ทำไม ในชาดก ต้องกล่าวถึงแต่เมือง พาราณสี อยู่ทุกเรื่อง
เคยสงสัยมานานแล้วครับ หรือว่าโลกทุกใบที่เกิดมา ต้องมีเมืองชื่อ พาราณสี หรือแม้กระทั่งยุคพระพุทธเจ้าองค์ก่อนๆ (ในโลกใบปัจจุบันนี้) เมื่อครั้งพระโพธิสัตว์บำเพ็ญบารมีก็รู้สึกว่าจะกล่าวถึงเมือง พาราณสี
กรุณาชี้แนะหน่อยครับ
ควรทราบว่าเรื่องของชื่อเมืองหรือชื่อคน ย่อมมีซ้ำกันได้ แม้ยุคเดียวกัน ชื่อเมืองก็มีซ้ำกัน แม้ต่างยุคก็ชื่อซ้ำกันกับอีกยุคหนึ่งก็ได้ และเรื่องชื่อนี้ ไม่ใช่สาระสำคัญ เนื้อหาคำสอนที่ทรงแสดงย่อมมีความสำคัญ และเป็นสาระมากกว่า เพราะทุกครั้งที่ทรงแสดงประกาศสัจจะ ๔ และประชุมชาดก ผู้ฟังย่อมสำเร็จเป็นพระอริยบุคคลมากมาย สมดังข้อความในอรรถกถาชาดกดังนี้
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๑ - หน้าที่ 177 พระศาสดา ครั้นทรงแสดงพระธรรมเทศนานี้ อย่างนี้แล้ว จึงทรงประกาศสัจจะ ๔. ในเวลาจบสัจจะ ภิกษุผู้ละความเพียรดำรงอยู่ในพระอรหัตอันเป็นผลอันเลิศ. แม้พระศาสดาก็ตรัสเรื่อง ๒ เรื่องสืบต่อกัน ทรงประชุมชาดกแสดงว่า คนรับใช้ผู้ไม่ละความเพียร ค่อยหินให้น้ำแก่มหาชน ในสมัยนั้น ได้เป็นภิกษุผู้ละความเพียรรูปนี้ ในบัดนี้ บริษัทที่เหลือในสมัยนั้น เป็นพุทธบริษัทในบัดนี้ ส่วนหัวหน้าพ่อค้าเกวียนได้เป็นเรา ดังนี้ ได้ให้พระธรรมเทศนานี้จบลงแล้ว.
จบ วัณณุปถชาดกที่ ๒
เป็นเรื่องของการแต่งตั้งบัญญัติของชื่อเพื่อให้เราเข้าใจถึงเรื่องราวสถานการณ์ที่มีจริงในครั้งพุทธกาลสื่บต่อมาจนกระทั่งปัจจุบันค่ะ
ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย
ในระยะเวลาของสังสารวัฏฏ์ยาวนานมาก แม้แค่เวลากัปเดียวก็นับชาติไม่ถ้วน จึงย่อมมีชื่อซ้ำเป็นธรรมดา แม้ชื่อของคนก็ซ้ำกันมากมาย อย่างเมืองพาราณสี ในข้อความในพระไตรปิฎก แสดงว่า บางเวลาก็เป็นชื่อนี้ (สถานที่เดียวกัน) บางเวลาก็ชื่อนี้ แต่แสดงโดยชื่อว่าพาราณสี เป็นส่วนมาก เพราะด้วยอำนาจเทศนาที่พระพุทธองค์เห็นควรแสดง ในเรื่องนั้นๆ
ขออนุโมทนา ขออุทิศกุศลให้สรรพสัตว์
อีกอย่างหนึ่ง ข้อความในชาดกที่ทรงยกขึ้นแสดง เป็นเหตุเกิดในกัปนี้ เป็นส่วนมาก ดังนั้นชาดก ๕๕๐ เรื่อง เมื่อว่าตามความยาวนานของกัปแล้ว คนเราตายและเกิดในกัปหนึ่งมากกว่า ๕๕๐ ชาติ ครับ
ชื่อซ้ำ ก็มาจากสภาพธรรมที่ซ้ำไปซ้ำมา ทางตา ... ใจ เบื่อบ้างยัง ซ้ำอย่างนี้
เบื่อด้วยโทสะ เป็นส่วนมาก เบื่อด้วยปัญญาเป็นส่วนน้อยกว่าน้อยๆ ๆ ๆ ๆ ........
ชื่อซ้ำไม่สำคัญ เป็นเพียงความสะดวกในการสื่อสารของเหล่ามนุษย์ด้วยกันเท่านั้น ที่สำคัญกว่าคือ ไม่ควรไปติดในชื่อมากเกินไป เพราะชื่อเป็นเพียงสมมติสัจจะไม่เกิดดับ ถ้าได้ยิน การกล่าวกันซ้ำกันมากๆ ความที่ปุถุชนยังหนาไปด้วยอวิชชาจึงไม่อาจจะข้ามพ้นความสงสัยไปได้ หรือบางท่านอาจจะสั่มสมความขุ่นเคืองใจนิดๆ บ่อยๆ จึงคิดเบื่อได้ง่าย ถ้ายังไม่ถึง "นิพพาน" หรือแค่เพียง "นิพพิทาญาณ" ก็คงเบื่อไม่จริงกันหรอกครับ เมื่อมีตา ก็ยังอยากเห็น ไม่อยากตาบอด ไม่อยากเป็นสารพัดโรคตา เมื่อมีหู ก็ยังอยากได้ยิน ไม่อยากหูหนวก ไม่อยากเป็นสารพัดโรคหู เมื่อมีจมูก ก็ยังอยากได้กลิ่น ไม่อยากเป็นโรคที่ทำให้ไม่ได้กลิ่น ไม่ ... สารพัดโรคจมูก เมื่อมีลิ้น ก็ยังอยากลิ้มรส ไม่อยากเพียงเคี้ยวและกลืนลงไป ไม่ ... .สารพัดโรคลิ้น เมื่อมีกาย ก็ยังอยากจะกระทบกับสัมผัสที่น่าใคร่น่าพอใจ ไม่อยากเป็นเหน็บชา ตายด้าน หรือหมดสภาพที่จะสามารถตอบสนอง ไม่ ... ... .สารพัดโรคทางกายเมื่อยังมี "โลภะ" ก็ยังคง รักตัว หวงตัว ไม่อยากให้ตัวต้องเดือดร้อนกลัวตาย แต่บางครั้งสังขารธรรมก็ปรุงแต่งให้คิดเบื่อได้ด้วย "โทสะ" เป็นการเบื่อในอารมณ์ที่ไม่น่าพอใจ อารมณ์ที่ไม่น่าใคร่ อารมณ์ที่ไม่น่าปรารถนา ไม่ใช่เบื่อเพราะ "ปัญญา" ที่ประจักษ์ถึงความไม่เที่ยง ความทุกข์ของสภาพธรรมที่บีบคั้น เกิดแล้วดับ เป็นอนัตตายึดถือเอาแก่นสารจากธรรมที่ดับไปแล้วว่าเป็นของของตนไม่ได้ "ปัญญาที่สะสมมานั้นยังห่างไกลนัก ยังห่างไกล" ยังต้องเพียรอบรมกันต่อไปอีกนานในสังสารวัฎครับ