ภาษาบาลีสัปดาห์ละคำ [คำที่ ๖๓๓] อวส
ภาษาบาลี ๑ คำ คติธรรมประจำสัปดาห์ “อวส”
โดย อ.คำปั่น อักษรวิลัย
อวส อ่านตามภาษาบาลีว่า อะ - วะ – สะ มาจากคำว่า น (ไม่, ไม่ใช่) กับคำว่า วส (อำนาจ, เป็นใหญ่) แปลง น เป็น อ ต่อกันกับ วส จึงสำเร็จเป็น อวส แปลว่า ไม่เป็นไปในอำนาจ เป็นคำที่มีความหมายที่ลึกซึ้งอย่างยิ่ง เพราะแสดงถึงความจริงว่าไม่มีใครบังคับบัญชาสิ่งหนึ่งสิ่งใดให้เกิดขึ้นเป็นไปได้ ไม่มีใครบังคับบัญชาให้สิ่งหนึ่งสิ่งใดเป็นไปตามความต้องการได้ แสดงถึงความเป็นจริงของธรรมที่ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใคร เพราะเหตุว่าต้องเกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุปัจจัย ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น
ข้อความในสัมโมหวิโนทนี อรรถกถา พระวิภังค์ แสดงความเป็นจริงของธรรมที่ไม่เป็นไปในอำนาจบังคับบัญชาของใคร ดังนี้
“ความที่จักขุนั้นเป็นไปในอำนาจของใครๆ ในฐานะ ๓ เหล่านี้คือ จักขุนี้เกิดขึ้นแล้วขอจงอย่าถึงการตั้งอยู่ ถึงการตั้งอยู่แล้ว จงอย่าแก่ ถึงการแก่แล้ว จงอย่าแตกดับ ดังนี้ หามีได้ไม่ เป็นของสูญไปจากอาการที่เป็นไปในอำนาจนั้น”*
(* ในที่นี้ยกมาเฉพาะ จักขุ เท่านั้น แท้ที่จริงแล้ว ธรรมทั้งปวง ล้วนไม่เป็นไปในอำนาจบังคับบัญชาของใคร)
ธรรมเป็นสิ่งที่มีจริง สามารถพิสูจน์ได้ทุกขณะว่าเป็นสิ่งที่มีจริง ไม่ว่าจะได้เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสกาย คิดนึก ดีใจ เสียใจ ติดข้องยินดีพอใจ หงุดหงิดโกรธขุ่นเคือง ไม่พอใจ เป็นต้น ล้วนเป็นธรรม คือเป็นสิ่งที่มีจริงทั้งหมด ธรรม ไม่ได้หมายถึงเพียงสภาพธรรมฝ่ายดีเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่หมายรวมถึงสิ่งที่มีจริงทั้งหมด ชีวิตประจำวันที่ดำเนินไปนั้นไม่พ้นไปจากธรรมเลย เมื่อไม่ได้ศึกษา ย่อมไม่สามารถจะรู้ได้ว่าเป็นธรรม เพราะแท้ที่จริงแล้ว ทุกขณะเป็นธรรม มีจิต (สภาพธรรมที่เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งอารมณ์) เจตสิก (สภาพธรรมที่เกิดร่วมกับจิต) และรูป (สภาพธรรมที่ไม่รู้อะไร ไม่ใช่สภาพรู้) เกิดขึ้นเป็นไปอยู่ตลอดเวลา จิต เจตสิก รูปนั้น เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยแล้วก็ดับไป ไม่เที่ยง ไม่ยั่งยืน ที่ไม่เที่ยงนั้นเพราะเกิดแล้วดับไป สภาพธรรมที่เกิดแล้วดับไปนั้น เป็นทุกข์ เป็นทุกข์เพราะเหตุว่าตั้งอยู่ไม่ได้ มีความแปรปรวนไปเป็นธรรมดา และเป็นอนัตตา คือ ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น ลักษณะทั้ง ๓ ประการนี้ เป็นลักษณะที่ทั่วไปแก่สภาพธรรมที่เป็นสังขารธรรมซึ่งเป็นธรรมที่เกิดเพราะเหตุปัจจัยทั้งหมด
ธรรมไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น เกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุตามปัจจัยจริงๆ ไม่มีใครสามารถบังคับให้ธรรมอะไรเกิดขึ้นได้เลย ยกตัวอย่างเช่น บังคับให้เห็นก็ไม่ได้ เพราะเห็นเกิดเพราะเหตุปัจจัยหลายอย่าง กล่าวคือ มีกรรมเป็นปัจจัย มีที่อาศัยให้จิตเห็นเกิด คือ จักขุปสาทหรือตา มีเจตสิกเกิดร่วมด้วย หรือแม้แต่ปัญญา ซึ่งเป็นสภาพธรรมฝ่ายดี ที่เข้าใจถูกเห็นถูกตามความเป็นจริง ก็เกิดขึ้นเพราะอาศัยเหตุปัจจัยเช่นเดียวกัน ไม่ใช่ว่ามีตัวตนที่จะไปบังคับให้ปัญญาเกิดได้ ต้องอาศัยเหตุหลายอย่างหลายประการด้วยกัน ต้องมีศรัทธาที่จะฟัง ที่จะศึกษา เพราะเคยเห็นประโยชน์ของการได้เข้าใจความจริงมาแล้ว จึงทำให้เป็นผู้ที่สนใจที่จะฟัง ที่จะศึกษาพระธรรม เพื่อความเข้าใจอย่างถูกต้องตามความเป็นจริง จึงฟัง จึงศึกษา เมื่อได้ฟัง ได้ศึกษา ปัญญาย่อมจะเจริญขึ้นไปตามลำดับ โดยไม่มีตัวตนที่จะไปบังคับให้ปัญญาเกิดเลย แต่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยจริงๆ แต่การใช้คำพูดในการสื่อสาร ก็อาจจะพูดว่า สร้างเหตุ หรือ เจริญเหตุ หรือ ทำเหตุ เป็นต้น โดยที่ไม่ได้ปฏิเสธคำพูดของชาวโลก แต่ก็ขอให้เข้าใจว่า ไม่มีใครสร้าง ไม่มีใครเจริญ ไม่มีใครทำ ไม่มีใครมีอำนาจ มีแต่ธรรมที่เกิดขึ้นเป็นไปเท่านั้น สำคัญที่ความเข้าใจถูกเห็นถูกจริงๆ ว่าเป็นธรรมที่มีจริง เกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุปัจจัย ไม่มีใครบังคับให้สิ่งหนึ่งสิ่งใดเกิดขึ้นเป็นไปได้เลย สภาพธรรมที่เกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุตามปัจจัยนั้น ก็แสดงให้เห็นชัดเจนอยู่แล้วว่า ไม่เป็นไปในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น
ธรรมเป็นเรื่องที่ละเอียด ยากที่จะเข้าใจ แต่ก็สามารถที่จะเข้าใจได้ การศึกษาธรรมเป็นการศึกษาถึงสภาพธรรมที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เพื่อเข้าใจสภาพธรรมตามความเป็นจริง เนื่องจากคุ้นเคยกับความเป็นตัวตน คุ้นเคยกับความเป็นเรา อีกทั้งได้สะสมความไม่รู้มาอย่างเนิ่นนาน จึงหลงยึดถือสภาพธรรมที่กำลังปรากฏว่าเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นเรา ดังนั้น ธรรม ซึ่งเป็นสิ่งที่มีจริงนั้น จึงควรที่จะศึกษา เพื่อความเข้าใจถูก เห็นถูกตามความเป็นจริง ซึ่งจะเป็นไปเพื่อละคลายความไม่รู้ ละความเห็นผิดในสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคลได้ในที่สุด
การตั้งต้นในการฟังในการศึกษาให้เข้าใจว่า ธรรม คือ สิ่งที่มีจริงแต่ละหนึ่งๆ ย่อมเป็นประโยชน์เกื้อกูลตั้งแต่ต้น เมื่อได้ฟังได้ศึกษาต่อไปด้วยความเป็นผู้เห็นประโยชน์ ไม่ประมาทในแต่ละคำที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ความเข้าใจถูกเห็นถูกก็จะค่อยๆ เจริญขึ้นไปตามลำดับ พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงแสดงไว้ดีแล้วทั้งหมด อุปการะเกื้อกูลให้เข้าใจว่า มีแต่ธรรม ไม่มีเรา ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล ไม่มีตัวตน จึงต้องเป็นผู้ที่แกล้วกล้า อาจหาญที่จะฟังพระธรรมศึกษาพระธรรมต่อไป เพื่อรู้ความจริงว่า มีแต่ธรรมเท่านั้น ไม่มีเรา ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล ไม่มีตัวตน
ขอเชิญติดตามอ่านคำอื่นๆ ได้ที่..