อาจารย์ชอบพูดโต้แย้งคำสอนของพระพุทธเจ้าเสมอ จริงหรือ

 
chatchai.k
วันที่  27 ต.ค. 2566
หมายเลข  46871
อ่าน  359

ขออ่านจดหมายอีกฉบับหนึ่ง

เขียนที่วัดเกาะ ตำบลบางพลัด อำเภอโพธิ์ทอง จังหวัดอ่างทอง

๒๓ สิงหาคม ๒๕๑๖

เจริญพร อาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์

อาตมาภาพได้ฟังคำบรรยายแนวทางเจริญสติปัฏฐานของอาจารย์ เช่น เมื่อมีการสัมผัสทางอายตนะ เช่น ตาเห็นรูป หูฟังเสียง เป็นต้น ก็ให้รู้ชัดว่า อะไรเป็นนาม อะไรเป็นรูป บางทีฟังและให้นึกขำในใจที่อาจารย์ปฏิเสธความเห็นของผู้อื่นไปแล้ว แต่ก็มาปฏิเสธถ้อยคำของตัวเองเข้าด้วย หรือบางทีแก้ปัญหาไปแล้ว แต่ตัวเองก็ต้องล้มหงายท้องลงไปด้วย โดยไม่ต้องรอให้ใครมาเบียดเบียน แบบเตะเองล้มเอง คิดๆ ดูก็น่าขำ เช่น บางคนพูดว่า การเจริญสติปัฏฐาน ต้องเป็นผู้มีความสงบ อาจารย์ก็ว่าไม่ใช่ๆ ไม่ต้องก็เจริญได้ แต่ตัวเองก็เอาคำว่ารู้ชัดมาใช้ ซึ่งเป็นพระดำรัสของพระพุทธเจ้า สำหรับพระองค์ย่อมจะใช้ได้ เพราะรู้ต้นสายปลายเหตุ ส่วนเราไม่รู้แล้วนำมาใช้ ยาก รู้ชัดนี้เกิดจากการเจริญธรรม ที่ต้องใช้มนสิการมากๆ เช่น อานาปานบรรพ หรือจิตสิกขาอื่นๆ เมื่อมีมนสิการมากๆ การจดจำก็แม่นยำ วิญญาณจึงรู้ชัด

เมื่อใครเอาธรรมแนวเดียวกันมาพูด เราก็ปฏิเสธเขาให้วุ่นไปหมด การแก้ปัญหาวันนั้น มีผู้จดหมายมาถามในข้อที่พระศาสดาตรัสถึงอาตาปีว่า การเจริญ สติปัฏฐานคงจะต้องใช้ความเพียรใช่ไหม อาจารย์ตอบว่า ไม่ต้องใช้ ก็คนที่ฟังธรรมของพระพุทธเจ้าได้สำเร็จมีถมไป ไม่เห็นจะต้องไปใช้ความเพียรกันที่ไหน การที่อาจารย์พูดเช่นนี้ อาตาปีที่พระศาสดาทรงตรัสไว้นั้น ก็เป็นของว่างเปล่า ไม่มีประโยชน์

อาจารย์ชอบพูดโต้แย้งคำสอนของพระพุทธเจ้าเสมอ เนืองๆ แม้ด้วยเรื่องที่สงัด ไม่รู้ว่ามีความรู้เหนือกว่าพระพุทธเจ้าเสียตั้งแต่เมื่อไร สิ่งที่พระองค์ตรัสออกมานั้นล้วนเป็นสิ่งที่มีคุณทั้งสิ้น เราทำได้แค่ไหนก็เอาแค่นั้น รู้หรือเปล่าว่าคำพูดเหล่านี้เป็นการเบียดเบียนพระปัญญาคุณของพระตถาคตเจ้า คิดดูให้ดีนะ ทุกข์มีการเบียดเบียนเป็นลักษณะ แล้วอาจารย์รู้อย่างไรเล่าว่า คนที่ฟังธรรมสำเร็จได้โดยไม่ต้องใช้ความเพียร

