เพื่อรอบรู้ในจิตหนึ่งจริงๆ จึงสามารถค่อยๆ รู้ตามความเป็นจริงได้ว่าไม่มีเรา_สนทนาธรรม ไทย-ฮินดี วันเสาร์ที่ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๖๖
- (คุณสุคิน: อาช่าบอกว่าช่วงนี้เราสนทนาเรื่องวิถีจิต เรื่องอเหตุกจิต เรื่องกิจของจิต แล้วเราพูดในนัยชีวิตประจำวันในภาษาที่เราใช้ในชีวิตประจำวันอย่างเช่น เห็น ได้ยิน ก็ตรงกับชีวิตประจำวันที่เรารู้ว่าเห็น กิจของเห็นคือเห็น กิจของได้ยินคือได้ยิน แต่เวลาที่เราพูดถึงกิจของชวนะในชีวิตประจำวันถ้าเราเอ่ยถึงชวนะ แกก็ถามว่า จะคิดถึงการคิดที่เราคิดว่าเราคิดนี่ในชีวิตประจำวันก็คือชวนะ หรือว่าในชีวิตประจำวันตอนที่เราพูดถึงชีวิตเราเองมันมีนอกจากคิดมีอะไรไหมที่หมายถึงชวนะครับ) เพราะฉะนั้น เรากำลังจะพูดให้รู้จักชวนจิต ถ้าพูดถึงกิจของจิตทั้งหมดมี ๑๔ กิจ จิตทั้งหมดจะต้องทำกิจหนึ่งกิจใดใน ๑๔ กิจ อเหตุกจิตมี ๑๘ อเหตุกจิตไหนทำชวนกิจ? (หสิตุปาทจิต) แสดงว่าเป็นจิตของพระอรหันต์ที่มีการยิ้มเกิดขึ้นซึ่งทุกคนไม่รู้ว่าขณะนั้นอะไรเป็นเหตุให้ยิ้ม.
- หสิตุปาทจิตทำปฏิสนธิกิจได้ไหม? (ไม่ได้) ทำภวังคกิจได้ไหม? (ไม่ได้) ทำอาวัชชนกิจได้ไหม? (ไม่ได้) ทำเห็น ทำได้ยิน ทำได้กลิ่น ทำรู้รส ทำรู้สิ่งที่กระทบสัมผัสได้ไหม? (ไม่ได้) ทำสัมปฏิจฉันนกิจได้ไหม? (ไม่ได้) ทำสันตีรณกิจได้ไหม? (ไม่ได้) ทำโวฏฐัพพนกิจได้ไหม? (ไม่ได้) ทำชวนกิจได้ไหม? (ทำชวนกิจ) ทำตทาลัมพนกิจได้ไหม? (ไม่ได้) ทำจุติกิจได้ไหม? (ไม่ได้) เพราะฉะนั้น จิตอื่นทั้งหมดที่เหลือเหมือนกับหสิตุปาทจิตทำปฏิสนธิอะไรๆ เราไม่พูดถึง แต่ว่ากุศลจิตอกุศลจิตทำชวนกิจ เพราะฉะนั้น กุศลจิต อกุศลจิต กิริยาจิตที่มีเหตุเกิดร่วมด้วยทำชวนกิจ.
- หสิตุปาทจิตทำชวนกิจกี่ขณะ? (๗ ขณะ) เพราะฉะนั้น คนที่ไม่ใช่พระอรหันต์ไม่มีกิริยาจิตทำชวนกิจ.
- เพราะฉะนั้น โลภมูลจิตทำกิจชวนะกี่ขณะ? (๗ ขณะ) .
