ผู้ที่เสียชีวิตจากการรักษาอุโบสถศีล

 
wittawat
วันที่  4 ก.ย. 2566
หมายเลข  46521
อ่าน  574

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น

ได้ฟังข้อความในรายการแนวทางเจริญวิปัสสนาครั้งที่ ๕๓๕

ท่านอาจารย์ได้แสดงว่าการรักษาอุโบสถศีลเกี่ยวกับข้อวิกาลโภชนา สามารถที่จะอบรมได้ ด้วยศรัทธาที่มั่นคง และเห็นประโยชน์ในการขัดเกลากิเลส และก็มีน้อยรายที่จะถึงกับสิ้นชีวิตลง อย่างคนรับจ้างของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี

กระผมไม่นานมานี้ได้มีการอ่านข้อความใน ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๑ ได้ปรากฏข้อความของบุคคลที่เข้าใจว่าเป็นผู้ที่เสียชีวิตจากการรักษาอุโบสถศีล และได้เกิดเป็นเทวดาผู้สิงอยู่ในต้นไม้ ผู้บอกการอุบัติขึ้นของพระพุทธศาสนาแก่ดาบสกลุ่มหนึ่งที่ขอภิกษาเที่ยวไปในเมืองโกสัมพี และเป็นเหตุให้พระพุทธศาสนาเข้าสู่พระนครโกสัมพี แคว้นวังสะ ดังต่อไปนี้

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้า 274

... ดาบสเหล่านั้น เมื่อมาจากหิมวันตประเทศในเวลาอื่น เห็นต้นไทรใหญ่ต้นหนึ่ง ในแดนอรัญ จึงนั่งที่โคนต้นไทรนั้น. บรรดาดาบสเหล่านั้น ดาบสผู้เป็นหัวหน้าคิดว่า "เทวดาผู้สิงอยู่ในต้นไม้นี้ จักมิใช่เทวดาผู้ต่ำศักดิ์, เทวราชผู้มีศักดิ์ใหญ่ทีเดียวพึงมีที่ต้นไทรนี้; เป็นการดีหนอ, ถ้าหากเทวราชนี้พึงให้น้ำควรดื่มแก่หมู่ฤษี." เทวราชนั้นได้ถวายน้ำดื่มแล้ว. ดาบสคิดถึงน้ำอาบ. เทวราชก็ได้ถวายน้ำอาบแม้นั้น. ต่อจากนั้น ดาบสผู้เป็นหัวหน้าก็คิดถึงโภชนะ เทวราชก็ถวายโภชนะแม้นั้น. ลำดับนั้น ดาบสนั้นได้มีความปริวิตกนี้ว่า "เทวราชนี้ให้ทุกสิ่งที่เราคิดแล้ว, เออหนอ เราพึงเห็นเทวราชนั้น." เทวราชนั้น ชำแรกลำต้นไม้ แสดงตนแล้ว. ขณะนั้น ดาบสทั้งหลายถามเทวราชนั้นว่า " ท่านเทวราช ท่านมีสมบัติมาก สมบัตินี้ท่านได้แล้ว เพราะทำกรรมอะไรหนอ?"

เทวราช. ขออย่าซักถามเลย พระผู้เป็นเจ้า.

ดาบส. จงบอกมาเถิด ท่านเทวราช.

เทวราชนั้นละอายอยู่ เพราะกรรมที่ตนทำไว้เป็นกรรมเล็กน้อย จึงไม่กล้าจะบอก, แต่เมื่อถูกดาบสเหล่านั้นเซ้าซี้บ่อยๆ ก็กล่าวว่า "ถ้าเช่นนั้น ขอท่านทั้งหลายจงฟัง" ดังนี้แล้ว จึงเล่า.

ประวัติเทวดา

ได้ยินว่า เทวราชนั้นเป็นคนเข็ญใจคนหนึ่ง แสวงหาการงานจ้างอยู่ ได้การงานจ้างในสำนักของอนาถบิณฑิกเศรษฐีแล้ว ก็อาศัยการงานนั้นเลี้ยงชีวิต. ต่อมา เมื่อถึงวันอุโบสถวันหนึ่ง อนาถบิณฑิกเศรษฐี มาจากวิหารแล้ว ถามว่า "ในวันนี้ ใครๆ ได้บอกความเป็นวันอุโบสถแก่ลูกจ้างคนนั้นแล้วหรือ?" คนในบ้านตอบว่า "ข้าแต่นาย ยังไม่ได้บอก." อนาถบิณฑิกะกล่าวว่า "ถ้าเช่นนั้น พวกเจ้าจงหุงหาอาหารเย็นไว้สำหรับเขา." คราวนั้น คนเหล่านั้นก็หุงข้าวสุกแห่งข้าวสารกอบหนึ่งไว้เพื่อชายนั้น. ชายนั้นทำงานในป่าตลอดวันนั้น มาในเวลาเย็น เมื่อเขาคดข้าวให้ ก็ยังไม่บริโภคโดยพลันก่อน ด้วยคิดว่า "เราเป็นผู้หิวแล้ว" คิดว่า "ในวันทั้งหลายอื่น ความโกลาหลใหญ่ย่อมมีในเรือนนี้ว่า 'ขอท่านจงให้ข้าว ขอท่านจงให้แกง ขอท่านจงให้กับ,' ในวันนี้ ทุกคนเป็นผู้เงียบเสียง นอนแล้ว, พากันคดอาหารไว้เพื่อเราคนเดียวเท่านั้น; นี้เป็นอย่างไรหนอ?" จึงถามว่า "คนที่เหลือ บริโภคแล้วหรือ?" คนทั้งหลายตอบว่า "ไม่บริโภค พ่อ."

ผู้รับจ้าง. เพราะเหตุไร?

