ทำไมพระพุทธเจ้าถึงห้ามพระภิกษุแสดงปาฏิหาริย์

 
wittawat
วันที่  31 ต.ค. 2566
หมายเลข  46891
อ่าน  931

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น

ทำไมพระพุทธเจ้าถึงห้ามพระภิกษุแสดงปาฏิหาริย์?

เป็นคำถามของลูกชายครับ พอดีว่าเราได้คุยกันเรื่องของ ยมกปาฏิหาริย์ ใน ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๓ - หน้า 291

พระศาสดา ทรงสดับเสียงมหาชนที่ติดตามพระเถระนั้นอื้ออึงอยู่ จึงตรัสถามว่า "อานนท์ นั่นเสียงใคร?" ทรงสดับว่า "พระเจ้าข้า พระปิณโฑลภารทวาชะเหาะขึ้นไปในอากาศแล้ว ถือเอาบาตรไม้จันทน์, นั่นเสียงในสำนักของท่าน" จึงรับสั่งให้เรียกพระปิณโฑลภารทวาชะมา ตรัสถามว่า "ได้ยินว่า เธอทำอย่างนั้นจริงหรือ" เมื่อท่านกราบทูลว่า "จริง พระเจ้าข้า" จึงตรัสว่า "ภารทวาชะ ทำไม เธอจึงทำอย่างนั้น?" ทรงติเตียนพระเถระ แล้วรับสั่งให้ทำลายบาตรนั้น ให้เป็นชิ้นน้อยชิ้นใหญ่ แล้ว รับสั่งให้ประทานแก่ภิกษุทั้งหลาย เพื่อประโยชน์แก่อันบดผสมยาตา แล้วทรงบัญญัติสิกขาบทแก่พระสาวกทั้งหลาย เพื่อต้องการไม่ให้ทำปาฏิหาริย์ ...


ซึ่งเป็นเรื่องราวที่พระอรหันต์ คือ ท่านพระปิณโฑลภารทวาชะแสดงปาฏิหาริย์ เพื่อปกป้องคำพูดที่ดูถูกย่ำยีพระพุทธศาสนา จากชาวโลกว่า พระอรหันต์คงไม่มีในโลกแน่แท้ ซึ่งลูกชายก็เลยถามขึ้นมาว่า ถ้าอย่างนั้นพระพุทธเจ้าจะห้ามการทำปาฏิหาริย์ทำไม?

ผมก็ตอบตามกำลังที่เข้าใจว่า ปาฏิหาริย์ นี้ที่บางท่านก็แปลว่า นำไปอย่างวิเศษ หรือเปล่า? (อันนี้ไม่ทราบว่าจะมาจากคำบาลีว่าอะไรแน่ ป+อติ+หร หรือ ปฏิ+หร หรือเป็นคำอื่น เป็น หร หรือ เหร ต้องกราบอาจารย์วิทยากรทราบบาลีแสดงด้วย) หรือคำไทย ก็แปลว่า ความอัศจรรย์ (ก็คงมีเหตุให้แปลได้ความอย่างนี้ด้วย)

อย่างไรก็ดี พระผู้มีพระภาคเจ้าแสดง ปาฏิหาริย์ ว่า มี ๓ ประเภท คือ อิทธิปาฏิหาริย์ (ความอัศจรรย์ คือ อิทธิฤทธิ์ เช่น การเหาะ การดำดิน เป็นต้น) อาเทสนาปาฏิหาริย์ (ความอัศจรรย์ คือ การอ่านใจ อันนี้ท่านที่อ่านใจได้ต้องได้ทิพยจักษุแน่นอน) อนุสาสนีปาฏิหาริย์ (ความอัศจรรย์ คือ คำพร่ำสอน)

ซึ่งมีบุคคลบางท่านที่เห็นผู้ที่แสดงปาฏิหาริย์ ๒ อย่างแรก ราวกับภาพมายา และถ้าดูจากเศรษฐีและชาวบ้านต่างๆ เมื่อเห็นเกิดความเลื่อมใส ก็นำมาซึ่งสักการะมากมายเกิดแก่ผู้นั้น แต่พระภิกษุเป็นเพศที่ขัดเกลาอย่างยิ่ง มีความเป็นอยู่มักน้อยอย่างยิ่ง การแสดงปาฏิหาริย์เช่นนั้น ก็ต้องพิจารณาว่า เพื่อประโยชน์ใด ถ้าเป็นไปเพื่อลาภสักการะ ก็ไม่ควรแน่นอน ถ้าดูตัวอย่างพระภิกษุบางท่านที่ไม่ได้เป็นพระอริยบุคคล แต่สำเร็จอภิญญา ๕ เช่น พระเทวทัต แสดงปาฏิหาริย์แก่ พระเจ้าอชาติศัตรู เพื่อต้องการสมคบเป็นฝักฝ่ายเดียวกัน ทำเพื่ออำนาจของตน อย่างนี้ก็เป็นเรื่องไม่ใช่บุญเลย และพระวินัยที่ทรงบัญญัติก็มีประโยชน์เป็นไปเพื่อการขัดเกลาอย่างยิ่งแก่ภิกษุด้วย เช่น ความติดข้องในลาภ ยศต่างๆ ที่ตามมาจากการแสดงฤทธิ์ เป็นต้น