- เพื่อรอบรู้ในจิตหนึ่งจริงๆ จึงสามารถที่จะค่อยๆ รู้ตามความเป็นจริงได้ว่าไม่มีเรา แต่ไม่ว่าขณะใดก็ตามขณะไหนเป็นจิตหนึ่งๆ ๆ ๆ ถ้าแบ่งจิตทั้งหมดออกเป็น ๒ ประเภทใหญ่ๆ จิตทั้งหมดจะต้องเป็น ๑ ใน ๒ คือ เป็นจิตที่มีเหตุเกิดร่วมด้วย และเป็นจิตที่ไม่มีเหตุเกิดร่วมด้วย รู้แต่จำนวนไม่สามารถที่จะเข้าใจความลึกซึ้งของขณะที่เป็นธรรมเดี๋ยวนี้ ว่า ไม่ใช่เรา แต่ต้องเข้าใจความเป็นจริงด้วยว่าเพราะอะไรจิตนั้นจึงไม่ประกอบด้วยเหตุ และทั้งหมดมี ๑๘ ประเภทเท่านั้น เพราะฉะนั้น จะพูดถึงอเหตุกจิตใดก็ได้เพราะเข้าใจหมดแล้ว.
กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ด้วยความเคารพอย่างยิ่งค่ะ และกราบยินดีในกุศลของคุณสุคิน ผู้ถ่ายทอดคำท่านอาจารย์เป็นภาษาฮินดีค่ะ
- สันตีรณจิตเป็นกุศล หรืออกุศล? (ไม่ได้เป็นกุศลหรืออกุศล) สันตีรณจิตทำกิจปฏิสนธิได้ไหม? (ได้) สันตีรณจิตมีทั้งหมดกี่ดวง? (๓ ดวง) สันตีรณจิตไหนทำปฏิสนธิได้? (มี ๒) อะไรบ้าง? (๑. อุเบกขากุศลสันตีรณะ ๒. อุเบกขาอกุศลสันตีรณะ) .
- อุเบกขาอกุศลสันตีรณะเกิดที่ไหน? (อบายภูมิ) แล้วอุเบกขาสันตีรณกุศลวิบากเกิดที่ไหน? (เกิดเป็นมนุษย์แต่พิการ) ทำไมเกิดเป็นมนุษย์ที่ไม่พิการไม่ได้? (เพราะเป็นกุศลที่อ่อนมาก) ถ้าเป็นกุศลที่มีกำลังจะเป็นปัจจัยให้ปฏิสนธิด้วยอุเบกขาสันตีรณกุศลวิบากได้ไหม? (ไม่ได้) ด้วยเหตุนี้กุศลที่มีกำลังจึงทำให้เกิดกุศลวิบากที่ทำกิจปฏิสนธิที่ไม่พิการ.
- ถามว่า กุศลวิบากที่มีกำลังทำให้เกิดผลคืออะไร ผลของกุศลที่มีกำลังคืออะไร? (ถ้าเป็นกุศลที่มีกำลังจะให้ผลเป็นปฏิสนธิ ภวังค์ และจุติในภูมิที่ดี และเห็น ได้กลิ่น ลิ้มรส สัมผัสทางกาย ได้ยินเสียงที่ดี)
- เพราะฉะนั้น ผลของกุศลมีผลที่ไม่ประกอบด้วยเหตุ และมีผลที่ประกอบด้วยเหตุด้วย เพราะฉะนั้น ให้ทราบว่าชวนะ ๗ ที่เป็นกุศลเป็นปัจจัยให้เกิดกุศลวิบากที่ประกอบด้วยเหตุ และไม่ประกอบด้วยเหตุ มิเช่นนั้นแล้ว กุศลวิบากที่ไม่ประกอบด้วยเหตุจะมาจากไหน และกุศลวิบากที่ประกอบด้วยเหตุจะมาจากไหน.
- เพราะฉะนั้น เราจะพูดถึงจิตที่เป็นกุศลในขณะที่เป็นอเหตุกะมีไหม? (ไม่มีกุศลที่ไม่มีเหตุ) เพราะฉะนั้น กุศลที่เป็นอเหตุกะไม่มี กุศลต้องมีเหตุที่มีกุศลเกิดร่วมด้วย.
- กุศลจิตทำชวนกิจถูกต้องไหม? (ครับ) กุศลจิตทุกประเภทต้องประกอบด้วยเหตุ แต่เป็นเหตุให้เกิดวิบากจิตที่เป็นเหตุร่วมด้วยก็มีไม่มีเหตุเกิดร่วมด้วยก็มี.
กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ด้วยความเคารพอย่างยิ่งค่ะ
- กุศลทั้งหมดมีกี่ดวง? (ไม่ทราบ) ถูกต้อง เพราะเรายังไม่ได้พูดถึงว่ากุศลทั้งหมดมีกี่ดวง แต่ให้ทราบว่ากุศลที่ไม่ประกอบด้วยเหตุไม่มีเลย แต่กุศลต้องประกอบด้วยเหตุและเป็นปัจจัยให้เกิดผลของกุศลที่ประกอบด้วยเหตุและที่ไม่ประกอบด้วยเหตุ.
- ต่อไปเราจะเรียนให้ละเอียดขึ้นว่า อกุศลจิตมีเท่าไหร่ และให้ผลเป็นอกุศลวิบากเท่าไหร่.
- อกุศลวิบากที่ไม่ประกอบด้วยเหตุมีไหม? (คุณสุคิน: แกตอบว่าไม่มี ถ้าผลของอกุศลวิบากมีที่เป็นอเหตุกะ แต่ฟังเหมือนแกไม่แน่ใจว่ามีไหมที่มีเหตุด้วย ผมก็ถามเพื่อความแน่ใจแกก็บอกว่าแกไม่แน่ใจครับ) เพราะฉะนั้น ต้องฟังอีกต้อง ถ้าทบทวนแล้วเราก็กล่าวถึงแล้วแต่ว่าเป็นเรื่องที่ละเอียดมากและเป็นตอนที่สำคัญมาก ถ้าไม่เข้าใจตรงนี้เราจะรู้แต่ชื่อของธรรมทั้งหมด.
- ธรรมละเอียดลึกซึ้งยิ่งกว่านี้ เพราะฉะนั้น เราเริ่มต้นที่จะรู้จักธรรมที่มีจริงที่กำลังปรากฏในชีวิตประจำวันทีละเล็กทีละน้อย ด้วยเหตุนี้เราจะต้องรู้จำนวนทั้งหมดของจิตแต่ละประเภทด้วย.
- เหตุทั้งหมดคืออะไร เท่าไหร่? (มี ๖ โลภะ โทสะ โมหะ ซึ่งเป็นอกุศลเหตุ และอโลภะ อโทสะ อโมหะ ซึ่งเป็นกุศลเหตุ) และจิตที่ไม่มีเหตุเกิดร่วมด้วยมีเท่าไหร่? (มี ๑๘) เปลี่ยนได้ไหม? (ไม่ได้) เพราะฉะนั้น นี่เป็นการเริ่มต้นเข้าใจความจริงในชีวิตประจำวัน.
- จิตที่ไม่ประกอบด้วยเหตุทั้งหมดแบ่งเป็นกี่ประเภท? (๓ ประเภท กุศลวิบาก อกุศลวิบาก และกิริยา) เพราะฉะนั้น เป็นวิบากทั้งหมดเท่าไหร่? (๑๕) .
- อกุศลวิบาก และกุศลวิบากเป็นอเหตุกวิบากเท่าไหร่? (กุศลวิบาก ๘ และอกุศลวิบาก ๗) กิริยาเท่าไหร่? (๓) เพราะฉะนั้น เราจะต้องรู้เพิ่มเติมนะอกุศลวิบากทั้งหมดๆ ไม่ว่าจะโลกไหนก็ตามแต่ไม่เกินอกุศลวิบากเท่าไหร่? (๗) มีมากกว่า๗ ได้ไหม? (ไม่ได้) เพราะฉะนั้น อกุศลวิบากที่ประกอบด้วยเหตุมีไหม? (ไม่มี) นี่เป็นความต่างกัน กุศลวิบากที่ไม่ประกอบด้วยเหตุมีเท่าไหร่? (มี ๘) มี ๘ แต่ว่า แต่ว่า กุศลสามารถที่จะให้ผลมากกว่าอกุศล เพราะฉะนั้น ความต่าง คือกุศลวิบากที่ไม่ประกอบด้วยเหตุมีเท่าไหร่? (มี ๘) และกุศลสามารถให้ผลเป็นวิบากที่ประกอบด้วยเหตุได้ด้วย.
กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ด้วยความเคารพอย่างยิ่งค่ะ
- เพราะฉะนั้น ต่อไปเราจะเรียนเรื่องกุศลเหตุ และกุศลวิบากจิต.
- ผลของกุศลอย่างอ่อนทำให้เกิดเป็นคนพิการ แต่กุศลที่มีกำลังไม่สามารถทำให้เกิดเป็นคนพิการได้ แต่สามารถทำให้เป็นคนที่ไม่พิการได้ ด้วยเหตุนี้จึงเป็นความต่างระหว่างอุเบกขาสันตีรณกุศลวิบากและอุเบกขาสันตีรณอกุศลวิบาก.
- เพราะฉะนั้น อกุศลวิบากเป็นผลที่ทำให้เกิดในอบายภูมิ กุศลวิบากเป็นผลให้เกิดในสุคติภูมิ.
- ที่เกิดเป็นมนุษย์เป็นผลของอะไร? (เป็นผลของกุศลกรรม) และเกิดเป็นมนุษย์ที่พิการเป็นผลของอะไร? (เป็นผลของกุศลอย่างอ่อน) เพราะฉะนั้น ทางฝ่ายกุศลให้ผลมากกว่าทางฝ่ายอกุศลใช่ไหม? (ครับ) .
- ถ้าเป็นผลของกุศลที่มีกำลังจะเป็นเหตุให้จิตอะไรปฏิสนธิ? (ปฏิสนธิที่ประกอบด้วยเหตุ) เพราะฉะนั้น ก็เข้าใจแล้วไม่ลืมเป็นธรรมทั้งหมด เริ่มรู้ตั้งแต่เกิดว่าไม่ใช่เราหรือใคร แต่ว่าเป็นธรรม.
- สันตีรณอกุศลวิบากทำกิจอะไรบ้าง? (ทำ ๕ กิจ ปฏิสนธิกิจ ภวังคกิจ จุติกิจ สันตีรณกิจ และตทาลัมพนกิจ) กุศลสันตีรณจิตทำกี่กิจ? (ถ้าเป็นอุเบกขาสันตีรณกุศลวิบากทำ ๕ กิจ คือปฏิสนธิกิจ ภวังคกิจ จุติกิจ สันตีรณกิจ และตทาลัมพนกิจ สำหรับโสมนัสสันตีรณกุศลวิบากทำ ๒ กิจ คือ สันตีรณกิจและตทาลัมพนกิจ) เก่งมาก เพราะฉะนั้น นี่เป็นเรื่องที่เราจะเข้าใจความละเอียดของธรรรมว่า แม้ว่าเป็นจิตประเภทเดียวกันแต่ก็ทำกิจต่างกัน.
กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ด้วยความเคารพอย่างยิ่งค่ะ
- สัมปฏิจฉันนะทำกี่กิจ? (๑ กิจ) ปัญจทวาราวัชชนะทำกี่กิจ? (๑ กิจ) มโนทวาราวัชชนะทำกี่กิจ? (ทำ ๒ กิจ ๑. โวฏฐัพพนกิจ ๒. มโนทวาราวัชชนกิจ) ทำโวฏฐัพพนกิจทางทวารไหน? (ทางปัญจทวาร) แล้วทางมโนทวารทำกิจอะไร? (ทำกิจอาวัชชนะ) .
