายของ ปฏิ บทหน้าว่า ตลอด รวมกับ เวธ แล้ว ก็จึงแปลได้ว่า ปัญญาที่แทงตลอด ครับ

... ยินดีในกุศลของคุณวิทวัตและทุกๆ ท่านด้วยครับ ...

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
wittawat
วันที่ 29 ส.ค. 2566

ลึกซึ้งมากครับ ขอกราบอนุโมทนาครับ ตามที่ได้ความก็คือ

ปฏิบัติ หมายถึง สติปัญญาที่ ถึงลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏเฉพาะหน้า ได้แก่ ปัจจุบันขณะ และ ปัจจุบันสันตติ

ปฏิเวธ เป็นปัญญาที่แทงตลอดในสิ่งที่มีจริงตามลำดับขั้นของวิปัสสนาญาณ จนกระทั่งถึงพระนิพพาน

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
chatchai.k
วันที่ 30 ส.ค. 2566

ยินดีในกุศลจิตครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