คนทั้งหลาย. ในเรือนนี้ เขาไม่หุงอาหารในเย็นวันอุโบสถทั้งหลาย. คนทุกคน ย่อมเป็นผู้รักษาอุโบสถ, โดยที่สุด เด็กแม้ผู้ยังดื่มนม ท่านมหาเศรษฐี ก็ให้บ้วนปาก ให้ใส่ของมีรสหวาน ๔ ชนิด (เนยใส เนยข้น น้ำผึ้ง น้ำอ้อย) ลงในปาก ทำให้เป็นผู้รักษาอุโบสถแล้ว, เมื่อประทีปซึ่งระคนด้วยน้ำหอมสว่างอยู่ เด็กเล็กและเด็กใหญ่ทั้งหลายไปสู่ที่นอนแล้ว ย่อมสาธยายอาการ ๓๒; แต่ว่า พวกเรามิได้ทำสติไว้ เพื่อจะบอกความที่วันนี้เป็นวันอุโบสถแก่ท่าน, เพราะเหตุนั้น พวกเราจึงหุงข้าวไว้เพื่อท่านคนเดียว, ท่านจงรับประทานอาหารนั้นเถิด.

ผู้รับจ้าง. ถ้าการที่เราเป็นผู้รักษาอุโบสถในบัดนี้ ย่อมควรไซร้ แม้เราก็พึงเป็นผู้รักษาอุโบสถ.

คนทั้งหลาย. เศรษฐีย่อมรู้เรื่องนี้.

ผู้รับจ้าง. ถ้าเช่นนั้น ขอพวกท่านจงถามเศรษฐีนั้น.

คนเหล่านั้น ไปถามเศรษฐีแล้ว เศรษฐีกล่าวอย่างนี้ว่า "ชายนั้นไม่บริโภคในบัดนี้ บ้วนปากแล้ว อธิษฐานองค์อุโบสถทั้งหลาย จักได้อุโบสถกรรมกึ่งหนึ่ง." ฝ่ายคนรับจ้างฟังคำนั้น ได้กระทำตามนั้นแล้ว. เมื่อเขาหิวโหยแล้ว เพราะทำงานตลอดทั้งวัน ลมกำเริบแล้วในสรีระ, เขา

เอาเชือกผูกท้อง จับที่ปลายเชือกแล้วกลิ้งเกลือกอยู่. เศรษฐี สดับประพฤติเหตุเช่นนั้น มีคนถือคบเพลิงให้คนถือเอาของมีรสหวาน ๔ ชนิด มาสู่สำนักของชายนั้น ถามว่า " เป็นอย่างไร? พ่อ."

ผู้รับจ้าง. นาย ลมกำเริบแก่ข้าพเจ้า.

เศรษฐี. ถ้าอย่างนั้น เจ้าจงลุกขึ้น เคี้ยวกินเภสัชนี้.

ผู้รับจ้าง. นาย แม้ท่านทั้งหลายรับประทานแล้วหรือ?

เศรษฐี. ความไม่สบาย ของพวกเราไม่มี: เจ้าเคี้ยวกินเถิด.

เขากล่าวว่า "นาย ข้าพเจ้าเมื่อทำอุโบสถกรรม ไม่ได้อาจเพื่อจะทำอุโบสถกรรมทั้งสิ้นได้, แม้ในอุโบสถกรรมกึ่งหนึ่งของข้าพเจ้าอย่าได้เป็นของบกพร่องเลย" ดังนี้แล้ว ก็ไม่ปรารถนา (เพื่อจะเคี้ยวกิน) . ชายนั้น แม้อันเศรษฐีกล่าวอยู่ว่า "อย่าทำอย่างนี้เลยพ่อ" ก็ไม่ปรารถนาแล้ว, เมื่ออรุณขึ้นอยู่ ทำกาละแล้ว เหมือนดอกไม้ที่เหี่ยวแห้ง ฉะนั้น เกิดเป็นเทวดาที่ต้นไทรนั้น. เพราะเหตุนั้น เทวดานั้น ครั้นกล่าวเนื้อความนี้แล้ว จึงกล่าวว่า "เศรษฐีนั้นเป็นผู้นับถือพระพุทธเจ้าว่าเป็นของเรา นับถือพระธรรมว่าเป็นของเรา นับถือพระสงฆ์ว่าเป็นของเรา. สมบัตินั้นข้าพเจ้าได้แล้ว ด้วยผลอันไหลออกแห่งอุโบสถกรรมกึ่งหนึ่ง ซึ่งข้าพเจ้าอาศัยเศรษฐีนั้นกระทำแล้ว."

***

จะเห็นได้ว่าในบ้านของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีมีการรักษาอุโบสถศีลในวันอุโบสถ มีการฟังธรรม และมีการสาธยายอาการ ๓๒ เป็นปรกติ ตั้งแต่ตัวเศรษฐีเองจนกระทั่งคนในบ้านทั้งหมด และเมื่อเทวดาได้บอกการอุบัติขึ้นของพระพุทธเจ้าแล้ว ในกาลต่อมาเมื่อดาบส ๕๐๐ ก็เกิดความเลื่อมใสและออกบวช และนำมาสู่การที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเสด็จไปที่กรุงโกสัมพี

ขอกราบอนุโมทนาครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
chatchai.k
วันที่ 5 ก.ย. 2566

ยินดีในกุศลจิตครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
khampan.a
วันที่ 6 ก.ย. 2566

ขอบพระคุณและยินดีในกุศลวิริยะของคุณวิทวัตเป็นอย่างยิ่งครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
เมตตา
วันที่ 10 ก.ย. 2566

ขอบพระคุณ และยินดียิ่งในความดีทุกประการของคุณวิทวัต ค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