- มโนทวาราวัชชนจิตเกิดทวารไหนได้บ้าง เกิดได้กี่ทวาร? (๖ ทวาร) ถูกค่ะ แต่ว่าจิตนี้จะเรียกชื่ออะไรดี ทำกิจ ๒ กิจ เพราะฉะนั้น จะเอาชื่อไหนดี? (อาช่าตอบว่า สำคัญที่ชื่อหรือเปล่าสำหรับความเข้าใจ) แต่ว่าจะเรียกชื่อไหนล่ะมี ๒ ชื่อ จะเอาชื่อไหน? (เลือกไม่ถูก) เพราะว่าจิตนี้ทำได้ทั้ง ๖ ทวาร แต่สำหรับจิตอื่นทำได้ ๑ ๒ ๓ ๔ ๕ เป็นต้น เพราะฉะนั้น ชื่อที่ทุกคนเรียกว่า ไม่ว่าจะมีจิตทางปัญจทวาร หรือไม่มีจิตทางปัญจทวารก็ตามแต่ จิตนี้ก็ยังสามารถเกิดได้ทางใจ จึงชื่อว่า มโนทวาราวัชชนจิต เพราะฉะนั้น จิตที่ต้องทำกิจนี้แน่นอนเป็นมโนทวาราวัชชนจิต เพราะว่าถึงไม่มีทวารทั้ง ๕ เลยจิตนี้ก็เกิดได้ทำกิจได้ เพราะฉะนั้น ต่อไปนี้เราจะเรียกว่ามโนทวาราวัชชนจิตทำ ๒ กิจ.
- มโนทวาราวัชชนจิตทำกิจอะไรทางทวารทั้ง ๕? (ทำกิจโวฏฐัพพนะ) เพราะฉะนั้น เมื่อโวฏฐัพพนะดับไปแล้วอะไรเกิดต่อ? (ชวนะเกิดต่อ) เพราะฉะนั้น จิตนี้ต้องเกิดก่อนชวนกิจทุกครั้งไม่ว่าจะทางทวารไหน ถ้าจิตนี้ไม่เกิดก่อนไม่ว่าทวารไหน ชวนจิตเกิดไม่ได้เลย ด้วยเหตุนี้จิตนี้จึงมีอีกชื่อหนึ่งว่าชวนปฏิปาทกมนสิการ ถ้าเกิดทางปัญจทวารจิตนี้ทำโวฏฐัพพนกิจเกิดก่อนชวนะเปิดทางให้.กุศลอกุศลสำหรับคนที่ไม่ใช่พระอรหันต์เกิดขึ้น ถ้าเป็นทางใจ มโนทวาร จิตนี้ก็เกิดก่อนชวนะแต่ทำมโนทวาราวัชชนะ เปิดทางใจให้อารมณ์เกิดขึ้นทางใจ แต่ก็ต้องเกิดขึ้นก่อนชวนจิตทุกครั้ง.
- มโนทวาราวัชชนจิตเกิดได้กี่ทวาร? (๖ ทวาร) รู้อารมณ์ได้กี่อารมณ์? (๖ อารมณ์) ถูกต้อง ไม่ว่าจะเป็นทางปัญจทวารก็เกิดก่อนชวนะ ไม่ว่าจะเป็นทางมโนทวารก็เกิดก่อนชวนะจึงเป็นชวนปฏิปาทมนสิการ.
กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ด้วยความเคารพอย่างยิ่งค่ะ
- ปัญจทวาราวัชชนจิตเกิดทางมโนทวารได้ไหม? (ไม่ได้) ปัญจทวาราวัชชนจิตทำกี่กิจ? (๑ กิจ) ทางไหน? (ทางปัญทวาร) ถ้าปัญจทวาราวัชชนจิตไม่เกิดวิถีจิตอื่นๆ ทางปัญจทวารเกิดได้ไหม? (ไม่ได้) ด้วยเหตุนี้ปัญจทวาราวัชชนจิตจึงมีอีกชื่อหนึ่ง ว่า วิถีปฏิปาทกมนสิการ หมายความว่า เป็นวิถีจิตแรกของทุกทวารแต่ ๕ ทวาร.
- มโนทวาราวัชชนจิตเกิดทางปัญจทวารได้ไหม? (ได้) มโนทวาราวัชชนจิตทำอาวัชชนกิจทางปัญจทวารได้ไหม? (แกตอบว่า โวฏฐัพพนะคือกิจอาวัชชนะครับ) ไม่ใช่ค่ะเป็นโวฏฐัพพนกิจไม่ใช่อาวัชชนกิจในกิจทั้งหมด (เข้าใจครับ) เพราะฉะนั้น มโนทวาราวัชชนจิตจะเป็นจิตที่ทำกิจแรกทางปัญจทวารไม่ได้.
