รสรากไม้

 
wittawat
วันที่  14 ก.ย. 2566
หมายเลข  46557
อ่าน  332

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น

พระอภิธรรมปิฎก วิภังค์ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 234

นิเทศแห่งอาโปธาตุนอก

พึงทราบวินิจฉัยนิเทศอาโปธาตุภายนอก ต่อไป

รสที่อาศัยรากไม้เกิดขึ้น ชื่อว่า มูลรส (รสรากไม้) . แม้ในรสทั้งหลายมีรสเกิดแต่ลำต้นไม้เป็นต้น ชื่อ มูลรส (รสรากไม้) . แม้ในรสแจ่มแจ้งแล้วทั้งหมดทีเดียว แต่ในทีนี้ไม่มีกำหนดแน่นอนเหมือนในสิกขาบทว่าด้วยเภสัช. น้ำมันอย่างใดอย่างหนึ่ง ชื่อว่า น้ำนมนั่นแหละ แม้ในบทที่เหลือทั้งหลาย ก็นัยนี้แล.

บทว่า ภุมฺมานิ (พื้นดิน) ได้แก่ น้ำที่อยู่ในบ่อเป็นต้น.

บทว่า อมฺตกฺขานิ (อากาศ) ได้แก่ น้ำฝนที่ยังไม่ตกถึงแผ่นดิน.

บทว่า ยํ วา ปน (ก็หรือว่า น้ำใด) ได้แก่ น้ำหิมะ น้ำยังกับให้พินาศ น้ำรองแผ่นดินเป็นต้นจัดเข้าฐานะในเยวาปนกนัย ในที่นี้.


ปรากฏข้อความที่กระผมไม่ค่อยเข้าใจอยู่เกี่ยวข้องกับอาโปธาตุภายนอก ที่แปลจากคำบาลี

1. คำว่า มูลรส คือ รสรากไม้ ต่อให้แปลเป็นภาษาไทยแล้ว ก็ยังสับสนอยู่ดีครับ

2. ยํ วา ปน แปลว่า เยวาปนกนัย หมายถึง นัยอื่นๆ ใช่ไหมครับ หมายถึง ถ้าเป็นอาโปธาตุประเภทที่ไม่ได้กล่าวข้างต้น ก็ให้อยู่ในหัวข้อนี้ทั้งหมดใช่ไหมครับ

3. อาโปธาตุที่ท่านกล่าวไว้ในคัมภีร์วิภังค์นี้ เมื่อไม่ได้เป็นรูปที่ปรากฏโดยการกระทบกับกายปสาทรูปเช่นนี้แล้ว จะเข้าใจอาโปธาตุที่ท่านแสดงไว้ได้อย่างไรครับ

ขอกราบอนุโมทนาครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
khampan.a
วันที่ 15 ก.ย. 2566

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

1. คำว่า มูลรส คือ รสรากไม้ ต่อให้แปลเป็นภาษาไทยแล้ว ก็ยังสับสนอยู่ดีครับ

คำบาลี แปลถูกต้องแล้ว มูลรส แปลว่า รสของรากไม้ ที่รากไม้ก็มีรสต่างๆ ความเป็นจริงของรูป ก็คือ ทุกกลุ่มของรูป จะไม่ปราศจากธาตุน้ำเลย และที่เป็นรสต่างๆ ไม่ว่าจะเปรี้ยว หวาน เค็ม เป็นต้น ก็ย่อมมีความเอิบอาบซึมซาบของธาตุน้ำ ครับ


2. ยํ วา ปน แปลว่า เยวาปนกนัย หมายถึง นัยอื่นๆ ใช่ไหมครับ หมายถึง ถ้าเป็นอาโปธาตุประเภทที่ไม่ได้กล่าวข้างต้น ก็ให้อยู่ในหัวข้อนี้ทั้งหมดใช่ไหมครับ

