ฟังพระธรรมเพื่ออะไร?_สนทนาธรรม ไทย-ฮินดี วันเสาร์ที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๖๖

 
เมตตา
วันที่  30 ก.ย. 2566
หมายเลข  46619
อ่าน  224

- อเหตุกจิตคืออะไร? (จิตที่ไม่มีเหตุเกิดร่วมด้วย) เหตุมีกี่เหตุ? (๖ เหตุ ได้แก่ โลภะ โทสะ โมหะ อโลภะ อโทสะ อโมหะ) แล้วทำไมจิตเหล่านี้ไม่มีเหตุเกิดร่วมด้วย? (แกตอบว่าจิตเป็นวิบาก กิริยา) อันนั้นไม่ได้เป็นคำตอบว่า ทำไมอเหตุกจิตทั้งหมดๆ เลยไม่มีเหตุเกิดร่วมด้วย? (ไม่ทราบ) เพราะเป็นจิตที่กรรมทำให้เกิดขึ้นไม่ว่ากุศลกรรมหรืออกุศลกรรม กรรมทำให้สิ่งต่างๆ จิต ๑๘ ดวงนี้เกิดขึ้นโดยที่ว่าเป็นผลของกรรมทั้งหมด ๑๕ อีก ๓ ดวงไม่ใช่ นี่คือความละเอียดของธรรมซึ่งใครก็ไม่รู้ได้นอกจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะจิตเกิดดับสืบต่อเร็วมาก.

- เกิดแล้วไม่ว่าจะเกิดที่ไหนภพภูมิไหน กรรมก็ทำให้จิตที่เป็นผลของกรรมเกิดขึ้น กรรมทำให้เกิดแล้วไม่พอเลยเพียงแค่ขณะเดียว เพราะฉะนั้น ก็มีชีวิตต่อไปเพื่อรับผลของกรรมที่ได้ทำแล้ว.

- เราเรียนเรื่องผลของกรรมที่ไม่ประกอบด้วยเหตุเลยเพราะกรรมทำให้เกิดขึ้น เพราะฉะนั้น จึงต้องรู้ว่า ตลอดชีวิตอะไรบ้างที่เป็นผลของกรรม มิเช่นนั้น ก็บอกไม่ได้อะไรเป็นผลของกรรม อะไรไม่ใช่ผลของกรรม.

- เพราะฉะนั้น ประโยชน์ของการฟังให้เข้าใจความจริงว่า ไม่ใช่เรา แต่เป็นผลของกรรม ต้องรู้ว่าเดี๋ยวนี้และตลอดชีวิตต้องเข้าใจจริงๆ ว่า ผลของกรรมมีอะไรบ้างนอกจากนี้แล้วไม่ใช่ผลของกรรม.

- เพราะฉะนั้น ต้องมั่นคงนะ กรรมทำให้เกิดแต่ยังไม่ได้มีผลของกรรมทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เพราะฉะนั้น ก็จะต้องรับผล คือเกิดแล้วต้องเห็น ต้องได้ยิน ต้องได้กลิ่น ต้องลิ้มรส ต้องรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ทั้งหมดนี้เป็นผลของกรรม.

- ฟังเพื่อเข้าใจว่า เห็นเกิดขึ้นเห็นเป็นผลของกรรม เพราะฉะนั้น เราเห็นทั้งวันแต่เรารู้ไหมว่าเห็นที่กำลังเห็นนี่เป็นผลของกรรมที่ต้องเห็น.

- การศึกษาธรรมไม่ใช่เพื่ออะไรเลย แต่เพื่อเข้าใจสิ่งที่มีที่ไม่เคยรู้ และเข้าใจผิดว่าเป็นเรา.

- เดี๋ยวนี้เขามั่นใจหรือยัง ไม่ว่าจะเห็นอะไร ได้ยินอะไร ได้กลิ่นอะไร ลิ้มรสอะไร ถูกต้องกระทบสัมผัสอะไร ไม่ใช่เรา แต่เป็นผลของกรรมที่ถึงเวลาก็ต้องเกิดโดยมีกรรมเป็นปัจจัยทำให้เกิดขึ้น.