ทุกคนก็ต้องดำเนินไปในทางมรรค ๘ สัมมาวายามะเป็นสิ่งที่มีคุณมาก ท่านผู้รู้เรียกบริขาร เพราะมีเครื่องใช้ไม้สอยมาก มรรค ๘ จะขาดตกบกพร่องหรือก้ำเกินสิ่งใด ก็สามารถแก้ไขให้เหมาะสมได้ดี เหมือนนายช่างปรุงเรือนผู้ฉลาดสามารถจะตกแต่งตัวไม้ให้เป็นเครื่องปรุงเรือนได้ด้วยเครื่องมือของเขา ตรงไหนควรบากก็บาก ตรงไหนควรบั่นก็บั่น จนสามารถประกอบเป็นเรือนได้ และทำไมเล่าคนที่จะได้สำเร็จจะต้องประกอบความเพียรเป็นปีๆ ทุกรายไปเชียวหรือ ผู้ที่มีอินทรีย์แก่กล้า ฉลาด มีอุบายดี รู้จักเลือกถือเอา ประกอบความเพียร ไม่ช้าก็ได้สำเร็จ

พระภิกษุสิทธิกาโร


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
chatchai.k
วันที่ 27 ต.ค. 2566

ท่านอาจารย์ สำหรับจดหมายฉบับนี้ ขอกราบเรียนนมัสการถวายเพียงย่อๆ เช่น ความหมายของคำว่า รู้ชัด ไม่ได้ปฏิเสธคำว่ารู้เลย

รู้ ความรู้มีหลายขั้นมาก ความรู้ขั้นการฟัง ไม่ชัดไม่เหมือนขณะที่อบรมเจริญสติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามที่ได้ศึกษา ที่กำลังปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ตามปกติ ตามความเป็นจริง

เมื่อเกิดความรู้ชัดแล้ว จึงประจักษ์ว่า สภาพธรรมทั้งหมดไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ไม่ว่าจะเป็นนามธรรมทางตา หรือรูปธรรมทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ นั่นเป็นลักษณะอาการของปัญญาที่รู้ชัด ไม่ได้พูดถึงสมาธิ ความสงบ และไม่รู้อะไร

ซึ่งทั้งหมดเท่าที่บรรยายมานี้ ก็เพื่อที่จะเกื้อกูลให้ท่านผู้ฟังได้พิจารณา สอบทาน เทียบเคียง สังเกตว่า เป็นปัญญาที่รู้ชัดหรือเปล่า ขณะที่กำลังเห็น กำลังได้ยิน กำลังได้กลิ่น กำลังลิ้มรส กำลังรู้โผฏฐัพพะ กำลังคิดนึก กำลังเป็นสุข กำลังเป็นทุกข์ต่างๆ ตลอดเวลาในวันหนึ่งๆ เป็นสภาพธรรมที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน และปัญญารู้ชัดแล้วหรือยัง เพราะฉะนั้น เท่าที่ได้บรรยายทั้งหมด เพื่อเกื้อกูลให้ถึงความรู้ชัด ไม่ใช่เป็นความสงบและไม่รู้

สำหรับข้อความตอนท้ายที่ว่า ทำไมเล่าคนที่จะได้สำเร็จต้องประกอบความเพียรเป็นปีๆ ทุกรายไปเชียวหรือ ผู้ที่มีอินทรีย์แก่กล้า ฉลาด มีอุบายดี รู้จักเลือกถือเอา ประกอบความเพียร ไม่ช้าก็ได้สำเร็จ

คงจะเป็นปัญหาที่ว่า การบรรยายเรื่องการอบรมเจริญปัญญานี้ ดูเหมือนช้าเหลือเกิน ที่จะทำให้ท่านผู้ฟังได้อบรมจนกระทั่งปัญญาคมกล้า รู้แจ้งแทงตลอดในสภาพธรรมที่ปรากฏตามความเป็นจริง

ตามความเป็นจริง ก็คือ ขณะนี้นามธรรมเกิดดับอย่างรวดเร็ว รูปธรรมเกิดดับอย่างรวดเร็ว ไม่มีใครสามารถที่จะไปทำให้ช้าลง แต่การประจักษ์สภาพธรรมตามความเป็นจริง รูปธรรมนามธรรมเกิดดับเร็วอย่างไร การประจักษ์ ก็ต้องประจักษ์ตรงตามความเป็นจริงอย่างนั้น ซึ่งแล้วแต่ว่าปัญญาของท่านนั้น คมกล้าที่จะประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพธรรมที่เกิดดับสืบต่อกันอย่างละเอียดมากน้อยแค่ไหน นั่นเป็นเรื่องของแต่ละบุคคลที่ได้สะสมอบรมมา

