ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๖๓๕

 
khampan.a
วันที่  22 ต.ค. 2566
หมายเลข  46838
อ่าน  2,576

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น



ขออนุญาตแบ่งปันข้อความธรรม (ปันธรรม) ที่ได้จากการฟังพระธรรมจาก
ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ในแต่ละครั้ง รวบรวมเป็นธรรมเตือนใจเพื่อศึกษา และพิจารณาร่วมกัน เพื่อความเข้าใจธรรม (ปัญญ์ธรรม) ตามความเป็นจริง ซึ่งเป็นข้อความที่สั้นบ้าง ยาวบ้าง แต่ก็มีอรรถที่สมบูรณ์ พอที่จะเข้าใจได้ควรค่าแก่การพิจารณาอย่างยิ่ง ดังนี้


ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๖๓๕




~ การศึกษาพระธรรมประโยชน์สูงสุด คือ ทำให้สาวกคือผู้ฟังสามารถเกิดปัญญาความรู้ที่ถูกต้องเป็นของตัวเอง มีธรรมเป็นสรณะเป็นที่พึ่ง ซึ่งธรรมนี้มาจากพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะฉะนั้น ผู้ใดที่รู้ธรรม มีธรรมเป็นที่พึ่ง ผู้นั้นก็มีพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นที่พึ่งด้วย เพราะว่าถ้าพระองค์ไม่ตรัสรู้ พระธรรมไม่มี แต่การที่จะรู้จักพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ ต่อเมื่อได้ฟังพระธรรม

~ พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงเป็นสัจจธรรม เป็นความจริงสำหรับทุกท่านที่จะรู้จักตนเองว่าท่านมีกุศลประเภทใด และมีอกุศลประเภทใด เพราะบางท่านมักจะนึกถึงเรื่องเก่าๆ และไม่อภัย และก็เป็นอย่างนี้บ่อยๆ บังคับตัวเองก็ไม่ได้ เพราะฉะนั้น มีทางเดียว คือ อบรมเจริญปัญญาที่จะรู้ว่า แม้ขณะนั้นก็ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน จนกว่าจะดับการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตนได้จริงๆ ไม่มีหนทางอื่นเลย นอกจากการประจักษ์แจ้งปรมัตถสัจจะ ซึ่งเป็นสภาพธรรมที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคลสักลักษณะเดียว

~ คนที่รู้ประโยชน์จริงๆ เห็นความลึกซึ้งจริงๆ เป็นผู้ที่ตรงต่อความจริงของธรรม จะไม่มีการละเลยหรือทอดทิ้งที่จะเข้าใจขึ้น ไม่ว่าจะโดยการอ่าน โดยการฟัง โดยการไตร่ตรอง โดยการสนทนาธรรมหรืออะไรทั้งสิ้น เพราะรู้ว่ากว่าจะได้เข้าใจทีละเล็กทีละน้อย ไม่ใช่ง่าย

~ เรื่องของการอบรมปัญญาไม่ใช่เรื่องอื่น นอกจากระลึกเพื่อที่จะ รู้ชัดจริงๆ ว่า ไม่ใช่เรา เพราะเป็นนามธรรมและเป็นรูปธรรมเท่านั้น ทุกภพ ทุกชาติ ไม่ต้องเปลี่ยนแปลงอะไรทั้งสิ้น มีปัจจัยเกิดขึ้นเป็นไปแล้วสติระลึก

~ ขณะใดที่โกรธ ขณะนั้นคิดถึงแต่ความไม่ดีของคนอื่น ลืมระลึกถึงกิเลสของตนเอง ขณะที่โกรธใคร ให้ทราบว่าขณะนั้นลืมระลึกถึงกิเลสของตนเอง แต่ถ้าขณะใดที่สติเกิดระลึกได้ ขณะนั้นก็เป็นกุศลจิตและไม่โกรธ สามารถเกิดเมตตาเพิ่มขึ้นได้

~ ถ้าท่านผู้ใดกำลังโกรธ ระลึกถึงความตายแล้วเป็นกุศล เป็นอย่างไร ยังโกรธต่อไป ผูกโกรธไว้ พยาบาท หรือเมื่อระลึกถึงความตายแล้ว กุศลจิตเกิด ละความโกรธได้ ไม่มีประโยชน์ที่จะเอาความโกรธติดตามไปในภพต่อไปด้วย ความโกรธมีประโยชน์อะไร? แต่เพราะไม่ได้ระลึกถึงความตาย ก็มีความโกรธ เดี๋ยวโกรธอย่างนั้น เดี๋ยวโกรธอย่างนี้ เดี๋ยวโกรธเรื่องนั้น เดี๋ยวโกรธเรื่องนี้ และก็ผูกโกรธจนกระทั่งเป็นความพยาบาท