- เพราะฉะนั้น ปัญจทวาราวัชชนจิตกับมโมทวาราวัชชนจิตอะไรทำกิจมากกว่ากัน? (มโนทวาราวัชชนจิต) เพราะอะไร? (ต่างกันที่มโนทวาราวัชชนจิตทำได้ ๒ กิจ คือ ๑. ทำกิจโวฏฐัพพนะ ๒. ทำกิจอาวัชชนะ สำหรับปัญจทวาราวัชชนจิตทำได้เฉพาะอาวัชชนกิจ) .
- มโนทวาราวัชชนจิตทำอาวัชชนกิจทางมโนทวารได้ไหม? (ทำได้) มโนทวาราวัชชนจิตทำโวฏฐัพพนกิจทางมโนทวารได้ไหม? (ไม่ได้) เพราะฉะนั้น ต่อไปนี้โล่งใจสบายใจไหมเข้าใจทั้งหมดของอเหตุกจิต? (ค่ะ) .
- เพราะฉะนั้น กุศลจิตทำปฏิสนธิกิจได้ไหม? (ไม่ได้) อกุศลจิตทำปฏิสนธิกิจได้ไหม? (ไม่ได้) จักขุวิญญาณทำอาวัชชนกิจได้ไหม? (ไม่ได้) สัมปฏิจฉันนะทำชวนกิจได้ไหม? (ไม่ได้) สันตีรณะทำทัสสนกิจได้ไหม? (ไม่ได้) กุศลจิตทำโวฏฐัพพนกิจได้ไหม? (ไม่ได้) กุศลจิตทำชวนกิจได้ไหม? (ได้) ทำกิจอื่นนอกจากชวนกิจได้ไหม? (ไม่ได้ แต่แกไม่มั่นใจ) คำถามว่าอย่างไร? (ถามว่ากุศลจิตนอกจากทำชวนกิจแล้วทำกิจอื่นอีกได้ไหม) เพราะฉะนั้น ถ้าไม่แน่ใจก็คิดว่า ทำปฏิสนธิได้ไหม? ทำภวังค์ได้ไหม? ทำจุติได้ไหม? ทำอาวัชชนกิจได้ไหม? ทำทัสสนกิจได้ไหม? ทำสัมปฏิจฉันนะได้ไหม? ถ้าไม่แน่ใจก็ทวนทั้งหมดที่เป็นกิจแล้วจะรู้ว่าทำได้หรือทำไม่ได้ (พิจารณาดูแล้วสรุปว่ากุศลจิตนอกจากทำกิจชวนะแล้วทำกิจอื่นไม่ได้) แสดงว่าเข้าใจจริงๆ ไม่ใช่ว่าตัวหนังสือว่าอย่างนั้นเปลี่ยนเป็นอย่างนี้ทำให้เขาเข้าใจตามนั้นที่ผิด ความเป็นจริงต้องเป็นจริง.
