เตมิยบัณฑิต (มูคผักขจริยา - อธิษฐานบารมี)

 
chatchai.k
วันที่  23 ต.ค. 2566
หมายเลข  46844
อ่าน  254

ขอกล่าวถึงพระชาติหนึ่งของพระโพธิสัตว์เพื่อแสดงให้เห็นว่า ในพระชาตินั้นพระองค์ทรงมีอธิษฐานปรมัตถบารมีอย่างไร

ปรมัตถทีปนี อรรถกถา ขุททกนิกาย จริยาปิฎก พระผู้มีพระภาคตรัสเล่าเรื่องพระชาติในอดีตของพระองค์ว่า

ในกาลเมื่อเราเป็นโอรสของพระเจ้ากาสี ในกาลนั้นชื่อว่ามูคผักขะ ชนทั้งหลายเรียกเราว่า เตมิยะ ชนทั้งหลายทั้งปวงตั้งแต่พระมารดาพระบิดาเป็นต้นเรียกเราว่า มูคผักขะ เพราะอธิษฐานเป็นคนใบ้และเป็นคนง่อยเปลี้ย

อนึ่ง พระโพธิสัตว์นั้น ยังพระทัยของพระราชาและใจของอำมาตย์ทั้งหลาย เป็นต้นให้ชุ่มชื่นด้วยปีติและสิเนหาอย่างยิ่ง ฉะนั้น จึงได้นามว่า เตมิยกุมาร

มี ๒ ชื่อ เพราะมีเหตุ ๒ อย่าง

ในพระชาตินั้น

ในอดีตกาลครั้งพระเจ้ากาสีครองราชสมบัติอยู่ในกรุงพาราณสี พระองค์มีสนม ๑๖,๐๐๐ นาง สนมเหล่านั้นไม่ได้มีบุตรหรือธิดาแม้แต่คนเดียว ชาวพระนคร ก็เดือดร้อนว่า ไม่มีพระโอรสที่จะรักษาพระราชวงศ์ต่อไป จึงได้กราบทูลพระราชาให้ปรารถนาพระโอรสเถิด พวกสนมเหล่านั้นก็ทำการบวงสรวงพระจันทร์เป็นต้น แต่ก็ไม่มีบุตร ฝ่ายพระนางจันทาเทวีพระธิดาของพระเจ้ามัททราช อัครมเหสี ของพระราชานั้น พระนางสมบูรณ์ด้วยศีล เมื่อพระราชาตรัสให้พระนางปรารถนาโอรส ในวันเพ็ญพระนางทรงรักษาอุโบสถ ระลึกถึงศีลของตนแล้วทรงตั้ง สัจจกิริยาว่า หากเรามีศีลไม่ขาด ด้วยสัจจะของเรานี้ ขอให้มีพระโอรส

ที่มา ...

แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2072


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
chatchai.k
วันที่ 23 ต.ค. 2566

ครั้งนั้นพระโพธิสัตว์ถือปฏิสนธิในพระครรภ์ของพระนางจันทาเทวีนั้น เมื่อ พระโพธิสัตว์ประสูติ กุมาร ๕๐๐ คนก็เกิดในเรือนของพวกอำมาตย์ทั้งหลาย พระราชาทรงให้กุมารเหล่านี้เป็นบริวารของพระโอรส ทรงส่งแม่นม ๕๐๐ คน และเครื่องประดับของกุมารให้แก่กุมาร ๕๐๐ คนนั้น

อนึ่ง พระราชาทรงให้แม่นม ๖๔ คน ปรนนิบัติดูแลพระกุมาร เมื่อพระกุมารทรงเจริญมีพระชนม์ได้ ๑ เดือน พวกแม่นมนำพระกุมารมาเฝ้าพระราชา พระราชาทรงให้พระกุมารประทับนั่งบนพระเพลา

ในขณะนั้นโจร ๔ คนถูกนำมาให้ทรงพิพากษาโทษ ในโจร ๔ คนนั้น คนหนึ่งพระราชาทรงตัดสินให้เฆี่ยนด้วยหวายมีหนาม ๑,๐๐๐ ครั้ง คนหนึ่งให้ใส่ตรวนส่งเข้าเรือนจำ คนหนึ่งให้เอาหอกทิ่มแทงบนร่างกาย คนหนึ่งให้เสียบด้วยหลาว

พระโพธิสัตว์ได้ทรงฟังคำพิพากษาของพระบิดาก็เกิดสลดใจ กลัวการกระทำกรรมหนักอันจะนำไปสู่นรก

รุ่งขึ้นพวกแม่นมให้พระมหาสัตว์บรรทมภายใต้เศวตฉัตร พระโพธิสัตว์บรรทมหลับไปได้หน่อยหนึ่ง ทรงลืมพระเนตรแลดูเศวตฉัตร ทรงรำพึงว่า เรามาสู่ พระราชวังนี้จากไหนหนอ ครั้นทรงทราบว่ามาจากเทวโลก ด้วยทรงจำชาติได้ จึงทรงระลึกถัดจากพระชาตินั้นไปอีก ทรงเห็นว่า พระองค์เคยหมกไหม้อยู่ใน อุสสทนรก ทรงระลึกถัดจากชาตินั้นไปอีก ทรงทราบว่า พระองค์เคยเป็นพระราชา อยู่ในนครนี้เอง ลำดับนั้นพระโพธิสัตว์ทรงดำริว่า เราไม่ต้องการราชสมบัติ เราจะพึงพ้นไปจากเรือนโจรนี้ได้อย่างไรหนอ

