เจอพระภิกษุกำลังซื้อของกิน/เครื่องดื่ม

 
acsmaster
วันที่  27 ก.ย. 2566
หมายเลข  46608
อ่าน  275

ขอเรียนถามเพื่อให้ผมปฏิบัติต่อพระภิกษุให้เหมาะสมครับ

ผมเดินในใจกลางกรุงเทพแล้วเจอพระภิกษุกำลังซื้อของกิน/เครื่องดื่ม :

1. ถ้าอยู่ในช่วงเวลาก่อนเที่ยงวัน ผมเข้าไปขอเป็นคนจ่ายเงินให้ร้านขายของกินแทนพระ มีสิ่งใดไม่เหมาะสมหรือเปล่าครับ (ผมหวังเพื่อให้ท่านไม่ต้องผิดพระวินัยเพราะใช้เงินที่รับมาเอาไปซื้อของกินต่อซึ่งจะเป็นปาจิตตีย์ทุกคำกลืน) ?

2. ถ้าอยู่ในช่วงเวลาหลังเที่ยงวัน ผมควรขอเป็นคนจ่ายเงินสำหรับของกินนั้นหรือไม่ครับ (ถ้าพระซื้อฉันเองก็น่าจะผิดวินัย 2 ข้อเลย คือ ฉันในยามวิกาล และ ใช้เงินซื้อของกิน แต่ถ้าเราซื้อถวาย ท่านน่าจะผิดเพียงข้อดียวคือ ฉันในยามวิกาล? แต่ก็เหมือนเราสนับสนุนให้ท่านผิดข้อนี้?)

ผมไม่แน่ใจว่าผมเข้าใจพระวินัยที่เป็นพื้นฐานของเรื่องนี้ถูกต้องจริงๆ แล้วหรือเปล่า อย่างไรก็ตามจากเท่าที่เข้าใจจึงเป็นที่มาของคำถามทั้งสองข้างต้นนี้ครับ ขอความกรุณาช่วยแก้ข้อสงสัยและให้ความรู้ผมด้วยครับ กราบขอบพระคุณมากครับ 🙏🙇‍♂️🙇‍♂️🙇‍♂️🙏😇


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
chatchai.k
วันที่ 30 ก.ย. 2566

อบรมปัญญาให้เข้าใจความจริง จะเป็นประโยชน์ทั้งชาตินี้ และชาติต่อๆ ไป กุศลที่ทำได้เสมอๆ คือ การฟังพระธรรมที่พระอรหันตสัมมาสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง มีคุณค่ามหาศาลสำหรับชีวิตที่ต้องเดินทางต่อไป อีกแสนไกล และกันดาร

ขอเชิญศึกษาพระธรรม ...

รวมลิงก์เมนูต่างๆ ในเว็บไซต์

พระไตรปิฎก

ฟังธรรม

วีดีโอ

ซีดี

หนังสือ

กระดานสนทนา

การที่ได้มีโอกาสศึกษาพระธรรม ฟังพระธรรม ทำให้มีความเข้าใจตามความเป็นจริงว่า ทุกสิ่งทุกอย่าง เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏแล้วก็หมดไป ไม่ว่าจะเป็นทางตา ทางหูทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ จิตทุกขณะเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป หมดไป ไม่มีอะไรเหลือเลยจริงๆ จากภพหนึ่งไปอีกภพหนึ่ง ดังนั้น เมื่อเป็นเช่นนี้ สิ่งที่ควรสั่งสมไปทุกภพทุกชาติ นั่นก็คือ กุศล (รวมถึงการอบรมเจริญปัญญา ในชีวิตประจำวันด้วย)

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
khampan.a
วันที่ 1 ต.ค. 2566