- ถ้าใครตี เจ็บ เป็นผลของกรรมหรือเปล่า? (เป็นผลของกรรม) เพราะฉะนั้น กรรมที่เป็นอกุศลคือกรรมของคนที่ตี แต่ขณะที่ความรู้สึกเจ็บเกิดขึ้น ขณะนั้นเป็นผลของกรรมที่ได้กระทำไว้แล้ว.

- กำลังเจ็บ ไม่ชอบใช่ไหม? (ไม่ชอบ) กำลังเห็นสิ่งที่ไม่น่าพอใจ ไม่ชอบใช่ไหม? (ไม่ชอบ) ไม่ชอบเป็นผลของกรรมหรือเปล่า? (คุณสุคิน: ทีแรกอาช่าตอบว่าที่ไม่ชอบเป็นผลของกรรม แต่ผมก็ถามใหม่ให้เขาพิจารณาใหม่ แล้วเขาก็ตอบว่าไม่ใช่ผลของกรรม แต่เป็นจิตที่มีเหตุ) .

- เพราะฉะนั้น เริ่มจำมั่นคงนะ ขณะที่มีสิ่งใดกระทบตา หู จมูก ลิ้น กาย การเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น การรู้รส การรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ไม่ใช่กรรม แต่เป็นผลของกรรม เพราะฉะนั้น ทั้งวันเขาเริ่มรู้จักสิ่งที่มีตลอดชีวิตแต่ไม่เคยรู้จักมาก่อนว่าอะไรเป็นผลของกรรม อะไรไม่ใช่ผลของกรรม เป็นผลของกรรมของใคร? (ครับ) ถามว่า ขณะที่เห็น ที่ได้ยิน ที่ได้กลิ่น เป็นผลของกรรมของใคร? (เป็นผลของกรรมของตัวเองครับ) ไม่ใช่กรรมของใครนะ แต่เป็นผลของกรรม กรรมเป็นธรรม เพราะฉะนั้น เราฟังเพื่อให้รู้ว่าไม่มีเรา สิ่งที่เคยเป็นเราก็คือธรรมแต่ละอย่างๆ (คุณสุคิน: ที่จริงตอนแรกแกก็ตอบว่าเป็นของของกรรม แต่ว่าผมถามต่อว่าเป็นผลของกรรมเพื่อจะชี้ให้เห็นว่า ไม่ใช่กรรมใคร ก็คือกรรมเรา ผมจึงตอบว่าผลของกรรมเราเอง.

กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ด้วยความเคารพอย่างยิ่งค่ะ และกราบยินดีในกุศลของคุณสุคิน ผู้ถ่ายทอดคำท่านอาจารย์เป็นภาษาฮินดีค่ะ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
เมตตา
วันที่ 30 ก.ย. 2566

- ค่อยๆ รู้ว่า ไม่มีเราเลย กรรมมีทั้งที่เป็นกรรมที่ดี และกรรมที่ไม่ดี เพราะฉะนั้น ถ้ารู้ว่ากรรมดีก็ให้ผลที่ดี กรรมไม่ดีก็ให้ผลที่ไม่ดี ปัญญาที่รู้อย่างนี้ก็ละการที่จะทำอกุศลกรรมแต่ไม่ใช่เรา เป็นปัญญาที่มีความเห็นที่ถูกต้อง.

- วิบากซึ่งเป็นผลของกรรมใครเปลี่ยนแปลงได้ไหม? (ไม่ได้) เราเพิ่งเรียนผลของกรรมที่ไม่ประกอบด้วยเหตุ คำนี้ทำให้เราไตร่ตรองไหม ว่า ผลของกรรมที่เป็นวิบากที่ประกอบด้วยเหตุจะมีไหม? (ก็ควรจะรู้) ไม่ใช่ค่ะ ถามว่า กรรมทำให้เกิดผลของกรรมซึ่งเป็นวิบากจิตที่ไม่ประกอบด้วยเหตุ แล้วกรรมทำให้เกิดวิบากซึ่งเป็นผลของกรรมที่ประกอบด้วยเหตุมีไหม? (มี) เพราะฉะนั้น ต้องเข้าใจเป็นลำดับ เพราะฉะนั้น เราพูดถึงผลของกรรมที่ไม่ประกอบด้วยเหตุก็ต้องมั่นคงว่า ผลของกรรมที่ประกอบด้วยเหตุเรายังไม่ได้กล่าวถึง.

