ภาษาบาลีสัปดาห์ละคำ [คำที่ ๖๓๕] กณฺหกมฺม

 
Sudhipong.U
วันที่  28 ต.ค. 2566
หมายเลข  46879
อ่าน  216

ภาษาบาลี ๑ คำ คติธรรมประจำสัปดาห์ กณฺหกมฺม

โดย อ.คำปั่น อักษรวิลัย

กณฺหกมฺม อ่านตามภาษาบาลีว่า กัน - หะ - กำ - มะ มาจากคำว่า กณฺห (ดำ) กับคำว่า กมฺม (การกระทำ, เจตนา ความจงใจ) รวมกันเป็น กณฺหกมฺม แปลว่า กรรมดำ ซึ่งหมายถึงอกุศลกรรม การทำชั่วประการต่างๆ อกุศลกรรมหรือกรรมชั่วที่ได้ทำแล้ว เมื่อถึงคราวที่อกุศลกรรมให้ผล ผลก็ย่อมเกิดขึ้นเป็นไปตามควรแก่เหตุ เมื่อเหตุเป็นกรรมดำ ก็ย่อมให้ผลเป็นวิบากดำเท่านั้น ซึ่งเป็นผลที่ไม่ดี ไม่น่าปรารถนา ไม่น่าใคร่ ไม่น่าพอใจ เป็นธรรมที่เกิดเพราะเหตุปัจจัย ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น และไม่มีใครทำให้ด้วย

ข้อความในมโนรถปูรณี อรรถกถา พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต สังขิตตสูตร ได้แสดงถึงความเป็นจริงของกรรมดำ ซึ่งให้ผลเป็นวิบากดำ ดังนี้

บทว่า กณฺหํ ได้แก่ กรรมดำ คือ อกุศลกรรมบถ ๑๐ [ฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ประพฤติผิดในกาม พูดเท็จ พูดส่อเสียด พูดคำหยาบ พูดเพ้อเจ้อ เพ่งเล็งอยากได้ของผู้อื่น พยาบาทปองร้ายผู้อื่น และมีความเห็นผิดคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง] . บทว่า กณฺหวิปากํ ได้แก่ มีวิบากดำ เพราะให้เกิดในอบาย


พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงตลอด ๔๕ พรรษา เป็นคำอนุเคราะห์เกื้อกูล เปิดเผยความจริง เพื่อให้เข้าใจธรรมซึ่งเป็นสิ่งที่มีจริงอย่างถูกต้องตรงตามความเป็นจริง เป็นไปเพื่อปัญญาความเข้าใจถูกเห็นถูกโดยตลอด ธรรม เป็นธรรม เป็นสิ่งที่มีจริง ทรงไว้ซึ่งความเป็นจริงอย่างนั้น ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน แม้กรรม คือ การกระทำ ก็มีจริง เป็นเจตนา ความจงใจที่จะกระทำสิ่งหนึ่งสิ่งใด ถ้าทำสิ่งที่เป็นกุศล ก็เป็นกุศลกรรม ในทางตรงกันข้าม ถ้าทำอกุศล คือ ทำชั่วประการต่างๆ ก็เป็นอกุศลกรรม เกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น

