ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๖๓๒
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ขออนุญาตแบ่งปันข้อความธรรม (ปันธรรม) ที่ได้จากการฟังพระธรรมจากท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ในแต่ละครั้ง รวบรวมเป็นธรรมเตือนใจเพื่อศึกษา และพิจารณาร่วมกัน เพื่อความเข้าใจธรรม (ปัญญ์ธรรม) ตามความเป็นจริง ซึ่งเป็นข้อความที่สั้นบ้าง ยาวบ้าง แต่ก็มีอรรถที่สมบูรณ์ พอที่จะเข้าใจได้ควรค่าแก่การพิจารณาอย่างยิ่ง ดังนี้
ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๖๓๒
~ การบูชาด้วยดอกไม้ธูปเทียน ก็ยังไม่เป็นการเคารพอย่างสูงสุด เพราะว่าพระผู้มีพระภาคเจ้ามิได้ทรงหวังดอกไม้ ธูปเทียน เครื่องสักการะ แต่ทรงบำเพ็ญพระบารมีเพื่อหวังให้สาวกได้ดับกิเลสเช่นเดียวกับพระองค์ด้วย แต่ก่อนที่จะดับกิเลสได้ ต้องเป็นผู้ที่ละเอียด เป็นผู้ที่ตรงและต้องเป็นผู้ที่รู้จักตัวเองตามความเป็นจริง
~ พระธรรมเปรียบเหมือนผู้ชี้ขุมทรัพย์ที่ให้บุคคลซึ่งได้เข้าใจพระธรรมแก้ไขจิตของตนเองที่เป็นอกุศลที่คดโกง ด้วยการเป็นผู้ที่ตรงจริงๆ และการที่จะตรงจริงๆ คือ ขณะที่สติเกิด จึงสามารถรู้ลักษณะของสภาพจิตได้ว่าลักษณะที่เป็นอกุศลต่างกับขณะที่เป็นกุศล และความแยบยลของกิเลสก็มีมากมายสำหรับผู้ที่เป็นคนพาล ซึ่งคนพาลนั้นย่อมไม่รู้ว่าตนเองเป็นคนพาล แต่พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงไว้ เป็นประโยชน์ที่จะเกื้อกูลได้
~ เวลาที่ไม่ฟังพระธรรม คิดอย่างไร? บางคนคิดว่า ไม่ต้องฟัง รู้แล้ว ไม่เห็นประโยชน์เลย ไม่ว่าจะพูดเรื่องอะไรก็รู้หมด เพราะฉะนั้น ในขณะนั้นไม่มีหิริโอตตัปปะที่จะรู้ตามความเป็นจริงว่า แท้จริงตนเองยังไม่ได้รู้ทั่วโดยตลอด ยังต้องอาศัยพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงทุกประการ เว้นไม่ได้ ถ้าต้องการเป็นผู้ที่เจริญกุศลจริงๆ ย่อมเห็นคุณประโยชน์ของพระธรรมทุกประการ
~ ควรเจริญกุศลทุกประการ เริ่มจากการเป็นผู้ตรง รู้จักตัวเองตามความเป็นจริงในชีวิตประจำวัน เพราะถ้ายังไม่มีหิริโอตตัปปะแม้แต่ในเรื่องของทานบ้าง ศีลบ้าง อปจายนะ (อ่อนน้อมถ่อมตน) บ้าง เวยยาวัจจะ (ขวนขวายในสิ่งที่เป็นประโยชน์) บ้าง แล้วมุ่งหวังที่จะดับกิเลส ก็เป็นสิ่งซึ่งสุดวิสัย เป็นไปไม่ได้ เพราะยังไม่รู้เลยว่าตนเองมีอกุศลในวันหนึ่งๆ มากสักแค่ไหน
~ ควรที่จะรู้ประโยชน์ของสภาพธรรมที่ตรงกันข้ามกับโทสะ ได้แก่ อโทสเจตสิก และถ้าเป็นไปในสัตว์ ในบุคคล ก็เป็นลักษณะของเมตตาซึ่งเป็นสภาพที่เย็นสบาย ไม่เดือดร้อนใจเลย เพราะว่าลักษณะของเมตตานั้นเป็นลักษณะของความเป็นมิตรหรือความเป็นเพื่อน