- เพราะฉะนั้น ธรรมละเอียดลึกซึ้งมากมายตามเหตุตามปัจจัย แต่เราต้องเริ่มเข้าใจจริงๆ ในสิ่งที่เรากำลังฟัง ถ้าเข้าใจเรื่องผลของกรรมที่ไม่ประกอบด้วยเหตุ ต่อไปก็จะเข้าใจผลของกรรมที่ประกอบด้วยเหตุ และจิตอื่นๆ .

- จิตที่ไม่ประกอบด้วยเหตุมีเท่าไหร่? (๑๘) เป็นอะไรบ้าง ต่างกันอย่างไร ๑๘? (มีจิตที่เป็นวิบากก็มี กิริยาก็มี) เท่าไหร่? (วิบาก ๑๕ และกิริยา ๓) วิบาก ๑๕ ต่างกันอย่างไร? (วิบากจิต ๑๕ ทุกจิตต่างกันโดยกิจ โดยอารมณ์ต่างๆ แต่ว่าถ้าแยกเป็นกลุ่มก็มี ๗ ที่เป็นผลของอกุศลกรรม และก็มี ๘ ที่เป็นผลของกุศลกรรม) ดีมาก เข้าใจให้มั่นคงไม่เปลี่ยน.

- เพราะฉะนั้น จิตอื่นนอกจากนี้มีเหตุเกิดร่วมด้วยหรือเปล่า? (มีกิริยาจิต ๓ ที่ไม่มีเหตุ) คำถามว่า นอกจากจิต ๑๘ ดวงที่ไม่ประกอบด้วยเหตุแล้ว จิตอื่นมีเหตุเกิดร่วมด้วยไหม? (ไม่มี) .

- จิตทุกขณะๆ ทั้งหมดตลอดชีวิตที่ไม่ใช่ ๑๘ ดวงนี้ไม่มีเหตุเกิดร่วมด้วยได้ไหม? (ไม่มี) ต้องมีเหตุเกิดร่วมด้วยใช่ไหม? (ใช่) .

- เพราะฉะนั้น ลองพูดถึงขณะที่กำลังเห็นเดี๋ยวนี้ว่า จิตไหนไม่ใช่จิตที่ประกอบด้วยเหตุตามลำดับ? (๑. ปัญจทวาราวัชชนะ ๒. เห็น ๓. สัมปฏิจฉันนะ ๔. สันตีรณะ ๕. โวฏฐัพพนะ) ต่อจากนั้นวิบากจิตจะเกิดอีกได้ไหม? (ไม่ได้) เพราะฉะนั้น หลังจากนั้นแล้วต้องเป็นจิตที่ประกอบด้วยเหตุ (ครับ) จิตที่เกิดต่อต้องเป็นจิตที่ประกอบด้วยเหตุ จะเป็นกุศลเหตุ หรืออกุศลเหตุแล้วแต่ปัจจัย.

- เวลาที่จิตนั้นมีอกุศลเหตุเกิดร่วมด้วย โลภมูลจิต โทสมูลจิต โมหมูลจิต จิตนั้นทำกิจเห็นหรือเปล่า? (ไม่ได้) แล้วรู้อารมณ์อะไร? (อารมณ์เดียวกับที่เห็นรู้) .

- อกุศลจิตทำกิจสันตีรณกิจได้ไหม? (ไม่ได้) ทำโวฏฐัพพนกิจได้ไหม? (ไม่ได้) แล้วจะไม่มีจิตเกิดต่อจากโวฏฐัพพนะได้ไหม ถ้าอารมณ์นั้นยังไม่ดับ? (ไม่ได้) เพราะฉะนั้น จิตที่เกิดต่อไม่ใช่อเหตุกะ ต้องมีเหตุเกิดร่วมด้วย แล้วจะทำกิจหนึ่งกิจใดของอเหตุกจิตที่กล่าวถึงไม่ได้เลย.

กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ด้วยความเคารพอย่างยิ่งค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
เมตตา
วันที่ 30 ก.ย. 2566

- เพราะฉะนั้น หลังจากที่อเหตุกจิตทำกิจหมดแล้ว และกิริยาจิตที่เป็นอเหตุกจิตสุดท้ายคือโวฏฐัพพนกิจดับแล้ว จิตที่เกิดต่อไม่ต้องทำกิจเหล่านั้นเลยแต่รู้อารมณ์เดียวกันด้วยความชอบหรือไม่ชอบ เป็นกุศลหรืออกุศลประเภทหนึ่งประเภทใด.

- อารมณ์ที่อเหตุกจิตรู้ยังไม่ดับ เพราะฉะนั้น เมื่อโวฏฐัพพนจิตดับแล้วยังมีอารมณ์ที่เหลืออยู่ที่ยังไม่ดับ เพราะฉะนั้น จิตที่เกิดต่อมีเหตุประกอบถ้าเป็นความยินดีพอใจก็ยินดีพอใจในสิ่งที่ปรากฏที่ต่อจากอเหตุกจิตทำหน้าที่แล้วโดยรวดเร็วมากถึง ๗ ขณะ เพราะรูปยังไม่ดับ.

- เพราะฉะนั้น จิตอื่นไม่ได้ปรากฏเลยในชีวิตประจำวัน มีจิตเห็นและจิตที่ชอบหรือไม่ชอบในสิ่งที่เห็นเป็นกุศลหรืออกุศลต่อกันทันที โดยจิตอื่นที่มีไม่ได้ปรากฏเลย เพราะเหตุว่าจิตนั้นไม่ต้องทำกิจเห็นหรือกิจอื่นเลย ทำกิจพอใจไม่พอใจเป็นอกุศล ๗ ขณะจึงปรากฏรู้ว่ากำลังโกรธหรือกำลังชอบหรือกำลังเป็นกุศล.

- จิตแต่ละขณะสั้นมาก เพราะฉะนั้น แม้ว่าโลภมูลจิตเกิดหรือว่าโทสมูลจิตเกิดก็ตาม ทีละหนึ่งขณะเร็วมากแม้ว่าจะมีถึง ๗ ขณะที่จะต้องรู้อารมณ์เดียวนั้น.

- เดี๋ยวนี้เห็นอะไรบ้าง? (สี) จริงหรือ? (ก็เห็นหลายอย่าง อย่างเช่นโทรศัพย์มือถือที่อยู่ข้างหน้า) แสดงให้เห็นว่าสิ่งที่กระทบตาจริงๆ ละเอียด สั้น เร็ว ไม่ปรากฏ แต่หลายๆ วาระเกิดดับสืบต่อจนปรากฏเป็นทีละหนึ่งอย่างเป็นนิมิตของสิ่งนั้น เป็นกลีบดอกไม้ ๑ ดอก เป็นใบไม้จนกระทั่งรวมกันทั้งหมดไม่ใช่แต่เฉพาะดอกไม้ ใบไม้ที่ปรากฏ ทุกอย่างที่ปรากฏเหมือนทันทีที่ลืมตา แสดงให้เห็นความรวดเร็วของการเกิดดับของจิตมากมายมหาศาล.

กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ด้วยความเคารพอย่างยิ่งค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
เมตตา
วันที่ 30 ก.ย. 2566

- เริ่มรู้จักพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบ้างไหม? (เริ่มรู้จัก) ถ้าไม่ฟังเลยจะรู้จักพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไหม? (ไม่ครับ) เพราะฉะนั้น ฟังพระธรรมเพื่ออะไร? (เพื่อเข้าใจธรรม) เห็นความต่างกันมากไหมระหว่างความไม่รู้อะไรเลย กับการเริ่มเข้าใจสิ่งที่มีในชีวิตทั้งหมดทีละเล็กทีละน้อย? (ต่างกันมากเลย) .

- เพราะฉะนั้น คุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามากกว่าที่เราเพิ่งจะได้รู้จักแค่ไหน? (เป็นจริงอย่างนั้น) เพราะฉะนั้น ความเข้าใจนี้มีไม่ได้เลยสักนิดเดียวถ้าไม่ฟังคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้วไตร่ตรองจนเข้าใจ ว่า ความจริงคืออะไร.