สำหรับคนที่สะสมกุศลมามากๆ แม้อยู่ในพระราชวังใต้พระเศวตฉัตร ก็เห็นว่าเป็นเรือนโจร เพราะว่าตราบใดที่ยังมีอกุศลจิตก็ยังมีเหตุให้ทำอกุศลกรรม ไม่พ้นไปจากเรือนโจรนั้นได้

ลำดับนั้น เทพธิดาองค์หนึ่งผู้เป็นมารดาของพระโพธิสัตว์ในอัตภาพหนึ่ง สิงสถิตอยู่ในเศวตฉัตรนั้น เป็นผู้ใคร่ประโยชน์ แสวงหาประโยชน์แก่พระโพธิสัตว์ จึงแนะนำให้ทำเป็นคนใบ้ เป็นคนง่อยเปลี้ย เป็นคนหนวก เพื่อจะได้พ้นจาก ราชสมบัติ

ยากไหม ใครทำได้ แสดงให้เห็นถึงความหนักแน่นมั่นคง เมื่อได้ตั้งใจที่จะทำอย่างไรก็ไม่ท้อถอย ไม่คลอนแคลนที่จะทำอย่างนั้น

ตั้งแต่นั้น พระโพธิสัตว์ก็ทรงแสดงพระองค์เหมือนเป็นใบ้เป็นต้น พระมารดา พระบิดาและพวกนางนมเป็นต้นคิดว่า ธรรมดาปลายคางของคนใบ้ ช่องหูของ คนหนวก มือเท้าของคนง่อยเปลี้ย มิได้เป็นอย่างนี้ ในเรื่องนี้พึงมีเหตุ จึงเริ่มทดลองพระกุมาร โดยไม่ให้ดื่มน้ำนมตลอดวัน พระกุมารนั้นหิว แต่ก็ไม่ทรงร้องเพื่อเสวยนม

พระมารดาทรงดำริว่า พระกุมารคงหิว จึงให้พวกแม่นมให้น้ำนมแก่พระกุมาร พวกแม่นมให้น้ำนมและไม่ให้น้ำนมเป็นระยะๆ อย่างนี้ แม้ทดลองอยู่ปีหนึ่ง ก็ยังไม่เห็นทางที่พระกุมารจะเปลี่ยนใจ

เด็กมากทีเดียว แต่ก็สามารถทำอย่างนั้นได้

แต่นั้นพวกแม่นมคิดว่า ธรรมดาเด็กย่อมชอบขนมและของเคี้ยว ชอบผลไม้ ชอบของเล่น ชอบอาหาร จึงนำของเหล่านั้นเข้าไปให้เพื่อทดลองให้พระกุมาร แสดงความไม่ใบ้ แต่ก็ไม่มีทางเปลี่ยนใจพระกุมารได้ตลอดเวลา ๕ ปี

ลำดับนั้น พวกแม่นมคิดว่า ธรรมดาเด็กย่อมกลัวไฟ กลัวช้างตกมัน กลัวงู กลัวคนเงื้อดาบ เราจักทดลองด้วยเหตุนั้นๆ จึงได้ทดลองดังกล่าวโดยไม่ให้เป็นภัยแก่พระกุมาร

พระโพธิสัตว์ทรงรำพึงถึงภัยในนรก จึงไม่หวั่นไหวด้วยทรงเห็นว่า นรกน่ากลัวยิ่งกว่านี้ร้อยเท่า พันเท่า แสนเท่า พวกแม่นมทดลองอยู่แม้อย่างนี้ ก็ไม่เห็นทางที่จะเปลี่ยนใจของพระโพธิสัตว์ได้ จึงคิดว่า ธรรมดาเด็กต้องการดูมหรสพ จึงให้สร้าง โรงมหรสพ แล้วให้ประโคมด้วยเสียงสังข์และเสียงกลองให้กึกก้อง ก็ไม่มีทางที่จะเปลี่ยนพระหทัยพระกุมารได้ แม้จะจุดตะเกียงส่องในที่มืด หรือจุดไฟให้สว่าง

คงหมายถึงให้สว่างจ้า

เอาน้ำอ้อยทาทั่วตัว และให้นอนในที่มีแมลงวันชุม และไม่ให้อาบน้ำ ให้นอนบนอุจจาระและปัสสาวะเป็นต้น แม้เสียดสี เยาะเย้ย ด่าว่า พระโพธิสัตว์ซึ่งนอนจมมูตรและกรีส หรือแม้ทำกระเบื้องไฟไว้ใต้เตียงแล้วเผาให้ร้อนบ้าง แม้ทดลองด้วยอุบายหลายๆ อย่าง ก็ไม่มีช่องทางที่จะเปลี่ยนพระทัยของพระกุมารได้เลย