~ ในขณะที่เกิดความขุ่นเคืองใจ หรือไม่พอใจในบุคคลหนึ่งบุคคลใดก็ตาม ขอให้พิจารณาดูจริงๆ ว่า ขณะนั้นเป็นเพราะอะไร? ถ้าพิจารณาจริงๆ จะรู้ว่า ไม่ใช่เพราะคนอื่น ไม่ใช่เพราะสิ่งที่ปรากฏภายนอก แต่เป็นเพราะกิเลสของตนเองทั้งสิ้น
~ คิดดู คนที่ไม่โกรธเป็นคนประเสริฐ ใช่ไหม? ทุกวันนี้ถ้ามีใครซึ่งอาจจะมีคนว่าร้าย กล่าวร้าย เข้าใจผิดหรือแสดงกิริยาอาการต่างๆ แต่ผู้นั้นก็ยังไม่โกรธ ใครๆ ก็คงต้องเห็นความประเสริฐของคนที่ไม่โกรธ ด้วยเหตุนี้ เมตตาชื่อว่าเป็นธรรมเครื่องอยู่อันประเสริฐ เพราะเป็นข้อปฏิบัติชอบในสัตว์ทั้งหลาย คนที่อยู่ด้วยกันที่จะมีความสุขผาสุกจริงๆ ก็ด้วยข้อปฏิบัติชอบ คือ เมตตา
~ ไม่น่าจะสนุกเลยที่เห็นคนแตกความสามัคคีกัน แต่ผู้ที่มีอกุศลจิตก็มีความพอใจที่จะเห็นความแตกแยก จนกระทั่งยุยงคนทั้งหลายผู้สามัคคีกันให้แตกกัน และเพลิดเพลินในความแยกกัน แสดงให้เห็นถึงการสะสมของอกุศล ซึ่งสามารถกระทำอกุศลกรรมได้ทั้งทางกาย และทางวาจา
~ มีทางใดที่จะป้องกันไม่ให้อกุศลนั้นเกิดเจริญงอกงามไพบูลย์ขึ้น เมื่อพิจารณาโดยเหตุผล เห็นสมควรที่จะพูดก็ควรพูด เพื่อที่จะให้บุคคลอื่นเข้าใจเรื่องจริงๆ ที่ถูกต้อง เพื่ออกุศลจิตของเขาจะได้ไม่เกิด และอกุศลจิตของคนอื่นๆ อีกหลายคนจะได้ไม่พลอยเกิดตามไปด้วย เพราะอกุศลของคนหนึ่งจะต่อไปถึงอกุศลของคนอื่นๆ อีกหลายคนทางวาจาด้วย
~ เรื่องของวาจาทั้งหมด ต้องคิดถึงประโยชน์ ถึงแม้ว่าจะเป็นเรื่องจริง ก็ต้องคิดด้วยว่าเป็นประโยชน์หรือไม่เป็นประโยชน์ ถ้าเป็นประโยชน์ คือ เพื่อให้กุศลจิตเกิด ให้มีความเข้าใจถูก ให้พ้นจากอกุศลซึ่งจะติดตามมาอีกมากมาย ก็ควรพูด แต่ไม่ใช่จงใจเจตนาที่จะพูดเพื่อที่จะให้เกิดอกุศล
~ ถ้าเห็นใครต้อนรับใครด้วยใจจริง เป็นกุศลจิตหรือเปล่าของบุคคลซึ่งต้อนรับ แสดงกิริยาที่เป็นมงคลในการต้อนรับ ขณะนั้นเป็นกุศลจิตหรือเปล่า ถ้าเป็นด้วยใจจริง ขณะนั้นต้องเป็นกุศล แต่ถ้าเป็นอกุศลก็ตรงกันข้าม ไม่มีมงคลกิริยา ไม่แสดงอาการต้อนรับใดๆ ซึ่งก็ส่องไปถึงสภาพของจิตในขณะนั้นว่า จิตในขณะนั้นหยาบกระด้าง หรือว่าเป็นอกุศล ขาดความเมตตา
~ ขณะที่วิรัติ (งดเว้น) ทุจริตกรรมนั้น ก็ต้องคิดถึงประโยชน์สุขของผู้นั้นด้วย มิฉะนั้นย่อมจะเบียดเบียนผู้นั้น แต่ขณะใดที่เว้นการเบียดเบียนด้วยกายบ้าง ด้วยวาจาบ้าง ขณะนั้นก็เป็นการละความเห็นแก่ตัวโดยคิดถึงประโยชน์สุขของบุคคลอื่น ไม่ว่าจะเป็นโดยการช่วยเหลือสงเคราะห์ หรือโดยการละเว้นกายทุจริต วจีทุจริตก็ตาม