- การรู้ความจริง การเข้าใจถูก เป็นจิตเห็นหรือเปล่า? (ไม่ครับ) เป็นสัมปฏิจฉันนจิตหรือเปล่า? (ไม่) เป็นโวฏฐัพพนจิตหรือเปล่า? (ไม่ใช่) เพราะฉะนั้น เป็นจิตอะไร? (เป็นกุศล) ทำกิจอะไร? (แกนึกไม่ออกว่าทำกิจอะไรครับ) ชวนกิจ เพราะไม่ต้องทำกิจอื่นเลย ทำอย่างเดียว คือโลภมูลจิตในสิ่งที่ปรากฏตลอด ๗ ขณะ.

- เพราะฉะนั้น จิตก่อนเห็นก่อนวิถีจิตทั้งหมด จิตที่รู้อารมณ์เดียวกับปฏิสนธิทำกิจอะไร? (ทำกิจภวังค์) ก่อนจิตภวังค์มีจิตอะไรเกิด? (ก่อนภวังค์ต้องมีวิถีจิตอื่น) ก่อนภวังค์แรกของชาตินี้มีจิตไหม? (ปฏิสนธิ) เพราะฉะนั้น กิจที่ ๑ ปฏิสนธิ ในภูมิที่มีจิตจะต้องมีจิตแรกทำปฏิสนธิกิจเป็นผลของกรรม ที่เราว่าเป็นคนต่างๆ กันเพราะกรรมที่ทำให้จิตแรกทำปฏิสนธิต่างๆ กันตามกรรม.

- ขณะเกิดเป็นสัตว์ เป็นคน เป็นนก เป็นปู เป็นปลา เป็นเทวดา ต้องมีปฏิสนธิจิตทำปฏิสนธิกิจพราะฉะนั้น กิจนี้เกิดต่อจากจุติจิตของชาติก่อน พอจุติจิตของชาติก่อนดับ จิตที่เกิดต่อเป็นอะไร? (ปฏิสนธิเกิดต่อทันที) มีใครรู้ไหมปฏิสนธิจิตจะเป็นอะไร? (ไม่รู้) .

- เมื่อจุติจิตของคุณอาช่าเกิดแล้วดับ จิตอะไรเกิดต่อ? (ปฏิสนธิ) เป็นผลของกรรมอะไร? (ไม่สามารถรู้ได้) ถูกต้อง เพราะว่ากรรมมีมากตั้งแต่แสนโกฏิกัปป์ยังสามารถที่จะให้ผลได้.

- เพราะฉะนั้น ประมาทไม่ได้เลยถ้าเป็นอกุศลกรรมต้องให้ผลปฏิสนธิเป็นสัตว์เดรัจฉาน หรือเกิดในนรก เป็นเปรต เป็นอสุรกายเป็นอบายภูมิ.

- ทุกกรรมที่ทำแล้วไม่ว่ากุศลกรรมหรืออกุศลกรรมไม่มีใครรู้ว่าจะให้ผลเมื่อไหร่ ความเข้าใจทำให้เห็นโทษของอกุศลกรรม เพราะฉะนั้น ฟังธรรมเพื่อเข้าใจเพื่อรู้ความจริงว่า ไม่ใช่เราเลยทั้งหมด ไม่ว่าเกิดตายกี่ครั้งตลอดไปก็เป็นธรรม.

- เกิดตายเกิดตายทำกิจต่างๆ ไม่รู้จบดีไหม? (ไม่เป็นประโยชน์) ถ้ารู้จริงๆ ว่าไม่ใช่เรา เป็นธรรมซึ่งเกิดแล้วดับไม่กลับมาอีกเลย ควรไหมที่จะเป็นอย่างนั้นต่อไปอีกไม่รู้จบ? (ถ้าเข้าใจอย่างนั้นจะไม่เห็นประโยชน์) .

กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ด้วยความเคารพอย่างยิ่งค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
เมตตา
วันที่ 30 ก.ย. 2566

- ตราบใดที่ไม่รู้ความจริงก็เป็นปัจจัยให้เกิดกิเลส และกิเลสก็เป็นเหตุให้เกิดกรรม และกรรมก็ทำให้เกิดผล คือ วิบาก ไม่รู้จบ.