ส่วนปาฏิหาริย์สุดท้าย คือ คำพร่ำสอน ของพระพุทธเจ้า ที่ทรงแสดงธรรมเพื่อให้เกิดความเข้าใจ นี้เป็นปาฏิหาริย์ที่เกิดประโยชน์เพื่อความเห็นถูก เป็นไปเพื่อการดับกิเลส ความเห็นผิด เป็นต้น จนสูงสุด ดับความไม่รู้ทั้งหมดไม่เหลือเลย ถึงความเป็นพระอรหันต์ ทรงไม่ได้ห้ามการแสดงปาฏิหาริย์ข้อนี้แน่นอน เพราะภิกษุสามารถแสดงธรรมได้

ขอให้อาจารย์ช่วยชี้แนะเพิ่มเติม ถึงความหมายในคำศัพท์บาลีว่า ปาฏิหาริย์ และใน คำถามว่า "ทำไมพระพุทธเจ้าถึงห้ามพระภิกษุแสดงปาฏิหาริย์?" กราบอนุโมทนาครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
khampan.a
วันที่ 11 พ.ย. 2566

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

สำหรับคำว่า ปาฏิหาริย์ เมื่อพิจารณาจากรากศัพท์แล้ว จะมีความหมายว่า กำจัดหรือนำไปเสียซึ่งธรรมฝ่ายที่เป็นข้าศึก โดยเฉพาะปาฏิหาริย์ที่ประเสริฐที่สุดคืออนุสาสนีปาฏิหาริย์ เพราะเป็นคำสอนที่สามารถทำให้ถึงซึ่งการกำจัดกิเลสได้

ตามข้อความใน [เล่มที่ 45] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตก เล่ม ๑ ภาค ๔ - หน้าที่ ๓๗ ดังนี้

ที่ชื่อว่า เป็นปาฏิหาริย์ เพราะนำไปเสียซึ่งกิเลสที่เป็นข้าศึก คือ เพราะกำจัดกิเลส มีราคะ เป็นต้น

ดังนั้น จึงไม่มีปาฏิหาริย์ใดๆ ที่จะเสมอกับอนุสาสนีปาฏิหาริย์ได้เลย การแสดงปาฏิหาริย์ที่เป็นการแสดงฤทธิ์ต่างๆ หรือแม้แต่มีความสามารถที่จะรู้ใจคนอื่นได้ ก็ไม่ประเสริฐ เพราะไม่สามารถทำให้ออกจากทุกข์ได้
แม้ว่ากว่าจะถึงการแสดงฤทธิ์ได้ มีความชำนาญถึงกับสามารถรู้ใจคนอื่นได้ ก็ต้องถึงการสงบระงับกิเลสได้ก่อน แต่ทั้งสองอย่าง ก็ยังไม่ใช่ปาฏิหาริย์ที่ประเสริฐที่สุด

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงห้ามการแสดงอิทธิปาฏิหาริย์ (ปาฏิหาริย์คือการแสดงฤทธิ์) ในเรื่องพระปิณโฑลภารทวาชเถระ ที่ท่านได้แสดงฤทธิ์ เพราะเหตุเพียงบาตรไม้ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงห้ามแสดงฤทธิ์ เพราะว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการกระทำที่แลกกับสิ่งที่เป็นเพียงอามิส วัตถุสิ่งของ ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่สมควรเลยที่จะกระทำอย่างนั้น และอีกประการหนึ่ง ยังเป็นไปเพื่อลาภ สักการะด้วย ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่สมควรอย่างยิ่ง อนุชนรุ่นหลัง อาจจะถือเอาเป็นแบบอย่าง ทำให้ละเลยสิ่งที่ประเสริฐที่สุดคือการศึกษาพระธรรมคำสอนที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงแสดงไว้ดีแล้ว ครับ


... ยินดีในกุศลของคุณวิทวัตและบุตรชายด้วยครับ ...

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
chatchai.k
วันที่ 11 พ.ย. 2566

ไม่ว่ายุคไหนสมัยไหน ก็ไม่พ้นที่จะสนใจใน เรื่องอิทธิปาฏิหาริย์ แต่พระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดงหนทางข้อปฏิบัติที่จะดับกิเลส ที่จะไม่ให้เห็นว่าอิทธิปาฏิหาริย์นั้นมีความสำคัญประการหนึ่งประการใดเลย เพราะว่าไม่สามารถที่จะช่วยให้พ้นจากการเกิด การแก่ การเจ็บ การตายได้ แต่ในครั้งโน้นก็ยังมีผู้ที่ยังสนใจในเรื่องของ อิทธิปาฏิหาริย์

ข้อความใน อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต สังคารวสูตร มีว่า

ปาฏิหาริย์ ๓ อย่างนี้ ๓ อย่างเป็นไฉน คือ อิทธิปาฏิหาริย์ ฤทธิ์เป็นอัศจรรย์ ๑ อาเทสนาปาฏิหาริย์ ดักใจเป็นอัศจรรย์ ๑ อนุสาสนีปาฏิหาริย์ คำสอนเป็นอัศจรรย์ ๑


ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์ ด้วยความเคารพยิ่ง

ยินดีในกุศลจิตครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