~ ถ้าสามารถจะทำกุศลได้เร็วเท่าไร ก็ยิ่งดีเท่านั้น เพราะว่า ชีวิตแต่ละภพแต่ละชาติสั้นมาก ไม่ทราบว่าชาติหน้าจะมาถึงเร็วหรือช้า จะเกิดที่ไหน เป็นบุคคลใด และจะมีโอกาสได้ฟังพระธรรม ได้เจริญกุศลอีกไหม ดังนั้น เมื่อมีโอกาสที่จะเจริญกุศลได้ก็ควรกระทำโดยเร็วหรือโดยทันที
~ ทานกุศลเพื่ออะไร ต้องคิด ใช่ไหม? ผู้ที่จะกระทำกุศลแม้ขั้นทาน ก็ต้องพิจารณาว่า ทานกุศลนี้เพื่ออะไร เพื่อต้องการได้บุญมากๆ หรือเพื่อสงเคราะห์ช่วยเหลือบุคคลอื่น? ต้องพิจารณา
~ เรื่องของอกุศลจิต มีมาก และวันหนึ่งๆ ถ้ากุศลจิตไม่เกิดเลย วันนั้นรู้ตัวหรือเปล่าว่า มืดมิดด้วยอวิชชาและด้วยอกุศล แต่ดูสนุกสนานรื่นเริงดี ใช่ไหม? นี่เป็นเรื่องของความไม่รู้ทั้งหมด ในขณะที่กำลังเพลิดเพลินด้วยโลภะ กำลังพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ (สิ่งที่กระทบสัมผัสกาย) วันนี้สนุกจริง วันนี้สบายมาก ในขณะนั้นให้ทราบว่า ขณะใดที่กุศลจิตไม่เกิดและอกุศลกลุ้มรุม ขณะนั้นมืดมิด ไม่รู้หนทางที่จะทำให้กิเลสละคลายลงไปได้ แต่ผู้ที่เห็นอกุศลมากเท่าไรตามความเป็นจริง ก็ยิ่งเป็นผู้ที่เพียรที่จะขัดเกลากิเลสเพื่อดับอกุศลนั้นๆ
~ สภาพธรรมทั้งหลายที่เคยยึดถือว่าเป็นเรา หรือว่าเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคลในขณะนี้ เป็นสิ่งที่พึงน้อมจิตเข้าไปพิจารณา เพื่อให้รู้จริงว่าสภาพธรรมนั้นไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ตามที่พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงประจักษ์แจ้งแล้ว
~ สังขารธรรม หมายความถึงทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิด เมื่อเกิดแล้วก็ดับ และสภาพธรรมทั้งหลายที่เกิดจะเกิดโดยไม่มีปัจจัยปรุงแต่งไม่ได้เลย เพราะฉะนั้น สังขารธรรม คือ สภาพที่มีปัจจัยปรุงแต่งเกิดขึ้นและดับไป ทางตา ในขณะนี้ที่กำลังเห็น เกิดแล้วต้องดับ เป็นสังขารธรรม ทางหู ขณะที่ได้ยิน เกิดขึ้นได้ยินเสียงแล้วก็ดับ เป็นสังขารธรรม
~ ขณะใดที่กุศลจิตไม่เกิด ขณะนั้นมืดมัวด้วยโมหะ แต่อาจจะไม่รู้ ใช่ไหม เพราะสิ่งนั้นก็สวย สิ่งนี้ก็อร่อย ขณะนั้นลืมแล้วว่า กำลังเห็นว่าสวย กำลังเห็นว่าอร่อย ขณะนั้น มืดมัวด้วยโมหะ ไม่รู้ความจริงของนามธรรมและรูปธรรมซึ่งมีปัจจัยเกิดขึ้นเป็นไปชั่วขณะจิตเดียวแล้วก็ดับไป
~ โลภะมีมากเหลือเกิน เมื่อไหร่จะน้อยลง ถ้าไม่มีความเพียร หรือไม่มีความมั่นคงที่จะเพียรละโลภะจริงๆ วันหนึ่งๆ โลภะก็ยังคงต้องมีกำลังมาก เพราะไม่ว่าจะเห็น ไม่ว่าจะได้ยิน ไม่ว่าจะได้กลิ่น ไม่ว่าจะลิ้มรส ไม่ว่าจะรู้โผฏฐัพพะ ไม่ว่าจะคิดนึก ให้ทราบว่าโลภะยังมีกำลังอยู่มาก
