ผู้ใดประมาทผู้นั้นย่อมเหมือนคนตายแล้ว
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น
ได้ยินข้อความนี้บ่อยครั้งจากการบรรยายธรรม "ผู้ใดประมาทผู้นั้นย่อมเหมือนคนตายแล้ว"
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้า 304
ผู้ใดประมาทแล้ว ผู้นั้นย่อมเป็นเหมือนคนตายแล้ว
ข้อความในอรรถกถาแสดงว่า
... ความไม่ประมาทนั้นนั่น โดยอรรถ ชื่อว่า ความไม่อยู่ปราศจากสติ, เพราะคำว่า "ความไม่ประมาท" นั่น เป็นชื่อของสติอันตั้งมั่นเป็นนิตย์.
... ภาวะคือความมัวเมา ชื่อว่า ความประมาท. คำว่า ความ ประมาทนั่น เป็นชื่อของการปล่อยสติ กล่าวคือ ความมีสติหลงลืม
... บาทพระคาถาว่า เย ปมตฺตา ยถา มตา ความว่า ส่วนสัตว์เหล่าใดประมาทแล้ว, สัตว์เหล่านั้น ย่อมเป็นเหมือนสัตว์ที่ตายแล้ว ด้วยการขาดชีวิตินทรีย์ มีวิญญาณไปปราศแล้วเช่นกับท่อนฟืนฉะนั้นเทียว เพราะความที่ตนตายแล้วด้วยความตาย คือ ความประมาท; จริงอยู่ แม้จิตดวงหนึ่งว่า " เราจักถวายทาน, เราจักรักษาศีล เราจักทำอุโบสถกรรม" ดังนี้ ย่อมไม่เกิดขึ้น แม้แก่เขาทั้งหลายผู้เป็นคฤหัสถ์ก่อน, จิตดวงหนึ่งว่า "เราจักบำเพ็ญวัตรทั้งหลาย มีอาจริยวัตรและอุปัชฌายวัตรเป็นต้น, เราจักสมาทานธุดงค์, เราจักเจริญภาวนา" ดังนี้ ย่อมไม่เกิดขึ้นแก่สัตว์เหล่านั้น แม้ผู้เป็นบรรพชิต ดังจิตดวงหนึ่งไม่เกิดขึ้น แก่สัตว์ที่ตายแล้วฉะนั้น, สัตว์ผู้ประมาทแล้วนั้น จะเป็นผู้มีอะไรเป็นเครื่องกระทำให้ต่างจากสัตว์ผู้ตายแล้วเล่า? เพราะฉะนั้น ย่อมเป็นเหมือนคนตายแล้ว."
[สรุป]
ผู้ที่ตายแล้วย่อมไม่มีจิตใดๆ เกิดขึ้น คือ ไม่เห็น ไม่ได้ยิน ไม่คิดนึก เป็นต้น บุคคลที่ประมาทก็ไม่มีจิตที่ประกอบด้วยสติเกิดขึ้นเช่นกัน คือ ไม่มีจิตที่ดีงามที่เกิดขึ้นเป็นไปในทาน ศีล ภาวนา โดยประการใดๆ เลย เพราะฉะนั้น "ผู้ใดประมาทผู้นั้นย่อมเหมือนคนตายแล้ว"
ขอกราบอนุโมทนา