พวกแม่นมทดลองอย่างนี้ถึง ๑๕ ปี ครั้นพระชนม์ได้ ๑๖ พระพรรษา พวกแม่นมคิดว่า คนง่อยเปลี้ยก็ตาม คนใบ้คนหนวกก็ตาม จะไม่พอใจในสิ่งที่ ควรพอใจ จะไม่อยากเห็นในสิ่งควรเห็น ย่อมไม่มี ฉะนั้น เราจะหานาฏศิลป์ มาทดลองพระกุมาร จึงเอาน้ำหอมอาบพระกุมาร ประดับประดาดุจเทพบุตร เชิญขึ้นบนปราสาท อันมีความบันเทิงเบิกบานอย่างเดียว ด้วยดอกไม้ของหอมและพวงมาลัยเป็นต้น เหมือนเทพวิมาน แล้วให้สตรีล้วนมีรูปร่างงดงามเปรียบด้วยเทพอัปสร คอยบำเรอให้พระกุมารทรงอภิรมย์ด้วย สตรีเหล่านั้นต่างก็พยายามให้พระกุมาร ทรงอภิรมย์ด้วย แต่เพราะพระองค์ทรงสมบูรณ์ด้วยพระปัญญาจึงทรงกลั้นลมอัสสาสะปัสสาสะด้วยทรงหวังว่า สตรีเหล่านี้อย่าได้สัมผัสร่างกายของเราเลย

ไม่ยอมหายใจ กลั้นลมหายใจให้ตัวแข็ง

สตรีเหล่านั้น เมื่อไม่ได้สัมผัสร่างกายของพระกุมารจึงคิดว่า พระกุมารนี้ มีพระวรกายกระด้าง คงไม่ใช่มนุษย์แน่ คงจักเป็นยักษ์ จึงพากันกลับไป

พระมารดาพระบิดาไม่ทรงสามารถเปลี่ยนพระทัยพระโพธิสัตว์ด้วยการ ทดลองใหญ่ ๑๖ ครั้ง และด้วยการทดลองเล็กๆ น้อยๆ อีกหลายครั้งตลอด ๑๖ ปีอย่างนี้ จึงทรงขอร้องต่างๆ กัน และหลายครั้งว่า

เตมิยกุมารลูกรัก พ่อและแม่รู้ว่า ลูกไม่เป็นใบ้ เพราะปาก หู และเท้าอย่างนี้ไม่ใช่ของคนใบ้ คนหนวก และคนง่อยเปลี้ยเลย ลูกเป็นบุตรที่พ่อและแม่ปรารถนา จะได้มา ลูกอย่าให้พ่อแม่ต้องพินาศเสียเลย จงปลดเปลื้องข้อครหาจากราชสำนัก ในชมพูทวีปทั้งสิ้นเถิด

พระกุมารนั้น แม้พระมารดาพระบิดาทรงขอร้องอยู่อย่างนี้ ก็บรรทมทำเป็นไม่ได้ยิน

ลำดับนั้นพระราชารับสั่งให้บุรุษผู้ฉลาดตรวจดูพระบาททั้งสอง ช่องพระกรรณทั้งสอง พระชิวหา และพระหัตถ์ทั้งสองแล้ว ทรงสดับคำที่อำมาตย์กราบทูลว่า

บัดนี้ผู้ชำนาญการทายลักษณะกล่าวว่า ผิว่าพระบาทเป็นต้นของพระกุมารนี้ เหมือนของคนไม่ง่อยเปลี้ยเป็นต้น พระกุมารนี้ก็จะไม่เป็นคนง่อยเปลี้ย ใบ้ และหนวกจริง เห็นจะเป็นกาลกรรณี เมื่อคนกาลกรรณีเช่นนี้อยู่ในพระราชวัง จะปรากฏอันตราย ๓ อย่าง คือ อันตรายของชีวิต ๑ อันตรายของเศวตฉัตร ๑ อันตรายของพระมเหสี ๑ แต่ในวันประสูติเพื่อมิให้พระองค์ทรงเสียพระทัยจึงทำนายว่า กุมารนี้มีบุญลักษณะครบถ้วน

พระราชาทรงกลัวภัยจึงมีพระบัญชาว่า พวกท่านจงไป ให้กุมารนั้นบรรทม ในรถอวมงคล นำออกทางประตูหลัง แล้วฝังเสียในป่าช้าผีดิบ

พระโพธิสัตว์ทรงสดับดังนั้น ก็ทรงร่าเริงยินดีอย่างยิ่งว่า ความปรารถนาของเราเป็นเวลาช้านานจักถึงความสำเร็จ

เมื่อพระนางจันทาเทวีทรงทราบว่า พระราชามีพระบัญชาให้นำพระกุมารไปฝัง จึงเข้าไปเฝ้าพระราชา ทูลขอพรให้ทรงประทานราชสมบัติแก่โอรส พระราชาตรัสว่า โอรสของพระนางเป็นกาลกรรณี ให้ราชสมบัติไม่ได้

