มรณสติควรไหมสำหรับเด็ก

 
wittawat
วันที่  24 ต.ค. 2566
หมายเลข  46851
อ่าน  345

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๓ - หน้า 244

พระศาสดา ... ตรัสว่า "ท่านทั้งหลายจงเจริญมรณสติอย่างนี้ว่า" ชีวิตของเราไม่ยั่งยืน, ความตายของเราแน่นอน, เราพึงตายแน่แท้, ชีวิตของเรามีความตายเป็นที่สุด, ชีวิตของเราไม่เที่ยง, ความตายเที่ยง; ก็มรณะอันชนทั้งหลายใดไม่เจริญแล้ว, ในกาลที่สุด ชนทั้งหลายนั้น ย่อมถึงความสะดุ้ง ร้องอย่างขลาดกลัวอยู่ ทำกาละ เหมือนบุรุษเห็นอสรพิษแล้วกลัวฉะนั้น; ส่วนมรณะอันชนทั้งหลายใดเจริญแล้ว ชนทั้งหลายนั้น ย่อมไม่สะดุ้งในกาลที่สุด ดุจบุรุษเห็นอสรพิษแต่ไกลเทียว แล้วก็เอาท่อนไม้เขี่ยทิ้งไป ยืนอยู่ฉะนั้น; เพราะฉะนั้นมรณสติอันท่านทั้งหลายพึงเจริญ."

ไม่นานมานี้ ผมก็ได้คุยกับลูกชาย ๗ ขวบ อ่านเรื่องคาถาธรรมบท ตามข้อความข้างต้นนี้ และก็พูดเรื่องความตาย ๓ ประเภท ได้แก่ สมมติมรณะ (การตายที่ชาวโลกสมมติกันว่าตาย) ขนิกกมรณะ (การเกิดดับทุกขณะของนามรูป) และสมุจเฉทมรณะ (การตายที่ไม่เป็นปัจจัยให้จิตอื่นเกิดสืบต่อของพระอรหันต์) ให้เค้าฟัง

เค้าก็บอกว่า แม่บอกว่า ห้ามคิดถึงเรื่องความตาย มันน่ากลัว ก็ได้แต่บอกว่า ถ้าเสียงขณะนี้ไม่ได้ดับไป ก็จะเกิดได้ยินเสียงใหม่ๆ ไม่ได้ ความตายก็รวดเร็วเหมือนกับได้ยินเสียงที่ดับไปเช่นนั้นแหละ เป็นเพียงจิต ๑ ขณะที่ทำหน้าที่เปลี่ยนจากบุคคลหนึ่งเป็นอีกบุคคลหนึ่งทันที และการระลึกถึงความตายก็ไม่ได้จำกัดเฉพาะผู้ใหญ่ แม้เด็กก็ตายได้ ตายเวลาไหนที่ไหนไม่มีใครรู้ ดังข้อความที่ว่า "สถานที่อันสัตว์ไม่เคยตายไม่มีในโลก". (ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้า 275)

และถ้าจำไม่ผิด ไม่แน่ใจว่าข้อความปรากฏที่ใดในพระไตรปิฎก ได้ยินว่า แม้ท่านพระอานนท์ ระลึกที่ความตายเป็นปรกติ ทุกลมหายใจ

อย่างไรก็ดี ขอให้ท่านอาจารย์วิทยากรเกื้อกูลด้วยครับ ว่าความตาย ควรไหมที่เด็กก็ระลึกถึงได้

ขอกราบอนุโมทนาครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
khampan.a
วันที่ 25 ต.ค. 2566

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

[เล่มที่ 36] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้า ๑๓๘

“ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เพราะอาศัยอำนาจประโยชน์อะไร สตรี บุรุษ คฤหัสถ์หรือบรรพชิต จึงควรพิจารณาเนือง ว่า เรามีความตายเป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความตายไปได้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ความมัวเมาในชีวิตมีอยู่แก่สัตว์ทั้งหลาย ซึ่งเป็นเหตุให้สัตว์ทั้งหลายประพฤติทุจริตด้วยกาย วาจา ใจ เมื่อเขาพิจารณาฐานะนั้นอยู่เนืองๆ ย่อมละความมัวเมาในชีวิตนั้นได้โดยสิ้นเชิง หรือทำให้เบาบางลงได้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะอาศัยอำนาจประโยชน์นี้แล สตรี บุรุษ คฤหัสถ์หรือบรรพชิต จึงควรพิจารณาเนืองๆ ว่าเรามีความตายเป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความตายไปได้