ถูกต้องครับ


3. อาโปธาตุที่ท่านกล่าวไว้ในคัมภีร์วิภังค์นี้ เมื่อไม่ได้เป็นรูปที่ปรากฏโดยการกระทบกับกายปสาทรูปเช่นนี้แล้ว จะเข้าใจอาโปธาตุที่ท่านแสดงไว้ได้อย่างไรครับ

ความหมายของอาโปธาตุ คือ สภาพธรรมใด ย่อมเอิบอาบ คือ แผ่ไปสู่รูปที่เกิดร่วมกันหรือสภาพธรรมใด ยังรูปที่เกิดร่วมกันให้แนบแน่น ให้พอกพูน คือ ให้เจริญ สภาพธรรมนั้นชื่อว่า อาโปธาตุ

อาโปธาตุ เป็นสภาพธรรมที่มีจริง เป็นรูปธรรม แม้ว่าจะเป็นสภาพธรรมที่ไม่ได้ปรากฏทางกาย แต่เมื่อเป็นสิ่งที่มีจริง พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้และทรงแสดงความจริงนี้ ก็ทำให้ผู้ศึกษาได้เริ่มเข้าใจว่า เป็นธรรมที่มีจริงอย่างหนึ่ง ที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สิ่งหนึ่งสิ่งใด ครับ

ข้อความบางตอนจากคำบรรยายของท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ มีดังนี้

"ธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม ซึ่งเป็นมหาภูตรูป สำหรับที่เป็นโผฏฐัพพะนั้น มีเพียง ๓ รูป คือ ธาตุดิน ธาตุไฟ ธาตุลม สำหรับธาตุน้ำ ไม่ใช่โผฏฐัพพารมณ์เพราะเหตุว่าลักษณะของธาตุน้ำ คือ อาโปธาตุ คือ

บทว่า อาโป ความเอิบอาบเป็นการแสดงสภาวะ อาโปนั่นแหละ เรียกว่า อาโปคตํ ธรรมชาติที่เอิบอาบ ที่ชื่อว่า สิเนโห ความเหนียว ด้วยอำนาจที่เป็นยางใยแห่งความเหนียวนั่นแหละ เรียกว่า สิเนหคตํ ธรรมชาติที่เหนียว

บทว่า พนฺธนตฺตํ รูปสฺส ธรรมชาติเครื่องเกาะกุมรูป ได้แก่ ธรรมชาติ เป็นเครื่องประกอบภูตรูปมีปฐวีเป็นต้น จริงอยู่ อาโปธาตุควบคุมวัตถุทั้งหลายมีแท่งเหล็กเป็นต้นไว้ แล้วย่อมทำให้ติดกัน ธรรมชาติทั้งหลายมีก้อนเหล็กเป็นต้นเหล่านั้น ชื่อว่า ติดกันอยู่ เพราะความที่อาโปธาตุนั้นเป็นเครื่องเกาะกุมไว้ แม้ในแผ่นหิน ภูเขา ต้นตาล หน่อไม้ งาช้าง และเขาโค เป็นต้น ก็นัยนี้เหมือนกันก็อาโปธาตุเท่านั้น เกาะกุมวัตถุเหล่านั้นทั้งหมด กระทำให้ติดกัน ธรรมชาติเหล่านั้น ชื่อว่า เป็นธรรมชาติติดกัน ก็เพราะถูกอาโปธาตุควบคุมไว้ด้วยเหตุนี้ เมื่อกระทบสัมผัสทีไร ก็จึงเป็นแต่เพียงปฐวี หรือเตโช หรือ วาโย แต่ว่าไม่สามารถที่จะกระทบสัมผัสอาโปธาตุ ซึ่งไหลเอิบอาบ ซึมซาบเกาะกุมธาตุที่เกิดร่วมด้วย"


... ยินดีในกุศลของคุณวิทวัตและทุกๆ ท่านด้วยครับ ...

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
chatchai.k
วันที่ 15 ก.ย. 2566

ยินดีในกุศลจิตครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
wittawat
วันที่ 17 ก.ย. 2566

กราบอนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