พระนางทูลว่า ข้าแต่พระองค์ เมื่อพระองค์ไม่ทรงให้ตลอดชีวิต ก็ขอทรง โปรดให้ ๗ ปีเถิด พระราชาตรัสว่า ให้ไม่ได้

พระนางทูลว่า ขอได้ทรงโปรดให้ ๖ ปี ๕ ปี ๔ ปี ๓ ปี ๒ ปี ๑ ปี ๗ เดือน ๖ เดือน ๕ เดือน ๔ เดือน ๓ เดือน ๒ เดือน ๑ เดือน ครึ่งเดือน จนถึง เพียง ๗ วันเถิด

พระราชาตรัสว่า ถ้าเช่นนั้นก็ให้ได้

พระเทวีตกแต่งพระโอรส ทรงให้ตีกลองป่าวประกาศในพระนครว่า นี้เป็น ราชสมบัติของเตมิยกุมาร แล้วให้พระโอรสขึ้นคอช้าง ยกเศวตฉัตรให้พระโอรส ซึ่งทำประทักษิณพระนครเสด็จกลับมา แล้วบรรทม ณ สิริไสยาสน์ที่ตกแต่งแล้ว พระนางจันทาเทวีทรงขอร้องอยู่ตลอดคืนว่า พ่อเตมิยะ แม่นอนไม่หลับมา ๑๖ ปีแล้ว ร้องไห้เพราะลูกจนนัยน์ตาบวม หัวใจของแม่เพียงจะแตกด้วยความเศร้าโศก แม่รู้ว่าลูกไม่ง่อยเปลี้ยเป็นต้น ลูกอย่าทำให้แม่หมดที่พึ่งเลย

พระเทวีทรงขอร้องโดยทำนองนี้ล่วงไป ๖ วัน

ในวันที่ ๖ พระราชาตรัสเรียกสุนันทสารถีมาแล้วตรัสว่า พรุ่งนี้จงนำพระกุมารโดยรถอวมงคลออกไปแต่เช้าตรู่ ฝังลงในแผ่นดินที่ป่าช้าผีดิบ กลบดินให้เรียบ แล้วจงกลับ

พระเทวีได้ฟังดังนั้นตรัสว่า ลูกเอ๋ย พระเจ้ากาสีมีพระบัญชาให้ฝังลูกที่ป่าช้า ผีดิบในวันพรุ่งนี้ พรุ่งนี้ลูกก็จักถึงความตาย

พระโพธิสัตว์ทรงสดับดังนั้น จึงร่าเริงยินดีอย่างยิ่งที่การทรงกระทำความเพียรถึง ๑๖ ปีนั้น ใกล้จะถึงที่สุดแล้ว แต่พระหทัยของพระมารดาของพระโพธิสัตว์ ได้เป็นดุจมีอาการแตกสลายไป

เมื่อราตรีนั้นผ่านไป สารถีนำรถมาแต่เช้าตรู่ จอดไว้ที่ประตู เข้าไปทูล พระนางจันทาเทวีว่า ข้าแต่พระเทวี พระองค์อย่าทรงพิโรธหม่อมฉันเลย หม่อมฉัน ทำตามพระราชบัญชา แล้วอุ้มพระกุมารลงจากปราสาท

พระเทวีทรงพระกันแสงด้วยพระสุรเสียงดัง แล้วทรงล้มลง

ลำดับนั้น พระโพธิสัตว์ทรงมองดูพระมารดา ทรงดำริว่า เมื่อเราไม่พูด พระมารดาจักเศร้าโศกสุดกำลัง แม้อยากจะพูดแต่ก็อดกลั้นไว้ด้วยพระดำริว่า หากเราจักพูด ความพยายามที่เราทำมาตลอด ๑๖ ปีก็จะไร้ผล แต่เมื่อเราไม่พูด จักเป็นปัจจัยแก่ตัวเรา แก่พระมารดา และพระบิดา

สารถีนำพระโพธิสัตว์ขึ้นรถ แล่นไปยังที่ประมาณ ๓ โยชน์ แนวป่า ณ ที่นั้น ได้ปรากฏแก่สารถีดุจป่าช้าผีดิบ สารถีคิดว่า ที่นี้ดีแล้ว จึงหยุดรถจอดไว้ข้างทาง แล้วลงจากรถ เปลื้องเครื่องประดับของพระโพธิสัตว์ออกห่อ วางไว้ ถือเอาจอบ เริ่มขุดหลุมไม่ไกลนัก

ลำดับนั้น พระโพธิสัตว์ เมื่อสุนันทสารถีกำลังขุดหลุม คิดว่า นี้เป็นความพยายามของเรา จึงลุกขึ้น แล้วบีบพระหัตถ์และพระบาทของพระองค์ ทรงทราบว่าเรามีกำลังอยู่ จึงทรงดำริจะเสด็จลงจากรถ