สัตว์โลกมีกรรมเป็นของของตน กุศลกรรมให้ผลเป็นสุข อกุศลกรรมให้ผลเป็นทุกข์ กรรมที่ตนเองได้ทำแล้วของใครก็เป็นของคนนั้น จะแบ่งปันให้กันไม่ได้ ไม่เหมือนกับทรัพย์สมบัติหรือวัตถุสิ่งของที่พอจะแบ่งปันให้คนอื่นได้ บุคคลผู้ที่ทำอกุศลกรรมประการต่างๆ ซึ่งเป็นกรรมดำ มีฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ประพฤติผิดในกาม พูดเท็จ พูดส่อเสียดใส่ความให้คนอื่นแตกแยกกัน เป็นต้น ถึงแม้ว่าจะหนีไปอยู่ ณ สถานที่แห่งใดแห่งหนึ่งด้วยความมุ่งหมายว่าจะทำให้ตนเองรอดพ้นจากการได้รับผลของอกุศลกรรม ก็ย่อมไม่สามารถที่จะรอดพ้นจากการได้รับผลของกุศลกรรมไปได้เลย อกุศลกรรมที่ได้ทำแล้ว เมื่อถึงคราวที่จะให้ผล ก็จะต้องให้ผล แล้วแต่ว่าจะให้ผลมาก เผ็ดร้อน หนักหรือเบา ก็ตามควรแก่อกุศลกรรมนั้นที่ตนเองได้ทำแล้วนั่นเอง ซึ่งไม่มีใครทำให้เลย ขึ้นอยู่กับกรรมที่ตนเองได้ทำไว้แล้วอย่างเดียว จะโทษใครก็ไม่ได้ แม้พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตลอดจนถึงพระสาวกทั้งหลาย ยังไม่พ้นจากการได้รับผลของอกุศลกรรมที่ได้เคยทำแล้วในอดีต วิบากซึ่งเป็นผลของอกุศลกรรมในชีวิตประจำวันที่พอจะเข้าใจได้ คือ ขณะที่เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสกายที่ไม่ดี ไม่น่าปรารถนา ไม่น่าใคร่ ไม่น่าพอใจ เป็นธรรมที่เกิดเพราะเหตุปัจจัยทั้งหมด

เป็นความจริงที่ว่า อกุศลกรรมที่ได้ทำแล้ว ถ้าเป็นปัจจัยทำให้ปฏิสนธิ (เกิด) ก็ย่อมจะทำให้เกิดในนรกบ้าง หรือว่าในกำเนิดสัตว์ดิรัจฉานบ้าง หรือว่าเกิดเป็นเปรตบ้าง หรือว่าเกิดเป็นอสุรกาย (อบายภูมิที่ไม่ทุกข์ทรมานเหมือนนรกหรือเปรต แต่สัตว์ที่เกิดในภูมินี้ไม่มีความร่าเริง ไม่มีความเจริญ) บ้าง ซึ่งเป็นภูมิที่ไม่สามารถจะเจริญกุศลธรรมจนกระทั่งสามารถรู้แจ้งอริยสัจจธรรมได้ แต่ละคนก็จะเห็นความวิจิตรของอกุศลกรรมที่ได้กระทำแล้ว การฆ่าสัตว์ การถือเอาสิ่งของที่บุคคลอื่นไม่ได้ให้ การประพฤติผิดในกาม การพูดเท็จ การพูดส่อเสียด เป็นต้น ที่ได้ทำแล้ว ไม่ว่าจะเป็นใครทำก็ตาม เป็นเหตุทำให้ปฏิสนธิในนรกก็ได้ ทำให้ปฏิสนธิในกำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน ก็ได้ ทำให้เกิดเป็นเปรตก็ได้ ทำให้เกิดเป็นอสุรกาย ก็ได้ ตามสมควรแก่อกุศลกรรม โดยไม่มีใครทำให้เลย นอกจากตนเองที่ได้ทำอกุศลกรรมไปแล้วเท่านั้น สำหรับในภูมิมนุษย์ก็ยังเห็นสัตว์ดิรัจฉาน ซึ่งจะปฏิเสธไม่ได้เลยว่าไม่มีกำเนิดดิรัจฉาน เพราะเหตุว่าแม้ในโลกนี้ ก็มีภูมิมนุษย์และมีภูมิสัตว์ดิรัจฉานด้วย กรรมย่อมจำแนกสัตว์โลกให้แตกต่างกันอย่างแท้จริง

การเกิดเป็นสัตว์ดิรัจฉาน เป็นผลของอกุศลกรรม การเกิดในนรกก็เป็นผลของอกุศลกรรม การเกิดเป็นเปรต การเกิดเป็นอสุรกาย ก็เป็นผลของอกุศลกรรม เมื่อเหตุ คืออกุศลกรรม ซึ่งเป็นกรรมดำมีแล้ว ผลก็ย่อมเกิดขึ้นเป็นไปตามควรแก่เหตุ