~ หลายท่านอยากจะเปลี่ยนชีวิต จากวันหนึ่งๆ ที่เต็มไปด้วยอกุศล ให้เป็นวันหนึ่งๆ ที่เต็มไปด้วยกุศล อยากอย่างนี้หรือเปล่า? ผิดหรือถูก? ต้องคิด เป็นเพียงความอยาก แต่จะเป็นจริงได้อย่างไร ตามความเป็นจริง ไม่ใช่สำเร็จด้วยความอยาก แต่ต้องสำเร็จด้วยปัญญา
~ ค่อยๆ รู้ว่า ไม่มีเรา กรรมมีทั้งที่เป็นกรรมที่ดีและไม่ดี เพราะฉะนั้น ถ้ารู้ว่ากรรมดีก็ให้ผลที่ดี กรรมไม่ดีก็ให้ผลที่ไม่ดี ปัญญาที่รู้อย่างนี้ ก็ละการที่จะทำอกุศลกรรม แต่ไม่ใช่เรา เป็นปัญญาที่มีความเห็นที่ถูกต้อง
~ ทุกอย่างที่ยากต้องเริ่มต้น จนกว่าจะง่ายขึ้น ถ้าเห็นว่าเมตตาเป็นกุศล และโลภะเป็นอกุศล ก็เลือกได้แล้วว่า วันหนึ่งๆ ควรที่จะมีเมตตา ไม่ใช่โลภะ ต้องรู้ความต่างกันจริงๆ และเริ่มมีความพอใจที่จะอบรมเจริญเมตตาด้วย ไม่ใช่ว่าเมื่อยากก็ปล่อยไปทุกวันๆ ไม่ทำให้ง่ายขึ้น
~ ถ้าเห็นโทษภัยของสิ่งที่ไม่ดีแล้ว จะไม่มีใครกล้าทำสิ่งที่ไม่ดีเลย
~ ขณะใดที่ความดีเกิดขึ้น ไม่ทำร้ายตนเองและไม่ทำร้ายคนอื่น อกุศลเป็นศัตรู แต่คุณความดีเป็นมิตร
~ ธรรม (สิ่งที่มีจริง) ที่เป็นอกุศล ใครจะอยากเก็บไว้มากๆ แต่เพราะความไม่รู้ ด้วยความไม่รู้นั่นแหละ ก็สะสมโดยไม่เห็นโทษภัย
~ แค่ฟังพระธรรม ยังไม่อยากฟัง แล้วจะเอาปัญญามาจากไหน? มีเวลาที่จะคิด แล้วทำไมไม่มีเวลาที่จะฟังพระธรรม?
~ ความเห็นผิด ต้องทิ้งไป ไม่ต้องไปเยื่อใยอะไรอีกกับสิ่งที่ผิด
~ ถ้าผู้ใหญ่ไม่เข้าใจธรรม แล้วจะมีผู้ใหญ่ที่ไหนมาสอนเด็กให้เข้าใจธรรมได้
ขอเชิญคลิกอ่านย้อนหลังครั้งที่ผ่านมาได้ที่นี่ครับ
ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๖๓๑
... กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์
ที่เคารพยิ่ง
และยินดีในกุศลของทุกๆ ท่านครับ ...
กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพยิ่ง
กราบเท้าบูชาท่านอจ.สุจินต์ในความเมตตา เป็นอย่างสูงยิ่งค่ะ
กราบอนุโมทนาอจ.คำปั่นคาะ
ทุกคำที่ให้มา จักศึกษาจนเข้าใจ
หนักแน่นไม่หวั่นไหว ด้วยมั่นในองค์พระศาสดา
กราบอาจารย์สุจินต์ให้ เมตตาได้ทุกเวลา
อีกเต็มเปี่ยมความกรุณา น้อมศรัทธาอาจารย์เทอญฯ
กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพยิ่ง
และยินดีในกุศลของ อ.คำปั่น และทุกๆ ท่านค้วยค่ะ
กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพยิ่ง
กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพยิ่ง