พระโพธิสัตว์เสด็จลงจากรถ ทรงดำเนินไปๆ มาๆ เล็กน้อย ทรงทราบว่า มีกำลังพอที่จะไปได้แม้ตั้ง ๑๐๐ โยชน์ จึงทรงจับรถข้างท้ายแล้วยกขึ้นดุจยานน้อยสำหรับเด็กเล่น ทรงสังเกตว่า หากสารถีจะพึงทำร้ายพระองค์ พระองค์ก็มีกำลังพอที่จะป้องกันการทำร้ายได้

ซึ่งข้อความละเอียดตอนนี้ ท่านผู้ฟังจะอ่านได้จาก อรรถกถา ขุททกนิกาย จริยาปิฎก

พระโพธิสัตว์ทรงแสดงธรรมแก่นายสารถีว่า

ท่านอาศัยเราผู้เป็นโอรสของพระราชาพระองค์นั้นเป็นอยู่ ดูกร สารถี หากท่านฝังเราในป่า ท่านพึงทำสิ่งที่ไม่ชอบธรรม บุคคลพึงนั่งหรือพึงนอนใต้ร่มไม้ใด ไม่พึงหักกิ่งไม้นั้น เพราะผู้ทำลายมิตรเป็นคนลามก พระราชาเหมือนต้นไม้ เราเหมือนกิ่งไม้ ดูกร สารถี ท่านเหมือนบุรุษที่เข้าไปอาศัยร่มเงา หากท่านฝังเรา ในป่า ท่านพึงทำสิ่งที่ไม่ชอบธรรม

สารถีได้ฟังก็ทูลอ้อนวอนให้พระโพธิสัตว์เสด็จกลับ

เพราะรู้แล้วว่า ไม่ได้เป็นใบ้เลย

พระองค์จึงตรัสถึงเหตุที่ไม่เสด็จกลับ และความพอใจในบรรพชา ตลอดถึงเรื่องราวของพระองค์ในภพที่ล่วงไปแล้วมีภัยในนรกเป็นต้น

แม้เมื่อสารถีนั้นประสงค์จะบวชเพราะธรรมกถานั้น และเพื่อการปฏิบัตินั้น พระองค์จึงตรัสคาถานี้ว่า

ดูกร สารถี ท่านจงนำรถกลับไป แล้วเป็นคนไม่มีหนี้กลับมา เพราะบรรพชาเป็นของคนไม่มีหนี้ ข้อนี้ฤๅษีทั้งหลายสรรเสริญแล้ว

แล้วทรงส่งสารถีกลับไปทูลแด่พระราชา

สารถีนำรถและเครื่องอาภรณ์ไปเฝ้าพระราชา ทูลความนั้นให้ทรงทราบพระราชาเสด็จออกจากพระนครพร้อมด้วยจตุรงคเสนา นางสนม ชาวพระนคร และชาวชนบท เพื่อไปหาพระโพธิสัตว์

พระโพธิสัตว์ถือเพศเป็นดาบส นั่งบนเครื่องลาดทำด้วยไม้ ยังสมาบัติ ๘ และอภิญญา ๕ ให้เกิด ประทับนั่งในอาศรมด้วยความสุขในการบรรพชา

แม้พระเจ้ากาสีเสด็จไปหาพระโพธิสัตว์ แล้วทรงเชื้อเชิญพระโพธิสัตว์ ให้ครองราชสมบัติ เตมิยบัณฑิตทรงปฏิเสธ ทรงแสดงธรรมให้พระราชาเกิดสังเวช ในความเป็นของไม่เที่ยง ในโทษของกามอันเป็นของต่ำช้าด้วยอาการหลายอย่าง

พระราชาทรงสลดพระทัย และทรงผนวช พร้อมด้วยพระนางจันทาเทวี และอำมาตย์บริวารเป็นอันมาก บุคคลทั้งหมดนั้นเมื่อสิ้นชีวิตก็เกิดในพรหมโลก

ข้อความตอนท้ายมีว่า

เทพธิดาผู้สิงสถิต ณ เศวตฉัตรในครั้งนั้น ได้เป็นนางอุบลวรรณาในครั้งนี้ สารถี คือ พระสารีบุตรเถระ พระมารดาและพระบิดา คือ ตระกูลมหาราช บริษัททั้งหลาย คือ พุทธบริษัท เตมิยบัณฑิต คือ พระโลกนาถ

อธิษฐานบารมีของพระโพธิสัตว์นั้น ถึงที่สุดในจริยานี้

คือ เป็นอธิษฐานปรมัตถบารมี

แสดงให้เห็นว่า ในแต่ละชาติ ชาติไหนใครจะสะสมบารมีไหนอย่างอุกฤษฏ์ แม้อธิษฐานบารมี ความตั้งใจมั่นในกุศล ก็เป็นไปในชาติหนึ่งๆ ตามกรรมที่ได้สะสมให้เกิดเป็นบุคคลนั้นๆ ในชาตินั้น ซึ่งท่านผู้ฟังก็เป็นผู้ที่กำลังเจริญบารมีแน่นอน แต่บารมีไหน ก็จะต้องตรวจสอบว่า มีความมั่นคงในบารมีใด หรือยังขาดการ เห็นประโยชน์ในบารมีใดบ้าง

ที่มา ...

แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2073

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
chatchai.k
วันที่ 23 ต.ค. 2566

ขอต่อบารมีที่เหลือ สำหรับอธิษฐานบารมี ความมั่นคงในการเจริญกุศล เพื่ออบรมเจริญปัญญาขัดเกลาละคลายกิเลสนั้น บางท่านก็น้อยมาก จะเห็นได้ว่า ไม่มั่นคงพอ ทั้งๆ ที่รู้ว่ากุศลเป็นสิ่งที่ดี ควรจะมีมากๆ ควรจะเจริญ ควรจะสะสม และควรมีความมั่นคงขึ้นด้วย แต่แม้กระนั้นก็จะเห็นได้ว่า ยากที่จะมั่นคง เพราะว่า ทุกคนมีอกุศลมากมายพร้อมที่จะทำให้กุศลรวนเร กลับกลอก ไม่มั่นคง เพราะว่าจิตใจเปลี่ยนแปลง เกิดดับรวดเร็ว ถ้าอกุศลน้อยลง ความมั่นคงของอธิษฐานบารมี ก็จะมากขึ้น

ท่านผู้ฟังท่านหนึ่งเคยปรารภว่า ท่านเห็นการเกิด การตาย การเวียนว่าย ตายเกิด การเปลี่ยนแปลง การที่จะต้องมีชีวิตที่เพียงเล็กน้อยและก็มากด้วยอกุศล และจะต้องเกิดอีกไม่รู้จบ ท่านก็มีความรู้สึกไม่อยากเกิดอีกต่อไป อยากพ้นจากสังสารวัฏฏ์ นี่คือกาลครั้งหนึ่ง ซึ่งมีเหตุปัจจัยทำให้เกิดความรู้สึกอย่างนี้ได้

ทุกท่านก็อาจจะพิจารณา แม้ว่าบางท่านอายุยังน้อย แต่ก็คงมีบางครั้งที่ มีความคิดอย่างนี้เกิดขึ้นจากการปรุงแต่งของการสะสมที่จะทำให้รู้สึกว่า ชีวิตจริงๆ น่าเบื่อ น่าหน่าย เพราะว่าซ้ำแล้วซ้ำเล่าเหมือนกันทุกวัน เห็นแล้วก็คิดนึก แล้วก็ ชอบ ไม่ชอบ ผูกพัน ติดข้อง โกรธเคือง เปลี่ยนไปทุกวัน ทุกเรื่อง และเมื่อจากโลกนี้ไปแล้วก็จบ ไม่มีอะไรเหลือ

นั่นก็เป็นการสะสม ซึ่งบางครั้งบางขณะก็มีความรู้สึกอย่างนี้ แต่ไม่นาน และไม่บ่อย เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่า วันหนึ่งๆ อะไรปรากฏให้เห็นมาก กุศล หรืออกุศล ไม่มั่นคงในการฟังพระธรรม ทั้งๆ ที่ท่านฟังแล้วท่านก็เห็นประโยชน์ แต่บางวันก็เหมือนกับว่าท่านรู้แล้ว ท่านเคยฟังแล้ว ท่านเข้าใจแล้ว เพราะฉะนั้น วันนี้ท่านก็จะตื่นสาย หรือท่านจะทำธุระอื่น แสดงให้เห็นว่า ประมาทไม่ได้ แม้แต่การอบรมเจริญปัญญาเพื่อให้เป็นอธิษฐานบารมี มีความมั่นคงในการเจริญกุศล เพราะว่าทุกคนคิดทุกวันตามสิ่งที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย แล้วแต่ว่าจะเป็นเรื่องอะไร เพราะฉะนั้น ในขณะที่ฟังพระธรรม ก็จะคิดเรื่องธรรม จะพิจารณา จะเพิ่มความเข้าใจขึ้น และถ้าฟังบ่อยๆ ฟังเป็นประจำ วันหนึ่งๆ ก็มีโอกาสที่จะคิดถึงเรื่องธรรม ซึ่งปกติแล้วนอกจากเวลาฟังธรรมก็มักจะคิดเรื่องอื่น แต่ถ้าวันหนึ่งๆ มีโอกาสฟังมาก ก็จะทำให้คิดถึงเรื่องของธรรมมาก และถ้าฟังจนกระทั่งเป็นอุปนิสัย เวลาที่ไม่ได้ฟังธรรม ก็อาจจะคิดเรื่องธรรมแทนที่จะคิดเรื่องอื่นก็ได้ แสดงให้เห็นถึงกำลังของการสะสม ซึ่งไม่ควรประมาทเลย แม้แต่ในเรื่องของความมั่นคงซึ่งเป็นอธิษฐานบารมี

และสำหรับอธิษฐานบารมีนั้น ควรรู้ให้ละเอียดขึ้น แทนที่จะรู้กว้างๆ ว่า ควรที่จะมีอธิษฐานบารมี มีความมั่นคงในการเจริญกุศล แต่กุศลอะไร มั่นคงในอะไร มิฉะนั้นแล้วก็ยังผิวเผิน ยังไม่ทราบว่า จะมั่นคงตรงไหนดี

