ตอแห่งวัฏฏะ

 
wittawat
วันที่  20 ก.ย. 2566
หมายเลข  46577
อ่าน  402

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น

กระผมได้ยินข้อความว่า ตอแห่งวัฏฏะ หลายครั้งในการสนทนาธรรมของมูลนิธิ ก็ไปค้นมาได้ทราบว่า หมายถึง "ผู้เฝ้าแผ่นดิน" คือ เป็นผู้เห็นผิดมั่นคง จนกระทั่งไม่มีโอกาสไปสู่สวรรค์ได้ และยิ่งไม่มีโอกาสออกจากวัฏฏะได้เลย

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 259

... ก็คนเหล่าใดถือลัทธิของสมณพราหมณ์เหล่านั้น นั่งท่องพิจารณาในที่พักกลางคืนและกลางวัน มิจฉาสติของคนเหล่านั้นย่อมตั้งมั่นในอารมณ์นั้นว่า ทานที่ให้แล้วไม่มีผล ยัญที่บูชาแล้วไม่มีผล บาปของคนที่ทําแล้วไม่เป็นอันทํา เหตุไม่มี ปัจจัยไม่มี จิตก็มีอารมณ์อันเดียว ชวนะทั้งหลายก็แล่นไป. ในชวนะที่หนึ่ง ยังพอแก้ไขได้. ในชวนะที่สองเป็นต้นก็เหมือนกัน. ในชวนะที่เจ็ด แม้พระพุทธเจ้าทั้งหลายก็แก้ไขไม่ได้ เป็นผู้ไม่หวนกลับเช่นเดียวกับอริฏฐะและกัณฏกภิกษุ.

ในชวนะเหล่านั้นบางคนก็หยั่งลงทรรศนะเดียวบ้าง บางคนสองทรรศนะบ้าง บางคนสามทรรศนะบ้าง เมื่อเขาหยั่งลงทรรศนะหนึ่งสองสามทรรศนะก็เป็นอันหยั่งลงแล้ว เขาก็เป็นมิจฉาทิฏฐิ ชนิดดิ่งทีเดียว ห้ามทางสวรรค์ ทางพระนิพพาน ไม่ควรไปสวรรค์ ในอันดับแห่งอัตภาพนั้น จะป่วยกล่าวไปไยถึงพระนิพพาน. สัตว์นี้เป็นผู้เฝ้าแผ่นดิน ชื่อว่า เป็นตอแห่งวัฏฏะ


ก่อนหน้านี้ ผมเคยสงสัยว่า คนที่คิดว่าโลกนี้ (โลกหน้า) ไม่มี และมารดา บิดาไม่มีนี้เค้าคิดได้อย่างไร เพราะว่าก็ปรากฏชัดว่าโลกนี้ก็มี มารดาบิดาก็มี แต่เมื่อไปเปิดในอรรถกถาแล้วปรากฏข้อความที่ให้ความเข้าใจว่า

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 265

คําว่า "โลกนี้ไม่มี" คือไม่มีโลกนี้สําหรับผู้ตั้งอยู่ในโลกอื่น.คําว่า "โลกอื่นไม่มี" คือไม่มีโลกอื่นแม้สําหรับผู้ตั้งอยู่ในโลกนี้. (เป็นความเห็นที่ว่าเกิดแล้วก็ตายเลย ไม่เกิดอีก คนตายจากโลกอื่นมาสู่โลกนี้ไม่ได้ คนตายจากโลกนี้ก็ไปสู่โลกอื่นไม่ได้)

คําว่า "ไม่มีแม่ ไม่มีพ่อ" หมายถึงว่า เขาย่อมพูดด้วยอํานาจความไม่มีผลแห่งการปฏิบัติชอบและปฏิบัติผิดในท่านเหล่านั้น. (ไม่ใช่เห็นว่าไม่มีพ่อ ไม่มีแม่ แต่เห็นว่ากรรมดีและชั่วที่กระทำกับพ่อแม่ และผลกรรมนั้นๆ ไม่มี)


กระผมมีคำถามต่อไปนี้

1. คำว่า ตอแห่งวัฏฏะ อันนี้ หมายถึง ผู้เห็นผิดที่ประกอบด้วยความเห็นผิดและมีวาทะผิด ๓ ประเภท คือ นัตถิกทิฏฐิ ห้ามวิบาก อกิริยทิฏฐิ ห้ามกรรม อเหตุกทิฏฐิ ห้ามแม้ทั้งสอง (คือ ทั้งกรรมและวิบาก) ใช่ไหมครับ

2. ผู้เห็นผิด ๓ ประเภทข้างต้น เป็นผู้เห็นผิดประเภทว่าสูญอย่างเดียว หรือมีความเห็นผิดว่าเที่ยงปนอยู่ด้วยครับ

3. คำว่า "ชวนะที่เจ็ด แม้พระพุทธเจ้าทั้งหลายก็แก้ไขไม่ได้" อันนี้ผมสงสัยครับว่าหมายถึงอะไร ตามธรรมดา การท่องบ้าง ก็พูดไปหลายครั้ง คงไม่ได้เห็นผิดแค่วาระจิตเดียวที่มีชวนะ ๗ ขณะ ไม่ใช่หรือครับ

ขอกราบอนุโมทนาครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
khampan.a
วันที่ 21 ก.ย. 2566

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

1. คำว่า ตอแห่งวัฏฏะ อันนี้ หมายถึง ผู้เห็นผิดที่ประกอบด้วยความเห็นผิดและมีวาทะผิด ๓ ประเภท คือ นัตถิกทิฏฐิ ห้ามวิบาก อกิริยทิฏฐิ ห้ามกรรม อเหตุกทิฏฐิ ห้ามแม้ทั้งสอง (คือ ทั้งกรรมและวิบาก) ใช่ไหมครับ

นิยตมิจฉาทิฏฐิ เป็นความเห็นผิดที่ดิ่ง ความเห็นผิดที่มีโทษมาก แม้พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็ทรงช่วยไม่ได้ เป็นเครื่องกั้นทั้งสวรรค์ และ มรรคผลนิพพาน เป็นตอของวัฏฏะ คือ ไม่สามารถออกจากสังสารวัฏฏ์ได้ มี ๓ ประเภท คือ

๑. อกิริยทิฏฐิ ความเห็นว่า ไม่เป็นอันทำ ปฏิเสธการกระทำดี กระทำชั่ว และปฏิเสธผลว่าไม่มี

๒. อเหตุกทิฏฐิ ความเห็นว่าทุกสิ่งไม่มีเหตุ ไม่มีปัจจัย เป็นไปเอง

๓. นัตถิกทิฏฐิ ความเห็นว่า ไม่มีบุญ ไม่มีบาป เป็นการปฏิเสธทั้งเหตุและผล

ว่าโดยประมวลในความเห็นผิดที่ดิ่งทั้ง ๓ ประเภทนี้ ปฏิเสธทั้งเหตุและผล กล่าวคือ ปฏิเสธทั้งกรรมและวิบาก ตามข้อความดังนี้ .-

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้าที่ ๓๘๙
บรรดาครูทั้ง ๖ นั้น ปูรณะชี้แจงว่า เมื่อทำบาปก็ไม่เป็นอันทำชื่อว่า ย่อมปฏิเสธกรรม. อชิตะชี้แจงว่า เพราะกายแตกสัตว์ย่อมขาดสูญ ชื่อว่า ปฏิเสธวิบาก. มักขลิชี้แจงว่า ไม่มีเหตุ ชื่อว่า ปฏิเสธทั้งกรรมและวิบากทั้ง ๒. ในข้อนั้น แม้เมื่อปฏิเสธกรรม ก็ชื่อว่าปฏิเสธวิบากด้วย. แม้เมื่อ ปฏิเสธวิบาก ก็ชื่อว่าปฏิเสธกรรมด้วย. ดังนั้นเจ้าลัทธิแม้ทั้งหมดนั้น ว่าโดยอรรถ ก็คือ ปฏิเสธทั้งกรรมและวิบากของกรรมทั้ง ๒ ย่อมเป็นอเหตุกวาทะด้วย เป็นอกิริยวาทะด้วย เป็นนัตถิกวาทะด้วย


2. ผู้เห็นผิด ๓ ประเภทข้างต้น เป็นผู้เห็นผิดประเภทว่าสูญอย่างเดียว หรือมีความเห็นผิดว่าเที่ยงปนอยู่ด้วยครับ

ถ้าเป็นความเห็นผิดว่าเที่ยงยั่งยืน ไม่ใช่ความเห็นผิดที่ดิ่ง เพราะเมื่อได้ฟังในเหตุในผล ก็สามารถที่จะแก้ไขความเห็นผิดดังกล่าวได้ กลับมาเป็นผู้มีความเห็นถูกได้ แต่ถ้าเป็นความเห็นผิดที่ปฏิเสธทั้งเหตุและผลแล้ว หนักเลย เป็นเหตุให้ทำผิดได้มากมาย


3. คำว่า "ชวนะที่เจ็ด แม้พระพุทธเจ้าทั้งหลายก็แก้ไขไม่ได้" อันนี้ผมสงสัยครับว่าหมายถึงอะไร ตามธรรมดา การท่องบ้าง ก็พูดไปหลายครั้ง คงไม่ได้เห็นผิดแค่วาระจิตเดียวที่มีชวนะ ๗ ขณะ ไม่ใช่หรือครับ

ชวนะที่ ๗ เป็นชวนะขณะที่มีกำลังมากสุด และยังเป็นเหตุให้เกิดผลในชาติถัดไปได้เลย และที่สำคัญไม่ใช่ว่าจะมีความเห็นผิดที่ดิ่งในทันทีทันใดเลย ก็ต้องมาจากการสะสมไปทีละเล็กทีละน้อย ย่อมมีหลายวาระ ไม่ใช่วาระเดียว ครับ


... ยินดีในกุศลของคุณวิทวัตและทุกๆ ท่านด้วยครับ ...

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
chatchai.k
วันที่ 21 ก.ย. 2566

ยินดีในกุศลจิตครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
wittawat
วันที่ 22 ก.ย. 2566

กราบอนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