และการที่ท่านผู้หนึ่งผู้ใดจะรู้เร็ว ก็เป็นเรื่องที่ควรอนุโมทนาอย่างยิ่ง แต่ต้องเป็นความรู้จริงๆ ซึ่งถ้าขณะนี้ท่านผู้หนึ่งผู้ใดจะรู้แจ้งอริยสัจธรรมชั่วขณะที่ฟัง ก็ขออนุโมทนาอย่างยิ่ง แต่เรื่องที่จะรู้เร็วหรือรู้ช้า เป็นเรื่องที่แล้วแต่การสะสมอบรมมาในเหตุ คือ การที่ปัญญาจะรู้ชัดได้นั้น สติจะต้องระลึกรู้ลักษณะของนามธรรม ตรงลักษณะของนามธรรมแต่ละลักษณะ สติจะต้องระลึกรู้ลักษณะของรูปธรรม ตรงลักษณะของรูปธรรมแต่ละลักษณะ จนกระทั่งมีความรู้ชินขึ้น ละคลายมากขึ้น จึงสามารถที่จะประจักษ์สภาพความเกิดดับของนามธรรมและรูปธรรมตามความเป็นจริงได้

เพราะฉะนั้น ถ้าใครจะรู้เร็ว ก็เพราะว่าได้เคยสะสมอบรมเหตุมามาก จนกระทั่ง แม้พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมสั้นๆ บุคคลนั้นก็สามารถจะแทงตลอดประจักษ์แจ้งในความเกิดดับ ความไม่เที่ยง ความไม่ใช่ตัวตน สัตว์ บุคคลของสภาพธรรม รู้แจ้งอริยสัจธรรม เป็นพระอริยเจ้าได้ แต่ต้องเป็นความรู้จริง ไม่ใช่เห็นว่าปฏิบัติกันมานานแล้ว แต่ยังไม่ถึงแม้นามรูปปริจเฉทญาณ ก็จะเกิดความท้อถอยขึ้น

ในคราวก่อน มีท่านที่กล่าวว่า ดิฉันพยายามที่จะดึงท่านผู้ฟังให้ไปถึง อุทยัพพยญาณ แต่ความจริงแล้ว ไม่เคยกล่าวว่า ให้ท่านผู้ฟังข้ามการระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมตามปกติ ตามความเป็นจริง ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ จนความรู้เพิ่มขึ้นทีละเล็กทีละน้อย ขัดเกลาความไม่รู้ ละคลายความสงสัยในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม จนปัญญาถึงความสมบูรณ์ของวิปัสสนาญาณแต่ละขั้น และไม่ใช่ให้ท่านข้ามการที่จะอบรมเจริญปัญญาให้ถึง นามรูปปริจเฉทญาณ ปัจจยปริคหญาณ สัมมสนญาณ แต่ให้ไปถึงอุทยัพพยญาณเลย

ไม่ต้องไปถึงอุทยัพพยญาณ เพียงนามรูปปริจเฉทญาณเท่านั้น จะหวั่นไหวไหม ถ้ามีแต่เฉพาะลักษณะของรูปธรรมเพียงลักษณะเดียวเท่านั้นปรากฏ ยังไม่ต้องประจักษ์แจ้งถึงความเกิดขึ้นและดับไปของรูปธรรมและนามธรรม ซึ่งความจริงก็เกิดขึ้นและดับไป แต่เพราะว่าปัญญายังไม่สมบูรณ์ ยังไม่มนสิการในการเกิดขึ้นและดับไปของนามนั้นของรูปนั้น เพียงแต่มนสิการในสภาพที่เป็นธาตุ ที่เป็นนามธรรม ที่เป็นรูปธรรม โดยสภาพความเป็นอนัตตา ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล เป็นแต่เพียงเฉพาะลักษณะของรูปที่ปรากฏ เฉพาะลักษณะของนามที่ปรากฏ ไม่มีตัวตนที่จะไปบังคับบัญชา ไม่มีตัวตนที่จะไปเลือก ไม่มีตัวตนที่จะไปพยายามให้นามอื่นรูปอื่นปรากฏ เพราะฉะนั้น ท่านผู้ฟังควรที่จะได้ทราบความหมายของคำว่ารู้ชัดด้วย

อีกประการหนึ่ง ท่านผู้ฟังที่จะรู้ชัดในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมนั้น ท่านจะตื่นเต้นไหม ถ้าสติเกิดเวลานี้ ระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมที่กำลังปรากฏเดี๋ยวนี้ตามปกติ ธรรมดา และท่านจะหวั่นไหวไหม เวลาที่สติหมดไป ดับไป