- เพราะฉะนั้น ต่อไปนี้เราก็จะได้ศึกษาเรื่องจิตที่ประกอบด้วยเหตุ เพราะว่าจิตอะไรเกิดมากกว่ากันในวันหนึ่งๆ จิตที่ประกอบด้วยเหตุหรือจิตที่ไม่ประกอบด้วยเหตุ? (เข้าใจแล้วว่าวันๆ เกิดทางมโนทวารมากกว่า) วันหนึ่งๆ ผลของกุศลเกิดมากหรือว่ากุศลอกุศลเกิดมากกว่า? (มานิชตอบว่า อกุศลวิบากเกิดมากกว่า ผมเลยถามต่อไปว่า ถ้าเกิดในสวรรค์เขาบอกว่าเป็นกุศลวิบากมากกว่า แต่ผมก็เลยถามย้อนกลับให้พิจารณาใหม่ว่ามนุษย์ภูมินี่กุศลวิบากมากกว่าหรือน้อยกว่า แกก็ยังยืนยันว่าเป็นอกุศลวิบากจะเยอะกว่า) เป็นเรื่องที่ไม่รู้แน่นอนจนกว่าสภาพธรรมปรากฏ (แต่ท่านอาจารย์ครับ จากคำถามเมื่อกี๊นี้ผมไม่แน่ใจว่าท่านอาจารย์หมายถึงอะไรแต่ผมมาคิด ... ) หมายถึงว่า วิบากกับกุศลอกุศลประเภทไหนเกิดมากกว่ากัน? (ครับ ตรงนั้นผมไปพิจารณาถึงภวังค์ด้วยเพราะว่าภวังค์ก็เป็นผลของกุศลก็เกิดมากอยู่แล้ว เพราะฉะนั้น ถ้าตามหลักแล้วกุศลวิบากก็ต้องเยอะกว่า แต่ว่าตรงนั้นผมถึงบอกว่าไม่แน่ใจว่าท่านอาจารย์หมายถึงอะไรครับ แต่สรุปแล้วก็คือว่าเราไม่สามารถรู้ได้ใช่ไหมครับ) ถูกต้อง เพราะว่าความจริงตื่นหรือหลับในแต่ละวันเรารู้ไม่ได้ใช่ไหมว่าตื่นมากหรือหลับมาก.
- ตอนนี้ไม่ทราบมีปัญหาคำถามเรื่องอเหตุกะอีกไหม? (ไม่มี) พร้อมที่จะต่อไปถึงจิตประเภทอื่นใช่ไหม? (ได้ครับ) .
- (คุณสุคิน: ตอนที่เราพูดถึงชวนปฏิปาทกจิต อาช่ายังไม่แน่ใจตรงนั้นผมเลยอธิบายให้เขาฟังว่าเป็นมโนทวาราวัชชนจิตเป็นจิตที่เปิดทางให้ชวนจิตเกิดทางปัญจทวารทำโวฏฐัพพนกิจเปิดทางให้ชวนะกุศลอกุศลเกิด และทางมโนทวารก็เป็นมโนทวาราวัชชนจิตเปิดทางให้กุศลอกุศลจิตเกิด) เป็นวิถีจิตที่ต้องเกิดก่อนกุศลหรืออกุศล.
- อเหตุกะมีเหตุอะไรเกิดร่วมด้วยไหม? (ไม่มี) อเหตุกมีปัจจัยให้เกิด
- นกกับงู มีอเหตุกจิตไหม? (มี) มีกุศลอกุศลไหม? (มี) มีกุศลจิตอะไรบ้าง? (อย่างสัตว์ก็เกิดได้อย่างเช่น เป็ดมีเมตตามีวิรัติอะไรได้) สำหรับเราถ้าเรารู้ว่าขณะไหนเป็นกุศลอกุศลเราก็พอจะรู้ได้ว่าขณะที่สัตว์เหล่านั้นมีจิตต่างๆ เหล่านี้จึงเป็นกุศลและอกุศลใช่ไหม แต่ก็ไม่ตรงกับสภาพธรรมเพียงแต่รู้เรื่องราวของธรรม.
- คราวหน้าเราจะเริ่มสนทนาเรื่องจิตที่ประกอบด้วยเหตุ.
กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ด้วยความเคารพอย่างยิ่งค่ะ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์ ด้วยความเคารพยิ่ง
ยินดีในกุศลจิตครับ
กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพยิ่ง
กราบยินดีในกุศลของคุณสุคิน ผู้ถ่ายทอดคำท่านอาจารย์เป็นภาษาฮินดี
ขอบพระคุณและยินดีในกุศลวิริยะของพี่เมตตา เป็นอย่างยิ่งด้วยครับ ที่ถอดคำสนทนาของท่านอาจารย์ ทำให้ได้ทบทวนพิจารณาไตร่ตรองในความละเอียดของธรรม เป็นประโยชน์ทุกคำจริงๆ ครับ