~ ทุกอย่างที่ยากต้องเริ่มต้น จนกว่าจะง่ายขึ้น ถ้าเห็นว่าเมตตาเป็นกุศล และโลภะเป็นอกุศล ก็เลือกได้แล้วว่า วันหนึ่งๆ ควรที่จะมีเมตตา ไม่ใช่โลภะ ต้องรู้ความต่างกันจริงๆ และเริ่มมีความพอใจที่จะอบรมเจริญเมตตาด้วย ไม่ใช่ว่า เมื่อยากก็ปล่อยไปทุกวันๆ ไม่ทำให้ง่ายขึ้น

~ เมตตาเป็นกุศลที่ควรเจริญอย่างยิ่ง ควรจะมีอย่างมากในชีวิตประจำวัน เป็นธรรมที่ค้ำจุนโลกจริงๆ ถ้าได้เข้าใจและเป็นผู้ที่เจริญเมตตา จะเป็นผู้มีความสุขทั้งตนเองและบุคคลรอบข้าง

~ ถ้าเป็นการช่วยเหลือด้วยจิตที่เมตตา ไม่ว่าจะกับใคร ไม่จำกัด ความเมตตา ความหวังดี หวังประโยชน์เกื้อกูล ขณะนั้นก็ต้องเป็นสิ่งที่ดี แม้ว่าเราอาจจะลำบาก แต่กุศลจิตก็ทำ เพราะว่าถ้าคนคิดถึงแต่ความสบาย ทำดีลำบากก็ไม่ทำดีเสียเลยสบายกว่า ถ้าคิดอย่างนั้นกุศลจิตก็ไม่เกิด

~ คนที่พูดไม่จริงตลอดเวลา เราก็ทราบได้ว่าเขาไม่มีหิริโอตัปปะ เป็นของง่ายเหลือเกินที่จะพูดสิ่งที่ไม่จริง แต่ขณะใดที่จะเว้น ขณะนั้น เพราะหิริโอตัปปะ ไม่อย่างนั้นก็ไม่เว้น

~ ค่อยๆ เป็นผู้ที่ว่าง่าย สิ่งใดที่ไม่ดี ไม่เหมาะ ไม่ควร เป็นอกุศล ก็เห็นโทษ แล้วก็ละ

~ จะเอาอกุศลไปละอกุศลได้อย่างไร เมื่อมีความอยาก จะเอาอะไรละความอยาก ความอยากเป็นของธรรมดาสำหรับทุกคน เพราะเหตุว่า ยังไม่ได้ดับความอยาก แต่ยังไม่เห็นโทษของความอยากเลย แม้เพียงแต่จะเห็นโทษของความอยากก็ยัง ไม่เห็น แล้วจะพูดเรื่องบารมี บารมีเป็นเรื่องของการละความอยาก เป็นเรื่องขัดเกลากิเลส เป็นสภาพธรรมที่จะถึงการดับกิเลสได้ เพราะฉะนั้น ถ้ามีกิเลสเรื่อยๆ แล้วจะเอาอะไรไปดับกิเลสหรือไปละกิเลส?

~ ธรรมที่เป็นกุศลก็เป็นกุศล ธรรมที่เป็นอกุศลก็เป็นอกุศล ใครรู้? ต้องเป็นปัญญาที่รู้ เมื่อเป็นปัญญาที่รู้ จึงเห็นโทษของอกุศล

~ ไม่ต้องหวั่นไหว เมื่อไรมีลาภ ก็เสื่อมลาภได้ มียศก็เสื่อมยศได้ มีสุขก็มีทุกข์ได้ มีสรรเสริญก็มีนินทาได้ ก็เป็นของธรรมดา ทุกอย่างก็ต้องเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ไม่มีใครสามารถที่จะเลือกได้

~ ถึงแม้ว่าเราจะเห็นว่าสละวัตถุยาก แต่ให้ทราบว่าสิ่งที่ยากกว่านั้นคือสละความเป็นเรา สละความเป็นตัวตน สละกิเลส ถ้าเราไม่มีการเริ่มสละวัตถุซึ่งสละง่ายกว่า แต่เราก็ยังไม่ค่อยจะสละหรือว่าสละยาก การสละความเป็นเราจะยากสักแค่ไหน