- พรุ่งนี้คุณอาช่าจะอยู่ในนรกได้ไหม? (ได้) ไม่มีใครรู้เลยทั้งสิ้นว่าพรุ่งนี้จะอยู่ที่ไหน.

- วันนี้คุณอาช่าจะอยู่ในสวรรค์ได้ไหม? (ได้) เดี๋ยวนี้เองคุณอาช่าจะเป็นนกได้ไหม? (เป็นไปได้) แต่ไม่มีใครรู้ เพราะฉะนั้น ไม่ประมาทที่จะเข้าใจถูกต้องตามความเป็นจริงเพื่อละเหตุที่จะต้องเกิดอีก เมื่อรู้ว่า ไม่ใช่เรา แต่เป็นธรรมเท่านั้นที่หลากหลายตามเหตุตามปัจจัย.

- เห็นคุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้วรู้สึกอย่างไร? (เวลาได้ยินอย่างนี้ก็เห็นพระคุณแบบที่ไม่สามารถจะจินตนาการได้เลยเพราะว่าสูงขนาดนั้นที่สามารถรู้ขณะนี้ว่าคิดไม่ได้เลยว่าขนาดไหน) .

- พอเข้าใจธรรมบ้างรู้สึกปีติไหม? (ปีติครับ) เพราะว่าไม่เคยได้ยินได้ฟังไม่เคยรู้ความจริงอย่างนี้มาก่อนเลยแล้วเริ่มเข้าใจ เพราะฉะนั้น การเข้าใจมีค่ายิ่งกว่าสมบัติใดๆ ทั้งสิ้น (อาช่าเพิ่มว่า โอกาสอย่างนี้ไม่ใช่ทุกคนจะได้รับ) .

- เพราะฉะนั้น จึงรู้ว่า ฟังเท่านี้ยังไม่พอเลย เพราะว่าเพิ่งเริ่มที่จะเข้าใจสิ่งที่มีแต่ยังไม่ประจักษ์แจ้งตรงความจริงแต่ละหนึ่งที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงประจักษ์แจ้ง แล้วทรงแสดงหนทางให้มีความเข้าใจขึ้นจนสามารถประจักษ์แจ้งได้.

- ฟังความจริงของธรรมที่เกิดแน่ๆ เพราะเกิด ก็ดับไปแน่ๆ เพียงเข้าใจยังไม่ถึงการประจักษ์ ว่า ไม่ใช่เรา จนกว่าจะรู้ความจริงอย่างนั้น.

- เพราะฉะนั้น ทั้งๆ ที่ธรรมกำลังปรากฏเดี๋ยวนี้ แต่ถ้าไม่รู้ความจริงไม่ได้ฟังคำที่กล่าวถึงความจริง ไม่มีทางที่จะเห็นประโยชน์สูงสุดว่าเป็นสิ่งที่เข้าใจได้เพราะกำลังมี แต่ไม่ใช่เพียงแค่จำ และได้ฟังเพียงนิดหน่อยก็สามารถจะรู้ความจริงได้.

- การรู้ความจริง ว่า ลึกซึ้งและยากเพราะกำลังเป็นอย่างนี้แต่ไม่รู้ ทำให้เกิดความเพียร ความอดทนที่จะได้ฟังเพิ่มขึ้นไตร่ตรองเพิ่มขึ้นเข้าใจเพิ่มขึ้นเป็นบารมี.

- บารมี คือความดีทั้งหมดทุกอย่างที่จะทำให้ค่อยๆ ละความไม่ดีจนกระทั่งสามารถค่อยๆ รู้ความจริงที่ถูกความไม่รู้ปิดบังไว้ได้.

กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ด้วยความเคารพอย่างยิ่งค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
เมตตา
วันที่ 30 ก.ย. 2566

- ขณะกำลังรู้ความจริงอย่างนี้ เห็นประโยชน์อย่างนี้ ขณะนั้นเป็นกุศลหรืออกุศล? (กุศล) ขณะที่เป็นกุศลเป็นอะไร? (เป็นจิต) ขณะนั้นจิตกำลังรู้แจ้งคำที่ได้ยิน แต่ว่าสภาพที่เข้าใจถูกไม่ใช่จิต แต่เป็นเจตสิก นามธรรมที่เกิดพร้อมกันดับพร้อมกันรู้อารมณ์เดียวกัน แต่จิตเป็นใหญ่เป็นประธาน ถ้าไม่มีจิตอะไรก็ไม่มีทั้งหมด.

