ตัณหา กับ โลภะ เป็นสิ่งเดียวกันหรือไม่

 
lokiya
วันที่  22 ก.ย. 2566
หมายเลข  46586
อ่าน  410
ตัณหา กับ โลภะ เป็นสิ่งเดียวกันหรือไม่

  ความคิดเห็นที่ 1  
 
khampan.a
วันที่ 23 ก.ย. 2566

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

[เล่มที่ 43] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๔
- หน้าที่ ๑๘

“ขึ้นชื่อว่าตัณหา ของสัตว์เหล่านี้ หยาบ; สนิม ตั้งขึ้นแต่เหล็ก ย่อมกัดเหล็กนั่นเอง ย่อมทำให้เหล็กพินาศไป ทำให้เป็นของใช้สอยไม่ได้ ฉันใด; ตัณหานี้ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน เกิดขึ้นภายในของสัตว์เหล่านี้แล้ว ย่อมทำให้สัตว์เหล่านั้นเกิดในอบาย มีนรก เป็นต้น ทำให้ถึงความพินาศ"


[เล่มที่ 60] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๖ - หน้าที่ ๑๕๓

“ไม่ควรตกอยู่ในอำนาจตัณหา เพราะตัณหานี้ เมื่อเจริญขึ้น ย่อมไม่ปล่อยให้พ้นจากอบายทั้งสี่ (นรก เปรต อสุรกาย สัตว์ดิรัจฉาน) ไปได้”

(พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก กามชาดก)


[เล่มที่ 76] พระอภิธรรมปิฎก ธรรมสังคณี เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้าที่ ๑๖

"โลภะ มีในสมัยนั้น เป็นไฉน? การโลภ กิริยาที่โลภ ความโลภ การกำหนัดนัก กิริยาที่กำหนัดนัก ความกำหนัด ความเพ่งเล็ง อกุศลมูลคือโลภะ ในสมัยนั้น อันใด นี้ชื่อว่าโลภะมีในสมัยนั้น"


[เล่มที่ 34] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ หน้าที่ ๓๓๙

พระผู้มีพระภาคเจ้า ตรัสถามชนชาวกาลามะ ว่า “ท่านจะสำคัญความนั้นเป็นไฉน โลภะความอยากได้ เมื่อเกิดขึ้นในภายในของบุรุษ ย่อมเกิดขึ้นเพื่อประโยชน์ หรือว่า เพื่อสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์?”

ชนชาวกาลามะ กราบทูลว่า “โลภะนั้น ย่อมเกิดขึ้นเพื่อสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ พระพุทธเจ้าข้า”

พระผู้มีพระภาคเจ้า ตรัสถามต่อไปว่า “บุรุษผู้โลภแล้ว อันความโลภครอบงำแล้ว มีใจอันความโลภยึดไว้รอบแล้ว ฆ่าสัตว์มีชีวิตบ้าง ถือเอาสิ่งของที่เจ้าของไม่ให้แล้วบ้าง ถึงภรรยาผู้อื่นบ้าง พูดเท็จบ้าง ชักชวนผู้อื่นให้เป็นอย่างนั้นบ้าง สิ่งใดเป็นไปเพื่อสิ่งไม่เป็นประโยชน์ เป็นไปเพื่อทุกข์แก่ผู้อื่นนั้น สิ้นกาลนาน บุคคลผู้โลภแล้ว ย่อมชักชวนผู้อื่นในสิ่งนั้น อันนี้จริงหรือไม่?”

ชนชาวกาลามะ กราบทูลว่า “ข้อนี้ จริงอย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า”

(พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เกสปุตตสูตร)


[เล่มที่ 45] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตก เล่ม ๑ ภาค ๔ - หน้าที่ ๕๔๐

“โลภะ ก่อให้เกิดความพินาศ โลภะทำจิตให้กำเริบ ชนไม่รู้สึกโลภะนั้นอันเกิดแล้วในภายในว่าเป็นภัย คนโลภย่อมไม่รู้ประโยชน์ ย่อมไม่เห็นธรรม โลภะย่อมครอบงำนรชนในขณะใด ความมืดตื้อย่อมมีในขณะนั้น”
(มลสูตร)


[เล่มที่ 60] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๖ - หน้าที่ ๓๔

พระโพธิสัตว์ ตรัสกับพระนางอุทัยภัทรา ว่า “พื้นแผ่นดินทั้งสิ้น เต็มไปด้วยทรัพย์ ถ้าพึงเป็นของสำหรับพระราชาพระองค์เดียว ไม่มีผู้อื่นครอบครอง ถึงกระนั้น ผู้ที่ยังไม่ปราศจากความกำหนัด (ความยินดีพอใจ) ก็ต้องทิ้งสมบัตินั้นไป”

(พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก อุทยชาดก)


ตัณหา (ความอยาก) กับ โลภะ (ความติดข้อง) ก็คือ สภาพธรรมอย่างเดียวกัน ที่เป็นความติดข้อง ความอยาก ความต้องการ ว่าโดยสภาพธรรมแล้ว ก็ได้แก่ โลภเจตสิก นั้นเอง

พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง เป็นความจริง เตือนให้ได้เข้าใจความจริงในชีวิตประจำวันทุกประการ เพราะชีวิตประจำวันเป็นธรรม หนีไม่พ้นไปจากธรรม แต่ก็ไม่รู้ว่าเป็นธรรม จนกว่าจะได้ฟังพระธรรม แม้แต่โลภะก็เช่นเดียวกัน เป็นสภาพธรรมที่มีจริง เป็นความติดข้อง ยินดีพอใจ ซึ่งเป็นอกุศลธรรมประการหนึ่ง ไม่ว่าจะติดข้องในอะไร หรือเกิดกับใคร ก็เป็นโลภะหรือตัณหา ไม่เปลี่ยนแปลงลักษณะเป็นอย่างอื่นไปได้ โลภะเกิดเมื่อใดก็ผูกพันกับสิ่งนั้น ไม่ให้จิตเป็นกุศล และผูกพันไว้ในสังสารวัฏฏ์ โลภะมีหลายระดับขั้น กล่าวคือ มีทั้งโลภะที่เกิดขึ้นเป็นปกติในชีวิตประจำวัน และโลภะที่มีกำลังมาก หรือโลภะเกินประมาณ ถึงขั้นล่วงออกมาเป็นทุจริตกรรมประการต่างๆ เช่น ลักทรัพย์ของผู้อื่น เป็นต้น

... ยินดีในกุศลของคุณ lokiya และทุกๆ ท่านด้วยครับ ...

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
chatchai.k
วันที่ 23 ก.ย. 2566

ยินดีในกุศลจิตครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
lokiya
วันที่ 26 ก.ย. 2566

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