[เล่มที่ 47] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๖ - หน้า ๕๕๖

ภาชนะดินที่นายช่างทำแล้วทุกชนิด มีความแตกเป็นที่สุด แม้ฉันใด ชีวิตของ สัตว์ทั้งหลาย ก็ฉันนั้น ทั้งเด็ก ทั้งผู้ใหญ่ ทั้งคนเขลา ทั้งคนฉลาด ล้วนไปสู่อำนาจของมฤตยู มีมฤตยูเป็นที่ไปในเบื้องหน้าด้วยกันทั้งหมด



การระลึกถึงความตายเป็นสติที่เกิดขึ้นปรารภถึงความตายของตนเอง ซึ่งจะเกื้อกูลให้เป็นผู้ไม่ประมาทในการอบรมเจริญกุศลสะสมความดีทุกประการ ดังนั้น
เมื่อเป็นสิ่งที่ดีถูกต้อง ก็ย่อมจะเป็นสิ่งที่เหมาะควรสำหรับทุกเพศทุกวัย ครับ


คำบรรยายของท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ มีดังนี้

ต้องเข้าใจด้วย ที่พระองค์ตรัสเตือนให้ระลึกถึงความตายทุกขณะหรือทุกลมหายใจเข้าออก เพื่อที่จะให้เป็นผู้ที่ไม่ประมาท ไม่อย่างนั้นเราก็ต้องเป็นผู้ที่ประมาทมาก เพราะเราลืมคิดถึงความตาย ใช่ไหม ถ้าเราจะพิจารณาให้ลึกลงไป ขณะที่เป็นกุศล ขณะนั้นเราก็มีขันติมีความอดทนที่จะไม่รักไม่ชัง ไม่เป็นไปกับโลภะ ไม่เป็นไปกับโทสะ


ชีวิตสั้นมาก ถ้าชีวิตสั้นอย่างนี้ แล้วชีวิตควรจะเป็นอย่างไร? จะมีการเบียดเบียนทำร้ายกันไหม? จะทำทุจริตกรรมต่างๆ ไหม? เพราะฉะนั้น ถ้ามีความเข้าใจ ขณะนั้นเป็นปัญญาหรือเปล่า?

ตายเป็นของธรรมดา เกิดก็เป็นของธรรมดา แต่จะเกิดเป็นอะไร? แม้เดี๋ยวนี้ ยังไม่ได้ตาย ยังเป็นอยู่ จะเป็นอย่างไร? เพราะอย่างไรต้องตายแล้วก็ต้องจากโลกนี้ไปแน่ มัวแต่คิดเรื่องอื่น ไม่คิดว่าจะตาย ถ้าคิดว่าจะตาย จะหยุดเรื่องอื่นใช่ไหม? ทำความดี เพราะจะตาย จะไปทำเรื่องอื่นทำไม เสียเวลา


ถ้าจะระลึกถึงความตายให้มีประโยชน์จริงๆ ก็คือมั่นใจได้ตายแน่ แต่ว่าจะช้าหรือเร็ว ตายในลักษณะไหน? แต่ว่าที่ทุกคนลืมแล้วก็อยากจะคิดถึงความตายว่าความตายต้องมีแน่ เพื่ออะไร? เพื่อเป็นคนดีขึ้นหรือว่าทำชั่วไปเหมือนเดิม? อันนี้เป็นสิ่งซึ่งน่าคิด เพราะเหตุว่า คงจะไม่รู้ว่าขณะนี้ ไม่มีอะไรที่เป็นเราได้เลยสักอย่างเดียว ทุกอย่างเกิดแล้วก็ดับไปเรื่อยๆ แต่ทางไปของเหตุคือกุศลและอกุศลต้องต่างกัน เพราะฉะนั้น ทางเดินซึ่งขณะนี้ไม่ใช่เรา กุศลจิต ก็เดินไปทางหนึ่ง อกุศลจิต ก็เดินอีกทางหนึ่ง เดินคนละทางใช่ไหม? แล้วจะเดินทางไหน กับใคร? จะเดินไปกับกุศล หรือว่าจะเดินไปกับอกุศล?


... ยินดีในกุศลของคุณวิทวัตพร้อมด้วยบุตรชายและทุกๆ ท่านด้วยครับ ...

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
chatchai.k
วันที่ 25 ต.ค. 2566

ยินดีในกุศลจิตครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
wittawat
วันที่ 26 ต.ค. 2566

ได้อ่านข้อความเพิ่มเติมให้ลูกฟังแล้วครับ และเค้าก็บอกว่าถ้ารู้ว่าจะตาย ก็อยากทำดีครับ กราบอนุโมทนาด้วยครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