~ ขณะนี้ใครยังมีรูปเหลือบ้างจากเมื่อวานนี้ และจากวันก่อนๆ หรือจากวันนี้ ไม่มีเลย ทุกอย่างที่คิดว่ามี แท้ที่จริงแล้วมีความไม่เที่ยงเป็นธรรมดา เพราะว่ามีแล้วกลับไม่มี วัยเด็กตอนนี้มีไหม ไม่มี เมื่อวานนี้ เมื่อกี้นี้อีก ก็ไม่มี ถ้าพิจารณาละเอียด จริงๆ จะเห็นได้ว่า กายนี้ชื่อว่ามีความไม่เที่ยงเป็นธรรมดา เจริญขึ้นจากวัยเด็กและ สู่ความเสื่อมในวัยชรา

~ อธิษฐานบารมี คือ ความตั้งใจมั่นที่จะอบรมเจริญกุศลเพื่อดับกิเลส เพราะเห็นโทษของอกุศล ถ้ายังไม่รู้จักตัวเองตามความเป็นจริง คิดว่าตัวเองดีแล้ว หรือดีกว่าคนอีกหลายคน จะมีความพอใจในความดีของตนเอง ทั้งๆ ที่ความไม่ดีมีมาก ไม่ว่าจะบริโภคอาหาร จะกำลังสนุกสนาน จะกำลังทำกิจการงานต่างๆ ก็เต็มไปด้วยอกุศลในขณะที่กุศลไม่เกิด เพราะฉะนั้น ถ้าไม่รู้จักตัวเองตามความเป็นจริง คิดว่าเป็นผู้ที่ดีแล้ว ก็จะไม่เจริญกุศล และไม่รู้ตัวด้วยว่าอกุศลกำลังชักจูงทำให้โน้มเอียงขึ้นทุกที

~ วันหนึ่งๆ ทุกท่านก็แสวงหาความเพลิดเพลินยินดี ไม่ว่าจะเป็นความเพลิดเพลินยินดีในธิดา ในบุตร ในทรัพย์ ในการเล่น ในการฟ้อน การขับประโคมดนตรีต่างๆ แต่ว่าความยินดีนั้นๆ ทั้งหมด ยังสัตว์ให้ตกไปในสังสารวัฏฏ์ แล้วเสวยทุกข์โดยแท้ ต่างกับความยินดีของผู้แสดงธรรมก็ดี ผู้ฟังธรรมก็ดี ผู้กล่าวสอนธรรมก็ดี ความยินดีในธรรมเห็นปานนี้แหละ ประเสริฐกว่าความยินดีทั้งปวง

~ คนที่กำลังมีทุกขเวทนามากๆ จะรู้สึกซาบซึ้งทีเดียวในลักษณะการอุปมาทุกขเวทนาเหมือนลูกศร ย่อมให้เกิดความเจ็บปวดทั้งนั้น วันนี้อาจจะแข็งแรงดี แต่ไม่แน่ คืนนี้อาจจะปวดเจ็บที่หนึ่งที่ใด และก็พิจารณาถึงลักษณะของทุกขเวทนา ซึ่งเปรียบเหมือนลูกศร ไม่ว่าจะขณะที่เสียบ ขณะที่หยุดอยู่ หรือขณะที่ถอนออก

~ สภาพธรรมทุกอย่างที่จะเกิดขึ้นต้องอาศัยเหตุปัจจัยจึงเกิด ไฟในป่า ก่อนที่จะมีไฟไหม้ป่า มีป่าแต่ไม่มีไฟ เมื่อเกิดไฟไหม้ป่าขึ้น ไฟที่ไหม้ป่านั้นมาจากไหน ต้องมีปัจจัยจึงจะเกิดขึ้นได้ แต่ก่อนที่จะมีไฟไหม้ป่า ไม่เห็นปัจจัยที่จะทำให้ไฟป่าเกิด ต่อเมื่อมีไฟป่าเกิดขึ้นก็รู้ได้ว่า ที่ไฟป่าเกิดขึ้นเพราะมีปัจจัยจึงเกิดได้ เพราะฉะนั้น สภาพธรรมแต่ละขณะให้ทราบว่า ไม่ใช่มีอยู่แล้ว แต่มีปัจจัยให้สภาพธรรมประเภทใดเกิดขึ้น สภาพธรรมประเภทนั้น จึงจะเกิดขึ้นได้