ถ้าปรากฏว่า ท่านยังตื่นเต้นเวลาที่สติเกิด ก็ยังไม่ใช่ปัญญาที่รู้ชัดในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม เพราะว่าความเป็นตัวตนแทรก ทำให้หวั่นไหว ไม่รู้ว่าเป็นแต่เพียงนามธรรมและรูปธรรมทั้งนั้น ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นนามธรรมทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ หรือแม้แต่ความหวั่นไหวนั้น ก็เป็นแต่เพียงนามธรรมเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นรูปธรรมทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ที่ปรากฏ ก็เป็นแต่เพียงลักษณะของรูปธรรมเท่านั้น ความรู้ชัดจะต้องเพิ่มขึ้น ละคลายความตื่นเต้นขณะที่สติเกิด ละคลายความหวั่นไหวในขณะที่สติหมดไป

เรื่องของความรู้ชัด ไม่ได้หมายความถึงความสงบ เพราะใช้พยัญชนะว่ารู้ชัด

สำหรับข้อความในจดหมายที่ว่า วันนั้นมีผู้จดหมายมาถามในข้อที่พระศาสดาตรัสถึงอาตาปี ว่า การเจริญสติปัฏฐานคงจะต้องใช้ความเพียรใช่ไหม อาจารย์ตอบว่า ไม่ต้องใช้ เพราะคนที่ฟังธรรมของพระพุทธเจ้าได้สำเร็จมีถมไป ไม่เห็นว่าจะต้องไปใช้ความเพียรกันที่ไหน การที่อาจารย์พูดเช่นนี้ อาตาปีที่พระศาสดาทรงตรัสไว้นั้น ก็เป็นของว่างเปล่า ไม่มีประโยชน์ อาจารย์ชอบพูดโต้แย้งคำสอนของพระพุทธเจ้าเสมอ เนืองๆ

เวลาคิดถึงความหมายของความเพียร ท่านคงคิดว่า ต้องไปเพียรทำสิ่งที่ไม่เป็นปกติในชีวิตประจำวัน แต่ขอให้คิดถึงผู้ที่ตรัสรู้อริยสัจธรรมในขณะที่ได้ฟังธรรม โดยที่ไม่ได้ไปสู่ที่หนึ่งที่ใดเลย ให้ทราบว่า ในขณะนั้นท่านเหล่านั้นมีความเพียรหรือเปล่าเพราะว่าขณะใดที่สติเกิดขึ้น ระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมที่กำลังปรากฏ ขณะนั้นวิริยเจตสิกเกิดร่วมกับสัมมาสติ จึงเป็นสัมมาวายาโม

วิริยเจตสิกจะเกิดร่วมกับกุศลจิตก็ได้ อกุศลจิตก็ได้ ถ้าใครมีโลภะ ต้องการมากๆ ก็เพียรที่จะให้ได้สิ่งนั้นมา นั่นเป็นวิริยเจตสิกที่เกิดร่วมกับจิตที่เป็นโลภมูลจิต ไม่ใช่กุศลจิต ไม่ใช่สัมมาวายามะ ไม่ใช่เป็นการเจริญมรรคมีองค์ ๘

ท่านที่ศึกษาพระอภิธรรมจะทราบว่า วิริยเจตสิกเกิดกับจิตกี่ดวง เพราะฉะนั้น วิริยเจตสิกที่เกิดร่วมกับสัมมาสติ ที่ระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมในขณะนั้น เป็นสัมมาวายาโม ในมรรคมีองค์ ๘ ไม่ใช่ว่าไม่มีความเพียร ไม่ใช่ว่าจะตรัสรู้อริยสัจธรรมได้โดยไม่มีสัมมาวายามะ ไม่ได้กล่าวอย่างนี้เลย

ที่มา อ่าน และฟังเพิ่มเติม ...

แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 367

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
วันชัย๒๕๐๔
วันที่ 27 ต.ค. 2566

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
lack
วันที่ 30 ต.ค. 2566

สาธุ อนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
สิริพรรณ
วันที่ 30 ต.ค. 2566

กราบเท้าบูชาพระคุณท่านอาจารย์ด้วยความเคารพยิ่ง

กราบขอบพระคุณ ยินดีในกุศลวิริยะ อ.ฉัตรชัย ด้วยค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