ปรมัตถทีปนี อรรถกถา ขุททกนิกาย จริยาปิฎก ปกิณณกคาถา แสดงอธิษฐานธรรม ๔ อย่าง คือ

สัจจาธิษฐาน ๑ จาคาธิษฐาน ๑ อุปสมาธิษฐาน ๑ ปัญญาธิษฐาน ๑

ซึ่งอธิษฐานธรรมทั้ง ๔ นี้ รวมบารมีอื่นๆ ไว้ทั้งหมด คือ

อธิษฐานธรรมที่ ๑ สัจจาธิษฐาน

เป็นความจริง ความมั่นคงในสัจจะ ในความจริง ซึ่งทุกท่านพิสูจน์สำรวจตัวเองได้ว่า ท่านเป็นที่ผู้มั่นคงในความจริงแค่ไหน เป็นผู้ที่ซื่อตรงและมั่นคงต่อ ความจริงและความตรงมากหรือน้อย เพราะบางท่านอาจจะรู้ตัวเองเลยว่า ไม่ค่อยจะมั่นคงนักในเรื่องของสัจจะ ซึ่งก็จะต้องเป็นผู้ที่ละเอียดและเห็นโทษของกายวาจา ที่ไม่จริง แม้ในเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ก็จะต้องรู้ว่า ขณะใดที่ผิดพลาดไปจากความจริง ขณะนั้นเป็นไปตามกำลังของกิเลสที่สะสมมา

ถ้าสังเกตตัวเอง พิจารณาตัวเอง เห็นโทษของอกุศลซึ่งสะสมมาที่จะทำให้ขณะนั้นเกิดขึ้นเป็นไปในอกุศลอย่างนั้นๆ ก็เป็นทางที่จะทำให้เห็นโทษของความ ไม่จริง และจะเป็นผู้ที่มีความมั่นคงในความจริงขึ้น เพราะสำหรับผู้ที่ไม่มีกิเลสนั้น จะไม่พูดเท็จ หรือเมื่อคิดแล้ว พูดแล้วว่าจะทำ ผู้ที่มีความมั่นคงในสัจจะก็ทำตาม ที่พูด แต่ผู้ที่ไม่มั่นคง แม้คิดแล้ว พูดแล้ว แต่ก็ไม่ได้ทำตามที่พูดไว้ เพราะกำลังของกิเลสอกุศลเกิดขึ้น ทำให้จิตใจไม่ตรง และไม่มั่นคงในขณะนั้น

ท่านผู้หนึ่งท่านก็คิดถึงทหารชายแดนที่ต้องตรากตรำลำบาก และมีมิตรสหายที่ช่วยกันถักผ้าพันคอไหมพรมให้พวกทหารชายแดน ท่านก็คิดที่จะช่วย และก็พูดว่า จะช่วยถักด้วย แต่ใครๆ ก็ถักกันไปหมดแล้ว ส่งไปให้ทหารชายแดนแล้ว แต่ท่านก็ ยังไม่ได้ถักเลย แสดงให้เห็นว่า แม้ในเรื่องเล็กๆ น้อยๆ อย่าคิดว่าเรื่องเล็ก เพราะว่า เรื่องเล็กๆ รวมกันก็ต้องเป็นเรื่องใหญ่ แล้ววันไหนจะเป็นผู้ที่ตรงต่อความคิด คำพูด และมีความมั่นคงในกุศลเพิ่มขึ้น

เช่น ในเรื่องของการนัดหมาย บางท่านอาจจะคิดว่าไม่สำคัญเลย ผิดนัดก็ได้ ไม่เป็นไร นั่นก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงการสะสมทางฝ่ายอกุศลซึ่งทำให้เป็น ผู้ที่ไม่ตรงต่อวาจาหรือคำสัญญา ซึ่งถ้าเป็นอย่างนี้ทุกชาติ และก็ไม่รู้เลยว่าเพราะอะไร ซึ่งก็เพราะว่าไม่เห็นความสำคัญของความจริงหรือสัจจวาจา และจะทำให้เป็นผู้ที่ ไม่ตรงต่อการแสวงหาความจริงซึ่งเป็นอริยสัจจธรรมด้วย

สำหรับผู้ที่รักษาสัจจวาจา แม้เป็นเด็กเล็กๆ ก็จะเห็นได้ว่า บางคนทำตามที่พูดจริงๆ เมื่อพูดแล้วก็ทำ และเมื่อโตขึ้นก็จะยิ่งเป็นผู้รังเกียจโวหารคือคำพูดที่ไม่เป็นอริยะ คือ คำพูดที่ไม่จริง

สำหรับผู้ที่รักษาสัจจวาจา แม้เวลาที่มีอันตรายถึงชีวิต ก็คงรักษาไว้ คือ รักษาคำพูดที่ไม่ผิดความจริงโดยประการทั้งปวง

นี่คือสัจจาธิษฐาน ซึ่งถ้าจะรู้ว่า จะมั่นคงในกุศลธรรมอะไรบ้างที่จะทำให้ถึง ฝั่ง คือ พระนิพพาน ก็จะขาดสัจจาธิษฐาน ความมั่นคงในสัจจะ ในความจริงไม่ได้

