พระราหุลกุมารทรงผนวชเป็นสามเณร รูปแรก

 
chatchai.k
วันที่  14 ต.ค. 2566
หมายเลข  46783
อ่าน  269

ข้อความใน พระวินัยปิฎก มหาวรรค ทายัชชภาณวาร พระราหุลกุมารทรงผนวชเป็นสามเณร ข้อความในพระวินัยปิฎกตอนนี้มีโดยย่อว่า

ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ในพระนครราชคฤห์ตามพระพุทธาภิรมย์แล้ว เสด็จจาริกไปทางพระนครกบิลพัสดุ์ ถึงพระนครกบิลพัสดุ์แล้ว ประทับอยู่ ณ นิโครธาราม ครั้นเวลาเช้า เสด็จไปสู่พระราชนิเวศน์ของพระเจ้าสุทโธทนศากยะพระพุทธบิดา พระเทวีราหุลมารดาได้มีพระเสาวนีย์แก่พระราหุลกุมารให้ไปทูลขอทรัพย์มรดกต่อพระผู้มีพระภาค

พระราหุลกุมารจึงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค เมื่อพระผู้มีพระภาคเสด็จกลับ พระราหุลกุมารก็ได้ตามเสด็จพระผู้มีพระภาคไปเบื้องหลัง พลางทูลขอให้พระผู้มีพระภาคประทานทรัพย์มรดกให้

ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคก็ตรัสให้ท่านพระสารีบุตรบวชให้พระราหุลกุมารเป็นสามเณรด้วยไตรสรณาคมน์ และทรงอนุญาตการบวชกุลบุตรเป็นสามเณรด้วยไตรสรณาคมน์ นับแต่กาลนั้นเป็นต้นมา

ข้อความใน อรรถกถาปปัญจสูทนี มีว่า

กุมารกปัญหา และ อัมพลัฏฐิกราหุโลวาทสูตร คือ จูฬราหุโลวาทสูตร ใน มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ นี้

พระผู้มีพระภาคตรัสโอวาทท่านพระราหุล เมื่อเป็นสามเณรอายุ ๗ ขวบ ซึ่งครั้งนั้นพระผู้มีพระภาคประทับ ณ พระวิหารเวฬุวัน เขตพระนครราชคฤห์ ท่านพระราหุลอยู่ ณ ปราสาทชื่อว่า อัมพลัฏฐิกา พระผู้มีพระภาคทรงโอวาทให้ท่านพระราหุลพิจารณาชำระกายกรรม วจีกรรม มโนกรรม

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

บุคคลผู้ไม่มีความละอายในการกล่าวมุสาทั้งที่รู้อยู่ ที่จะไม่ทำบาปกรรมแม้น้อยหนึ่ง ไม่มี เพราะเหตุนั้นแหละราหุล เธอพึงศึกษาว่า เราจักไม่กล่าวมุสา แม้เพราะหัวเราะกันเล่น ดูกร ราหุลเธอพึงศึกษาอย่างนี้

ดูกร ราหุล เธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน แว่นมีประโยชน์อย่างไร ท่านพระราหุลกราบทูลตอบว่า

มีประโยชน์สำหรับส่องดู พระเจ้าข้า

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ฉันนั้นเหมือนกันแล ราหุล บุคคลควรพิจารณาเสียก่อนแล้วจึงทำกรรมด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจ

นี่เป็นพระโอวาทที่ตรัสกับท่านพระราหุลเมื่อท่านเป็นสามเณรอายุ ๗ ขวบ และมีราหุโลวาทสูตร ซึ่งพระผู้มีพระภาคตรัสเพื่อทรงพระโอวาทท่านพระราหุลเนืองๆ นอกจากนั้นยังมี ราหุลสังยุต ใน สังยุตตนิกาย นิทานวรรค ซึ่งพระผู้มีพระภาคตรัสเทศนาเรื่องของรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ไม่เที่ยงใน รูปสูตร

จักขุวิญญาณ โสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ กายวิญญาณ มโนวิญญาณไม่เที่ยง ใน วิญญาณสูตร

จักขุสัมผัสสะ โสตสัมผัสสะ เป็นต้นไป ก็ไม่เที่ยง ใน สัมผัสสสูตร

ใน เวทนาสูตร สัญญาสูตร เจตนาสูตร ตัณหาสูตร ธาตุสูตร ก็ได้กล่าวถึงเรื่องของธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม ธาตุอากาศ ธาตุวิญญาณ ไม่เที่ยง