~ ขณะใดที่กุศลจิตเกิด ขณะนั้นอกุศลจิตเกิดไม่ได้ เพียงเท่านี้ก็ต้องเห็นแล้ว ใช่ไหม ขณะใดที่กุศลจิตเกิด ขณะนั้นอกุศลจิตเกิดไม่ได้ เพราะว่าโสภณเจตสิกทั้งหมดเกิดขึ้นร่วมกันทำกิจการงานขณะนั้นจึงเป็นกุศลจิต ขณะใดที่สติเกิด ขณะใดที่ศรัทธาเกิด ขณะใดที่หิริโอตตัปปะเกิด ขณะนั้นอวิชชา จะเกิดไม่ได้ โลภะจะเกิดไม่ได้ โทสะจะเกิดไม่ได้

~ เวลาเห็นแล้วก็เกิดอกุศล เช่น โลภะบ้าง ทิฏฐิ (ความเห็นผิด) บ้าง มานะ (ความสำคัญตน) บ้าง โกรธบ้าง พยาบาทบ้าง ริษยาบ้าง ล้วนเป็นอกุศลทั้งหมด มีความเพียรหรือมีความคิดที่จะ ละอกุศลนั้นไหม? ถ้าไม่มีความเพียรที่จะละอกุศลนั้นๆ นั่นคือความเนิ่นช้า คือ ไม่ยอมที่จะสละ ไม่ยอมที่จะทิ้งอกุศลนั้นโดยเร็ว เพราะว่ายังพอใจในอกุศลนั้นอยู่ เช่น ยังพอใจ ในโลภะ ในสภาพที่น่ายินดีน่าพอใจของอารมณ์ที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ซึ่งพระผู้มีพระภาคทรงแสดงว่า ควรละ แต่ผู้นั้นเองเป็นผู้ที่ รู้ว่าจะละหรือยัง หรือยังรอไว้ก่อน ยังไม่อยากจะละโลภะนั้น ชื่อว่าเป็นผู้เนิ่นช้า

~ ทุกคนจะต้องอบรมเจริญปัญญา และต้องอาศัยวิริยะ (ความเพียร) จริงๆ ในการที่จะค่อยๆ พิจารณาสภาพธรรม และฟังพระธรรมไปเรื่อยๆ ซึ่งทุกท่านก็คงจะทดสอบวิริยะของท่านได้ เพราะถ้าปราศจากวิริยะแล้ว ปัญญาเจริญไม่ได้ เพราะฉะนั้น วิริยะจึงเป็นบารมีที่ขาดไม่ได้เลยในการรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง



ขอเชิญคลิกอ่านย้อนหลังครั้งที่ผ่านมาได้ที่นี่ครับ

ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๖๓๔



... กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์
ที่เคารพยิ่ง
และยินดีในกุศลของทุกๆ ท่านครับ ...


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
มังกรทอง
วันที่ 22 ต.ค. 2566

ธรรมะอันเริ่มก้าว แรกดี
พึงศึกษาในวิถี ถูกต้อง
สีเสียงกลิ่นรสมี รูปหลัก
จิตเจตสิกนามคล้อง ธาตุรู้เห็นธรรมฯ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
swanjariya
วันที่ 22 ต.ค. 2566

กราบเท้าท่านอาจารย์ด้วยความเคารพยิ่ง

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
j.jim
วันที่ 22 ต.ค. 2566

ขอบคุณ​และ​อนุโมทนา​ค่ะ​

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
jaturong
วันที่ 22 ต.ค. 2566

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
เมตตา
วันที่ 22 ต.ค. 2566

กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพยิ่ง และยินดีในกุศลของ อ.คำปั่น และทุกๆ ท่านค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
เมตตา
วันที่ 22 ต.ค. 2566

กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพยิ่ง และยินดีในกุศลของ อ.คำปั่น และทุกๆ ท่านค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
Wisaka
วันที่ 23 ต.ค. 2566

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
Jans
วันที่ 23 ต.ค. 2566

กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพยิ่ง และยินดีในกุศลของ อ.คำปั่น และทุกๆ ท่านค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
Jans
วันที่ 23 ต.ค. 2566

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
chatchai.k
วันที่ 23 ต.ค. 2566

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์ ด้วยความเคารพยิ่ง

ยินดีในกุศลจิตครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 12  
 
shsso2551
วันที่ 23 ต.ค. 2566

กราบอนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 13  
 
Lai
วันที่ 23 ต.ค. 2566

อนุโมทนาค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