ภาษาบาลีสัปดาห์ละคำ [คำที่ ๖๒๙] มโนปุพฺพงฺคมา

 
Sudhipong.U
วันที่  12 ก.ย. 2566
หมายเลข  46518
อ่าน  1,005

ภาษาบาลี ๑ คำ คติธรรมประจำสัปดาห์ มโนปุพฺพงฺคมา

โดย อ.คำปั่น อักษรวิลัย

มโนปุพฺพงฺคมา อ่านตามภาษาบาลีว่า มะ - โน - ปุบ - พัง - คะ - มา มาจากคำว่า มโน (ใจ, จิต) กับคำว่า ปุพฺพงฺคมา (เป็นสภาพที่ถึงก่อน คือ เป็นหัวหน้า) รวมกันเป็น มโนปุพฺพงฺคมา แปลว่า ธรรมทั้งหลาย มีใจเป็นหัวหน้า เมื่อกล่าวถึงสภาพรู้ธาตุรู้แล้ว มี ๒ ประเภท คือ จิตหรือใจ ซึ่งเป็นสภาพที่เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งอารมณ์ และเจตสิก ซึ่งเป็นสภาพที่เกิดประกอบพร้อมกับจิต ดับพร้อมกับจิต รู้อารมณ์เดียวกันกับจิต ในภูมิที่มีทั้งรูปและนาม เจตสิกก็อาศัยที่เกิดที่เดียวกันกับจิตด้วย ดังนั้นที่กล่าวว่า ธรรมทั้งหลาย มีใจเป็นหัวหน้านั้น ธรรมทั้งหลายในที่นี้ ได้แก่ เจตสิกทั้งหลาย จำแนกเป็นนามขันธ์หรือ อรูปขันธ์ ๓ ได้แก่ เวทนาเจตสิก เป็นเวทนาขันธ์ สัญญาเจตสิก เป็นสัญญาขันธ์ เจตสิกอีก ๕๐ ที่นอกเหนือจากเวทนาและสัญญา ก็เป็นสังขารขันธ์ ตามข้อความในธัมมปทัฏฐกถา อรรถกถา ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท ดังนี้

ขันธ์ มีเวทนาเป็นต้น ชื่อว่า ธรรมทั้งหลาย, แท้จริง ใจเป็นหัวหน้าของอรูปขันธ์ทั้ง มีเวทนาขันธ์ เป็นต้นนั้น โดยอรรถ (โดยความหมาย) คือ เป็นปัจจัยเครื่องให้เกิดขึ้น เหตุนั้น ขันธ์ทั้ง ประการ นั่น จึงชื่อว่า มีใจเป็นหัวหน้า

คำว่า มโนปุพฺพงฺคมา (ธรรมทั้งหลายมีใจเป็นหัวหน้า) มีปรากฏในพระไตรปิฎก และอรรถกถา หลายที่ อย่างเช่นข้อความในพระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท ดังนี้

ธรรมทั้งหลาย มีใจเป็นหัวหน้า มีใจเป็นใหญ่ สำเร็จแล้วด้วยใจ ถ้าบุคคลมีใจผ่องใสแล้ว

พูดอยู่ก็ดี ทำอยู่ก็ดี เพราะเหตุแห่งความดีนั้น ความสุขย่อมไปตามเขา เหมือนเงา ไปตามตัว ฉะนั้น


พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง เป็นเครื่องอุปการะเกื้อกูลให้มีความเข้าใจถูกเห็นถูกในความเป็นจริงของธรรมว่า ธรรม เป็น ธรรม ไม่ใช่เรา รวมถึงสภาพธรรมที่มีโดยไม่ขาดเลยคือจิต, จิตเป็นธรรมที่มีจริง เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งซึ่งอารมณ์ เป็นธรรมที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยแล้วก็ดับไป เมื่อเป็นธรรมแล้ว ก็ไม่ใช่เรา ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน

ในสังสารวัฏฏ์อันยาวนาน แต่ละบุคคลก็เกิดมาแล้วนับชาติไม่ถ้วน ซึ่งก็ไม่พ้นไปจากความเป็นไปของสภาพธรรม คือ จิต (สภาพธรรมที่เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งอารมณ์), เจตสิก (สภาพธรรมที่เกิดประกอบพร้อมกับจิต) และรูป (สภาพธรรมที่ไม่รู้อะไร) เพราะผู้ที่ยังมีกิเลสอยู่ยังมีโลภะ ความติดข้องต้องการ ยังมีอวิชชา ความไม่รู้ ซึ่งยังดับไม่ได้ ก็ยังต้องมีการเวียนว่ายตายเกิดอยู่ร่ำไป ประการที่สำคัญ คือ ไม่ว่าจะเกิดเป็นใคร มีอายุยืนนานอยู่เพียงใด ก็ดำรงอยู่เพียงชั่วขณะจิตเดียวเท่านั้น จิตขณะหนึ่งเกิดขึ้นแล้วดับไป เป็นปัจจัยให้จิตขณะต่อไปเกิดขึ้น จิตไม่สามารถเกิดขึ้นพร้อมกันสองดวงหรือสองขณะได้ หรือไม่ใช่ว่าจะมีจิตดวงเดียวเกิดขึ้นเป็นสิ่งยั่งยืนตลอดไป เพราะตามความเป็นจริงแล้ว มีจิตเกิดดับสืบต่อกันอยู่ตลอด เวลาอย่างไม่ขาดสาย เป็นกุศลบ้าง เป็นอกุศลบ้าง เป็นวิบากบ้าง เป็นกิริยาบ้าง ตามความเป็นไปของจิต ซึ่งก็เป็นอย่างนี้มานานแล้วในสังสารวัฏฏ์ ทุกขณะของชีวิตคือการเกิดดับสืบต่อกันของจิต (และสภาพธรรมที่เกิดประกอบพร้อมกับจิต คือ เจตสิก) และที่สำคัญ จิตไม่ใช่เรา เป็นธรรมที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยหลายอย่าง เช่น มีที่เกิด มีอารมณ์ มีเจตสิกเกิดร่วมด้วย เป็นต้น เป็นการปฏิเสธความเป็นตัวตนอย่างสิ้นเชิง

ในแต่ละชาติ จิตขณะแรก คือ ปฏิสนธิจิต ซึ่งเกิดสืบต่อจากจุติจิตของชาติที่แล้ว เมื่อปฏิสนธิจิตเกิดขึ้นแล้วดับไป ก็เป็นปัจจัยให้จิตขณะต่อๆ ไปเกิดขึ้นเป็นไป จนกว่าจะถึงขณะสุดท้ายของชาตินี้ คือ จุติจิต จิตแต่ละขณะย่อมเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย เมื่อเกิดแล้วก็ดับไป ไม่ยั่งยืน จิตเป็นธรรมที่เกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย จิตแต่ละขณะที่เกิดขึ้นนั้น ไม่ได้เกิดขึ้นลอยๆ แต่ต้องอาศัยปัจจัยหลายอย่าง ยกตัวอย่างเช่น ในขณะที่จิตเห็นเกิดขึ้น ชั่วขณะสั้นๆ นั้น มีปัจจัยหลายอย่าง กล่าวคือ ต้องมีที่อาศัยให้จิตเห็นเกิด ต้องมีเจตสิกธรรมเกิดร่วมด้วย ต้องมีอารมณ์ คือ สี ซึ่งเกิดก่อนแล้ว และมีกรรมเป็นปัจจัยทำให้มีจิตเห็นเกิดขึ้น, จิต เกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย ไม่มีใครบังคับหรือทำให้เกิดขึ้นได้เลย