ใน ขันธสูตร ได้ตรัสเทศนาเรื่องของขันธ์ ๕ ไม่เที่ยง

สำหรับ ราหุลสังยุต นั้น พระผู้มีพระภาคตรัสโอวาทตั้งแต่ท่านพระราหุล บวชเป็นสามเณรจนถึงอุปสมบทเป็นภิกษุยังไม่ได้ ๑ พรรษา พระผู้มีพระภาคตรัส ราหุลสังยุต เพื่อทรงอบรมวิปัสสนา ไม่มีข้อความใดเลยที่จะกล่าวเฉพาะเพียงหมวดหนึ่ง ในบรรพหนึ่งเท่านั้นก็พอ เพราะทรงโอวาทเพื่อให้ท่านพระราหุลอบรมเจริญสติ เจริญวิปัสสนา เพื่อการรู้แจ้งอริยสัจธรรม แล้วก็ทรงแสดงไว้ทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ทั้งสภาพธรรมทั้งปวงที่เกิดขึ้นปรากฏ ใน มหาราหุโลวาทสูตร ใน มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ พระผู้มีพระภาคตรัสเมื่อท่านพระราหุลเป็นสามเณร อายุ ๑๘ เพื่อกำจัดฉันทราคะที่เป็นเคหสิตะ

สำหรับ มหาราหุโลวาทสูตร ใน มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ นั้น มีข้อความว่า ครั้งหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน แล้วก็เสด็จไปบิณฑบาต ท่านพระราหุลก็ตามเสด็จไป พระผู้มีพระภาคก็ทรงโอวาทเรื่องรูปไม่เที่ยง ซึ่งท่านพระราหุลก็กราบทูลถามว่า

รูปเท่านั้นไม่เที่ยงหรือ พระพุทธเจ้าข้า

ซึ่งพระผู้มีพระภาคก็ได้ตรัสถึง เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ทั้งหมดไม่เที่ยง แล้วท่านพระราหุลก็กลับไปเจริญสมณธรรม

ส่วน จูฬราหุโลวาทสูตร ใน มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ มีข้อความว่าครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคประทับ ณ พระวิหารเชตวัน ครั้นพระผู้มีพระภาคเสด็จกลับจากบิณฑบาต ภายหลังเวลาพระกระยาหารแล้ว ตรัสกับท่านพระราหุล ให้ถือผ้ารองนั่ง เข้าไปยังป่าอันธวัน เพื่อพักผ่อนกลางวันกัน และทรงแสดงธรรมอนุเคราะห์ท่านพระราหุล เพราะเหตุว่าท่านพระราหุลอบรมอินทรีย์แก่กล้าที่จะบรรลุพระอรหันต์แล้ว

ธรรมที่ทรงแสดงใน จูฬราหุโลวาทสูตร นั้น ก็เป็นเรื่องของตา เรื่องของรูป เรื่องของจักขุวิญญาณไม่เที่ยง เรื่องของหู เรื่องของเสียง เรื่องของโสตวิญญาณ สภาพที่ได้ยินไม่เที่ยง คือ เรื่องของทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ไม่เที่ยงนั่นเอง และในครั้งนั้น ท่านพระราหุลก็ได้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์

จูฬราหุโลวาทสูตร ใน มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ พระสูตรนี้พระผู้มีพระภาคตรัสเมื่อท่านพระราหุลอุปสมบทเป็นพระภิกษุแล้วครึ่งพรรษา

นี่คือการที่บุคคลจะต้องเจริญอบรมธรรมอย่างมากทีเดียวที่จะได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ ท่านพระราหุลได้อบรมมาที่จะบรรลุธรรมเป็นถึงพระอรหันต์ แต่ถึงกระนั้นพระผู้มีพระภาคก็ยังได้ทรงโอวาทพร่ำสอนให้มีสติระลึกรู้ลักษณะของนาม และรูป ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ แม้ผู้ที่ได้อบรมอินทรีย์มาที่จะได้เป็นพระอรหันต์ ก็ยังเว้นไม่ได้


ที่มา อ่าน และฟังเพิ่มเติม ...

แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 145


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
chatchai.k
วันที่ 14 ต.ค. 2566

อัมพลัฏฐิการาหุโลวาทสูตร คือ จูฬราหุโลวาทสูตร ใน มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ ที่พระผู้มีพระภาคทรงโอวาทท่านพระราหุล เมื่อเป็นสามเณรอายุ ๗ ขวบนั้น เพราะพระผู้มีพระภาคทรงพระดำริว่า

ธรรมดาทารกกุมารา คนหนุ่ม และเด็กน้อยทั้งหลายย่อมพูดถ้อยคำที่ควรบ้าง ไม่ควรบ้าง ควรที่พระองค์จะทรงโอวาทแก่ท่านพระราหุล เพราะโทษใดๆ ที่มีอยู่เนื่อง ด้วยปาก เพื่อแสดงโทษนั้นให้เกิดความรังเกียจขึ้น เหมือนรังเกียจของสกปรก

พระผู้มีพระภาคทรงโอวาทให้ชำระกายกรรม วจีกรรม มโนกรรม เมื่อทำภัตกิจแล้ว นั่งในที่พักกลางวัน ก็พึงพิจารณาว่า ตั้งแต่อรุณขึ้นมาจนถึงนั่งในที่นี้ มีกายกรรม วจีกรรม ที่ไม่สมควรแก่ผู้อื่นอยู่บ้างหรือไม่ เมื่อรู้ว่ามีอยู่ ก็พึงแสดงข้อที่ควรแสดง เปิดเผยข้อที่ควรเปิดเผย ถ้าไม่มี ก็พึงอยู่ด้วยปีติปราโมทย์

ส่วนมโนกรรม พึงชำระในเวลาแสวงหาบิณฑบาต ชำระอย่างไร ชำระว่า ฉันทราคะ ปฏิฆะในรูป เป็นต้น ในที่แสวงหาบิณฑบาตวันนี้มีบ้างหรือไม่ ถ้ามี พึงอธิษฐานใจว่า จักไม่ทำเช่นนี้อีก ถ้าไม่มี พึงอยู่ด้วยปีติปราโมทย์

พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า พระสาวกในอดีต ก็ชำระแล้วอย่างนี้ ทั้งในอดีต อนาคต และแม้บัดนี้ก็ย่อมชำระอย่างนี้ เพราะฉะนั้น แม้เธอทั้งหลาย เมื่อศึกษาตามพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นต้น เหล่านั้น ก็พึงศึกษาอย่างนี้

พระผู้มีพระภาคทรงแสดงการละตัณหาในปัจจัย ๔ การละฉันทราคะในกามคุณ ๕ การอาศัยกัลยาณมิตร เป็นสิ่งที่มีคุณใหญ่ พระผู้มีพระภาคตรัสราหุลสังยุต เพื่อทรงแสดงว่า ไม่พึงทำฉันทราคะในภพทั้งหลาย

พระผู้มีพระภาคตรัสมหาราหุโลวาทสูตร เพื่อทรงแสดงว่า ไม่พึงทำฉันทราคะที่เป็นเคหสิตะ เพราะอาศัยอัตภาพของตัวเองว่าเรางาม

สำหรับราหุลสูตรนั้น ไม่ควรกล่าวว่า ตรัสในกาลไหน คือไม่เจาะจงกาล จริงอยู่สูตรนั้น ตรัสเป็นโอวาท พร่ำสอนเนืองๆ

แสดงให้เห็นว่า ถึงแม้เป็นผู้ที่ได้อบรมเจริญอินทรีย์มาแล้ว ก็ต้องเจริญสติ เจริญปัญญา เพื่อการรู้แจ้งธรรม โดยระยะเวลาที่ไม่น้อยเลย คือ ตั้งแต่ท่านพระราหุลบวชเป็นสามเณรอายุ ๗ ขวบ และได้บรรลุความเป็นพระอรหันต์เมื่ออุปสมบทเป็นพระภิกษุแล้ว ซึ่งระหว่างนั้นก็จะต้องอบรมสติปัฏฐานเพื่อที่จะให้ปัญญารู้ชัดขึ้นในสภาพธรรมที่ปรากฏตามความเป็นจริง


ที่มา อ่าน และฟังเพิ่มเติม ...

แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 146

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