- ถ้าไม่มีจิตไม่มีอะไรปรากฏแน่นอน แต่ต้องไม่ลืมว่าจิตไม่ใช่เจตสิก เจตสิกก็รู้ จิตก็รู็ และก็รู้อารมณ์เดียวกัน เกิดพร้อมกัน ดับพร้อมกัน แต่ธรรมอื่นๆ ที่ไม่ใช่สภาพที่เป็นใหญ่ในการรู้แจ้งอารมณ์เกิดมารู้แจ้งเท่านั้นไม่ทำกิจอื่นเลย ส่วนสภาพธรรมอื่นๆ ที่เกิดทำกิจของจิตไม่ได้.

- ขณะที่จิตเกิดขึ้นเข้าใจ ขณะนั้นจิตทำกิจอะไร? (ชวนะ) ถูกต้อง เพราะฉะนั้น นี่เป็นเหตุที่เราจะต้องรู้ว่า จิตที่ทำอื่นเป็นอะไรชาติอะไร เพราะฉะนั้น จิตที่ไม่ใช่ผลของกรรมแต่เกิดขึ้นเมื่อถึงโอกาสถึงเวลาที่โวฏฐัพพนจิตดับไปทางปัญจทวาร หรือมโนทวาราวัชชนจิตดับไปทางใจ จิตนี้ต้องทำชวนกิจจิตที่เกิดต่อ.

- เวลาที่จิตโกรธเกิดขึ้นทำกิจอะไร? (ชวนะ) เพราะฉะนั้น ไม่ยากเลยใช่ไหม ถ้าเรามีความเข้าใจละเอียดจริงๆ แต่ถ้าไม่ละเอียดจะสับสน.

- กำลังเห็น ถ้าโวฏฐัพพนจิตไม่เกิดกุศลจิตและอกุศลจิตเกิดได้ไหม? (ไม่ได้) เพราะฉะนั้น จิตอะไรต้องเกิดก่อนชวนะ? (โวฏฐัพพนะ) ถ้าไม่เห็นเลยไม่ได้ยินเลยแต่คิดถึงด้วยจิตที่โกรธได้ไหม? (ก็เป็นไปได้) เพราะเหตุว่า วิบากจิตเท่านั้นทำกิจดับไปแล้ว กุศลจิตและอกุศลจิตเกิดไม่ได้ต้องมีจิตที่เกิดก่อนกระทำทางเกิดแล้วดับให้กุศลหรืออกุศลที่สะสมมาเกิดขึ้นพร้อมที่จะเกิดเมื่อถึงเวลา.

- เพราะฉะนั้น จิตที่เกิดก่อนชวนะจึงมีชื่อว่า ชวนปฏิปาทกะ เพราะฉะนั้น ชวนะ คือกุศลจิตและอกุศลจิต หรือกิริยาจิตของพระอรหันต์ ต้องเกิดต่อจากจิตนี้ซึ่งเป็นชวนปฏิปาทกะ ทุกครั้งที่จิตนี้ดับชวนะต้องเกิดอย่างอื่นเกิดไม่ได้จึงชื่อว่าชวน + ปฏิ (แปลว่าเฉพาะ) + ปาทกะ (เป็นบาท เป็นเบื้องต้น เป็นเหตุให้ชวนะเกิดได้) ต้องมีจิตที่เกิดก่อนชวนะใช่ไหม? (ใช่) เพราะฉะนั้น จิตนั้นแหละที่เกิดก่อนชวนะจึงชื่อว่าชวนปฏิปาทกมนสิการ.