จิตเป็นธรรมที่มีจริง เมื่อว่าโดยลักษณะแล้ว มีลักษณะเดียว คือ รู้แจ้งซึ่งอารมณ์ จิตมีความหลากหลาย เพราะเจตสิกธรรมที่เกิดร่วมด้วย เช่น ถ้าโลภะ เกิดกับจิต จิตนั้น ก็เป็นอกุศลจิต เพราะมีอกุศลเจตสิก คือ โลภะ ความติดข้องต้องการเกิดร่วมด้วย ในทางตรงกันข้าม ถ้ามีเจตสิกฝ่ายดี คือ ศรัทธา (ความผ่องใสแห่งจิต) สติ (ความระลึกเป็นไปในความดี) หิริ (ความละอายต่อบาป) โอตตัปปะ (ความเกรงกลัวต่อบาป) อโลภะ (ความไม่ติดข้อง) อโทสะ (ความไม่โกรธ) หรือ แม้กระทั่ง อโมหะ คือ ปัญญา เกิดร่วมด้วยกับจิตในขณะนั้น ก็เป็นกุศลจิต เป็นต้น เมื่อจิตเกิดขึ้นย่อมมีเจตสิกเกิดร่วมด้วย ตามควรแก่จิตขณะนั้นๆ โดยที่จิตหรือใจ เป็นประธานหรือเป็นหัวหน้าของเจตสิกทั้งหลาย ตรงตามคำว่า ธรรมทั้งหลาย มีใจเป็นหัวหน้า ทั้งหมดทั้งปวงนั้นแสดงถึงความเป็นจริงของธรรม เป็นจริงอย่างไรก็เป็นจริงอย่างนั้น เกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุปัจจัย ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น

ข้อความในพระพุทธพจน์ที่ว่า “ธรรมทั้งหลาย มีใจเป็นหัวหน้า มีใจเป็นใหญ่สำเร็จแล้วด้วยใจ ถ้าบุคคลมีใจผ่องใสแล้วพูดอยู่ก็ดี ทำอยู่ก็ดี เพราะเหตุแห่งความดีนั้น ความสุขย่อมไปตามเขา เหมือนเงาไปตามตัว ฉะนั้นประมวลเป็นความเข้าใจได้ดังนี้ ธรรมทั้งหลาย ในที่นี้ มุ่งหมายถึง เจตสิก เจตสิกเวลาเกิด ก็ย่อมเกิดกับจิตหรือใจ โดยที่เจตสิกนั้น มีจิตหรือใจนั่นแหละ เป็นใหญ่เป็นประธาน เมื่อจิตประกอบด้วยเจตสิกฝ่ายดี มีศรัทธา สติ หิริ โอตตัปปะ เป็นต้น ย่อมเป็นจิตที่ดี เมื่อจิตประกอบด้วยสภาพธรรมฝ่ายดี จะพูดก็ตาม จะทำก็ตาม ก็ย่อมดีทั้งหมด เพราะมาจากจิตที่ดีงาม และสำหรับสภาพธรรมฝ่ายดีแล้ว ย่อมไม่เป็นเหตุแห่งทุกข์เลย มีแต่จะนำมาซึ่งประโยชน์สุขเท่านั้น เป็นสุขทั้งในขณะที่เกิด และเป็นเหตุแห่งความสุข เมื่อความดีนั้นจะให้ผล เพราะเมื่อถึงคราวที่ความดีให้ผล ก็ย่อมให้ผลเป็นผลที่ดีเท่านั้น ความสุขจะไม่พรากจากผู้นั้นเลย เปรียบเหมือนเงาตามตัวไป นั่นเอง

ประโยชน์สูงสุดของการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม อบรมเจริญปัญญาในชีวิตประจำวัน เพื่อความเข้าใจถูก เห็นถูก เพื่อละคลายความไม่รู้ ละคลายความเห็นผิดที่ยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน ธรรมเป็นสิ่งที่มีจริงๆ มีจริงในขณะนี้ แต่เพราะไม่รู้ จึงต้องศึกษา เพื่อจะได้เข้าใจอย่างถูกต้องตรงตามความเป็นจริง ค่อยๆ ปลูกฝังความเข้าใจในความเป็นธรรมทีละเล็กทีละน้อยว่า ธรรมเป็นธรรม ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน

ขอเชิญติดตามอ่านคำอื่นๆ ได้ที่..

บาลี ๑ คำ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
chatchai.k
วันที่ 12 ก.ย. 2566

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