ตื่นคืออะไร?

 
wittawat
วันที่  4 ต.ค. 2566
หมายเลข  46643
อ่าน  328

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น

พระอภิธรรมปิฎก วิภังค์ เล่ม ๒ ภาค ๒ - หน้า 638

จริงอยู่ ชวนะ (ของปัญจทวาร) ย่อมไม่แล่นไป (เสพอารมณ์) เพราะปรารภนามและโคตร ย่อมไม่แล่นไปเพราะปรารภ บัญญัติอันมีกสิณเป็นต้น ย่อมไม่เป็นไปด้วยสามารถแห่งวิปัสสนาอันมีไตรลักษณ์เป็นอารมณ์ ย่อมไม่เป็นไปด้วยสามารถแห่งวิปัสสนาอันมีกำลังคือวุฏฐานคามินี ย่อมไม่แล่นไปเพราะปรารภรูปและอรูปธรรม ย่อมไม่แล่นไปสู่พระนิพพาน. อนึ่ง ปฏิสัมภิทาญาณย่อมไม่เกิดด้วยชวนะ (ในปัญจทวาร) นั้น อภิญญาญาณ สาวกปารมีญาณ ปัจเจกโพธิญาณ สัพพัญญุตญาณ ก็ย่อมไม่เกิดด้วยชวนะนั้น. แต่ว่า ธรรมมีประเภทต่างๆ แม้ทั้งหมด ย่อมมีได้ในชวนะทางมโนทวารเท่านั้น.

คำว่า น สุปติ น ปฏิพุชฺฌติ น สุปินํ ปสฺสติ (บุคคลย่อมไม่หลับ ไม่ตื่น ไม่ฝัน ด้วยวิญญาณ ๕) อธิบายว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงปฏิเสธวิถีจิตพร้อมด้วยชวนะในฐานะทั้ง ๓ เหล่านั้นว่า บุคคลย่อมไม่ก้าวลงสู่ความหลับ ย่อมไม่หลับ ย่อมไม่ตื่น ย่อมไม่เห็นสุบิน (ฝัน) อะไรๆ ด้วยจิตอันเป็นไปทางปัญจทวารแม้ทั้งหมด.

จริงอยู่ เมื่อบุคคลกำลังหลับสนิท ถึงจะยังไส้เทียนใหญ่ให้ติดไฟลุกโพลงแล้วน้อมแสงสว่างนั้นเข้าไปใกล้นัยน์ตาของบุคคลนั้น ปฐมภวังค์ ย่อมไม่หมุนไป (ยังไม่เปลี่ยนไป) สู่อาวัชชนะอันเป็นไปทางจักขุทวารก่อน. ก็จิตอันประกอบด้วยมโนทวารเท่านั้นย่อมหมุนไป ลำดับนั้น ชวนจิตเสพอารมณ์แล้วก็หยั่งลงสู่ภวังค์.

ในวาระที่ ๒ ภวังคจิตย่อมหมุนไปสู่อาวัชชนจิตอันเป็นจักขุทวาร. ต่อจากนั้นจักขุวิญญาณเป็นต้น มีชวนะเป็นปริโยสาน ย่อมเป็นไป. ลำดับนั้น ภวังคจิต จึงเป็นไปอีก.

ในวาระที่ ๓ เมื่อภวังค์หมุนไปสู่อาวัชชนะอันเป็นมโนทวารแล้ว ชวนะอันเป็นมโนทวารวิถี จึงแล่นไป. ท่านกล่าวว่า เพราะรู้ด้วยจิต (ชวนจิตทางมโนทวาร) นั้น บุคคลจึงแลดู จึงทราบอะไรๆ ได้ในที่นี้.


โดยทำนองเดียวกัน เมื่อบุคคลกำลังหลับสนิท ใครๆ ประโคมดนตรีที่ใกล้หู หรือน้อมดอกไม้ซึ่งมีกลิ่นหอมก็ตาม เหม็นก็ตามไปใกล้จมูก หรือใส่เนยใส หรือใส่น้ำอ้อยเข้าไปในปาก หรือเอาฝ่ามือประหารที่หลังก็ตาม. ปฐมภวังค์ก็ยังไม่หมุนไปสู่อาวัชชนะอันเป็นไปทางโสตทวารเป็นต้นก่อน.

จิตอันเป็นมโนทวารเท่านั้นย่อมหมุนไป ลำดับนั้น ชวนะเสพอารมณ์แล้วก็หยั่งลงสู่ภวังค์.

ในวาระที่ ๒ ภวังค์จึงหมุนไปสู่อาวัชชนะทั้งหลายอันเป็นไปทางโสตทวารเป็นต้น จากนั้น โสตะ ฆานะ ชิวหา กายวิญญาณเป็นต้น มีชวนะเป็นปริโยสาน ย่อมเป็นไป. ต่อจากนั้น ภวังค์ก็เป็นไปอีก.

ในวาระที่ ๓ ครั้นเมื่อภวังค์หมุนไปสู่อาวัชชนะอันเป็นมโนทวารแล้ว ชวนะอันเป็นมโนทวารก็แล่นไป. เพราะรู้ด้วยจิต (ชวนจิตอันเป็นมโนทวารวิถี) นั้น บุคคลจึงรู้เสียงอะไรๆ ในที่นี้ว่า เป็นเสียงสังข์ เป็นเสียงกลอง. หรือรู้กลิ่นอะไรๆ ในที่นี้ว่า เป็นกลิ่นเกิดแต่ราก กลิ่นเกิดแต่แก่น หรือรู้รสอะไรๆ ที่เขาใส่เข้าไปในปากของตนว่าเป็นเนยใส น้ำอ้อย หรือรู้ว่าการประหารนี้ ใครตี ใครทุบ ใครประหารที่หลัง ดังนี้ บุคคลจึงชื่อว่า ย่อมตื่นด้วยชวนจิตอันเป็นไปทางมโนทวารเท่านั้น ด้วยอาการอย่างนี้ บุคคล จึงมิได้ตื่นขึ้นด้วยจิตอันเป็นไปทางปัญจทวาร.


[สรุป]

การหลับ ก็คือ ภวังคจิต ที่เกิดขึ้น ดับไป สืบต่อกัน ผู้ที่หลับสนิทนั้น ภวังคจิตจะเกิดขึ้นสืบต่อยาวนาน แต่ก็มีโอกาสที่มโนทวารวิถีจิต จะเกิดขึ้นถอนจากการหลับเป็นความฝันได้ สำหรับผู้ที่ยังมีวิปลาส ๔ อยู่ ยังมีความฝันได้ ผู้ที่ดับวิปลาส ๔ แล้ว ไม่มีความฝัน

การตื่นขึ้น ก็คือ มโนทวารวิถีจิต เป็นวาระแรก ต่อจากนั้น จะมีปัญจทวารวิถีจิต เช่น ทางตา ทางหู เป็นต้น เมื่อสิ้นวาระไป ก็มีมโนทวารวิถีจิตต่อ จนกระทั่งรู้ว่าสิ่งนั้นเป็นอะไรต่อมา เช่น พระอาทิตย์ขึ้น เสียงนาฬิกาปลุก เป็นต้น

ขอกราบอนุโมทนา


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
เฉลิมพร
วันที่ 7 ต.ค. 2566

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