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ภิกษุในธรรมวินัย ไม่รับและไม่ยินดีในเงินและทอง ไม่มีการยุ่งเกี่ยวกับเรื่องเงินทองโดยประการทั้งปวง ภิกษุที่ซื้อของ ก็เนื่องมาจากการรับเงินทองนั่นเอง ภิกษุที่ซื้อของ ไม่ใช่ภิกษุในพระธรรมวินัย แสดงถึงความเป็นผู้ไม่ได้ขัดเกลากิเลส มีชีวิตไม่ต่างอะไรกับคฤหัสถ์ ดังนั้น เมื่อเห็นภิกษุมีพฤติกรรมอย่างนั้น และเป็นการเห็นชัดๆ อยู่ว่า ท่านกำลังทำผิด เราในฐานะของคฤหัสถ์ ก็สามารถที่จะไม่ลุกรับกราบไหว้ ไม่ต้อนรับ ได้ เพื่อเป็นการเตือนให้ท่านได้สำนึกว่าท่านกำลังทำตัวไม่เหมาะสม และที่สำคัญ การเกื้อกูลที่ประเสริฐที่สุด คือ การทำให้ท่านได้เข้าใจพระธรรมวินัยครับ

ในประเด็นคำถามทั้งสองข้อนั้น อาจารย์ธีรพันธ์ ครองยุทธ อาจารย์ มศพ. ได้ให้ข้อคิดเห็น ดังนี้

๑. ถ้าภิกษุซื้อขายแลกเปลี่ยนด้วยเงินทอง ไม่ใช่เป็นอาบัติปาจิตตีย์ แต่เป็นอาบัตินิสสัคคิยปาจิตตีย์

การช่วยให้ภิกษุไม่ต้องอาบัติ (โทษที่ล่วงละเมิดพระวินัยบัญญัติ) ในข้อที่ซื้อขายแลกเปลี่ยนด้วยเงินทอง ก็เป็นเจตนาที่จะช่วยไม่ให้ภิกษุรูปนั้นต้องอาบัติ แต่ภิกษุก็ยังผิดพระวินัยในข้อที่ภิกษุรับเงินทอง หรือยินดีในเงินทองที่ผู้อื่นเก็บไว้ให้อยู่นั่นเอง ต้องอาบัตินิสสัคคิยปาจิตตีย์ ตราบใดที่ยังไม่แก้ไขให้ถูกต้อง เพื่อพ้นจากอาบัติตามพระวินัย

๒. ภิกษุฉันอาหารในเวลาวิกาล คือตั้งแต่เที่ยงแล้วไปจนอรุณใหม่ขึ้นมา ต้องอาบัติปาจิตตีย์ ทุกคำกลืน ด้วยเหตุดังกล่าว ในเวลาวิกาลจึงไม่ควรถวายอาหารแก่ภิกษุ

ข้อสำคัญคือ การช่วยให้ภิกษุไม่ทำการซื้อขายแลกเปลี่ยนด้วยเงินทอง ภิกษุรูปนั้นจะเข้าใจผิดหรือไม่ว่าเป็นการช่วยไม่ให้ภิกษุต้องเสียเงิน เหมือนเป็นการช่วยให้ภิกษุประหยัดเงินหรือยังสามารถเก็บเงินได้ แต่จะกลับกลายเป็นการส่งเสริมให้ภิกษุผิดพระวินัย โดยไม่รู้ความจริงว่า ภิกษุในธรรมวินัย ไม่รับและไม่ยินดีในเงินและทอง

แต่ก็จะเป็นโอกาสดียิ่งถ้าจะแสดงเหตุผลในการรักษาพระวินัยไม่เป็นอาบัติตามพระธรรมวินัย ให้ผู้ขายหรือภิกษุรูปนั้นได้ทราบตามโอกาสที่สมควร


... กราบขอบพระคุณอาจารย์ธีรพันธ์และอาจารย์ฉัตรชัยด้วยครับ
ยินดีในกุศลของคุณacsmasterและทุกๆ ท่านด้วยครับ ...

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
chatchai.k
วันที่ 1 ต.ค. 2566

ยินดีในกุศลจิตครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
acsmaster
วันที่ 2 ต.ค. 2566

กราบขอบพระคุณอาจารย์ฉัตรชัย อาจารย์ธีรพันธ์ และอาจารย์คำปั่นอย่างสูงครับ ผมได้ความรู้และแง่มุมที่ควรนำไปพิจารณากับเรื่องที่ถามมากยิ่งขึ้นครับ และจะศึกษาพระธรรมวินัยเพิ่มเติมต่อไปครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