- เวลาที่ไม่เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้กลิ่น ไม่ลิ้นรส ไม่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส คิดนึกด้วยกุศลจิตหรืออกุศลจิตหรือวิบากจิต? (ครับ) ไม่ได้ครับค่ะ ถามว่าเวลาที่ไม่เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้อะไรเลยทางตา หู จมูก ลิ้น กาย จิตที่คิดนึกขณะต่อไปเป็นกุศลอกุศล ได้ไหม หรือต้องเป็นกุศลอกุศลสำหรับคนที่ไม่ใช่พระอรหันต์? (เกิดได้ครับ ถ้าไม่เห็น ไม่ได้ยิน.. กุศลอกุศลเกิดได้ครับ) เมื่อไหร่? (อย่างเช่นเวลาที่เราคิดเรื่องนั้นเรื่องนี้ครับ) แล้วกุศลจิตอกุศลจิตเกิดใช่ไหม? (ครับ) .

- เวลาที่คุณอาช่าคิดอะไรแล้วยิ้ม ขณะที่ยิ้มนั้นจิตอะไร? (อาช่า และมานิชตอบว่าบางทีก็เป็นกุศลบางทีก็เป็นอกุศล) จิตอะไรเกิดก่อน? (ชวนปฏิปาทกะ) เก่งมาก อย่าลืมนะเวลาที่คิดแล้วยิ้ม หัวเราะ ดีใจ เข้าใจ ทั้งหมดที่เป็นกุศลอกุศลสำหรับคนธรรมดา และเป็นกิริยาสำหรับพระอรหันต์ เกิดเองไม่ได้แต่ต้องมีจิตที่ต้องเกิดก่อนชื่อว่า ชวนปฏิปาทกะ.

- จิตที่เกิดก่อนชวนะ ชื่อว่าชวนปฏิปาทกะ มีจิตกี่ดวงที่ทำกิจนี้ที่เป็นชวนปฏิปาทกะ? (๑) ในสวรรค์มีไหมจิตนี้? (เกิดได้) ในนรกมีไหม? (ก็เกิดครับ) จิตอื่นเกิดก่อนชวนะได้ไหม? (ก่อนชวนะก็ต้องเป็นชวนปฏิปาทกะ) จิตเดียวหรือมีจิตอื่นที่ทำกิจนี้ได้ด้วย? (มี ๑ ครับ) เพราะฉะนั้น จิตนี้จิตเดียวทำ ๒ กิจถูกไหม? (เข้าใจครับว่าทำ ๒ กิจ) ๒ กิจเมื่อไหร่ ต่างกันอย่างไร? (เมื่อกี๊เขาตอบว่า ๑. โวฏฐัพพนะ ๒. มโนทวาราวัชชนะ) โวฏฐัพพนกิจทางทวารไหน? (เกิดหลังจากปัญจวิญญาณทางปัญจทวาร) หลังจากอะไรนะ? (หลังจากปัญจวิญญาณ) ไม่ได้ ต้องหลังจากอะไร? (สันตีรณะ) เพราะฉะนั้น จิตนี้ทำโวฏฐัพพนกิจทางปัญจทวาร แต่ทำอาวัชชนกิจทางมโนทวาร ต่างกัน ๒ กิจ กิจหนึ่งทางปัญจทวาร อีกกิจหนึ่งทางมโนทวาร แต่ไม่ว่าทำกิจทางปัญจทวารหรือทางมโนทวารต้องเกิดก่อนชวนะ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ชวนปฏิปาทกะไม่ว่าจะเกิดทางทวารไหน.

- เพราะฉะนั้น มโนทวาราวัชชจิตทำ ๒ ทวารโดยคร่าวๆ คือ ทางปัญจทวาร ๑ และทางมโนทวาร ๑ ทำต่างกิจ เพราะฉะนั้น จึงมี ๒ ชื่อ.

- คราวหน้าจะถามเรื่องนี้อีก แล้วจะถามเรื่องอเหตุกจิตและจิตที่ไม่ใช่อเหตุกะ ทั้งชาติ ทั้งกิจ ทั้งทวาร.

- ขอบคุณคุณสุคินมากนะคะ ยินดีในกุศลที่ได้ช่วยทำให้คนได้เข้าใจพระธรรม.

กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ด้วยความเคารพอย่างยิ่งค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
chatchai.k
วันที่ 30 ก.ย. 2566

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์ด้วยความเคารพยิ่ง

ยินดีในกุศลจิตครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