อธิษฐานธรรมที่ ๒ จาคาธิษฐาน

การสละกิเลส ซึ่งไม่ใช่เพียงสละวัตถุเป็นทานเพื่อประโยชน์สุขของบุคคลอื่น เพราะนั่นเป็นประโยชน์บุคคลอื่น แต่นี่เป็นจาคะ เป็นการสละ เป็นประโยชน์ตน เพราะว่าเมื่อสละวัตถุเพื่อบุคคลอื่นแล้ว ก็ยังจะต้องพิจารณาถึงกายวาจาของตน ซึ่งควรจะเป็นกุศลด้วย มิฉะนั้นก็เพียงแต่สละวัตถุเพื่อประโยชน์สุขของบุคคลอื่น แต่ไม่ได้พิจารณาที่จะสละกิเลสของตนเพื่อขัดเกลาตนเอง เพื่อประโยชน์แก่ตนเอง

สำหรับทานบารมี ก็คงไม่มีกันทุกวัน ซึ่งทำให้บางท่านวิตกกังวลและก็คิดเรื่องทานบารมีว่า เมื่อไม่มีทานบารมีทุกวัน ก็ควรจะมีทุกวัน หรือว่าอย่างไร

คือ คนที่ช่างคิด ช่างกังวล ก็อดไม่ได้ แม้แต่ในเรื่องของทานบารมีรู้ว่า เป็นประโยชน์ แต่เมื่อเห็นว่าไม่สามารถมีทานบารมีได้ทุกวัน ก็เกิดความกังวล เป็นห่วงขึ้น ซึ่งไม่จำเป็นต้องนั่งคิดหรือมัวห่วงกังวลเรื่องไม่มีทานกุศล เพราะว่า ในขณะนั้นเป็นอกุศลแล้วที่ห่วง ที่ต้องการ ไม่ใช่เป็นเรื่องการสละ ไม่ใช่เป็นเรื่อง การละความติดข้องในทาน ซึ่งเป็นการขัดเกลากิเลส

เพราะฉะนั้น ก็แล้วแต่เหตุการณ์ แล้วแต่โอกาส เมื่อมีเหตุการณ์ใดที่ควรจะให้ ก็ให้ เพื่อให้เป็นอุปนิสัย แต่ไม่ใช่ไปกังวลเรื่องอยากจะมีทานกุศลทุกๆ วัน

และสำหรับในเรื่องของจาคะ การสละกิเลส ควรพิจารณาแม้ในเรื่องการให้ คือ ไม่ให้เพื่อหวังผลตอบแทน เพราะว่าบารมีทุกบารมี มีโลภะเป็นปฏิปักษ์ มีโลภะเป็นข้าศึก ถ้ามีโลภะ มีความผูกพัน หรือมีการหวังผลใดๆ ตอบแทน ขณะนั้น เป็นปฏิปักษ์ต่อการเจริญบารมี

เพราะฉะนั้น ควรพิจารณาว่า เมื่อให้ควรจะให้อย่างไรที่จะเป็นการขัดเกลากิเลส คือ เป็นจาคาธิษฐานด้วย นอกจากจะไม่หวังผลตอบแทนแล้ว ก็ควรจะ ไม่ให้ด้วยความเบื่อหน่าย เพราะบางคนให้จริง แต่สังเกตพิจารณาชีวิตประจำวันที่ให้ บางกาลก็ให้ด้วยความเบื่อหน่าย ไม่ใช่ให้ด้วยความเบิกบานใจ หรือไม่ใช่ให้ด้วยความเอื้อเฟื้อหรือมีความสนใจที่จะให้ แสดงให้เห็นถึงความละเอียดของการที่จะต้อง ขัดเกลากิเลส หรือเมื่อเห็นคนอื่นให้ก็พอใจ มีความเบิกบานปีติในการให้ของ คนอื่นด้วย และให้อภัยแก่คนอื่นในฐานะที่ไม่ควรจะเป็นโทษภัยกับบุคคลนั้น

แสดงให้เห็นว่า เรื่องของการให้ไม่ควรจะคิดแต่เฉพาะเรื่องของวัตถุ แต่ควรจะพิจารณาให้ละเอียดว่า เมื่อเป็นผู้ให้ทานวัตถุแล้ว ก็ควรเป็นผู้ที่มีความบริสุทธิ์ ในขณะที่ให้ ให้ด้วยความอนุเคราะห์ และไม่เบียดเบียนด้วย

นี่เป็นเรื่องของการสละกิเลสในขณะที่ให้ทาน บางคนให้ แต่ให้อย่างไม่สุขนัก ก็จะได้มีความรู้สึกตัวว่า ควรจะให้ด้วยความสุขหรือเบิกบาน ดีกว่าให้ด้วยความ ไม่สุขนัก เพราะเมื่อจะให้ ก็ให้ด้วยความสุขดีกว่า ซึ่งในขณะนั้นจะทำให้ขัดเกลาจิตใจของตนเองด้วย

ที่มา ...

แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2075

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