สำหรับกำเนิดของนรกกับกำเนิดของดิรัจฉานนั้น ก็พอจะเห็นได้ว่า การเกิดเป็นสัตว์ดิรัจฉานนั้น มีความทุกข์ทรมานน้อยกว่าในภูมินรก สัตว์ดิรัจฉานที่มีความสุข ความสบาย ตามสมควรแก่สภาพของสัตว์ดิรัจฉาน ก็ยังมียังเป็นได้ ได้รับอิฏฐารมณ์ (อารมณ์ที่น่าพอใจ) ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกายได้ แต่ว่าเพราะเหตุว่าสัตว์ดิรัจฉานปฏิสนธิด้วยจิตที่ไม่ใช่ผลของมหากุศล เพราะฉะนั้น แม้ว่าสัตว์ดิรัจฉานนั้นจะเห็นอิฏฐารมณ์ แต่การที่จะพิจารณาเจริญธรรม เจริญกุศลให้มีกุศลเพิ่มพูนขึ้นอย่างมนุษย์นั้น ก็เป็นสิ่งที่เทียบกันไม่ได้กับผู้ที่เกิดมาเป็นมนุษย์

เมื่อได้ฟังได้ศึกษาเรื่องอกุศลกรรมซึ่งเป็นกรรมดำ และให้ผลเป็นวิบากดำ ก็ย่อมจะเป็นประโยชน์เกื้อกูล ทำให้เป็นผู้ที่มีความละอาย มีความเกรงกลัวต่อการทำอกุศลกรรม เพราะอกุศลกรรม ให้ผลเป็นทุกข์เท่านั้น ไม่นำมาซึ่งประโยชน์ใดๆ เลยแม้แต่น้อย

พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง เป็นเครื่องเตือนที่ดีสำหรับทุกแง่มุมของชีวิต จึงควรอย่างยิ่งที่ทุกคนจะได้พิจารณาว่า เกิดมาแล้วต้องละจากโลกนี้ไปด้วยกันทั้งนั้น ไม่มีใครรอดพ้นจากความตายไปได้เลย ควรที่จะเห็นโทษของอกุศลที่เป็นเหตุให้กระทำอกุศลกรรมแล้วจะเป็นเหตุให้ได้รับผลที่ไม่ดีในภายหน้า โดยไม่เพียงแค่กลัวผลของอกุศลกรรมเท่านั้น ต้องกลัวที่เหตุคืออกุศลกรรมด้วย ดังนั้น เมื่อจะสะสมกรรมที่จะทำให้เกิดผลในภายหน้า ก็พึงสะสมเฉพาะกรรมอันงาม คือกุศลกรรมเท่านั้น ส่วนสิ่งที่ไม่ดีคืออกุศลทั้งหลายซึ่งไม่เป็นประโยชน์ทั้งแก่ตนและแก่บุคคลอื่น ไม่ควรที่จะสะสมให้มีมากขึ้น เพราะเหตุว่า อกุศลทั้งหลาย เป็นที่พึ่งไม่ได้ แต่สิ่งที่จะเป็นที่พึ่งของสัตว์ทั้งหลาย ทั้งในโลกนี้และในโลกหน้านั้น ก็คือ กุศล ความดีทั้งหลายเท่านั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือปัญญา ซึ่งเป็นความเข้าใจถูกเห็นถูกจากการได้ฟังได้ศึกษาพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงแสดงไว้ดีแล้ว ซึ่งจะเกื้อกูลให้คุณความดีทั้งหลายเจริญขึ้นในชีวิต ประจำวัน ค่อยๆ ขัดเกลาละคลายอกุศลไปทีละเล็กทีละน้อย เป็นประโยชน์เกื้อกูลโดยตลอด เพราะกุศลหรือคุณความดี ไม่ว่าจะเป็นยุคใดสมัยใด ก็จะไม่ให้ผลที่เป็นทุกข์ ไม่นำมาซึ่งความเดือดร้อนใดๆ เลย

ขอเชิญติดตามอ่านคำอื่นๆ ได้ที่..

บาลี ๑ คำ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
chatchai.k
วันที่ 29 ต.ค. 2566

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
เฉลิมพร
วันที่ 29 ต.ค. 2566

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